xs
xsm
sm
md
lg

เปิด20ส.ส.เบิกกระหน่ำงบฯเดินทาง "วิรัตน์"แชมป์3ปี2.5ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (5 ส.ค.) ศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางราชการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยรายงานการเดินทางโดยสารรถไฟ รถยนต์ประจำทาง และเครื่องบิน โดยการใช้ใบเบิกค่าเดินทาง ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประจำปี งบประมาณ 2554 (บางส่วน) ถึง 2556 จำแนกรายบุคคล หลังจากที่ผู้สื่อข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ได้ยื่นขอไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และผ่านการร้องเรียน เรียกร้อง ให้เปิดเผยต่อเนื่องมาอีกหลายรอบ กระทั่งในที่สุดได้ยินยอมเปิดเผยข้อมูลโดยได้เรียบเรียง ณ วันที่ 24 มิ.ย. ก่อนที่จะเรียกให้ติดต่อขอรับข้อมูล เมื่อวันที่ 27 ก.ค. และผู้สื่อข่าวได้ไปขอรับข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นเอกสารจำนวน 16 หน้ากระดาษ และมีรายชื่อ ส.ส.จำนวน 505 รายชื่อ
จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าว เมื่อคำนวณค่าเดินทางของส.ส.นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 (บางส่วน), 2555 และ 2556 พบว่ามี ส.ส. ที่เบิกค่าเดินทางสูงกว่า 2 ล้านบาท จำนวน 3 คน โดยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น เบิกค่าเดินทางมากที่สุด รวม 3 ปี จำนวน 2,565,626.31 บาท รองลงมา คือ นายกฤษดาภรณ์ เสียมภักดี ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคเพื่อไทย ในขณะนั้น เบิกค่าเดินทางรวม 3 ปี จำนวน 2,310,228.92 บาท และ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น และเป็นแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เบิกค่าเดินทาง รวม 3 ปี จำนวน 2,001,142.99 บาท ส่วนส.ส.ที่เบิกค่าเดินทางรวม 3 ปี เป็นจำนวนเงินระหว่าง 1 ถึง 2 ล้านบาท มี 65 คน
ทั้งนี้ 20 อันดับแรกของ ส.ส. ที่เบิกงบค่าเดินทางมากสุด ปีงบประมาณ 2554 (บางส่วน) ถึง 2556 มีดังนี้
1. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ประชาธิปัตย์ จ.สงขลา 2,565,626.31 บาท 2. นายกฤษดาภรณ์ เสียมภักดีเพื่อไทย จ.เชียงใหม่ 2,310,228.92 บาท 3. นายถาวร เสนเนียม ประชาธิปัตย์ จ.สงขลา 2,001,142.99 บาท 4. นายสุรจิตร ยนต์ตระกูล เพื่อไทย จ.มหาสารคาม 1,976,289.10 บาท 5. นายภิรพล ลาภาโรจน์กิจ ประชาธิปัตย์ จ.สงขลา 1,942,818.05 บาท
6. นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ประชาธิปัตย์ จ.สงขลา 1,821,982.05 บาท 7. นายเจือ ราชสีห์ ประชาธิปัตย์ จ.สงขลา 1,782,822.33 บาท 8. นายประสิทธิ์ วุฒินันชัย เพื่อไทย จ.เชียงใหม่ 1,742,763.28 บาท 9. นายเรวัต อารีรอบ ประชาธิปัตย์ จ.ภูเก็ต 1,645,143.53 บาท 10.นายนริศ ขำนุรักษ์ ประชาธิปัตย์ จ.พัทลุง 1,590,408.25 บาท
11. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ เพื่อไทย บัญชีรายชื่อ 1,518,799.41 บาท 12. พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ประชาธิปัตย์ จ.สงขลา 1,503,914.22 บาท 13. นายคมเดช ไชยศิวามงคล เพื่อไทย จ.กาฬสินธุ์ 1,502,545.41 บาท 14. นายฮอชาลี ม่าเหร็ม ประชาธิปัตย์ จ.สตูล 1,479,042.46 บาท 15. นายสาคร เกี่ยวข้อง ประชาธิปัตย์ จ.กระบี่ 1,475,548.52 บาท
