xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (6) : เรื่องมีอะไรบ้างที่ควรทำWhat should be done-II.

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1. กล่าวนำ : ความเห็นและข้อสงสัยของผู้อ่านจากปัญหาที่หก

เนื่องจากได้มีผู้แสดงความเห็นและข้อสงสัยต่างๆ ที่ควรนำเสนอให้ผู้อ่านท่านอื่นๆได้รับทราบ

2. ขออนุญาตตอบข้อสงสัยของผู้อ่านบางท่าน

ในบทความที่แล้วผู้เขียนได้เสนอความคิดเห็นในเรื่อง มีอะไรบ้างที่ควรทำ What should be done. และได้มีผู้อ่านบางท่านให้ข้อคิดว่า “ก็ดีนะ แต่ตอนนี้น่าจะมีเรื่องอื่นที่จำเป็นต้องทำเยอะแยะมากมายกว่าเรื่องการอนุรักษ์ รู้สึกเหมือนว่าผู้เขียนจะมีปัญหาเรื่องลำดับความสำคัญก่อนหลังนะครับ” บางท่านก็กล่าวว่า “...ยิ่งมีคนคิดมากเท่าไหร่ ความคิดก็มากเท่านั้น คำถามก็คือ ในการจะตอบว่า อะไรดีหรือไม่ดี ใช้หลักวิชาการอะไรมาสนับสนุน” ก็ขอขอบคุณทุกๆ ท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วย

จริงๆ แล้วผู้เขียนได้เกริ่นไว้ในกล่าวนำของบทความที่แล้ว (ปัญหาของคนไทย 6) ว่า มีผู้เสนอข้อคิดเห็นต่างๆ ให้ คสช.ไว้มากมายอยู่แล้ว ดังนั้นจึงขอเลี่ยงไปเสนอความคิดเห็นในส่วนที่ต่างไปจากท่านทั้งหลาย และที่ใช้ชื่อเรื่องของบทความว่า “มีอะไรบ้างที่ควรทำ” ก็เพื่อให้นำความคิดเห็นดังกล่าวไปกลั่นกรองวางแผนที่จะปฏิบัติให้เป็นจริงในอนาคต ซึ่งคงต้องใช้เวลาบ้างและจะนำไปปฏิบัติในทันทีไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่คิด ไม่ริเริ่ม ไม่เตรียมการ ก็คงจะไม่ได้ทำอะไรเลยในอนาคต

ส่วนในเรื่องหลักวิชาการที่ท่านกล่าวมา ได้มีผู้อ่านตั้งข้อสงสัยและให้ข้อคิดเห็นกันมาหลายท่าน ซึ่งบางท่านก็เสนอหลักความง่ายและประหยัด คือ ให้ใช้สถานที่ที่มีอยู่แล้วสะดวกดีไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ บางท่านก็มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสำคัญโดยมุ่งที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) คือ ถ้าย้ายหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสนามม้าไปอยู่ในพื้นที่ใด ก็จะช่วยให้มีการพัฒนาพื้นที่นั้นให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น (Value added) แต่บางท่านก็อาจให้ความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาของชาติมากกว่าเรื่องอื่นๆ ในเรื่องนี้ผู้เขียนขอเสนอให้พิจารณาตัวอย่างจากประเทศต่างๆแล้วนำมาศึกษาเปรียบเทียบ (Comparative Studies) ดูว่า ในแต่ละประเทศปฏิบัติกันอย่างไร มีข้อดีและข้อเสียอะไรบ้าง แต่โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนคิดว่า ความมั่นคงของชาติและการรักษาความเป็นไทยต้องมาก่อน เพราะถ้าความเป็นชาติสิ้นไปเมื่อใด คนไทยก็คงสูญสิ้นความเป็นคนไทยและแผ่นดินไทยในที่สุด ตัวอย่างเช่นชาวอินเดียแดงและชาวมายาในทวีปอเมริกาที่สูญเสียความเป็นชาติเจ้าของพื้นแผ่นดินให้ชนชาติอื่น เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ขอให้ดูที่กรุงโซล Seoul และประเทศเกาหลีใต้เป็นตัวอย่าง เพราะในกรุงโซลเราจะไม่พบว่ามีการนำเอาโบราณสถานหรืออาคารที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์มาใช้เป็นสถานที่ทำงานของรัฐเช่นเดียวกับประเทศไทย นอกจากนี้หลายท่านที่ไปเกาหลีใต้มาคงจะพบว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่เพียงจะอนุรักษ์โบราณสถานต่างๆ ให้คงสภาพเช่นที่เคยเป็นมาในอดีตเท่านั้น แต่ยังได้ทำการเผยแพร่ให้คนเกาหลีได้เรียนรู้และเข้าใจความเป็นมาของชาติตนในอดีตอีกด้วย (ดูรูปภาพที่ 1-3 พระราชวังโบราณในกรุงโซลที่มีคนเข้าชมทุกวัน) การดำเนินการดังกล่าวได้ทำให้เยาวชนคนเกาหลีเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นเกาหลีและมีความสำนึกรักชาติ แม้ในกรุงโซลที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ทุกอย่างที่พบเห็นจะเป็นภาษาเกาหลีส่วนใหญ่ ตามถนนแทบจะไม่พบป้ายโฆษณาภาษาอังกฤษและยิ่งรถของญี่ปุ่นแล้วแทบไม่ต้องหาเลย สิ่งเหล่านี้ได้ชี้ให้เห็นว่า คนเกาหลีรักและภาคภูมิใจในชาติของตนมากเพียงใด

