xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (5) : เรื่องแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

ปัญหาที่ห้า : มีคำถามมาว่า ผลกระทบจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ในปี 2558

1. กล่าวนำ

เนื่องจากได้มีท่านผู้อ่านและนักศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองอยากทราบความคิดเห็นของผู้เขียนในเรื่องผลกระทบจากแรงงานต่างด้าวเมื่อไทยเข้าสู่ AEC แม้แรงงานต่างด้าวจะได้รับการยอมรับว่าเป็นกำลังสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยก็ตาม แต่ผลกระทบจากการเข้ามาทำงานในประเทศไทยของแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก หลายเชื้อชาติ และหลากหลายวัฒนธรรมก็ย่อมจะสร้างปัญหาต่างๆ ให้กับคนไทยและสังคมไทยที่จะต้องปรับตัวปรับใจเพื่อเผชิญกับปัญหายุ่งยากต่างๆ ที่จะมาจากแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าว (เช่น การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และการก่ออาชญากรรมต่างๆ ของแรงงานต่างด้าว เป็นต้น) ซึ่งคงจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้นเพื่อให้ทุกท่านได้เห็นภาพและเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงขอนำแผนภูมิกราฟ ตารางข้อมูล และรวมทั้งหลักพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือแสดงความคิดเห็นไปให้ท่านผู้อ่าน รวมทั้งนักศึกษาทุกท่านได้พิจารณาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปและแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

2. สถานการณ์แรงงานต่างด้าวของไทยในช่วงก่อนและหลังเข้าสู่ AEC ในปี 2558

สถานการณ์แรงงานต่างด้าวในช่วงก่อนและหลังเข้าสู่ AEC อาจสรุปได้ดังนี้

2.1 ช่วงเวลาก่อนที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะพบว่า ในตลาดแรงงานของไทยจะมีแรงงาน 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่ กลุ่มแรกคือ แรงงานไทยที่ไม่มีฝีมือ กลุ่มที่สองคือ แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีฝีมือ กลุ่มที่สามคือ แรงงานไทยที่มีทักษะหรือมีความเชี่ยวชาญ และกลุ่มที่สี่คือ แรงงานต่างด้าวที่มีทักษะหรือความเชี่ยวชาญซึ่งเข้ามาในประเทศไทยโดยถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย เช่น ขอวีซ่านักท่องเที่ยวแต่เข้ามาทำงานเป็นครูสอนภาษา หรือเป็นพนักงานขายของตามร้านต่างๆย่านถนนสุขุมวิทและถนนสีลม เป็นต้น

สำหรับในช่วงปี 2553 - 2554 แรงงานต่างด้าวที่ได้เข้ามาในไทยส่วนใหญ่จะเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่ต่อมาในปี 2555 - มิ.ย. 2557 แรงงานต่างด้าวจะเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น ดังที่แสดงในตารางที่ 1 ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะภาคธุรกิจเอกชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้น

ตารางที่ 1 แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ตั้งแต่ปี 2553 - มิ.ย. 2557*

*ข้อมูลในปี 2557 จะเป็นข้อมูลของเดือนมิถุนายน 2557 ภายหลังการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม แต่ข้อมูลในปี 2553 - 2556 จะเป็นข้อมูลในเดือนธันวาคม (จากสถิติแรงงานต่างด้าวรายเดือน สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน)

2.2 ช่วงเวลาต่อมาคือ ช่วงเวลาหลังจากที่ไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะเป็นช่วงเวลาที่มีการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศในอาเซียน ซึ่งรวมทั้งเปิดเสรีทางด้านแรงงานด้วย ในช่วงนี้คาดว่าจะมีแรงงานจากประเทศต่างๆในอาเซียนเข้ามาในตลาดแรงงานของไทยเพิ่มขึ้นทั้งแรงงานที่ไม่มีฝีมือและแรงงานต่างด้าวที่มีทักษะที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยเข้าสู่ AEC ในปี 2558 จะมีผลทำให้แรงงานต่างด้าวจากประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เข้ามาทำงานในไทยอย่างผิดกฎหมาย ก็จะไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป สรุปก็คือ การที่ไทยเข้าสู่ AEC อาจเป็นแรงกระตุ้นให้แรงงานต่างด้าว(ทั้งที่ไม่มีฝีมือและมีทักษะ) ต้องการที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย(อย่างถูกกฎหมาย)มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

3. สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยโดยสรุปและความต้องการแรงงานต่างด้าวของไทย

ถ้าประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ตลาดแรงงานของไทยก็คงจะรองรับการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างด้าวที่มาจากประเทศในกลุ่มอาเซียนภายหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้อย่างไม่มีปัญหา แต่เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองที่มาอย่างต่อเนื่องยาวนานระหว่างพรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคการเมืองฝ่ายค้านกับกลุ่มมวลชนที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งปัญหาการเมืองการปกครองและการบริหารของไทยที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ และปัญหาการคอร์รัปชันที่ยังฝังรากลึกอยู่ในทุกระดับของสังคมได้ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (เส้นสีแดง) มีแนวโน้มลดลงและต่ำกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นใน

รูปที่ 1 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน*

*ไม่รวมติมอร์ตะวันออก, บรูไน, สิงคโปร์ เพราะมีประชากรน้อยจึงทำให้ GDP ต่อคน สูงกว่าประเทศอื่นๆ เส้นสีแดง แสดงถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา: Developed from IMF, World Economic Outlook (April 2014) by W. Nathasiri

กลุ่มอาเซียนด้วยกัน วงกลมเส้นประในรูปที่ 1 ได้ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2552, 2554 และ2556 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้ลดลงต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียน 8 ประเทศ (ไม่รวมติมอร์ตะวันออก บรูไน และสิงคโปร์)

จากข้อมูลในตารางที่ 1 และรูปที่ 1 เราจะพบว่า ในปี 2554 (2011) แม้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth GDP) ของไทยจะลดต่ำลงเท่ากับ 0.1 % (เมื่อเทียบกับปี 2553) แต่กลับปรากฏว่า ได้มีแรงงานต่างด้าวที่เข้าไทยโดยผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย มาขออนุญาตทำงานเป็นจำนวนสูงถึง 1,950,650 คน การที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อาจมาจากสาเหตุสำคัญหลายประการ ดังนี้

ประการแรก ความต้องการแรงงาน (Demand) ในประเทศของแรงงานต่างด้าวเองอาจจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปริมาณความต้องการทำงาน (Supply) ของผู้ใช้แรงงานในประเทศนั้นๆ จึงทำให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศดังกล่าวต้องการเข้ามาหางานทำในประเทศไทย

ประการที่สอง นโยบายของรัฐบาลไทยที่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ได้กลายเป็นสิ่งจูงใจให้แรงงานต่างด้าวต้องการที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเพราะมุ่งหวังที่จะได้รับค่าแรงงานที่สูงกว่าค่าแรงงานในประเทศของตนเอง

ประการที่สาม ถ้าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นหรือมีค่าสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน ก็อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้แรงงานต่างด้าวมีความต้องการที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น เพราะเมื่อแรงงานต่างด้าวนำค่าแรงงานที่ได้รับเป็นเงินบาทไปแลกเป็นเงินสกุลของประเทศตนก็จะได้รับจำนวนเงินเพิ่มมากขึ้น

ประการที่สี่ ความเป็นอยู่โดยทั่วไป ระบบสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี และการนับถือศาสนาของประชาชนในประเทศไทยไม่ได้มีความแตกต่างไปจากความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี และการนับถือศาสนาของแรงงานต่างด้าวที่มาจากเมียนม่าร์ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และรวมทั้งฟิลิปปินส์ เท่าใดนัก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงงานต่างด้าวจากประเทศดังกล่าวต้องการเข้ามาทำงานในไทย เพราะมีความรู้สึกกลมกลืนหรือสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมไทยได้โดยง่าย

