xs
xsm
sm
md
lg

“หว่านพืช หวังผล” จีนจะผงาด ไทยต้องผวา

เผยแพร่:   โดย: น้ำทิพย์ อรรถบวรพิศาล

"จีนไทยพี่น้องกัน" คือ ประโยคฮิตที่ประชาชนทั้งสองประเทศต่างรื่นหูคุ้นปากมานานหลายศตวรรษ โดยทั่วไป ‘พี่’ กับ ‘น้อง’ เป็นสรรพนามแทนบุคคลที่มีความไม่เท่าเทียมกันทางอายุ หรือพละกำลัง ซึ่งในวิถีของชาวเอเชียผู้เป็น ‘น้อง’ มักจะต้องแสดงความอ่อนน้อม เพื่อแลกกับการได้รับความคุ้มครองและการจัดสรรผลประโยชน์จากผู้เป็น ‘พี่’ ทั้งนี้ แม้ว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีน-ไทยจะยักย้ายจากธรรมเนียม ‘จิ้มก้อง’ มาสู่ระเบียบ ‘WTO’ มาแล้วก็ตาม ทว่า จีนยังคงแสดงบทบาทความเป็น ‘พี่ใหญ่’ ในภูมิภาค จึงเป็นเรื่องน่าจับตามองต่อไปว่า สถานะ ‘น้องรัก’ ที่จีนมอบให้กับไทยนั้น จะสื่อถึงความผาสุกโดยทั่วกันของประชาชนทั้งสองประเทศหรือผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มมากกว่ากัน ?

ภายใต้มายาคติของจีนที่อุปโลกน์ว่าตนเป็นศูนย์กลาง ดังปรากฏในความหมายของชื่อประเทศ คือ จงกั๋ว (中国หรือ Middle Kingdom) การติดต่อค้าขายระหว่างประเทศกับจีนในยุคโบราณล้วนตั้งอยู่บนความสัมพันธ์แบบ ‘จิ้มก้อง’ (朝贡 หรือ Tribute) ทั้งสิ้น เฉกเช่นเดียวกับอาณาจักรโดยรอบ ภายหลังพ่อขุนรามคำแหงสถาปนากรุงสุโขทัยอย่างเป็นทางการได้ไม่นาน กุบไลข่านก็แต่งคณะทูตมาเยือนเพื่อแจ้งให้ทราบเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้า โดยกษัตริย์ไทยต้องถวายราชสาส์นขอให้พระเจ้ากรุงจีนรับรองก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ และส่งราชบรรณาการเป็นนิจ เพื่อแลกกับโอกาสทางการค้ากับผู้ควบคุมระบบเศรษฐกิจของทวีป การคุ้มครองจากพันธมิตรใหญ่ผู้เปี่ยมด้วยอิทธิบารมี และการถ่ายทอดศิลปวิทยาการจากอู่อารยธรรมชั้นสูง

เครื่องราชบรรณาการที่สยามส่งให้จีน ส่วนใหญ่เป็นของป่าหายากมีคุณสมบัติในการเป็นยาอายุวัฒนะ อาทิ จันทร์หอม พริกไทย รง ทองคำ ขี้ผึ้งขาว กำมะถัน มหาหิงคุ์ เปลือกสมุลแว้ง กรักขี เปลือกสีเสียด กานพลู มดยอบ จันทน์ชะมด จันทน์เทศ กระวานขาว ผลกระเบา ฝาง พรมลิอูด ผ้าโมรีแดง และสัตว์ป่าหายาก ได้แก่ ช้าง งาช้าง นอแรด นกกระเรียน นกแก้ว นกยูง ฯลฯ ส่วนของที่จีนจัดมอบให้สยาม ได้แก่ เครื่องลายคราม กังไส ผ้าไหม ผ้าแพรโล่ต่วน แพรกิมต่วน เป็นต้น ดังจะเห็นได้ว่ามูลค่าของเครื่องราชบรรณาการที่ราชสำนักไทยมอบแด่ราชสำนักจีนนั้น เทียบไม่ได้เลยกับมูลค่าของกำนัลที่ราชสำนักจีนตอบแทนให้ราชสำนักสยาม เครื่องราชบรรณาการเป็นเพียงสัญลักษณ์แสดงความนอบน้อม เพื่อจะได้รับสิทธิ์พิเศษทางการค้ากับตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีป ด้วยเหตุนี้ สถานะเมืองขึ้นแต่เพียงในนามจึงมิใช่ปัญหาสำหรับชนชั้นนำไทยในสมัยนั้น
ภาพวาดราชทูตไทยถวายงาช้างต่อพระเจ้ากรุงปักกิ่งเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตามธรรมเนียมจิ้มก้่อง
ตลอดช่วงเวลาประมาณ 560 ปี จากราชวงศ์หยวนถึงราชวงศ์ชิง หรือจากสมัยกรุงสุโขทัยถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากจีนและสยามจะส่งราชทูตติดต่อถึงกันอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไม่ขาดสาย เช่น การร่วมสรรค์สร้างเครื่องชามสังคโลกระหว่างช่างฝีมือชาวไทยและชาวจีนในสมัยสุโขทัย การส่งนักเรียนไทยไปศึกษาที่สถาบันการศึกษาสูงสุดของจีนโบราณ (国子监) และการร่วมกันแต่งพจนานุกรมจีน-ไทย (暹罗译语) ในสมัยอยุธยา การแปลวรรณคดีชั้นเอกของจีน เช่น สามก๊ก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก การสร้างวัดด้วยสถาปัตยกรรมจีนอย่างแพร่หลายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

