xs
xsm
sm
md
lg

เมล็ดพันธุ์แห่งความหวังกับมหกรรมสินค้าจีน-อาเซียน

เผยแพร่:   โดย: น้ำทิพย์ อรรถบวรพิศาล

ความสัมพันธ์ทางการระหว่างราชสำนักจีนกับอาณาจักรโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินสืบเนื่องเรื่อยมา ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางสถานภาพของระบบ ‘จิ้มก้อง’ ‘รัฐน้อง’ ยินยอมส่งบรรณาการตามธรรมเนียม เพื่อแลกกับของขวัญตอบแทนที่มีมูลค่ามากกว่า ตลอดจนผลประโยชน์ทางการค้าและการคุ้มครองทางการเมืองจาก ‘รัฐพี่’ ทว่า ความสัมพันธ์ชุดดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อมหาอำนาจตะวันตกได้ใช้ระบบทุนนิยมและอำนาจทางทหารเปลี่ยนโลกทัศน์ของชาวเอเชีย สาธารณรัฐประชาชนจีนกลายเป็นพันธมิตรที่จำเป็น แต่ไม่ควรค่าแก่การไว้ใจของเอเชียอาคเนย์ กระทั่งสงครามเย็นยุติลง กระแสโลกาภิวัตน์ ได้ผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในเวทีโลก
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การจัดงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 10
เวทีเจรจาอาเซียน-จีน (10+1) เริ่มต้นขึ้นในปีพ.ศ. 2540 อันเป็นแรงผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนใน 5 ปีถัดมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและขยายตลาดการค้าและการลงทุนระหว่างจีน-อาเซียนให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีน (10+1) ครั้งที่ 7 นายเวิน จยาเป่า อดีตนายกรัฐมนตรีจีน ได้เสนอให้สำนักเลขาธิการอาเซียน รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ของประเทศสมาชิก เป็นเจ้าภาพร่วมกันจัดงานมหกรรมสินค้าจีน-อาเซียน และการประชุมสุดยอดด้านการลงทุนและการค้าจีน-อาเซียน เป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ได้มีการฉลองวาระครบรอบปีที่ 10 ไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 56 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์แสดงสินค้าและศูนย์การประชุมแห่งชาติหนานหนิง นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง มณฑลกว่างซี โดยมีนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนพร้อมผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ร่วมพิธีเปิดและกล่าวสุนทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน
หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน และผู้นำอาเซียน 5 ประเทศ โปรย ‘เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง’ ในพิธีเปิดมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 56 ณ  นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง มณฑลกว่างซี
“ประเทศจีนยึดมั่นใน ‘การพัฒนาอย่างสันติ’ นโยบายการฑูตของจีนให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอันดับแรก จีนเป็นประเทศแรกที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผู้ริเริ่มหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียน สำหรับกรณีพิพาททางทะเล ทางการจีนพร้อมที่จะแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติและขอยืนยันว่าจะไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ทางการค้าแน่นอน ภายใต้หลักการ ‘เพื่อนบ้านที่ดี’ เราจะเผชิญปัญหาที่ท้าทายด้วยกัน มั่งคั่งด้วยกัน ความสำเร็จตลอด 10 ปีที่ผ่านมาคือพยานของยุคทองแห่งความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน เราพร้อมที่จะสร้าง ‘ทศวรรษแห่งเพชร’ ในอนาคต มูลค่าการค้าระหว่างเราจะต้องถึงหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 เราจะใช้สองล้อขับทะยานสู่สังคมโลกไปด้วยกัน” นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวในพิธีเปิดงานมหกรรมสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 10

“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-อาเซียนส่งผลอย่างสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยดี ประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 จะทำให้จีนเป็นมิตรกับอาเซียนได้มากขึ้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันจะสร้างความมั่นคงและความสงบสุขให้กับภูมิภาค เพื่อที่จะยกระดับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เราจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี นักวิชาการ นักเรียนนักศึกษา และนักลงทุนทั้งหลาย ปัจจุบัน จีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของพม่า ด้วยมูลค่าถึง 14 พันล้านเหรียญสหรัฐ ความร่วมมือในโครงการน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ คือ สัญลักษณ์แห่งความสำเร็จดังกล่าว” พลเอกเต็งเส่ง ประธานาธิบดีพม่า กล่าวในพิธีเปิดงานมหกรรมสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 10

“10 ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคของเราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ต้องขอบคุณเศรษฐกิจจีนที่ผลักดันให้ภูมิภาคเอเชียกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการเจริญเติบโต และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-จีนได้ก้าวหน้าขึ้นในทุกมิติ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความมั่นคงให้กับภูมิภาค งานมหกรรมแสดงสินค้าอาเซียน-จีน และเวทีประชุมสุดยอดผู้นำด้านการลงทุนและการค้าอาเซียน-จีนเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยส่งเสริมเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน แถลงการณ์ร่วมเพื่อสันติภาพและความมั่นคงอาเซียน-จีนจะเป็นพลังผลักดันประชาเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เมื่อมองย้อนหลังไปสองทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเป็นประโยชน์ต่ออาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับแต่มหกรรมสินค้าอาเซียน-จีนเริ่มขึ้นเมื่อปี 2547 ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกัมพูชากับจีนก็ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสถิติในปี 2555 มูลค่าการค้าระหว่างเราสูงถึง 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมันจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 ได้อย่างแน่นอน” จอมพล สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวในพิธีเปิดงานมหกรรมสินค้าอาเซียน-จีน ครั้งที่ 10

