และแล้วการเลือกตั้ง ส.ว. 77 จังหวัดๆ ละ 1 คน ก็เรียบร้อยโรงเรียนแม้ว ท่ามกลางความฉงนสนเท่ห์ของมวลมหาประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่เข้าใจว่า เหตุไฉนการประกาศหลักการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” จึงจำเพาะเจาะจง จำกัดอยู่แค่การเลือกตั้ง ส.ส. โดยกำนันและ กปปส.โถมถั่งเข้าขัดขวางการเลือกตั้งอย่างถึงลูกถึงคน จนการเลือกตั้งง่อยเปลี้ยเสียขาไป แต่กับการเลือกตั้ง ส.ว.กลับไม่สนใจไยดี ปล่อยให้ลอยนวลเลือกตั้งกันอย่างสะดวกโยธิน ทั้งๆ ที่มันก็เป็นการเลือกตั้งแบบเดิมๆ ที่เต็มไปด้วยกลไกการบังคับขับเคลื่อนของบรรดาพรรคการเมืองที่ฉ้อฉลปล้นอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และก่อให้เกิดสภาทาสสภาขี้ข้าอย่างที่เป็นมาหลายสิบปี
และบัดนี้ ด้วยงบประมาณแผ่นดิน 2,800 ล้านบาท เราก็ได้ผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นว่าที่ ส.ว. 77 คน โดยมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้ 20,873,423 คน จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 48,787,153 คน คิดเป็นร้อยละ 42.78 โดยเป็นบัตรดี 17,290,896 คิดเป็นร้อยละ 82.84 บัตรเสีย 1,086,184 คิดเป็นร้อยละ 5.20 และบัตรที่กาไม่ประสงค์ลงคะแนน 2,496,341 คิดเป็นร้อยละ 11.96
โดยภาพรวมการเลือกตั้งครั้งนี้ วิเคราะห์แบบงูๆ ปลาๆ ตามประสาผู้อ่อนด้อยทางการเมือง ผมคิดสารตะเอาตัวเลขรวมกันง่ายๆ ระหว่างผู้มีสิทธิ์แต่ไม่มาเลือกตั้ง กับผู้มาเลือกตั้งแล้วกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน กับบัตรเสียที่จงใจมาทำให้มันเสียอีกส่วนหนึ่ง รวมเป็นตัวเลขกลมๆ ประมาณ 30 กว่าล้านคน ซึ่งผมขอฟันธงว่านี่คือมติมหาชนที่ประกาศปฏิเสธการเลือกตั้งที่ยังไม่มีการปฏิรูปอย่างแน่นอน
หรือจะเอาแคบแค่จังหวัดเดียว เลือกจังหวัดหัวเมืองประตูสู่อีสานที่เป็นจังหวัดใหญ่ที่สองรองจากกรุงเทพฯ คือ จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราชเมืองย่าโมที่ตัวผมเองมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่นี่ โคราช มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งแค่ 802,246 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งถึง 1,984,664 คน คิดเป็นร้อยละ 40.42 เท่านั้นเอง และมีบัตรดีที่เป็นฝ่ายสนับสนุนการเลือกตั้งแน่ๆ แค่ 642,173 บัตร นอกนั้นเป็นบัตรเสียที่จงใจไปทำให้เสียเป็นส่วนใหญ่ถึง 48,458 บัตร และอีกส่วนคือกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนอีก 111,615 บัตร
ทันทีที่ทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ผู้ชนะการเลือกตั้งที่โคราชซึ่งสังกัดพรรคสุวัจน์ ลิปตพัลลภ (ชื่อพรรคมันเปลี่ยนจนจำไม่ได้แล้ว) ได้คะแนนแค่295,227 คะแนน รวมๆ กับตัวเลขข้างต้นแล้ว ผมก็หยิบปากกามาเขียนเป็นบทกวีสั้นๆว่า...
