xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระบรมฯทรงย้ำสนช. เร่งฟื้นฟูประเทศชาติ ยึดถูกต้องตามหลักนิติธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯ เปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ย้ำให้ตระหนักในหน้าที่ในการฟื้นฟูประเทศชาติ และเร่งดำเนินการให้ลุล่วงไปโดยเร็ว ด้วยความเที่ยงตรง ถูกต้อง ตามหลักนิติธรรม"ไพบูลย์" ชู "ประยุทธ์"เหมาะนั่งนายกฯ อ้างผลสำรวจประชาชนให้การสนับสนุน "ปนัดดา" สั่งเปลี่ยนเก้าอี้นายกฯใหม่ ปรับปรุงทำเนียบฯ เสร็จต้นก.ย.นี้

เมื่อวานนี้ (7ส.ค.) ที่รัฐสภา ตลอดช่วงเช้า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทยอยเดินทางมาอาคารรัฐสภา 2 โดยแต่งกายด้วยเครื่องแบบเต็มยศ เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ขณะที่นายสม จาตุศรีพิทักษ์ ก็ได้เข้ามารายงานตัวเป็นคนสุดท้าย ในเวลา 11.00 น. เพื่อเข้าร่วมรัฐพิธีด้วย

กระทั่งเวลา 13.00 น. สมาชิกสนช. ได้ทยอยขึ้นรถตู้ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อเดินทางไปยัง พระที่นั่งอนันตสมาคม ร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พร้อมคณะคสช. ประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนคณะทูตานุทูตประเทศต่างๆ เข้าร่วมรัฐพิธีในครั้งนี้

จากนั้นเวลา 15.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ต่อมาเสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงยืนหน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร มหาดเล็ก รัวกรับ ชาวม่านไขพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศ ถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ใจความว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันนี้ การเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งนี้ ควรจะนับเป็นนิมิตหมายของการเริ่มต้นที่ดี เพราะตั้งแต่วาระนี้เป็นต้นไป ท่านทั้งหลายจะได้มีโอกาสประชุม ปรึกษาหารือกัน ทั้งในการจัดทำรัฐธรรมนูญ และการบัญญัติกฎหมาย เพื่อให้การปกครองดำเนินไปตามวิถีแห่งระบอบประชาธิปไตย และเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศ ทุกๆด้าน ให้บังเกิดความมั่นคงตลอดไป และความความวัฒนาผาสุกขึ้นแก่ประเทศชาติ และประชาชน บรรดาสมาชิกแห่งสภานี้ จึงควรจะได้ตระหนักถึงความสำคัญในภาระหน้าที่ของตน และรีบเร่งพิจารณาดำเนินการให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง และรวดเร็ว จึงขอให้ทุกท่านร่วมแรงร่วมใจ ร่วมความคิดอ่านกัน ปฏิบัติภาระหน้าที่เต็มสติปัญญาความสามารถ ด้วยความสุจริต บริสุทธิ์ใจ ให้งานทุกด้านดำเนินไปอย่างเที่ยงตรง ถูกต้อง ทั้งตามหลักนิติธรรม และเหตุผลความชอบธรรม ทั้งสำเร็จผล เป็นประโยชน์อันพึงประสงค์ คือ ความผาสุกมั่นคงของประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริง

บัดนี้ได้เวลาอันเป็นมงคลแล้ว ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ข้าพเจ้าขอเปิดการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ทำหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ 2557 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

จากนั้นชาวม่านไขพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินลงจากพระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

** "ไพบูลย์"ชู"ประยุทธ์"นายกฯ

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม คสช. กล่าวว่า ในวันนี้ ( 8 ส.ค.) จะมีการเลือกประธานสภา จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. จะนำชื่อ ประธานสนช. ขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อรอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ต่อไป จากนั้นจะมีการกำหนดวันประชุม เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดย สนช.จะโหวตเลือกบุคคลที่สมาชิกได้เสนอขึ้น แล้วประธาน สนช. ก็จะนำชื่อนายกฯที่สนช.เห็นชอบขึ้น ทูลเกล้าฯ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน

"ถ้าถามว่าใครจะเป็นนายกฯ ส่วนตัวผมเห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. มีความเหมาะสม เพราะที่กล่าวอย่างนี้ ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ได้มีการควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ และได้สัญญาประชาคมกับพี่น้องประชาชนว่า จะนำพาประเทศชาติสู่ความปลอดภัย และจะมีความสุข โดยตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา การบริหารประเทศอยู่ภายใต้การดูแลของคสช. และจากการสำรวจความเห็นพี่น้องประชาชน พบว่ามีความพึงพอใจ การแก้ไขปัญหา ไม่เฉพาะการปรองดอง แต่มีเรื่องของเศรษฐกิจด้วย"

ทั้งนี้ หัวหน้าคสช.ได้นั่งอยู่ในฐานะที่เหมือนนายกฯ และก็สามารถบริหารราชการโดยไม่มีข้อบกพร่อง อีกทั้งหัวหน้าคสช.ได้พยายามศึกษางานของ กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ และจากความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเสียงที่สะท้อนกลับจากประชาชน ก็มีความพอใจ จึงเห็นว่า หัวหน้าคสช.มีความเหมาะสมที่จะเป็น นายกฯ

"แน่นอน หัวหน้าคสช.ไม่ได้เติบโตด้านบริหาร แต่ก็ได้ศึกษาและใช้คนเป็น ในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งจะเห็นได้จากการที่หัวหน้า คสช. แถลงผลงานในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ซึ่งท่านมีความเข้าใจการบริหารงานของประเทศชาติ ถ้าหากแถลงออกมาแล้วประชาชนร้องยี้ ก็จะเกิดผลกระทบย้อนมาสู่ท่านเอง ทุกครั้งที่ท่านแถลง ทุกวันศุกร์ ผมมีความเข้าใจว่า ท่านหัวหน้า คสช.เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการประคับประคอง บริหารประเทศเป็นไปตามโรดแมปของ คสช. และที่ผ่านๆมา ท่านก็สามารถทำได้ดีในการเข้ามาบริหารประเทศ" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวถึง คณะกรรมการ 11 คณะ ที่จะคัดสรร สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 คสช. จะเป็นผู้คัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งกรรมการทั้ง 11 คณะ เพื่อคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมจากการเสนอชื่อขององค์กรต่างๆ เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ สปช.

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับงาน บุคคลที่ถูกคัดเลือกจะมาจากด้านต่างๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยต้องมีความรู้ในสาขานั้นๆ ขณะนี้คงเริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนจะประกาศเมื่อใด ต้องเฝ้าดูต่อไป ซึ่งตนไม่มั่นใจว่าสมบูรณ์หรือยัง ว่ามีบุคคลใดจะมาดำรงตำแหน่งในแต่ละคณะ

เมื่อถามว่าส่วนตัวอยากได้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แบบใด มามาบริหารงาน พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า อยากได้ครม.ที่เข้ามาบริหารประเทศ แต่ตนไม่สามารถตอบได้ ต้องเป็นเรื่องของนายกฯ ที่จะเลือกครม. ซึ่งตนเข้าใจว่าหัวหน้าคสช. มีรายชื่อคนที่อยู่ในใจอยู่แล้ว และเชื่อว่าสามารถคัดเลือกคนที่จะมาดูแลประเทศชาติได้ ทั้งนี้ อยากให้มีการประกาศนายกฯ อย่างเป็นทางการก่อน

เมื่อถามอีกว่า มีกระแสข่าวว่าจะมาเป็นรมว.ยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ ได้แต่ยิ้มรับ โดยไม่ตอบคำถามแต่อย่างใด พร้อมกับเดินทางกลับทันที

** "ปนัดดา" สั่งเปลี่ยนเก้าอี้นายกฯใหม่

เมื่อเวลา 13.15 น.วานนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการอำนวยการพัฒนาปรับปรุงทำเนียบรัฐบาล และบ้านพิษณุโลก เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาปรับปรุง

ทั้งนี้ ในส่วนของ ตึกไทยคู่ฟ้า มีความคืบหน้าในภาพรวม ร้อยละ 20 โดยภายนอกอาคารมีการทาสี และจะซ่อมประตูและหน้าต่าง รวมถึงปรับปรุงพื้นดาดฟ้า ติดตั้งรางไฟ และซ่อมหินทางเดินเข้า ส่วนการปรับปรุงภายในอาคาร มีความคืบหน้าร้อยละ 60 ของงาน ซึ่งมีการทำความสะอาด และซ่อมโคมระย้าเสร็จแล้ว รวมถึงซ่อมโต๊ะและเก้าอี้บุผ้า อีกทั้งทาสีผนังห้อง และกำลังจะเปลี่ยนสุขภัณฑ์ในห้องทำงานนายกรัฐมนตรี ให้มีสุขภัณฑ์สำหรับผู้ชาย รวมถึงเปลี่ยนเก้าอี้นั่งทำงานนายกรัฐมนตรีด้วย ตามข้อเสนอของหน่วยงานจากกองทัพบก โดยกรมศิลปากร เป็นผู้ดูแลแบบ

