xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาชี้ 2 หมอพัวพันอุ้มบุญ “น้องแกรมมี่” ผิด แต่ลงดาบไม่ได้ เหตุรอพิจารณาหลายขั้นตอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทยสภาย้ำชัด 2 หมอพัวพันอุ้มบุญ “น้องแกรมมี่” ผิดจริง แต่ยังลงดาบไม่ได้ เหตุต้องรอเข้าอนุกรรมการพิจารณาความผิด 4 ชุด หวั่นซ้ำรอยเคสเอาผิดหมอทำอุ้มบุญหญิงเวียดนาม 3 ปี ยังไม่คืบ เล็งแก้ประกาศมาตรฐานทำอุ้มบุญให้ครอบคลุม เพิ่มอำนาจสั่งแพทย์ถูกสอบสวนยุติทำงาน

วันนี้ (7 ส.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา แถลงภายหลังประชุมอนุกรรมการบริหารแพทยสภากรณีการอุ้มบุญ ว่า ขณะนี้แพทยสภาได้รับรายชื่อแพทย์ 2 รายที่เกี่ยวข้องกับการทำอุ้มบุญกรณี “น้องแกรมมี่” จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แล้ว ซึ่งถือว่าเข้าข่ายมีความผิด เนื่องจากมีการจ้างหญิงตั้งครรภ์แทนและไม่ใช่ญาติ ซึ่งผิดมาตรฐานบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่กำหนดชัดว่า จะต้องไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลล์สืบพันธุ์ หญิงที่ตั้งครรภ์ โดยหญิงตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติทางสายเลือดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สำหรับการลงโทษคงไม่สามารถเอาผิดได้ทันที ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของแพทยสภาก่อน เพื่อให้ความเป็นธรรม มิเช่นนั้นผู้ถูกร้องอาจฟ้องศาลปกครองได้

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระบวนการพิจารณาจะต้องเข้าสู่คณะอนุกรรมการบริหารแพทยสภา พิจารณาเบื้องต้นก่อน เมื่อเห็นว่ามีมูล จะส่งไปยังคณะอนุกรรมการจริยธรรม หากพิจารณาว่ามีมูล จะส่งเรื่องต่อให้คณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาโทษ ​จากนั้นจึงส่งเข้าคณะกรรมการแพทยสภา​เพื่อลงโทษ คาดว่าใช้เวลามาก ไม่สามารถเสร็จทันได้ภายในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า แพทย์ทั้ง 2 รายไม่ได้เป็นกรรมการในแพทยสภา หรือหากแพทย์ที่ถูกร้องเป็นกรรมการแพทยสภาจริง ก็จะพิจารณาเอาผิดโทษเช่นเดียวกัน โดยแพทย์ทั้ง 2 รายอยู่ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่มีชื่อเสียง คาดว่าแพทย์ทราบว่าผิด แต่ที่ทำเพราะภูมิใจ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ยาก และอาจมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะค่าตอบแทนสูง

ระหว่างการพิจารณา แพทย์ที่ถูกดำเนินการไม่จำเป็นต้องหยุดทำหน้าที่ เพราะไม่มีอำนาจไปบังคับ แต่แพทยสภากำลังปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับแพทยสภา ให้มีอำนาจสั่งแพทย์ที่ถูกตรวจสอบให้หยุดการทำหน้าที่ได้ รวมถึงจะร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยปรับปรุงข้อบังคับแพทยสภา เรื่อง มาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งจะยึดตามหลักเกณฑ์เดิมคือ ไม่ให้มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลล์สืบพันธุ์และหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน” นายกแพทยสภา กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประกาศฉบับใหม่จะเพิ่ม 4 ประเด็น คือ 1. ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาว่ามีไข่บริจาค หรือมีหญิงที่ประสงค์จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน หรือมีบุคคลประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้ตั้งครรภ์แทน 2. ห้ามทำเพื่อคู่สมรสเพศเดียวกันหรือไม่มีคู่สมรส 3. ห้ามสถานพยาบาลหรือผู้ให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เป็นคนกลางหรือร่วมกับนายหน้าจัดการ หรือ นำเสนอ จัดหา หรือ นำเข้า/ส่งออกไข่ บริจาค หรือ ตัวอ่อนบริจาค หรือ จัดหาสตรีเพื่อมารับตั้งครรภ์แทน และ 4. หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติโดยสายเลือด แต่ต้องไม่เป็นบุพการี หรือ ผู้สืบสันดานของคู่สมรส หรือ เป็นภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยต้องเคยมีบุตรมาก่อน มีอายุระหว่าง 20 - 34 ปี สุขภาพแข็งแรง และการตั้งครรภ์ ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเองและทารกที่จะเกิดมา นอกจากนี้ จะควบคุมจำนวนตัวอ่อนที่ฉีดเข้าไปในมดลูกหญิงรับตั้งครรภ์แทนด้วย เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการควบคุม ซึ่งการฉีดไข่หลายใบ อาจทำให้เกิดตัวอ่อนพร้อมกันหลายตัว ส่งผลให้เด็กไม่แข็งแรง