ความสัมพันธ์ทางการค้าแบบ ‘จิ้มก้อง’ ได้สิ้นสุดลง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มตระหนักว่า การลงทุนแต่งสำเภาอย่างทางการเช่นเดิมนั้นไม่คุ้มทุนเสียแล้ว เนื่องจากอภิสิทธิ์ที่เคยได้รับจากจีนก่อนทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษต้องหมดไป ในอีกด้านหนึ่งการที่จีนเพลี่ยงพล้ำให้กับอังกฤษในสงครามฝิ่น และเพลี่ยงพล้ำให้กับฝรั่งเศสในสงครามตังเกี๋ย ก็ทำให้รัฐบาลสยามมองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะยุติกิจวัตรที่แสดงความนอบน้อมต่อจีนที่กำลังจะเสื่อมอำนาจ เพราะถูกสั่นคลอนจากวิวัฒนาการที่ล้ำหน้ากว่าของชาติตะวันตก

สำหรับภาคประชาชนนั้น การติดต่อค้าขายระหว่างกันยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราชวงศ์ชิงเริ่มอ่อนแอ ภาวะข้าวยากหมากแพง ส่งผลให้ชาวจีนตอนใต้ เช่น กวางตุ้ง ฝูเจี้ยน และเกาะไหหลำได้อพยพเข้ามาใช้แรงงาน และประกอบอาชีพค้าขายในสยามเป็นจำนวนมาก ทว่า การผงาดขึ้นของคอมมิวนิสต์จีนและกระแสชาตินิยมของชาวจีนโพ้นทะเลได้สร้างความหวาดระแวงในหัวใจของผู้นำไทยเรื่อยมา นับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่งประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ดี ไทยนับเป็นประเทศที่ 101 ที่รับรองรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นประเทศที่สามในกลุ่มอาเซียนที่ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ทั้งสองได้ยอมรับในหลัก 5 ประการของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และจะต่อต้านการสถาปนาความเป็นใหญ่ของประเทศหรือกลุ่มประเทศใด ๆ ไทยได้รับรองว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมายของประเทศจีนเพียงรัฐบาลเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีนที่แบ่งแยกไม่ได้ ส่วนจีนก็ประกาศไม่ยอมรับการถือสองสัญชาติของคนจีนในประเทศไทยอีกต่อไป

ตลอดช่วงเวลา 38 ปีนับแต่สถาปนาทางการฑูต (พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา) ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยังคงพัฒนามาด้วยดี เช่นเดียวกันคำพูดของนายเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีน ที่เคยกล่าวว่า “ความสัมพันธ์จีน-ไทยเป็นตัวอย่างของความร่วมมือฉันมิตรระหว่างประเทศที่มีระบอบสังคมต่างกัน” ด้วยความไว้วางใจทางการเมืองที่มีให้กันมากยิ่งขึ้นภายหลังยุคสงครามเย็น (พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา) ส่งผลให้จีนกับไทยมิได้พัฒนาเฉพาะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคีเท่านั้น หากทั้งสองฝ่ายมีความเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในระดับภูมิภาคและพหุภาคีให้มากขึ้น

อาทิ โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในกรอบ ASEAN+1 (China-ASEAN Free Trade Area: CAFTA) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศเอเชียและกลุ่มประเทศยุโรป (Asia – Europe Economic Meeting: ASEM) เป็นต้น

เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ฉันมิตร ตลอดจนส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค อาเซียน-จีนได้ร่วมกันสถาปนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (ASEAN-China Strategic Partnership) ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2546 ประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ได้จัดการประชุมระดับสูงเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ณ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ และมีการเฉลิมฉลองร่วมกันในงานมหกรรมสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo) เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2556 ณ นครหนานหนิง มณฑลกว่างซี
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง เข้าประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 23 (ASEAN Summit)  วันที่ 9 ต.ค. 56 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน  (ภาพ รอยเตอร์)
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง เข้าประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 8 (East Asia Summit)  วันที่ 10 ต.ค. 56 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน  (ภาพ รอยเตอร์)
ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-จีนที่เข้มข้นขึ้นได้ประจักษ์ชัดแก่สายตาโลกอีกครั้ง เมื่อผู้นำจีนรุ่นที่ 5 สองท่านเดินทางเยือนชาติสมาชิกอาเซียนถึง 5 ประเทศภายในเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (习近平) เยือนอินโดนีเซียและมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ก่อนการเข้าร่วมประชุมเอเปค ครั้งที่ 21 ณ เกาะบาหลี ในวันที่ 7-8 ต.ค. 56 ในขณะที่นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง (李克强) เยือนบรูไน ไทย และเวียดนามอย่างเป็นทางการ ภายหลังเข้าประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 23 (ASEAN Summit) กับการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 8 (East Asia Summit) ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค. 56 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน

ที่สำคัญคือ ไม่เฉพาะแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะได้รับเกียรติเป็นผู้นำต่างประเทศท่านแรกที่กล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภาอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 56 เท่านั้น นายกฯ หลี่ เค่อเฉียงก็ได้รับเกียรติเป็นผู้นำต่างประเทศท่านแรกที่กล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภาไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 56 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งลงบทความพิเศษถึงประชาชนชาวไทยในหนังสือพิมพ์มติชนในวันเดียวกันอีกด้วย

นอกจากจะเรียกร้องให้อาเซียนหยุดยั้งแนวคิดในยุคสงครามเย็น หันมาร่วมมือกันสร้างสันติภาพในทะเลจีนใต้ เช่นเดียวกับที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เน้นย้ำตลอดการปรากฎตัวในครั้งนี้แล้ว นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ยังยืนยันกับชาวไทยว่ามูลค่าการผลิตภายในประเทศจีนและรายได้ประชากรจีนในปีพ.ศ. 2563 ที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปีพ.ศ. 2553 จะกระตุ้นความต้องการอุปโภคบริโภคมากขึ้น อันเป็นโอกาสสำคัญของความร่วมมือกับไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน

พร้อมทั้งเสนอแนวทาง 4 ประการเพื่อทำให้"ดอกไม้แห่งมิตรภาพ" ระหว่างจีน-ไทยเติบโตและงอกงามกลายเป็น "ผลแห่งความร่วมมือ" มากยิ่งขึ้น อันได้แก่ 1) สืบทอดธรรมเนียมการเยือนและการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้นำระดับสูงอย่างสม่ำเสมอต่อไป 2) กระชับความร่วมมืออย่างจริงจัง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการค้า ซึ่งทั้งสองประเทศควรใช้กลไกคณะกรรมการเศรษฐกิจการค้าจีน-ไทยให้เป็นประโยชน์ พยายามทำให้ยอดการค้าสองฝ่ายบรรลุเป้าหมาย 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีพ.ศ. 2558 3) เร่งการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม 4) กระชับการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและบุคลากร
นายกฯ หลี่ เค่อเฉียงได้รับเกียรติในฐานะผู้นำชาวต่างชาติท่านแรกในประวัติศาสตร์ที่มีโอกาสกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมรัฐสภาไทย วันที่ 11 ต.ค. 56 (ภาพ ซินหวา)
นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง กล่าวในที่ประชุมรัฐสภา “ประเทศไทยได้แสดงบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงของเขตเอเชียตะวันออก ขณะนี้สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างมั่นคง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ผมเชื่อมั่นว่าภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัฐบาลไทยจะนำประชาชนไทยพร้อมใจกันสร้างความรุ่งโรจน์ให้ประเทศได้ต่อไป”

“ความสัมพันธ์จีน-ไทยกลายเป็นต้นแบบและมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน ผู้นำระดับสูงของสองประเทศติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ไปมาหาสู่กันเหมือนญาติพี่น้อง พระบรมวงศานุวงศ์ไทยเคยเสด็จเยือนจีนหลายครั้ง ผู้นำรัฐบาล รัฐสภา และฝ่ายทหารต่างก็เคยเยือนจีน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเคยเสด็จเยือนจีนกว่า 30 ครั้ง ตั้งแต่เมืองหลวงเจริญรุ่งเรืองของจีนจนถึงเขตชายแดนที่อยู่ห่างไกลในชนบททุรกันดาร พระองค์ทรงเป็นที่รักของประชาชนจีน ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือแนะนำประเทศจีนกว่า 10 เล่ม และทรงแปลวรรณกรรมสมัยใหม่ของจีนด้วย ขณะที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ทรงทรงเชี่ยวชาญในการเล่นกู่เจิง งานแสดงดนตรีที่พระองค์ท่านทรงริเริ่มเป็นงานที่มีชื่อเสียงในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ”

