xs
xsm
sm
md
lg

รู้ตัวยุ่นเจ้าของน้ำเชื้อ”9ทารก” เล็งส่งสนช.ออก”กม.อุ้มบุญ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุดสืบสวนคลี่คลายคดีอุ้มบุญ ทราบตัวชายชาวญี่ปุ่น เจ้าของน้ำเชื้อ 9 ทารกอุ้มบุญ เเล้ว คาดมีแหล่งพักทารกเพิ่มอีก ส่งชุดสืบสวนลงพื้นที่แกะรอย ด้านสภาทนายชี้บังคับตรวจดีเอ็นเอ ทารกไม่ได้ แพทยสภาย้ำ 2 หมอพัวพันอุ้มบุญ "น้องแกรมมี่" ผิดจริง แต่ยังลงดาบไม่ได้ เล็งส่ง สนช. ออกกฎหมายอุ้มบุญ

วานนี้ ( 7 ส.ค.) ที่สน.ลาดพร้าว พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบก.น.4 พร้อมด้วย พ.ต.อ.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบก.น.4 พ.ต.อ.นภันต์วุฒิ เลี่ยมสงวน ผกก.ดส. พ.ต.อ.สง่า กรรภิรมย์ ผกก.สส.บก.น.4 และพ.ต.อ.วิทวัฒน์ ชินคำ ผกก.สน. ลาดพร้าว ร่วมประชุมเพื่อหาเเนวทางการสืบสวนกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจคอนโดฯ ย่านลาดพร้าว พบ 9 ทารกอุ้มบุญ ซึ่งเกิดจากพ่อชาวญี่ปุ่นคนเดียวกัน พร้อมพี่เลี้ยงคอยดูเเลเด็กอีก 9 คน ทนายความอีก 1 คน เเละหญิงตั้งครรภ์อีก 1 คน ท่ามกลางสื่อมวลชนทั้งไทยเเละเทศ ที่รอทำข่าวอย่างหนาเเน่น

ระหว่างการประชุม เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน บก.น.4 นำโดยพ.ต.อ.สง่า กรรภิรมย์ ผกก.สส.บก.น.4 นำทีมติดตามกลุ่มเป้าหมายที่ผู้หญิงซึ่งตั้งครรภ์ 6 เดือนได้ให้การไว้ เพื่อจะเตรียมเข้าตรวจค้น ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทราบตัวชายชาวญี่ปุ่น เจ้าของน้ำเชื้อเเล้ว ชื่อว่านายชิเกตะ มิตซูโตกิ

หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ทุกคนออกมาจากห้องประชุมด้วยสีหน้าเคร่งเครียด เมื่อผู้สื่อข่าวเข้าสอบถามถึงความคืบหน้าคดีที่เกิดขึ้น พล.ต.ต.นัยวัฒน์ โบกไม้โบกมือ พร้อมตอบสั้นๆ เพียงว่า " ไม่มีข่าวอะไร ผมไม่รู้เรื่องอะไร "

ด้านพ.ต.อ.วิทวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของสน. จะรับผิดชอบหาที่พักในท้องที่ สน.ลาดพร้าว คาดว่าจะมีเพิ่มเติมอีก หลังจากทราบเเล้วว่า มีเเหล่งที่พักอยู่ที่ใดบ้าง จะนำเสนอฝ่ายสืบสวนสอบสวนติดตามหาข้อเท็จจริงต่อไป

ส่วนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ชยุตธนทวีรัชต์ รอง ผบช.น. ผู้รับผิดชอบการสืบสวนสอบสวนคดีอุ้มบุญ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ตำรวจ สน.ลาดพร้าว หาข้อมูลในเรื่องดังกล่าวให้มากที่สุด ทั้งบุคคล สถานที่ต่างๆ ให้เกิดความชัดเจน แม้เรื่องนี้ดังยังไม่เป็นคดีความ และอยู่ระหว่างดูว่าเข้าข่ายความผิดใดหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่ากฎหมายเรื่องคดีอุ้มบุญในประเทศไทย ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมทั้งเรื่องความผิดค้ามนุษย์ด้วย อีกทั้งคดีนี้ไม่ใช่แค่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง แต่มีแพทย์ และหน่วยงานร่วมเกี่ยวข้องด้วย