เมื่อถามถึงการอุ้มบุญบางรายที่ทำเพื่อนำไขสันหลังของทารก มาทำเป็นสเต็มเซลล์เพื่อรักษาโรคพ่อหรือแม่ ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเพียงข่าวลือ และยังไม่มีหลักฐาน แต่ตามหลักการแล้ว ตัวอ่อนที่จะสามารถนำมาใช้ในกระบวนการสเต็มเซลล์ได้ ต้องมีอายุไม่เกิน 2 - 3 สัปดาห์ เพราะการที่เด็กคลอดออกมาแล้ว เซลล์ต่างๆ ได้พัฒนาจนเหมือนผู้ใหญ่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ส่วนกรณีเด็ก 9 รายที่อาจเกิดจากการอุ้มบุญของพ่อคนเดียวกันนั้น ถือว่าไม่ใช่ความผิด เพราะไม่มีข้อบังคับว่า ห้ามใช้น้ำเชื้อของคนๆ เดียว ทำให้เกิดการตั้งครรภ์หลายคน มีแต่ข้อบังคับเรื่องการฉีดตัวอ่อนนั้น ไม่ควรฝังไข่หลายใบในคราวเดียวกัน

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการพิจารณาความผิดของแพทย์ที่ทำอุ้มบุญแก่หญิงเวียดนามเมื่อปี 2554 ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า อนุกรรมการจริยธรรม ได้พิจารณาตัดสินกรณีดังกล่าวแล้ว แต่กรรมการบริหารพิจารณาแล้วเห็นว่า ยังไม่มีความชัดเจน จึงให้อนุกรรมการกลับไปพิจารณาอีกครั้ง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน​

ศ.พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูติฯ กล่าวว่า การทำอุ้มบุญไม่ได้ทำให้เกิดปัญหา หากเป็นการช่วยเหลือคู่สมรสที่ต้องการมีลูก แต่ไม่สามารถใช้วิธีทางธรรมชาติได้ แต่ต้องทำให้ถูกตามกฎหมายและข้อบังคับแพทยสภา หากทำไม่ถูกต้องก็จะดำเนินการกับผู้กระทำความผิด อย่างไรก็ตาม การควบคุมเข้มงวดมากอาจทำให้แพทย์ที่ทำอย่างถูกต้องเกิดข้อจำกัดในการให้บริการ ทั้งนี้ จะขอให้แต่ละโรงพยาบาลมีการตั้งคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อควบคุมแพทย์ในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และรายงานกลับมาที่ราชวิทยาลัยฯ ด้วย

นพ.​อำนาจ กุสลานันท์ ​กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า เบื้องต้นจากการพิจารณารายชื่อแพทย์ 2 คนที่ สบส. ส่งมา จะมีการพิจารณาในส่วนของแพทย์ที่ทำการอุ้มบุญก่อน หากพบว่าผิดจริง ผู้จดแจ้งสถานพยาบาลก็จะมีความผิดไปด้วย โดยหลักฐานชัดเจน เชื่อว่ากรณีนี้ การตรวจสอบจะไม่นานคาดว่าใน 1 เดือนจะทราบว่าผิดหรือไม่ผิด แต่โทษจะเป็นอย่างไรไม่สามารถบอกได้ ต้องรอคณะอนุกรรมการจริยธรรมพิจารณาตามขั้นตอน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น