รูปภาพที่ 1 หน้าอาคารพระราชวังโบราณ

รูปภาพที่ 2 หน้าประตูทางเข้าพระราชวัง

รูปภาพที่ 3 ทหารรักษาการอยู่ในชุดเครื่องแบบทหารในอดีต**ภาพโดย นายแพทย์ลพบุรี นาทะสิริ

ในช่วงสงครามเกาหลี (25 June 1950 – 27 July 1953) ชาวเกาหลีต้องลำบากยากเข็ญเป็นอย่างมากเพราะทุกอย่างถูกทำลายหมด สภาพภายหลังสงครามของเกาหลีอาจกล่าวได้ว่าไม่ได้ดีกว่านรกเลย ดูรูปภาพที่ 4 (จาก North Carolina Digital History: the Korean War) และรูปภาพที่ 5

รูปภาพที่ 4 ภาพทหารอเมริกันและสภาพของกรุงโซลซึ่งเป็นสมรภูมิ ปี 1950

รูปภาพที่ 5 เด็กหญิงเกาหลีมีน้องชายสะพายหลัง ด้านหลังเป็นรถถังที่เมืองHaengju,Korea, June 9, 1951. ถ่ายภาพโดย Air Force Maj. R. V. Spencer (80-G-429691) นำมาลงโดย by Hilary on August 3, 2010, under - Cold War, News and Events. the Truman Presidential Library

ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามเกาหลีในปี ค.ศ. 1953 หรือพ.ศ. 2496 จนถึงปัจจุบันปี 2557 รวมเป็นเวลา 61 ปี เราจะพบว่า ความรักและภาคภูมิใจในชาติของคนเกาหลี ได้ทำให้เกาหลีใต้ในปัจจุบันได้กลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกไปแล้ว ดูรูปที่ 6-8 (ภาพจาก wikipedia)

รูปภาพที่ 6 ย่านธุรกิจการค้าในกรุงโซล ย่าน Gwanghwamun

รูปภาพที่ 7 สำนักงานใหญ่ Samsung ที่กรุงโซล

รูปภาพที่ 8 Daewoo Headquarters ในโซล

อาคารในภาพที่ 6-8 ไม่เพียงสง่างามเท่านั้น แต่ยังเป็นผลผลิตที่แสดงถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อีกด้วย ถ้าดูจากผลผลิตมวลรวมประชาชาติ(Gross Domestic Products หรือ GDP) เศรษฐกิจเกาหลีจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก(ประมาณจากตารางที่ 1 ในปี 2011 เท่ากับ $ 1,506 พันล้านเหรียญ) และถ้าดูรายได้ประชาชาติต่อประชากรในตารางที่ 2 จะเห็นว่า