“คนมีสิทธิ์เลือกตั้ง ตั้งล้านเก้า แต่มาเข้าคูหาแค่แปดแสน ต่อให้คนชนะได้กี่คะแนน ก็ไม่ใช่ผู้แทนของปวงชน”
แล้วก็งีบหลับไป เพราะยังมีอาการเมาแดดค้างมาจากการไปเดินขบวนที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2557 ไปตีสามกลับมาตีสามอีกวัน เลยหมดแรงมวลมหาประชาชราภาพ ที่ไม่เจียมสังขารไปเอาอย่างลุงกำนัน
ตื่นขึ้นมากลางดึกจึงลุกมาเขียนต่อ เป็นบทกวีเล่าเรื่องแกมบ่น ไปตามอารมณ์คนหงุดหงิดกับการเลือกตั้ง โดยตั้งชื่อบทกวีตรงไปตรงมาว่า “คนโคราชไม่เอาเลือกตั้งที่ยังไม่ปฏิรูป” ดังนี้ครับ
คนมีสิทธิ์เลือกตั้ง ตั้งล้านเก้า แต่มาเข้าคูหาแค่แปดแสน
ต่อให้คนชนะได้กี่คะแนน ก็ไม่ใช่ผู้แทนของปวงชน
คนไม่เอาเลือกตั้งมากกว่าครึ่ง โหวตโนก็กาตึงแสนต้นต้น
บัตรเสียก็จงใจหลายหมื่นคน คือมติมหาชนที่ชัดเจน
ว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่เอาเลือกตั้ง ที่เส็งเครงสังคังและเน่าเหม็น
ไม่เอาแล้วผู้แทนทาสที่เหลือเดน อำนาจรัฐที่เบี่ยงเบนไม่เป็นธรรม
ประชาธิปไตยติดเชื้ออันโฉดชั่ว รัฐสภาหม่นมัวและตกต่ำ
มีแต่ฝูงขี้ข้าสาริยำ ร่วมนายทุนรุมขย้ำประเทศไทย
เลือกตั้งวันนี้ที่โคราช ประชาชนจึงชี้ขาดว่าใครใหญ่
ใครคือเจ้าของอธิปไตย ล้านกว่าเสียงจึงมีชัยเหนือ ส.ว.
แล้วผลการเลือกตั้งก็เป็นไปตามคาด ผู้ชนะที่จะได้เป็น ส.ว.ไปทำหน้าที่ในสภาสูงส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีสายสัมพันธ์และอาศัยใบบุญของพรรคการเมืองทั้งพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล ที่เชื่อว่าจะเป็นอิสระจริงปลอดจากการเมือง แทบจะนับตัวได้ไม่กี่คน เพราะฉะนั้น การเมืองก็หนีไม่พ้นสภาทาสสภาขี้ข้าแบบเดิมๆ และโดยเฉพาะ เมื่อใกล้จะถึงคราวทำหน้าที่ถอดถอนนักการเมืองที่ทำผิดคิดชั่ว มีหรือที่จะไม่เกิดการเบี่ยงเบนเล่นเอาเถิด แบบไม่แยแสหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างที่เคยเป็นมา
ผลของการที่ปล่อยให้มีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการปฏิรูป อันขัดกับหลักการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ที่เป็นสัญญาประชาคมของ กปปส.ได้กลายเป็นผลเสียหายที่กำนันและกรรมการ กปปส.ทุกคนจะต้องเร่งคิดอ่านแก้เกมให้ทันการณ์โดยเร่งด่วน และขอให้ถือเป็นบทเรียนสำหรับการต่อสู้ของมวลมหาประชาชน ที่จะต้องซื่อตรงโปร่งใส และชัดเจนในหลักการอุดมการณ์ที่ประกาศต่อมวลชนอย่างไม่เบี่ยงเบนให้เกิดคำถามใดๆ
และขอปิดท้ายบทความนี้ ด้วยบทกวีที่เขียนขึ้นก่อนการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. ไม่กี่วัน
คิดจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา ต้องสมัครเป็นขี้ข้าให้ได้ก่อน
ไปจิ้มก้องไปกราบไหว้ไปอ้อนวอน จะว่านอนสอนง่ายตามนายทุน
ไหนเล่าเกียรติศักดิ์ศรีท่าน ส.ว. เขาเค้นคอสนตะพายเป็นฝ่ายสมุน
แบกภาระหน้าที่ทดแทนคุณ ผิดหรือถูกบาปหรือบุญจึงบังตา
รู้แต่ต้องลงมติตามนายสั่ง เหตุและผลไม่ต้องฟังไม่ต้องหา
ลงมติแต่ละครั้งชั่งเงินตรา ยอมขายตัวชั่วยิ่งกว่าโสเภณี
กะหรี่ขายตัวแลกเงินตรา ผู้แทนขี้ข้าไม่ต่างกะหรี่
แต่เทียบชั้นผิดชอบและชั่วดี ขายตัวขายหน้าที่ย่อมต่างกัน
นี่คือปัญหาการเมืองไทย ตราบใดเลือกตั้งไม่สร้างสรรค์
ยังซื้อสิทธิ์ขายเสียงสารพัน ประชาธิปไตยก็ตีบตันอันตราย
ต้องรื้อล้างกะหรี่ในรัฐสภา ล้างผู้แทนขี้ข้าให้หดหาย
กำหนดโทษทุจริตให้ถึงตาย ล้างการเมืองซื้อขาย ทาสนายทุน!
ว.แหวนลงยา