**ชี้บังคับตรวจดีเอ็นเอ ไม่ได้

ด้าน สภาทนายความ นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า ถ้าไม่มีใครลงมาจัดการต้องเป็นปัญหาสังคมแน่นอน เนื่องด้วยกฎหมายไทย ไม่ได้ห้ามเรื่องการอุ้มบุญ แต่ก็ไม่ได้อนุญาต เพียงแต่ให้อยู่ในดุลยพินิจ และจรรยาบรรณของแพทย์เท่านั้น ถ้าพบว่ามีการทำสัญญาจ้าง หรือมีข้อตกลงเรื่องการตอบแทนกัน ก็ถือว่าเป็นโมฆะ สัญญาผิด ไม่สามารถฟ้องร้องได้ ส่วนหญิงที่รับจ้างจะมีความผิดทางอาญาหรือไม่นั้น ยังมองไม่เห็น แต่กรณีที่จะเข้าข่ายการค้ามนุษย์นั้น อาจเกิดจากการรับจ้างอุ้มบุญ เมื่อตั้งท้องใกล้คลอดก็เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อคลอดบุตรแล้วยกเด็กให้กับผู้จ้าง แลกกับค่าตอบแทน

กรณีเด็ก 9 ราย ที่คนเลี้ยงปฏิเสธว่า ไม่ใช่คนอุ้มบุญนั้น ก็ถือว่าเขาเป็นเจ้าของเด็ก หากเขาไม่ยินยอมให้ตรวจ ดีเอ็นเอ. ก็บังคับเขาไม่ได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

** 2หมอทำอุ้มบุญน้องแกรมมี่ผิด

เมื่อเวลา 15.00 น.วานนี้ (7ส.ค.) ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา แถลงภายหลังประชุมอนุกรรมการบริหารแพทยสภา กรณีการอุ้มบุญ ว่า ได้รับรายชื่อแพทย์ 2 รายที่เกี่ยวข้องกับการทำอุ้มบุญ กรณี "น้องแกรมมี่" จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แล้ว ซึ่งถือว่า เข้าข่ายมีความผิด เนื่องจากมีการจ้างหญิงตั้งครรภ์แทน และไม่ใช่ญาติ ซึ่งผิดมาตรฐานบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ที่กำหนดชัดว่า จะต้องไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลล์สืบพันธุ์ หญิงที่ตั้งครรภ์ โดยหญิงตั้งครรภ์แทน ต้องเป็นญาติทางสายเลือดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สำหรับการลงโทษ คงไม่สามารถเอาผิดได้ทันที ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของแพทยสภาก่อน เพื่อให้ความเป็นธรรม มิเช่นนั้นผู้ถูกร้องอาจฟ้องศาลปกครองได้

ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณา จะต้องเข้าสู่คณะอนุกรรมการบริหารแพทยสภา พิจารณาเบื้องต้นก่อน เมื่อเห็นว่ามีมูล จะส่งไปยังคณะอนุกรรมการจริยธรรม หากพิจารณาว่า มีมูล จะส่งเรื่องต่อให้คณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาโทษ จากนั้นจึงส่งเข้าคณะกรรมการแพทยสภาเพื่อลงโทษ คาดว่าใช้เวลามากไม่สามารถเสร็จทันได้ภายในเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า แพทย์ทั้ง 2 ราย ไม่ได้เป็นกรรมการในแพทยสภา หรือหากแพทย์ที่ถูกร้องเป็นกรรมการแพทยสภาจริง ก็จะพิจารณาเอาผิดโทษเช่นเดียวกัน โดยแพทย์ทั้ง 2 ราย อยู่ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่มีชื่อเสียง คาดว่าแพทย์ทราบว่าผิด แต่ที่ทำเพราะภูมิใจ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ยาก และอาจมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง

"ระหว่างการพิจารณา แพทย์ที่ถูกดำเนินการไม่จำเป็นต้องหยุดทำหน้าที่ เพราะไม่มีอำนาจไปบังคับ แต่แพทยสภากำลังปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับแพทยสภา ให้มีอำนาจสั่งแพทย์ที่ถูกตรวจสอบให้หยุดการทำหน้าที่ได้ " นายกแพทยสภา กล่าว

ทั้งนี้ ประกาศฉบับใหม่ จะเพิ่ม 4 ประเด็น คือ

1.ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาว่ามีไข่บริจาค หรือมีหญิงที่ประสงค์จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน หรือมีบุคคลประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้ตั้งครรภ์แทน

2. ห้ามทำเพื่อคู่สมรสเพศเดียวกันหรือไม่มีคู่สมรส

3.ห้ามสถานพยาบาล หรือผู้ให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เป็นคนกลางหรือร่วมกับนายหน้าจัดการ หรือ นำเสนอ จัดหา หรือ นำเข้า/ส่งออกไข่ บริจาค หรือ ตัวอ่อนบริจาค หรือ จัดหาสตรีเพื่อมารับตั้งครรภ์แทน

4.หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติโดยสายเลือด แต่ต้องไม่เป็นบุพการี หรือ ผู้สืบสันดานของคู่สมรส หรือ เป็นภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยต้องเคยมีบุตรมาก่อน มีอายุระหว่าง 20-34 ปี สุขภาพแข็งแรง และการตั้งครรภ์ ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเอง และทารกที่จะเกิดมา