ประการสุดท้าย ก็คือ การเดินทางเข้าออกประเทศไทยค่อนข้างสะดวก และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเพราะมีพรมแดนติดต่อกันกับประเทศของแรงงานต่างด้าว ดังนั้นแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ชาวลาว ชาวกัมพูชา และชาวเวียดนาม จึงสามารถเดินทางโดยรถยนต์โดยสาร โดยเรือข้ามแม่น้ำ หรือโดยการเดินข้ามเขตแดนเข้ามาทำงานในไทยได้โดยสะดวก และอาจจะสะดวกกว่าเดินทางภายในประเทศของแรงงานต่างด้าวเสียอีก

ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่า มีแรงงานต่างด้าวได้มายื่นขออนุญาตทำงานในปี 2554 เป็นจำนวนมากถึง 1,950,650 คน แต่เนื่องจากได้เกิดปัญหาต่างๆ ที่บั่นทอนกำลังขวัญในการลงทุนหรือการขยายกิจการของภาคธุรกิจให้ลดลง ซึ่งได้แก่ ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในไทยตั้งแต่ปี 2545 - 2557 ปัญหาการคอร์รัปชันที่แพร่ขยายในรูปแบบต่างๆ และรวมทั้งนโยบายค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลทำให้ความต้องการแรงงาน (Demand) ของภาคธุรกิจเอกชนลดต่ำลงด้วยเช่นกัน(เมื่อต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น ภาคธุรกิจจึงไม่กล้าลงทุนและอาจมีบางส่วนปิดกิจการลง จึงทำให้ GDP=0.1%) ดังนั้นจึงน่าเชื่อได้ว่า ในช่วงปี 2554 อาจมีแรงงานต่างด้าวบางส่วนได้กลายเป็นแรงงานส่วนเกิน นั่นหมายถึง ในช่วงเวลาดังกล่าว จะมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในไทยจำนวนหนึ่งต้องว่างงานหรือไม่มีงานทำนั่นเอง

4. ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย

แม้ว่าแรงงานต่างด้าวจะมีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เจริญเติบโตขึ้นก็จริง แต่การเข้ามาของแรงงานต่างด้าวในจำนวนที่มากเกินกว่าความต้องการแรงงานของระบบเศรษฐกิจไทย และถ้าเป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพด้วยแล้ว (เช่น ร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว ไม่มีประสบการณ์หรือไม่มีความชำนาญ หรือไม่มีพื้นฐานความรู้ใดๆ เป็นต้น) แทนที่แรงงานเหล่านี้จะเป็นกำลังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต แต่อาจกลับกลายเป็นตัวการที่สร้างความเสียหายต่างๆ ให้แก่ประเทศไทยได้เช่นกัน ดังนั้นภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันหาแนวทางในการป้องกันและลดความเสียหายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและประเทศชาติของเราให้จงได้

4.1 ผลกระทบต่อสังคมไทย

การที่กลุ่มแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้นอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาการให้สัญชาติไทยแก่บุตรที่เกิดในไทยโดยมีพ่อแม่เป็นคนต่างด้าวอาจเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณของประเทศในอนาคต และปัญหาด้านอาชญากรรมอาจเพิ่มมากขึ้นเพราะอาจมีแรงงานต่างด้าวบางส่วนมีประวัติเคยกระทำอาชญากรรมในประเทศของตนเองมาก่อน เมื่อเข้ามาในประเทศไทยก็อาจมาก่ออาชญากรรมได้เช่นที่เคยกระทำมา เป็นต้น

แต่ที่สำคัญก็คือ มีแรงงานต่างด้าวจากบางประเทศได้รับการคุ้มครองดูแลเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ได้มีผู้ให้ความเห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่อาจได้ผลประโยชน์ตอบแทน จึงดูแลให้ความคุ้มครองเป็นอย่างดี) ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักจะหลบเลี่ยงเข้ามาทำงานในไทยโดยผิดกฎหมาย และไม่จดทะเบียนขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ชาวเวียดนามเข้ามาเก็บเงินค่าจอดรถบริเวณหน้าร้านอาหารต่างๆ ใกล้ๆ กับห้างตั้งฮั้วเส็ง ฝั่งธนบุรี และหน้าร้านอาหารต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนชาวแอฟริกันจะเข้ามาขายของบริเวณซอยนานา ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ ชาวบังกลาเทศเข้ามาขายโรตี ชาวอินเดียเข้ามาขายถั่วและออกเงินกู้ตามท้องถนนทั่วไป และชาวฟิลิปปินส์เข้ามารับจ้างสอนภาษาอังกฤษบริเวณซอยคลองตัน กรุงเทพฯ เป็นต้น