“จีนเป็นหุ้นส่วนแรก และเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของอาเซียน ด้วยความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน-จีน ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นถึง 22% ต่อปี ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในอาเซียน ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของจีน ปัจจุบันเวียดนามยังคงพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะปรับปรุงระบบกฎหมายและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เอื้อต่อการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เวียดนามหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อาเซียน-จีนจะสามารถจับมือกันด้วยความรับผิดชอบและเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพเช่นนี้ตลอดไป ” นายเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวในพิธีเปิดงานมหกรรมสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 10

“ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนเป็นส่วนสำคัญของความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับอาเซียน หวังว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนในปี 2015 จะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จีนกับอาเซียนมีความไว้ใจกันและกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และพื้นฐานดังกล่าวนี้จะมั่นคงและเติบโตยิ่งขึ้น จึงเสนอให้งานมหกรรมสินค้าฯ ครั้งนี้ให้ความสำคัญในสองประเด็น คือ ขยายการลงทุนด้านการค้าแบบทวิภาคี สอง ขยายขนาดการติดต่อและการเชื่อมโยงระหว่างกัน” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวในพิธีเปิดงานมหกรรมสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 10

สโลแกนหลักของปีนี้ คือ “การพัฒนาความร่วมมือระดับภูมิภาค - โอกาสใหม่ พลังงานใหม่ แรงขับเคลื่อนใหม่ ก้าวย่างใหม่” (Regional Cooperation and Development: New Opportunities, New Driving Forces, and New Stages หรือ 区域合作发展——新机遇、新动力、新阶段) การจัดงานยังคงยึดรูปแบบเดิม คือ จัดแบ่งประเภทของนิทรรศการกระจายตาม 3 สถานที่หลัก ซึ่งได้แก่ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาตินครหนานหนิง อาคารนิทรรศการกว่างซี และศูนย์นิทรรศการหัวหนานเฉิง นอกจากสินค้าระดับแนวหน้าของแต่ละประเทศแล้ว ภายในงานยังมีการจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆทางด้านเกษตรกรรมและพลังงาน ตลอดจนนิทรรศการ ‘เมืองแห่งมนต์เสน่ห์’ ซึ่งถ่ายทอดภาพลักษณ์เมืองคัดสรรของประเทศผู้เข้าร่วมงานอีกด้วย

ทั้งสองเวทีนี้มีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ ระหว่างจีนกับอาเซียน ดังจะเห็นได้จากสถิติมูลค่าการค้าของจีน-อาเซียนในช่วงก่อนจัดงานมีมูลค่าการค้าไม่ถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทว่า นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มูลค่าทางการค้ากลับถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 ปัจจุบันอาเซียนก้าวขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของจีน เป็นประเทศที่จีนนำเข้ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 และเป็นประเทศที่จีนส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4
กราฟแสดงมูลค่าการค้าของจีน – อาเซียน ระหว่างปี 2540 - 2553  (ภาพ China statistical yearbooks 2010)
ปรากฏการณ์ดังกล่าว จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากผู้นำจีนไม่ปรับท่าทีให้ท่วงทันต่อสถานการณ์โลก เหมา เจ๋อตง เสนอการทูต ‘โดยรอบ’ เพราะตระหนักถึงความสำคัญของเพื่อนบ้านในฐานะจุดยุทธศาสตร์ทางการเมืองระหว่างประเทศ เติ้ง เสี่ยวผิง เสนอแนวทาง ‘ละวางอธิปไตย พัฒนาร่วมกัน’ เพราะไม่ต้องการให้ปัญหาเขตแดนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เจียง เจ๋อหมิน เสนอยุทธศาสตร์ ‘เพื่อนบ้านที่ดี หุ้นส่วนที่ดี’ เพราะต้องการหักล้างทฤษฎี ‘ภัยคุกคามจากจีน’ หู จิ่นเทา เสนอนโยบาย ‘เพื่อนบ้านที่เป็นมิตร เพื่อนบ้านที่ปลอดภัย เพื่อนบ้านที่รุ่งเรือง’ เพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งยุทธศาสตร์ ‘มุ่งพัฒนาจีนตะวันตก’ ใช้การติดต่อค้าขายกับอาเซียนและความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงเป็นกลไกกระจายรายได้สู่พื้นที่ด้อยพัฒนา และรักษาสถานะทางการเมืองระหว่างประเทศ  จากสุนทรพจน์ของหลี่ เค่อเฉียง กระทั่งยุทธศาสตร์ ‘รุกลงใต้’ ทวีความเข้มข้นในยุคผู้นำจีนรุ่นที่ 5
ภาพล้อเลียนการจับมือกันด้วยความสันติเพื่อผลประโยชน์ของทั้งฝ่าย (ภาพ เวบไซต์ ASEAN-CHINA)
ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอาเซียน-จีนได้ยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจีนตระหนักถึงความสำคัญของอาเซียนในฐานะภูมิภาคเนื้อหอมของบรรดามหาอำนาจ ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างก็แสดงท่าทีพึ่งพิง 'ว่าที่' มหาอำนาจจีนมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากประเทศอาเซียนและจีนขาดการรดน้ำด้วย ‘สันติ’ เพื่อผลประโยชน์อันพอกพูนสำหรับทุกฝ่าย ก็คงมิอาจก้าวข้ามอุปสรรคหลากหลายประการไปได้ อาทิ ข้อพิพาทน่านน้ำทางทะเล วิวาทะเรื่องการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคและกฎหมายที่ล้าหลัง เป็นต้น

‘เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง’ จะเจริญเติบโตให้ดอกออกผลที่งดงามเพียงใด ขึ้นอยู่กับ 'ความใส่ใจ' ของเราทุกคน  !
กำลังโหลดความคิดเห็น