16. นางอัญชลี วานิช เทพบุตรประชาธิปัตย์ จ.ภูเก็ต 1,408,100.47 บาท 17. นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม เพื่อไทย จ.อุดรธานี 1,403,199.36 บาท 18. นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน เพื่อไทย จ.เชียงราย 1,401,933.58 บาท 19. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ประชาธิปัตย์ จ.พัทลุง 1,390,264.90 บาท 20. นายศิริโชค โสภา ประชาธิปัตย์ จ.สงขลา 1,377,355.14 บาท
ทั้งนี้ จากการสังเกตการจัดอันดับส.ส. ที่เบิกงบค่าเดินทางมากที่สุด 20 ราย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นส.ส.ภาคใต้ ของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากระยะทางจากกรุงเทพฯไปยังภาคใต้ไกลหลายกิโลเมตร อีกทั้งตามจังหวัดหัวเมืองในภาคใต้ มีท่าอากาศยานรองรับ ขณะที่ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีบ้างประปราย จากจ.เชียงใหม่ จ.มหาสารคาม และจ.กาฬสินธุ์ นอกจากนี้ยังมีส.ส.บัญชีรายชื่อ ติดอันดับ ได้แก่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในขณะนั้น ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.พังงา
เมื่อจำแนกรายปี พบว่า ในปีงบประมาณ 2554 (บางส่วน) มี ส.ส.เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวนทั้งสิ้น 19,448,135.14 บาท คิดเฉลี่ยคนละ 38,896 บาท จากจำนวนส.ส. 500 คน โดยมีผู้ที่เบิกค่าเดินทางสูงกว่า 1 แสนบาท มากถึง 47 ราย โดยส.ส. ที่เบิกค่าเดินทางมากที่สุดในปีนั้น ได้แก่ นายสุรจิตร ยนต์ตระกูล ส.ส.มหาสารคาม เขต 1 พรรคเพื่อไทย ในขณะนั้น เบิกค่าเดินทางไป 192,390 บาท รองลงมาคือ นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ส.ส.สงขลา เขต 4 พรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 179,544 บาท, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 178,850 บาท, นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 168,663 บาท, นายถาวร เสนเนียม เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 168,495 บาท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โดยสรุปมีผู้ที่เบิกค่าเดินทางจำนวน 368 คน ส.ส. ที่เบิกค่าเดินทางน้อยที่สุด คือ นางปิยะดา มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์ เขต 2 พรรคเพื่อไทยในขณะนั้น เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 1,146 บาท
ส่วนในปีงบประมาณ 2555 มี ส.ส. เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 122,968,399.61 บาท คิดเฉลี่ยคนละ 245,936.80 บาท จากจำนวน ส.ส. 500 คน โดยมีผู้ที่เบิกค่าเดินทางสูงกว่า 1 ล้านบาท มีจำนวน 3 ราย โดย ส.ส.ที่เบิกค่าเดินทางมากที่สุดในปีนั้น ได้แก่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 1,217,978.81 บาท รองลงมาคือ นายกฤษดาภรณ์ เสียมภักดี เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 1,116,003.92 บาท, นายสุรจิตร ยนต์ตระกูล เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 1,006,034.10 บาท ส่วน ส.ส.ที่เบิกค่าเดินทางระหว่าง 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท มีจำนวน 71 ราย ระหว่าง 1 ถึง 5 แสนบาท มีจำนวน 216 ราย และต่ำกว่า 1 แสนบาท มีจำนวน 183 ราย อย่างไรก็ตาม โดยสรุปมีผู้เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 473 คน ส.ส.ที่เบิกค่าเดินทางน้อยที่สุด คือ นายสรรพภัญญู ศิริไปล์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 2,595 บาท