ในเรื่องนี้ต้องขอกล่าวตรงๆ ว่า มีประเทศไทยประเทศเดียวในโลกที่ปล่อยให้คนต่างด้าวเข้ามาเก็บค่าจอดรถ หรือวางแผงขายของริมถนน หรือขายโรตี หรือขายถั่ว หรือเข้ามาออกเงินกู้ได้อย่างเสรี ผู้เขียนอยากให้ว่าที่รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบทดลองเอาของไปวางขายริมถนนที่ญี่ปุ่น หรือไปเก็บค่าจอดรถที่อเมริกา แล้วดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับท่าน

4.2 ผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของสังคม

การเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยร่วมกันของแรงงานต่างด้าวหลายชาติในประเทศไทยเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดปัญหาชนกลุ่มน้อยของคนชาติต่างๆ ขึ้น เนื่องจากเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นพวกกับกลุ่มคนที่มีภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อต่างๆ ที่เหมือนกัน แต่อาจมีความขัดแย้งกับกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อที่แตกต่างกัน การเปิดเสรีให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเป็นเวลานานอาจนำไปสู่การเรียกร้องขอปกครองตนเอง และอาจมีการแก้ปัญหาด้วยการสู้รบกันจนกลายเป็นสงครามที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ ตัวอย่างเช่น การสู้รบระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬในศรีลังกา และการสู้รบระหว่างระหว่างชาวอังกฤษกับชาวไอริชในไอร์แลนด์เหนือ เป็นต้น

นอกจากนี้ ถ้าเมื่อใดที่ตลาดแรงงานเกิดภาวะแรงงานต่างด้าวส่วนเกิน คือ แรงงานต่างด้าวบางส่วนไม่ได้รับการจ้างหรือไม่มีงานทำแต่จำเป็นต้องเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวในขณะที่ยังพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย แรงงานต่างด้าวที่ว่างงานเหล่านี้อาจหันไปใช้วิธีการโจรกรรม การฉกชิงวิ่งราว หรือการก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆเพื่อให้ได้ทรัพย์สินต่างๆ มาใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพตนเองและครอบครัวของตน ดังนั้นรัฐและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐจึงต้องจัดเตรียมทั้งงบประมาณและกำลังคนให้เพียงพอต่อการป้องกันและขจัดปัญหาอาชญากรรมต่างๆที่จะเพิ่มขึ้น

4.3 ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและงบประมาณรายจ่าย

การเข้ามาของแรงงานต่างด้าวจะเป็นการเพิ่มผู้ใช้บริการสาธารณะต่างๆ ในประเทศ ซึ่งเมื่อรวมกับคนไทยผู้ใช้บริการก็จะทำให้ปริมาณผู้ใช้บริการสาธารณะ (หรือผู้บริโภคสินค้าสาธารณะ) โดยรวมเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นเมื่อมีผู้ใช้แรงงานต่างด้าวมาใช้บริการสวนสาธารณะ หรือไปเที่ยวชายทะเล หรือแม้กระทั่งการใช้บริการรถโดยสารฟรี ซึ่งเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) เพิ่มมากขึ้นจะมีผลทำให้รัฐต้องเพิ่มบุคลากรและงบประมาณเพื่อให้บริการ (สินค้าสาธารณะ) ต่างๆ เพิ่มขึ้นตามปริมาณผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