ตารางที่ 1 Real GDP, by country, 1960–2011*

ตารางที่ 2 Gross national income per capita 2013, Atlas method*

รายได้ประชาชาติต่อประชากรของเกาหลีใต้เท่ากับ $25,920 อยู่ในอันดับที่ 46 ของโลก ในขณะที่รายได้ประชาชาติต่อประชากรของไทยเท่ากับ $ 5,370 อยู่ในลำดับที่ 118 ของโลก ซึ่งหมายความว่า คนเกาหลีใต้มีฐานะความเป็นอยู่ดีกว่าคนไทย และไม่ใช่เพียงเศรษฐกิจเท่านั้น เกาหลีใต้ยังส่งออกสินค้าด้านวัฒนธรรม และบันเทิงอีกด้วย ถ้าไปที่สนามกีฬาแห่งชาติหรือสถานบันเทิงต่างๆ ก็จะเห็นคนไทยจำนวนมากที่ไม่เพียงดูภาพยนตร์เกาหลี และฟังเพลงเกาหลี แต่ยังเต้นแบบเกาหลีอีกด้วย แม้ในเรื่องกีฬาเกาหลีใต้ก็ไม่เป็นรองใคร ทีมฟุตบอลของเกาหลีใต้ได้เข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันฟุตบอลโลกเกือบทุกครั้ง ด้วยเหตุนี้ ไม่เพียงอเมริกา และญี่ปุ่น แม้กระทั่งจีนเองก็ยังกลัวเกาหลี ไม่ได้กลัวประเทศเกาหลี แต่กลัวจิตใจกลัวความคิดของคนเกาหลี นี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ประเทศเหล่านี้ไม่ต้องการให้เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้รวมเป็นประเทศเดียวกัน

โดยสรุปก็คือ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างใช้ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติให้ฝังรากลึกเข้าไปในจิตใจและความรู้สึกของคนในชาติเพื่อหล่อหลอมคนในชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั่นเอง แล้วทำไมเราไม่นำโบราณสถานและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย มาปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติให้ซึมลึกเข้าไปในจิตใจและความคิดของคนไทย กันบ้างเล่

สำหรับเรื่องสนามม้า ได้มีบางท่านให้ความเห็นว่า “เอาแหล่งพนันมาไว้สมุทรปราการที่เราอยู่...ทุกวันนี้ก็เละอยู่แล้วจะให้ไปเละต่างจังหวัด คิดได้แค่นี้เหรอ ประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ อะไรที่เห็นว่า...ไม่ดีก็โยนไปไว้รอบข้างต่างจังหวัด ก็คิดแบบนี้ จะไปต่างอะไรกะพวกนายทุนที่จ้องเอาแต่ผลาญทรัพยากรชนบทจนคนเขาทนไม่ไหวต้องออกมาประท้วงอยู่ทุกวันนี้” (มีการใช้คำที่ไม่เหมาะสมในที่ที่ระบายสีแดงไว้)

ผู้เขียนต้องขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ได้แสดงความเห็นต่อบทความต่างๆ ของผู้เขียน แต่ต้องขอให้ท่านที่แสดงความเห็น ได้กรุณาใช้ภาษาที่สุภาพชนส่วนใหญ่ใช้กันเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ซึ่งเป็นสื่อกลางให้เราได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเสรี และรวมทั้งผู้อ่านท่านอื่นๆ ด้วย

ส่วนบทความเรื่อง “แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย” มีที่มาจากคำถามของผู้อ่าน และผู้ที่รับฟังการบรรยายของผู้เขียนในที่ต่างๆ รวมทั้งนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันที่ได้สอบถามกันมา ซึ่งบางครั้งเป็นคำถามที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคม ผู้เขียนจึงได้ถือโอกาสแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาดังกล่าวผ่าน ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ไปยังผู้ถามและผู้อ่านทุกๆ ท่านในคราวเดียวกัน และสำหรับเรื่องการแสดงความคิดเห็น ผู้เขียนเห็นว่า เราควรใช้ภาษาที่เหมาะสมในการแสดงความเห็นจะดีกว่าเพราะจะได้เป็นตัวอย่างให้แก่นิสิตนักศึกษาและผู้อ่านทุกท่านได้ยึดถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน

ในเรื่องการย้ายสนามม้าไปยังพื้นที่นอกเมืองหรือชานเมืองของกรุงเทพฯ หรือไปยังจังหวัดที่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ อาจเปรียบได้กับเหรียญที่มีสองด้าน เพราะได้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในด้านลบที่สร้างความเสียหายให้แก่สังคม และในด้านบวกที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมด้วยเช่นกัน จึงขอนำเสนอผลกระทบที่สำคัญให้ท่านผู้อ่านได้นำไปพิจารณา ดังนี้
ก. ผลกระทบในด้านลบ (Negative Impacts) หรือผลเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสังคม (Social Damages) ที่เห็นได้ชัดก็คือ การจราจรในบริเวณพื้นที่ที่สนามม้าย้ายไปอยู่อาจมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่หรือประชาชนที่ใช้เป็นเส้นทางผ่านอยู่บ้างในวันเวลาที่มีการแข่งขันม้า แต่ถ้าไปตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากย่านชุมชนก็คงจะได้รับผลกระทบด้านการจราจรไม่มากนัก อย่างไรก็ดีการมีสนามม้าที่มีการพนันอยู่ใกล้ๆ ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนบางคนบางกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่หรืออยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียง มีความสนใจและรู้สึกอยากเข้าไปดูการแข่งม้าหรืออยากลองเล่นการพนันในสนามม้า และอาจทำให้บุคคลนั้นมีพฤติกรรมหันเหไปนิยมการพนันซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินและปัญหาอื่นๆ ที่เป็นผลมาจากการเป็นหนี้สินการพนันในเวลาต่อมา

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ สนามม้าที่มีการพนันจะเป็นแหล่งดึงดูดนักเสี่ยงโชค และกลุ่มนักพนันจากที่ต่างๆ ให้เข้ามาเล่นการพนัน ซึ่งจะทำให้สนามม้ากลายเป็นแหล่งชุมนุมของกลุ่มนักพนันและกลุ่มบุคคลที่มีอาชีพผิดกฎหมาย ที่ได้มารู้จักกันและมีความคุ้นเคยกัน จนมีความเป็นไปได้ที่บุคคลทั้งสองกลุ่มอาจร่วมมือกันทำกิจกรรมที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อมีโอกาส สรุปแล้ว สนามม้าที่มีการพนันก็คือ บ่อนการพนันประเภทหนึ่งที่มีบทบาทในการส่งเสริมให้บุคคลต่างๆเข้ามาร่วมเล่นการพนันอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง

ข. ผลกระทบในด้านบวก(Positive Impacts) หรือผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคม (Social Benefits)จากการย้ายสนามม้าไปยังจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเราควรพิจารณาในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น

(1) ในด้านเศรษฐกิจ การย้ายสนามม้าไปตั้งอยู่ในพื้นที่ชานเมืองหรือในจังหวัดที่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ ไม่เพียงจะช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดในตัวเมืองในช่วงที่มีการแข่งม้าเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นให้มีการลงทุนพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์และด้านอื่นๆ ในบริเวณพื้นที่โดยรอบที่ตั้งแห่งใหม่ของสนามม้า ซึ่งผลจากการลงทุนเหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มมูลค่า (Value Added) ของที่ดินโดยรอบที่ตั้งแห่งใหม่ของสนามม้าเท่านั้น แต่ยังช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น (เช่น ภาษีโรงเรือน เป็นต้น) และยังช่วยให้มีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะจะมีธุรกิจร้านค้าต่างๆ เกิดเพิ่มขึ้นในพื้นที่โดยรอบที่ตั้งใหม่ของสนามม้า