สำหรับ ปีงบประมาณ 2556 มี ส.ส.เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 95,336,207.90 บาท คิดเฉลี่ยคนละ 190,672.42 บาท จากจำนวน ส.ส. 500 คน โดยมีผู้ที่เบิกค่าเดินทางสูงกว่า 1 ล้านบาท มีจำนวน 2 ราย โดย ส.ส.ที่เบิกค่าเดินทางมากที่สุดในปีนั้น ได้แก่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 1,168,797.50 บาท รองลงมาคือ นายกฤษดาภรณ์ เสียมภักดี เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 1,064,895 บาท ส่วนส.ส.ที่เบิกค่าเดินทาง ระหว่าง 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท มีจำนวน 37 ราย ระหว่าง 1 ถึง 5 แสนบาท มีจำนวน 224 ราย และต่ำกว่า 1 แสนบาทมีจำนวน 211 ราย อย่างไรก็ตาม โดยสรุปมีผู้เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 474 คน ส.ส.ที่เบิกค่าเดินทางน้อยที่สุด คือ นายเรืองศักดิ์ งามสมภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เบิกค่าเดินทางเป็นจำนวน 3,249 บาท
สำหรับบุคคลที่น่าสนใจในรายชื่อที่ได้ใช้งบฯ ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ในขณะนั้น เบิกค่าเดินทาง เฉพาะปี 2555 จำนวน 9,580 บาท แต่เป็นคนละส่วนกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่งบเดินทางจะใช้งบประมาณกลาง และมีสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบข้อมูล ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เบิกค่าเดินทางรวม 3 ปี จำนวน 674,618.11 บาท, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ซึ่งขณะนั้นเป็น ส.ส.สุราษฎร์ธานี เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ เบิกค่าเดินทางรวม 3 ปี จำนวน 1,372,852.20 บาท, นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น เบิกค่าเดินทางรวม 3 ปี จำนวน 341,182.20 บาท, นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย เบิกค่าเดินทางรวม 3 ปี จำนวน 158,566.23 บาท, พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เบิกค่าเดินทางเฉพาะปี 2555 และ 2556 รวม 102,780 บาท เป็นต้น

** เร่งปลุกจิตสำนึก กันส.ส.ผลาญงบฯ

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง เรื่องนี้ว่า ในฐานะที่ตนเป็น อดีตกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เคยมีการติดตามประเด็นนี้เช่นกัน แต่เมื่อเห็นตัวเลขที่ ผู้สื่อข่าวเอเอสทีวี ออนไลน์ นำมาเปิดเผยแล้วต้องยอมรับว่า รู้สึกตกใจ เพราะเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยเฉพาะส.ส.บางคน ไม่คิดว่าจะมีการใช้เงินค่าเดินทางสูงถึงกว่า 1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ แต่การตรวจสอบครั้งนี้เกิดขึ้นในสมัยปี 2555 และ 2556 ซึ่งต้องยอมรับว่า ในครั้งนั้น มีการเรียกประชุมวิสามัญหลายครั้ง ทั้งพิจารณาร่าง งบประมาณ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลายฉบับ จึงทำให้มีวันประชุมเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด "งบบวม" มากกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ตนได้ตรวจสอบ ก็พบข้อมูลว่า ส.ส.บางคนมีพฤติกรรมใช้งบประมาณสูงเกินจำเป็นเช่นกัน ขณะที่ ส.ส.หลายคนไม่มีการเบิกค่าเดินทาง หรือ เบิกน้อยมาก เพราะอยู่ในกทม. หรือพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งปัญหาการเบิกจ่ายค่าโดยสารตั๋วเครื่องบินจำนวนมากที่เกิดขึ้น เป็นเพราะ
1. มีการเปิดโอกาสให้สมาชิกเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์ โดยไม่ได้กำหนดข้อจำกัดจำนวนครั้ง หรือเพดานจำนวนเงิน จึงมีบางคนอาจเข้าลักษณะ ไปเช้า เย็นกลับ โดยเครื่องบิน ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายมากกว่าเพื่อนสมาชิกคนอื่น ในจังหวัดเดียวกันถึงสองเท่าขึ้นไป
