xs
xsm
sm
md
lg

"พรเพชร"ไขก๊อกผู้ตรวจการฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (13ส.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน และว่าที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ตนได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง ผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว โดยมีผลในวันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นไป ซึ่งการลาออกในครั้งนี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการดำรงตำแหน่งประธาน สนช. และไม่เกี่ยวกับกระแสกดดันจากสังคม ที่ให้เลือกตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใด เพราะส่วนตัวก็ตั้งใจที่จะลาออกจากตำแหน่งหลังมีการโปรดเกล้าฯ อยู่แล้ว แต่ที่ต้องมีผลหลังวันที่ 1 ก.ย.นั้น เนื่องจากต้องสะสางงานที่ยังคงค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง
นายพรเพชร กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ยังไม่ถึงกำหนดการลาออก ยืนยันว่า จะไม่ร่วมพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ กรณีของนายศรีสุวรรณ จรรยา สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ให้พิจารณาสมาชิก สนช.ที่ไม่มีความหลากหลายจากทุกองค์กร
ในวันเดียวกันนี้ นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ที่ประชุมได้รับทราบกรณี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ยื่นขอลาออกจากการเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ นายพรเพชร ได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากไม่อยากมีการข้อสงสัยเกิดขึ้นว่า หากยังดำรงตำแหน่งพร้อมกันทั้ง ปธ.สนช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน อาจเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งนายพรเพชร ระมัดระวังในเรื่องกฎ กติกา มาตลอด และไม่อยากให้มีการมองในทำนองว่าเหยียบเรือสองแคม
ส่วนเหตุที่ให้การลาออกมีผลในวันที่ 1 ก.ย. ก็เพื่อให้สองสัปดาห์นี้ จะได้เคลียร์งานที่เหลืออยู่ให้แล้วเสร็จ ไม่เป็นภาระของใคร ซึ่งนายพรเพชร ดูแลงานด้านตำรวจ การยุติธรรม และปัญหาภาคใต้ เมื่อลาออกแล้วก็จะได้ไปทำหน้าที่ในฐานะประธาน สนช. อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่แทนนายพรเพชรนั้น ตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ระบุไว้ว่า หากกรรมการองค์กรอิสระว่างลง ให้ดำเนินการสรรหาตาม รัฐธรรมนูญปี 50 ดังนั้นหลังจากนี้ ทางสำนักงานก็จะทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะหน่วยงานธุรการให้ดำเนินการสรรหา ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 243 กำหนดให้มี คณะกรรมการสรรหา 7 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ทำการคัดเลือกด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ซึ่งกรณีนี้ คณะกรรมการสรรหาอาจเหลือเพียง 5 คน เพราะไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน และประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อคณะกรรมการสรรหา ดำเนินการสรรหาแล้วเสร็จ ก็คงต้องส่งให้ สนช. พิจารณาเห็นชอบ เพราะไม่มีวุฒิสภา โดยกระบวนการสรรหาทั้งหมดจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 60 วัน
ทั้งนี้นายรักษเกชา ยังปฎิเสธว่า สาเหตุการลาออกของนายพรเพชร ไม่เกี่ยวกับคำร้องของ นายศรีสุวรรณ จรรยา อุปนายกสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ยื่นขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบและมีความเห็นเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กระบวนการสรรหาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการสรรหาบุคคลที่เป็นพวกพ้องกับผู้มีอำนาจ และขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง โดยนายรักษเกชา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของสำนักงาน ยังไม่ได้บรรจุเข้าวาระการประชุมของผู้ตรวจฯ เพียงแต่แจ้งผู้ตรวจฯ ทราบว่ามีคำร้องเข้ามา ซึ่ง นายพรเพชร ค่อนข้างระวังในเรื่องการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอยู่แล้ว ขนาดในวันนี้มีการประชุมพิจารณาเรื่องการเสนอบุคคลเป็นสปช. นายพรเพชร ก็ไม่ได้อยู่ร่วมหลังประกาศขอลาออก
กำลังโหลดความคิดเห็น