ฉะนั้นการที่มีผู้แสดงความเห็นคัดค้านการย้ายสนามม้าไปยังจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ เช่น สมุทรปราการนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า ท่านไม่ต้องเป็นห่วงหรือวิตกจนเกินไปว่าสนามม้าจะย้ายไปอยู่ในจังหวัดของท่าน เพราะถ้าวิเคราะห์ถึงผลประโยชน์ด้านการลงทุน (Cost-Benefit Analysis), ด้านพัฒนาเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆแล้ว เชื่อได้ว่า คงไม่มีใครเห็นด้วยที่จะให้สนามม้าย้ายไปอยู่ที่สมุทรปราการอย่างที่ท่านเป็นห่วง เนื่องจากถนนส่วนใหญ่ในสมุทรปราการมีขนาดแคบ การจราจรค่อนข้างติดขัดเพราะมีรถขนาดใหญ่วิ่งเข้าออกทั้งวัน ส่วนตัวจังหวัดมักถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี และยังมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมากที่อาจปล่อยสารหรือของเสียต่างๆ ที่ไม่เพียงทำลายสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นพิษต่อสิ่งที่มีชีวิตต่างๆ ซึ่งรวมทั้งคนและม้าอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเชื่อว่า จะมีหลายจังหวัดที่อยู่รอบๆ กรุงเทพฯ มาติดต่อขอให้สนามม้าย้ายไปอยู่ในจังหวัดของตนมากกว่าที่จะให้ไปอยู่ในจังหวัดอื่นอย่างแน่นอน เพราะถ้าสนามม้าย้ายไปอยู่ในจังหวัดใด นั่นหมายถึง จังหวัดนั้นไม่เพียงจะมีภาคเอกชนมาลงทุนเท่านั้น แต่ยังจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องการพัฒนาต่างๆ อีกด้วย เช่น การจัดทำถนนหนทาง และรวมไปถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับการดำเนินงานของสนามม้า รวมทั้งประชาชนที่อยู่โดยรอบ เป็นต้น

(2) ในด้านการกีฬา การแข่งม้าเป็นกีฬาของผู้ขี่ม้า(Equestrian sport)และเป็นกีฬาที่มีมาแต่สมัยโบราณแล้ว ชาวมองโกล มีการแข่งขันขี่ม้ายิงธนูตั้งแต่ก่อนสมัยเจงกิสข่าน จนมาถึงปัจจุบันนี้ ส่วนชาวโรมันก็มีการแข่งขันการขี่ม้าและการแข่งรถม้าเช่นกัน ในปัจจุบันการแข่งม้าที่มีผู้ขับขี่ได้กลายเป็นกีฬาที่มีความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ และได้มีการจัดแบ่งการแข่งขันออกเป็นหลายประเภท (รูปภาพที่ 9 – 11 จาก wikipedia) เช่น การแข่งม้าข้ามเครื่องกีดขวาง การแข่งม้าในระยะทางที่กำหนด และการแข่งม้าลากรถ (หรือรถลาก) เป็นต้น

ในเรื่องนี้จะเห็นว่า ม้าเป็นทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐจึงควรจัดตั้งสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวกับม้าขึ้นเพื่อจัดหลักสูตรการสอนให้ได้มาตรฐาน เช่น

รูปภาพที่ 9 การแข่งม้าลากรถ (Harness Race)

รูปภาพที่ 10 การแข่งม้าในพื้นที่ราบ (Flat Horse Racing)

รูปภาพที่ 11 การแข่งม้าข้ามเครื่องกีดขวาง

หลักสูตรการดูแลม้าในแต่ละประเภท, หลักสูตรการฝึกม้าเพื่อใช้งาน, หลักสูตรการทำธุรกิจเกี่ยวกับม้าหลักสูตรการผสมพันธุ์ม้า และหลักสูตรการขี่ม้าเพื่อการแข่งขันกีฬาในประเภทต่างๆ เป็นต้น สถาบันที่กล่าวนี้ไม่เพียงให้มีหน้าที่ในการศึกษาวิจัย จัดการฝึกอบรม และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับม้าที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังสามารถผลิตนักกีฬาขี่ม้าที่มีความชำนาญไปแข่งขันในระดับนานาชาติได้อีกด้วย

นอกจากนี้รัฐควรส่งเสริมหรือจัดให้มีตลาดกลางในการซื้อขายม้า รวมทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจต่างๆ ด้วย โดยจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก และอาจพัฒนาให้กลายเป็นตลาดกลางที่มีการซื้อขายครอบคลุมไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียในเวลาต่อมา