2. นอกจากนี้ ยังมีลักษณะซ้ำซ้อน คือ จองในรายชื่อส.ส.เดียวกัน แต่มีการจองซ้ำซ้อน 2-3 ใบ ทำให้สายการบินจะกลับมาเรียกเก็บเงินซ้อนจากสำนักเลขาธิการสภา แม้ไม่มีการเดินทางจริง และไม่มีลายเซนต์ของสมาชิกลงในใบเสร็จก็ตาม
3. มีความหละหลวมของเจ้าหน้าที่สายการบิน ที่ ส.ส.บางคนถืออภิสิทธิ์พิเศษ ไม่ยอมมาปรากฎตัวตอนเช็กอิน ที่หน้าเคาน์เตอร์ แต่มีการสั่งการให้เลขาฯ หรือผู้ติดตามตัวเองดำเนินการแทน เมื่อได้ใบเสร็จมา ก็มีการสวมสิทธิ์ เซนต์ชื่อนอกเคาน์เตอร์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนใกล้ชิดกับส.ส. ทั้งสิ้น
ดังนั้น ตนเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อป้องกันการใช้ภาษีประชาชนอย่างฟุ่มเฟือย หรือเกิดการรั่วไหล เช่น กำหนดเพดานการใช้จ่ายค่าเดินทางของสมาชิกแต่ละพื้นที่ เช่น คำนวนว่า ส.ส.เชียงใหม่ ใช้ค่าเดินทางปกติเท่าไร มีการประชุมกี่ครั้งต่อสมัยประชุม หากใครมีภาระกิจอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ ส.ส. ควรจะให้รับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายเองเป็นต้น อีกทั้งควรรณรงค์ ปลุกจิตสำนึกให้รู้จักประหยัด เพราะเงินที่จ่าย เป็นภาษีจากประชาชนทั้งสิ้น

** "วิรัตน์"อ้างทำงานให้เกินคุ้ม

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเหตุผล ที่ตนเบิกค่าใช้จ่ายในฐานะ ส.ส. มากเป็นอันดับ 1 ว่า ตนต้องลงพื้นที่ ขณะเดียวกัน ก็มีการประชุม ส.ส.ทุกวันพุธ และ วันพฤหัสบดี ยังมีการประชุมคณะกรรมาธิการ และคณะอนุกรรมาธิการ มีการออกไปตามภูมิภาคทั่วประเทศ ในฐานะที่เป็นกรรมาการธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นกรรมาธิการที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดในสภา พอได้รับการร้องเรียนมา เราก็มีการประชุม จากนั้นก็ลงพื้นที่ เพราะนอกจากดูข้อมูแล้ว ต้องมีการตามงาน เพื่อดูความคืบหน้า จึงมีการเดินทางมากกว่าปกติ และตนยังร่วมเป็นกรรมาธิการหลายชุด ทั้งกรรมาธิการกฎหมาย ประธานอนุกรรมาธิการ การเตรียมข้อมูลเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องรับผิดชอบงานกฎหมายของพรรค โดยทุกงาน มีผลออกมาเป็นรูปธรรม บางเรื่องก็มีการจัดพิมพ์เล่มรายงานออกมาเผยแพร่ ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่า การเดินทางของตนเป็นการทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ หรือไปเที่ยว ตนรับรองว่าไม่มีเรื่องเที่ยวอย่างแน่นอน และได้ใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นภาษีของประชาชนอย่างเกินคุ้มค่า ยกตัวอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แก้ปัญหาพูโล ที่ สุไหงปาดี แก้ปัญหา สปก.ที่เชียงราย ปัญหากว๊านพะเยา หนี้นอกระบบที่ มุกดาหาร อำนาจเจริญ ปัญหาแก้มลิงที่ อุบลฯ แก้ปัญหาให้ราษฎร อ.วังน้ำเขียว เป็นต้น
" จะเห็นได้ว่า เราไม่ได้ไปเที่ยว แต่ที่เดินทางมากที่สุดก็คือ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ซึ่งมีราคาค่าตั๋วแพงกว่าที่อื่น ที่เหลือก็เดินทางตามภาระกิจของกรรมาธิการ มาถึงวันนี้ ผมอาจจะเป็นอดีต ส.ส. ที่เดินทางบ่อยที่สุด เพราะยังมีการเดินทางโดยสารการบินราคาถูก ขึ้น-ลง ระหว่างกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ไม่ต่ำกว่า 15 เที่ยว ประมาณ 30 ครั้ง ต่อเดือน เพราะมีภาระกิจเยอะ เที่ยวละประมาณ 2,000 บาท เดือนหนึ่งตกหลายหมื่นบาทและใช้เงินส่วนตัวจ่ายทุกบาท ทุกสตางค์ ถ้ารวมๆ แล้ว จึงไม่แปลกที่จะมียอดสูงมาก และยืนยันได้ว่า เป็นการใช้งบประมาณไปอย่างสุจริต ไม่มีนอกมีใน และมีหลักฐานแสดงต่อสภาทุกครั้ง " นายวิรัตน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น