4.4 ผลกระทบทางด้านสุขภาพอนามัย

การที่แรงงานต่างด้าวหลายชาติเข้ามาทำงานในไทยได้อย่างเสรีและเป็นจำนวนมาก และอาจมีแรงงานต่างด้าวบางคนไม่ได้ผ่านการตรวจโรค ซึ่งแรงงานเหล่านี้อาจนำโรคติดต่อต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย และได้กลายเป็นตัวการในการแพร่ขยายโรคที่ติดมากับตัวแรงงานต่างด้าวไปสู่ชุมชนต่างๆ ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานฝ่ายปกครองจะต้องเตรียมการทั้งอุปกรณ์ บุคลากรสายแพทย์และพยาบาล อาคารสถานที่ และรวมทั้งงบประมาณให้พร้อมเพียงเพื่อแก้ไขปัญหานี้เมื่อไทยได้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

5. ความสูญเสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต : การมองโลกในแง่ลบ

ก่อนอื่นต้องกล่าวตรงๆ ว่า ผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้คลั่งหรือนิยมเออีซี AECism และก็ไม่ได้รู้สึกดีใจกับการที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ตรงกันข้ามกลับรู้สึกกลัว ไม่แน่ใจ และไม่มั่นใจจริงๆ ว่า การที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้ประเทศของเราได้รับผลดีมากมายอย่างที่สื่อมวลชนและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้ออกมาโฆษณากันทุกวัน แต่กลับเป็นเรื่องแปลกที่ไม่ค่อยจะมีใครพูดถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าประเทศไทยเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และไม่มีใครสงสัยบ้างเลยหรือว่า ทำไม ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา เวเนซุเอลา แอฟริกาใต้ และรัสเซีย จึงอยู่ได้โดยไม่ต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจ

5.1 ประเพณีและวัฒนธรรมไทยจะถูกผสมจนสูญเสียเอกลักษณ์และความเป็นไทย

ความหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัฒนธรรมที่นำเข้าไทยโดยแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าว จะทำลายขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของชาติไทยให้สูญสลายไปจนไม่เหลือความเป็นคนไทยอยู่อีกเลย เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นคนใจดี มีเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จริงใจ เชื่อคนง่าย ใช้ชีวิตความเป็นอยู่ง่ายๆ ที่สำคัญคือ เยาวชนไทยส่วนใหญ่ไม่ให้สนใจความเป็นมาทางประวัติของชาติไทย และยังยอมรับวัฒนธรรมของชาติอื่นมาปฏิบัติโดยไม่รู้สึกผิดแปลกแต่อย่างใด ขอให้ดูตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงการเสื่อมสลายของประเพณีวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน (2557) ในรูปที่ 2

รูปที่ 2 นักศึกษาหญิงกำลังกอดจูบกันบนรถโดยสารโดยไม่มีความละอายแต่อย่างใด

“...โลกออนไลน์กำลังให้ความสนใจภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนรถโดยสารประจำทางคันหนึ่งในกรุงเทพฯ มีผู้ถ่ายภาพพฤติกรรมของคู่รักชายหญิงคู่หนึ่งแสดงออกทางความรักต่อกันกลางที่สาธารณะ อย่างไม่เขินอายสายตาผู้โดยสารคนอื่นๆ อีกทั้งยังทั้งคู่น่าจะยังอยู่ในวัยเรียน” (จาก Webboard Postjung รายงานโดย ก่องเพชร รักชาติ)

และอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึง ความอ่อนแอของจิตใจคนไทย รวมไปถึงค่านิยมของคนไทยในเรื่องวัตถุหรือความร่ำรวยที่อยู่เหนือผลประโยชน์ของชาติ ได้นำไปสู่ความนิยมในการหาสามีชาวต่างชาติเพื่ออวดความร่ำรวยกันเป็นที่แพร่หลายกันในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาตั้งรกรากในไทยก็ได้นำเอาวัฒนธรรมและความเชื่อของชาติตนมาผสมปนเปกับวัฒนธรรมของไทย จนอาจบั่นทอนความสำนึกที่จะยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยให้ลดน้อยลงและอาจสูญสลายลงไปในที่สุด ดังตัวอย่างที่แสดงในรูปที่ 2

5.2 ประเทศไทยอาจถูกบุกรุกทางเศรษฐกิจ (Economic Invasion) จากประเทศที่มีขีดความสามารถทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าและจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กกว่า

