xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.หวัง สนช.หนุน กม.ปราบโกง รอชี้ชัดแจ้งบัญชีหรือไม่ ลั่น ปราบทุจริตให้คุ้มงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.(แฟ้มภาพ)
“ปานเทพ” เผย ป.ป.ช. รอ สนช. รับแก้ กม. ปราบโกง ฝาก “กล้านรงค์” ช่วยดัน ยกปี 49 สนช. เคยถอดถอนนักการเมืองมาแล้ว หวังพิจารณารับรอง “สุภา” ลั่น ลุยปราบทุจริต ให้คุ้มค่างบฯ 58 หลัง คสช. ไฟเขียวกว่า 1,500 ล. รองเลขาฯ ป.ป.ช. แจง รอ สนง.เลขาสภาฯ ส่งหนังสือถาม สนช. ให้สมาชิกยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่

วันนี้ (1 ส.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถ.วิภาวดี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการเสนอแก้กฎหมาย ป.ป.ช. หลังมีการโปรดเกล้าฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. ได้เสนอกฎหมายไปแล้ว ขึ้นอยู่กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะดำเนินการต่อไป โดยมีหลายเรื่องที่ได้เสนอไป โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งมีอยู่ 3 - 4 มาตรา ที่จะต้องดำเนินการ รวมถึงเรื่องของอายุความในคดีทุจริตที่เสนอให้ขยายอายุความออกไป อย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งมีอายุความค่อนข้างสั้น เพียง 15 ปี จึงต้องขยายอายุความเพิ่มเป็น 30 ปี โดยกฎหมายเหล่านี้ สนช. คงพิจารณาต่อไป ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ กำลังพิจารณาอยู่ว่ามีเรื่องอะไรที่ต้องเสนอบ้าง เมื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2558 แล้ว ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลัง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่าทีของ คสช. หลัง ป.ป.ช. เสนอแก้กฎหมายไปเป็นอย่างไร นายปานเทพ กล่าวว่า คงต้องรอให้ สนช. พิจารณา แต่ทั้งนี้ ตนคิดว่า คสช. น่าจะเห็นด้วย เพราะ คสช. ให้ความสำคัญต่อเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งกฎหมายต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริต และภาพลักษณ์ที่มีต่อนานาชาติดีขึ้น โดยต้องฝากไปยังนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้เข้าไปเป็น สนช. ด้วย

นายปานเทพ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยังค้างอยู่นั้น คงต้องรอ สนช. เป็นผู้พิจารณาและประสานกลับมายัง ป.ป.ช. อีกครั้ง ซึ่งคิดว่า สนช. คงมีการประชุมเรื่องนี้กันจากนั้นคงให้สัญญาณมายังป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม เรื่องการถอดถอนแม้บุคคลที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่มีการร้องขอให้ถอดถอนแล้ว แต่ยังมีผลเรื่องการตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีอยู่ ซึ่งตัวอย่างในอดีตเคยมีมาแล้วที่ สนช. พิจารณาถอดถอน นอกจากนี้ ในเรื่องการรับรอง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ที่ยังค้างการพิจารณาอยู่นั้น คิดว่า สนช. คงจะมีพิจารณาเช่นกัน

ขณะเดียวกัน นายปานเทพ ได้เป็นประธานการประชุมโครงการสัมมนาจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนการใช้งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2558 โดย นายปานเทพ ให้สัมภาษณ์ว่า ทาง ป.ป.ช. ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 58 มาเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง ป.ป.ช. ขอไป 2.4 พันล้านบาท แล้วได้มาถึง 60% หรือ 1,500 กว่าล้านบาท จึงต้องมาประชุมทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติภายใน ป.ป.ช. ทั้งหมดว่า ต้องมีแผนรองรับอย่างไร ซึ่งงบบูรณาการเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตถือเป็นนโยบายของ ป.ป.ช. ที่จะเร่งดำเนินการปราบปรามทุจริต โดย ป.ป.ช. จะใช้งบประมาณดังกล่าวขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ในการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันให้เป็นอย่างดีตามที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานกลางของทั้ง 19 หน่วยงานทั่วประเทศ ในการปราบปรามทุจริต ซึ่ง ป.ป.ช. จะต้องดูเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น ป.ป.ช.ต้องดูทั้ง 2 ส่วน คือ งบประมาณในภาพรวมทั้งหมด และงบประมาณที่สำนักงาน ซึ่งส่วนหนึ่งจะต้องนำมาใช้ในเรื่องอัตรากำลังของ ป.ป.ช. 800 กว่าอัตรา ที่ได้รับการอนุมัติเพิ่มมาแล้ว

“โดยมุ่งการทำงานของ ป.ป.ช. เพื่อลดคดีการไต่สวนที่ค้างให้ลดลง ตามเป้าหมายการบริหารคดี รวมถึงงานด้านการป้องกัน ตามนโยบายที่เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้ลดน้อยลง เสริมสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทย ต่อนานาประเทศให้มีดัชนีความเชื่อมั่นสูงขึ้น ซึ่งเราต้องเป้าไว้ว่าในปี 2560 จะต้องได้ค่าดัชนีชี้วัดความโปร่งใสจากระดับ 35 เพิ่มขึ้นเป็น 50 ดังนั้น จึงต้องระดมเจ้าหน้าที่มาทำความเข้าใจเรื่องการจัดทำแผนการใช้งบประมาณปี 58 เพื่อให้ได้รับผลอย่างดีที่สุด” นายปานเทพ กล่าว

ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า การใช้งบประมาณจะคุ้มค่าหรือไม่ อยู่ที่เราต้องพยายามทำงานให้ดีที่สุด ต้องทำให้งบประมาณที่ได้มาครั้งนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยดูตามแผนการใช้งบประมาณเป็นรายไตรมาส โดยจะมีการตรวจสอบการรั่วไหลของงบประมาณ และตรวจสอบการใช้จ่ายให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด จะมีการติดตามเป็นระยะ และรายงานผลต่อสำนักงบประมาณ และ คสช. ต่อไป

ด้าน นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. หรือไม่ ว่า ทาง ป.ป.ช. ต้องรอให้ฝ่ายเลขาธิการ สนช. ส่งเรื่องมาเพื่อสอบถามความชัดเจนจากทาง ป.ป.ช. ก่อน เช่นเดียวกันกับปี 2549 ซึ่งมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และหากหนังสือดังกล่าวถูกส่งมายัง ป.ป.ช. แล้ว จะต้องมีการเสนอเป็นวาระเพื่อพิจารณาเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ให้ลงความเห็นอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2549 นั้น สมาชิก สนช. จะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ดังนั้น ฝ่ายกฎหมายของ ป.ป.ช. ต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 มาเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ด้วยเพื่อความถูกต้องและชัดเจนก่อนที่จะให้ความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ว่า เห็นควรจะมีมติอย่างไร แล้วจึงแจ้งกลับไปยังสำนักงานเลขาธิการ สนช.


กำลังโหลดความคิดเห็น