“จีนจะสนับสนุนให้วิสาหกิจจีนนำเข้าข้าวไทย 1 ล้านตันภายใน 5 ปีข้างหน้า และสร้างกลไกใหม่เพื่อหารือความร่วมมือด้านการซื้อขายยางพารา มันสำปะหลัง รวมทั้งผลิตผลการเกษตรอื่นๆ พร้อมไปกับการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น จีนจะพิจารณาจัดตั้งธนาคารเพื่อการชำระเงินด้วยเงินหยวนในประเทศไทย สนับสนุนให้ธุรกิจจีนในไทยใช้เงินหยวนชำระเงินทางการค้าระหว่างสองประเทศ”

“ จีนยินดีจะร่วมมือกับไทยเพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในฐานะศูนย์กลางคมนาคมในภูมิภาค อีกทั้งพร้อมจะผลักดันความร่วมมือทางทะเล ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า การจำหน่ายไฟฟ้า พลังงานทดแทน โครงการชลประทาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการศึกษา เพื่อสร้างความผาสุกให้กับประชาชนทั้งสองประเทศ”

“ในเวลานี้ความร่วมมือระหว่างจีน-ไทยเปรียบเสมือนรถยนต์ที่แล่นด้วยความเร็วบนทางด่วน มิตรภาพจีน-ไทยจะมีความต่อเนื่องไปอย่างไม่ขาดสายดุจดังแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำเจ้าพระยา ความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์ต่อกันอย่างรอบด้านระหว่างจีน-ไทยจะเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ใหม่ที่ดีงาม และประทับใจยิ่งขึ้น”
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานวโรกาสให้นายกฯ หลี่ เค่อเฉียงเฝ้าทูลละอองพระบาท ณ พระราชวังสวนจิตรลดา วันที่ 12 ต.ค. 56 (ภาพ ซินหวา)
ความกระตือรือร้นที่ผู้นำจีนรุ่นปัจจุบันมีต่ออาเซียนในระยะนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนโยบาย ‘เคลื่อนแกนหมุนสู่เอเชีย’ (Pivot to Asia) ที่ประธานาธิบดีโอบามาเพิ่งประกาศเป็นแนวทางใหม่ในการคานอิทธิพลจีน กล่าวคือ แม้ว่าประธานาธิบดีโอบามา และนางฮิลลารี คลินตันจะเปิดฉากเยือนไทยเป็นชาติแรกหลังชนะเลือกตั้งสมัยที่สอง ก่อนที่จะเดินทางเยือนพม่า และเข้าร่วมการประชุมเอเชียตะวันออกในประเทศกัมพูชา เพื่อแสดงถึงความสำคัญของซีกโลกตะวันออกที่มีต่อสหรัฐฯ แต่เมื่อพิจารณาจากกำหนดการแล้ว ทำเนียบขาวให้เวลากับทัวร์อาเซียนแค่ 4 วัน (17-20 พ.ย. 55) ในขณะที่ผู้นำมังกรให้เวลากับทัวร์อาเซียนถึง 12 วัน (2-13 ต.ค. 56)