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอาจทำให้ไทยกลายเป็นเป้าหมายถูกโจมตีทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะการเปิดเสรีทางการค้าและด้านอื่นๆ เปรียบเสมือนเป็นการเปิดหน้าให้คู่ต่อสู้ชกได้ง่ายๆ

1 CIA World Factbook. Retrieved September 12, 2009.

2 Gross Domestic Products: International Monetary Fund. Retried October 2012.

3 HDI คือ Human Development Index

4 Adapted from wikipedia by W. Nathasiri

จากข้อมูลในตารางที่ 2 ซึ่งได้เปรียบเทียบผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Products หรือ GDP) ของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน และจากข้อมูลในรูปที่ 1 ผู้เขียนจึงได้จัดทำตารางที่ 3 เพื่อนำมาพิจารณาว่า ประเทศใดบ้างที่น่าจะเป็นผู้บุกรุกทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย

ตารางที่ 3 การเปรียบเทียบสถานภาพของประเทศในกลุ่มอาเซียนกับประเทศไทย

จากตารางที่ 3 ผู้เขียนได้จัดกลุ่มประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

ก. กลุ่มแรก ได้แก่ ประเทศที่เป็นผู้บุกรุกทางเศรษฐกิจในเชิงบวกและลบคือ เข้ามาลงทุน หรือเข้ามาเป็นทรัพยากรบุคคลที่ช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ในขณะเดียวกันก็ต้องการผลประโยชน์ต่างๆ เป็นการตอบแทน ในกลุ่มนี้มี 4 ประเทศคือ สิงคโปร์ กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ แต่มีเพียง สิงคโปร์ ประเทศเดียวที่มีปัญหาในเรื่องความแออัดของประชากร ดังนั้นสิงคโปร์อาจจะเป็นผู้บุกรุกทางเศรษฐกิจในด้านอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย (คือ เข้ามาซื้อหาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลควรจำกัดให้เฉพาะคอนโดมิเนียมเท่านั้น ควรห้ามซื้อบ้านและที่ดินอย่างเด็ดขาด)

ข. กลุ่มที่สอง ได้แก่ ประเทศที่เป็นผู้บุกรุกทางเศรษฐกิจในเชิงลบคือ เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากประเทศไทยโดยไม่ได้สร้างคุณประโยชน์แก่เศรษฐกิจหรือสังคมไทยแม้แต่น้อย ในกลุ่มนี้มี 2 ประเทศคือ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม (ดูตัวอย่างในข้อ 4)

ค. กลุ่มที่สาม ได้แก่ ประเทศที่มีพลังทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง (พิจารณาจาก GDP per capita) และไม่มีปัญหาเรื่องความแออัดของประชากรจึงไม่ได้เป็นผู้บุกรุกทางเศรษฐกิจ แต่จะเป็นคู่ต่อสู้ทางการค้าของไทยมากกว่า ในกลุ่มนี้มี 3 ประเทศคือ บรูไน, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่มีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ภาคใต้ของไทย

สรุปความคิดเห็นของผู้เขียน

ใครจะคิดว่า อาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ (อาณาจักรโรมันตะวันออกหรืออาณาจักรไบแซนไทร์) จะล่มสลายลงในปี 1453 โดยกองทัพของอาณาจักรออตโตมันซึ่งบัญชาการโดยสุลต่าน Mehmed II ซึ่งมีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น ดังนั้นการมองโลกในแง่ลบก็เพื่อจะให้พวกเราได้เตรียมการให้พร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เพราะเราต้องรักษาประเทศชาติของเราซึ่งเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่ง ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่บกพร่องเพื่อส่งมอบให้แก่คนไทยรุ่นหลังได้รับช่วงทำนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป

รูปที่ 3 ภาพวาดสุลต่าน Mehmed II ผู้พิชิตอาณาจักรโรมัน โดย Alikasapoglu (จาก Wikipedia)

หมายเหตุ : ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือมีข้อมูลเพิ่มเติม ส่งที่ udomdee@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น