ส่วนกรณีเด็ก 9 ราย ที่อาจเกิดจากการอุ้มบุญของพ่อคนเดียวกันนั้น ถือว่าไม่ใช่ความผิด เพราะไม่มีข้อบังคับว่า ห้ามใช้น้ำเชื้อของคนๆ เดียว ทำให้เกิดการตั้งครรภ์หลายคน มีแต่ข้อบังคับเรื่องการฉีดตัวอ่อนนั้น ไม่ควรฝังไข่หลายใบในคราวเดียวกันเพราะจะทำให้เด็กไม่แข็งแรง

**ฟันคลินิก "เอส เอ อาร์ ที" รับทำอุ้มบุญ

วันเดียวกัน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวสถานการณ์อุ้มบุญ ภายหลังเข้าตรวจสอบคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางสาขาสูตินรีเวชกรรม "เอส เอ อาร์ ที" บริเวณ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังได้รับข้อมูลเป็นสถานที่ทำอุ้มบุญให้แก่แม่ของ "น้องแกรมมี่" ว่า จากการตรวจสอบ พบเป็นสถานพยาบาลที่ทำการอุ้มบุญให้แม่น้องแกรมมี่จริง แต่ที่ตรวจเวชระเบียน ไม่พบเนื่องจากหญิงรายดังกล่าวมีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง โดยตอนมารับบริการใช้ชื่อหนึ่ง ตอนเข้ารักษาที่ รพ.สมิติเวชศรีราชา ใช้อีกชื่อหนึ่ง และตอนเปิดเผยตัวเรื่องน้องแกรมมี่ ก็มีการใช้อีกชื่อหนึ่ง แต่พบว่าทั้ง 3 รายชื่อ มีความเกี่ยวข้องกัน

"แพทย์ที่อุ้มบุญเคสน้องแกรมมี่ มีประวัติทำการอุ้มบุญให้แก่รายอื่นพอสมควร จึงต้องมีการตรวจสอบด้วยว่า มีการดำเนินการผิดข้อบ่งชี้อีกหรือไม่ นอกจากนี้ จะตรวจสอบแพทย์รายอื่นๆ ในคลินิกแห่งนี้อีกประมาณ 20 รายด้วย ซึ่งเป็นทั้งแพทย์ประจำ และแพทย์หมุนเวียน โดยมีการดำเนินการอุ้มบุญมากกว่า 100 เคส ว่า มีทำผิดข้อบ่งชี้ของแพทยสภาด้วยหรือไม่ รวมถึงจะตรวจสอบสถานพยาบาล ซึ่งมีทั้ง รพ.รัฐ และ รพ.เอกชน 45 แห่ง โดยอยู่ใน กทม. 12 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการอุ้มบุญ และแพทย์ที่ได้รับการรับรองให้ทำการอุ้มบุญได้อีก 240 คนด้วย" อธิบดี สบส. กล่าว

** ชงสนช.ออกกม.อุ้มบุญ

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.30 น. ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรรัตน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึง กรณีชาวออสเตรเลียจ้างวานให้หญิงไทยตั้งครรภ์แทน ว่า ผู้ดำเนินการต้องเป็นผู้ที่มีใบวิชาชีพอยู่ในสถานประกอบถูกต้อง และคนที่เข้าต้องมีการขึ้นทะเบียนจากสูตินารีเวช ทั้งนี้พบว่า มีการตรวจสอบว่าตรงตามมาตรฐานหรือไม่

เมื่อถามว่า มีสถานพยาบาล หรือคลินิกเอกชนกี่แห่งที่ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว นอ.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ตอนนี้สถานพยาบาลที่สามารถทำด้านเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ 45 แห่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 12 แห่ง และมีแพทย์ที่สามารถทำในลักษณะนี้ได้ 240 คน

เมื่อถามถึงกระบวนการนำเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญออกนอกประเทศ น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า อยู่ในกระบวนการของกรมกงศุล กระทรวงการต่างประเทศจะมีระเบียบปฏิบัติชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นบุตรของใคร ส่วนแม่ที่อุ้มบุญน้องแกรมมี่นั้น ถือว่าอุ้มบุญโดยผิดกฎหมาย

นางระรินทิพย์ ศิโรรัตน์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ พม. กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกับองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งตามพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 ก็คำนึงถึงหลักการการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยวิธิที่ไม่ใช่วิธีธรรมชาติ จึงมีการศึกษาและร่างกฎหมาย คือ "ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.... " ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ยกร่างเสร็จแล้ว ผ่านความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่ก็มีการยุบสภาเสียก่อน

"ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเช้านี้วันนี้ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯได้ลงนาม เพื่อส่งกฎหมายไปยัง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย ของคสช.แล้ว และทราบว่าฝ่ายกฎหมาย คสช. จะประชุมพิจารณาในวันที่ 13 ส.ค.นี้ เพื่อส่งเข้าพิจารณาในสนช. ต่อไป "นางระรินทิพย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น