ไม่เพียงเท่านั้น การประกาศยกเลิกแผนเยือนมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ตลอดจนการขาดประชุมเอเปคที่เกาะบาหลี และการขาดประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงกรุงบันดาร์เสรีเบกาวันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะตีบตันในสภาจนทำให้ต้อง ‘ปิดกิจการชั่วคราว’ (Government Shutdown) ล้วนบั่นทอนความเชื่อมั่นที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีต่อศักยภาพและความจริงใจของผู้นำสหรัฐฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำหนดการเดินทางเยือนไทยแบบครบองค์ (ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์) ภายใน 1 วันของผู้นำอินทรีย์ เมื่อปลายปีที่แล้วนั้น กลับดูผิวเผินลงทันทีเมื่อเทียบกับการเยือนไทยตลอด 3 วันของผู้นำมังกร ซึ่งไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนเยี่ยมคารวะประธานองคมนตรี และให้ความสำคัญกับผู้นำรัฐบาลด้วยการหารืออย่างเป็นทางการเท่านั้น หากยังเปิดหน้าประวัติศาสตร์ด้วยการสื่อสารกับผู้แทนราษฎรจากทุกจังหวัดผ่านการปาฐกถาในรัฐสภา พร้อมกับเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผ่านหนังสือพิมพ์รายวันอีกด้วย
นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง กับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมกันปล่อยโคมแห่งมิตรภาพไทย-จีน ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ ลานเฉลิมพระเกียรติ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ วันที่ 12 ต.ค. 56 (ภาพ สำนักข่าวจีน)
นอกจากนี้ นายกฯ หลี่เค่อเฉียงยังเดินทางไปพบกับพ่อค้านักธุรกิจ ตลอดจนสื่อมวลชนที่สมาคมหอการค้าไทย-จีน เข้าเยี่ยมชมโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง เพื่อแสดงความจริงจังต่อประเด็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการศึกษา เข้าชมศูนย์จำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP จังหวัดเชียงใหม่และเป็นประธานเปิดงานรถไฟความเร็วสูง เพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการค้าเคียงคู่กับการพัฒนาระบบคมนาคมร่วมกัน

อย่างไรก็ดี ในขณะที่วาทะจับจิตท่าทีจับใจของ ‘พี่จากแดนใกล้’ เช่นจีน กำลัง ‘ผงาด’ ขึ้นมาต่อกรกับอุดมการณ์อันประเสริฐของ ‘เพื่อนจากแดนไกล’ เช่นสหรัฐฯ รัฐบาลไทยรวมถึงประชาชนทุกหมู่เหล่าจำต้องเริ่ม ‘ผวา’ เพื่อร่วมกันไตร่ตรองให้รู้เท่าทันถึง ‘ผล’ ที่ผู้พี่แอบ ‘หวัง’  จากการ ‘หว่านพืช’ รู้จักประเมินความคุ้มทุนอย่างรอบด้านเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของชาติ เพราะ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” หาก ‘เล่น’ ผิดคีย์ เสียงของไทยอาจไม่ดังกังวานอีกต่อไป !
ป้ายต้อนรับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีจีน (ภาพ รอยเตอร์)
ข้าราชการและพี่น้องชาวไทยให้การต้อนรับนายกฯ หลี่ เค่อเฉียงอย่างอบอุ่นหน้ารัฐสภา (ภาพ ซินหวา)
นายกฯ หลี่ เค่อเฉียงได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจบการกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมรัฐสภาไทย วันที่ 11 ต.ค. 56 (ภาพ ซินหวา)
นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ให้กียรติตรวจแถวทหารกองเกียรติยศหน้าตึกไทยคู่ฟ้า วันที่ 11 ต.ค. 56 (ภาพ รอยเตอร์)
แบบจำลองรถไฟความเร็วสูง ภายในงานนิทรรศการรถไฟความเร็วสูง ฯ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ วันที่ 12 ต.ค. 56
นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง กับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะกำลังหารือเรื่องความร่วมมือรถไฟความเร็วสูง ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ วันที่ 12 ต.ค. 56 (ภาพ ซินหวา)
นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง กล่าวสุนทรพจน์ขณะเดินทางไปพบกับชาวจีนโพ้นทะเล ณ หอการค้าไทย-จีน วันที่ 12 ต.ค. 56 (ภาพ ซินหวา)
นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ให้กำลังคณะครูและอาสาสมัครชาวจีน ขณะเข้าเยี่ยมชมโรงเรียนช่องฟ้า๙นเงวาณิชบำรุง จ.เชียงใหม่ วันที่ 13 ต.ค. 56 (ภาพ ซินหวา)
นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง พูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักเรียน ขณะเข้าเยี่ยมชมโรงเรียนช่องฟ้า๙นเงวาณิชบำรุง จ.เชียงใหม่ วันที่ 13 ต.ค. 56 (ภาพ ซินหวา)
นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ทักทายกับชาวบ้านที่มาต้อนรับอย่างเป็นกันเอง หน้าบริเวณศูนย์แสดงจำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP จ.เชียงใหม่ วันที่ 13 ต.ค. 56 (ภาพ ซินหวา)
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรให้การต้อนรับนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ขณะเข้าเยี่ยมชมสินค้า OTOP จ.เชียงใหม่ วันที่ 13 ต.ค. 56 (ภาพ ซินหวา)
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรให้การต้อนรับนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ขณะเข้าเยี่ยมชมสินค้า OTOP จ.เชียงใหม่ วันที่ 13 ต.ค. 56 (ภาพ ซินหวา)
กำลังโหลดความคิดเห็น