ทั้งนี้ มล.ปนัดดา ระบุว่า ตามแผนงานการปรับปรุงทำเนียบรัฐบาล จะแล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 15 กันยายน

**กล้านรงค์ ดันร่างกม.ต้านคอร์รัปชัน

นายกล้านรงค์ จันทิก สนช. กล่าวถึง พระราชดำรัส สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในรัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า พระองค์ทรงให้พวกเรา ทำงานด้วยความเข้มแข็ง เที่ยงธรรม ให้อุทิศตนทำงานตามหน้าที่ให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และให้ทุกคนได้ตระหนักในหน้าที่ของตัวเอง และอุทิศตนเสียสละรับใช้ชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารับพระราชดำรัสเอาไว้แล้ว ตนเชื่อว่าทุกคน คงจะมีความรู้สึกตรงกันว่า ต้องสนองพระเดชพระคุณของพระองค์ท่าน

นายกล้านรงค์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็น อดีต กรรมการป.ป.ช. จะผลักดันกฎหมายในเรื่องการต่อต้านการทุจริตที่ต้องออกเป็นกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะ ต้องออกตามอนุสัญญาที่ไทยทำกับสหประชาชาติ ซึ่งไทยต้องดำเนินการให้เสร็จ ตั้งแต่ปี 2556 แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ ที่ป.ป.ช.เคยเสนอมายังสภา แต่ยังไม่ผ่าน เพราะมีการถอนออกไป คงต้องดำเนินการต่อ ตรงนี้เควรพิจารณาเร่งด่วน มิเช่นนั้นจะถูกต่างชาติประเมินได้

**'สมคิด'ไม่รับตำแหน่งกมธ.ร่างรธน.

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะ สนช. กล่าวถึงกรณีที่ตัวเองอาจจะมีชื่อในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ขอยืนยันอีกครั้งว่า จะไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเคยทำหน้าที่ตรงนี้มา 2 ครั้งแล้ว โดยจะขอทุ่มเทเวลาในการผลักดันกฎหมายเร่งด่วนที่ยังค้าง ตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่อยู่ในสภา 40 กว่าฉบับ

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยังให้อำนาจสนช. เสนอกฎหมายได้ ดังนั้นตนก็พร้อมจะเสนอกฎหมาย ที่ได้มีความคิดมาก่อน เช่น กฎหมายแยกกระทรวงอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันกฎหมายการบริหารบุคคลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

ศ.ดร.สมคิด ยังกล่าวถึง กรณีที่มีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่า สนช. ที่เป็นข้าราชการประจำ จะทำให้องค์ประชุมล่ม เมื่อมีการประชุมกฎหมายสำคัญๆว่าในเรื่องนี้ก็ต้องถือเป็นหน้าที่พิเศษ นอกเหนือจากงานปกติ ที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการมาประชุม และการโหวตลงมติในเรื่องต่างๆ และน่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ มาดูแลในด้านเฉพาะต่างๆ ตามเวลาปกติ ซึ่งอาจจะมีการตั้งคณะกรรมการประสานงาน (วิป) เพื่อช่วยในการทำงาน ซึ่งในระหว่างการที่มีการรายงานตัวกันนั้น บรรดาสนช. ก็ได้มีการพูดคุยในเรื่องดังกล่าวด้วย

ศ.ดร.สมคิด ยังกล่าวถึงการประชุมสนช. ในวันนี้ (8 ส.ค.) ซึ่งระเบียบวาระสำคัญ คือ การเลือกประธาน และรองประธาน สนช. ว่า ไม่ว่าตนจะเลือกใครก็ตาม ก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองเลือก โดยส่วนตัวแล้วมองว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย สนช. เป็นผู้ที่มีความเหมาะสม เพราะมีประวัติทางด้านการศึกษา และการทำงานที่ดีมาตลอด แต่ถ้า นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สนช. อีกคนหนึ่ง จะแข่งขันด้วย ตนก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน ว่าจะเอาอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น