(3) ในด้านความมั่นคงของชาติ หลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไมจะต้องมาเสียเวลากับเรื่องม้า มีเรื่องอื่นที่น่าจะพูดจะเขียนมากกว่า ก็จริงอย่างที่ท่านกล่าวมา แต่เมื่อมีผู้อ่านบางท่านสอบถามมา ผู้เขียนเลยต้องขอเวลาชี้แจงบ้างสักเล็กน้อย ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้โปรดเห็นใจด้วย

ม้ามีความสำคัญอย่างไร ม้าไม่เพียงเป็นสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจเท่านั้น แต่ม้ายังถูกใช้เป็นพาหนะที่สำคัญทั้งในยามสงบและในยามที่มีศึกสงคราม บางท่านอาจลืมไปแล้วว่า การที่เจงกิสข่านและกุบไลข่านแห่งมองโกล สามารถสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่มีพื้นที่รวมเอเซียส่วนใหญ่และบางส่วนของยุโรป ก็เพราะเจงกิสข่านและกุบไลข่านได้อาศัยกำลังทหารม้า (Light Cavalry) ที่เข้มแข็งและสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วจนศัตรูไม่สามารถตั้งรับการจู่โจมของทหารม้ามองโกลที่ใช้ธนูเป็นอาวุธได้ทัน (มีความสามารถยิงธนูขณะที่ขี่ม้า) ดูรูปภาพที่ 12

รูปภาพที่ 12 การขี่ม้าประกอบการใช้อาวุธของนักรบชาวมองโกล

นอกจากที่กล่าวแล้ว ในภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาหรือทุรกันดาร ม้าก็จะถูกใช้เป็นพาหนะของทั้งทหารและประชาชนในการเดินทางและบรรทุกสัมภาระต่างๆ และถ้าเกิดเหตุการณ์ขาดแคลนเชื้อเพลิงไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ม้าก็จะกลายเป็นพาหนะที่สำคัญที่สุดที่เราสามารถนำมาใช้เป็นพาหนะสำหรับการเดินทางหรือใช้บรรทุกสัมภาระไปยังสถานที่ต่างๆ ดังเช่นในรูปภาพที่ 13-14

รูปภาพที่ 13 และ 14 การใช้ม้าเป็นพาหนะในที่ทุรกันดาร

3. สรุปการนำเสนอความคิดเห็นของผู้เขียน

ผู้เขียนทราบดีว่า เป็นเรื่องยากที่จะย้ายสถานที่ทำงานของรัฐ ไปอยู่ในที่ห่างไกลออกไปจากที่อยู่เดิม และคงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า ที่จะย้ายสนามม้านางเลิ้งไปยังชานเมืองหรือจังหวัดที่ใกล้กรุงเทพฯ เพราะมีเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีบางท่านอ้างว่า จังหวัดของท่านไม่ต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ ผู้เขียนขอกล่าวตรงๆ ว่า เราคนไทยทุกคนเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินไทยร่วมกัน ไม่ควรนำความรู้สึกจังหวัดนิยมมาอยู่เหนือผลประโยชน์ของชาติ เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกแตกแยกระหว่างคนไทยด้วยกัน เพราะถ้าคนกรุงเทพฯ จะอ้างบ้างว่า สถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นของคนกรุงเทพฯโดยเฉพาะ ห้ามคนไทยต่างจังหวัดเข้ามาศึกษาต่อที่ จุฬาฯ หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาบ้างเล่า ท่านจะรู้สึกอย่างไร

ขอนำข้อความจากบทความที่แล้ว (ของผู้เขียน) ที่ว่า “...เราจะปลูกฝังให้เยาวชนคนไทยเข้าใจและมีอุดมการณ์รักชาติได้อย่างไร เมื่อต้นไม้ไม่มีรากยึดดินไว้ ก็อาจล้มได้ง่าย เช่นเดียวกันกับชาติไทยเปรียบได้กับต้นไม้ใหญ่ รากที่ยึดดินไว้เปรียบเสมือนคน ส่วนแผ่นดินที่ยึดต้นไม้และรากไว้ก็คือ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทยที่จะหล่อหลอมเป็นอุดมการณ์ความรักชาติ นั่นเอง” ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องอนุรักษ์โบราณสถาน และความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ไว้ให้ได้และนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอุดมการณ์ความรักชาติเพื่อยึดโยงคนไทยทุกคนเข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น