ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มปฏิบัติการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64 และ 66/2557 ที่ระบุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรามปราบและจับกุมผู้บุกรุกและทำลายป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งกำหนดความผิดเพิ่มในพ.ร.บ.ป่าไม้ ให้มีโทษจำคุก ผู้กระทำผิดตั้งแต่ 1-20 ปี ปรับ 5 หมื่น ถึง 2 ล้าน บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มีการสนธิกำลัง จากเจ้าหน้าที่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ปฏิบัติการเดินหน้าจับกุม บุกยึดที่ดินนายทุนได้จำนวนมาก
ดูจากตัวอย่างของ กองทัพภาคที่ 2 ที่ พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง แม่ทัพภาคที่ 2 ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2 แถลงผลปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม- 22กรกฎาคมที่ผ่านมาใน 20 จังหวัดภาคอีสาน
มีตัวเลขสรุปว่า สามารถขอคืนพื้นที่ป่าที่ถูกยึดถือครอบครองบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ แยกเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ 22,775 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี จ.นครราชสีมา 17,700ไร่ สวนป่ายศวดีฟอร์เรสปาร์ค จ.เลย 300 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก จ.เลย 200 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุดจับ และป่าหมากหญ้า จ.อุดรธานี 200 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติน้ำโสมนายูง จ.อุดรธานี 69 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติภูผาเหล็ก จ.กาฬสินธุ์ 52 ไร่ และป่าสงวนแห่งชาติภูพาน จ.สกลนคร 11 ไร่ รวมทั้งสิ้น 41,307 ไร่
หรือ พื้นที่ “อุทยานแห่งชาติสิรินาถ (ในยาง) จ.ภูเก็ต” ที่พลโท วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 4 แถลงว่า ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันปราบปรามการบุกรุกยึดถือการครอบครองที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ร้านค้าที่บุกรุกชายหาดในทอน และขอคืนพื้นที่ที่บุกรุกหาดทรายแก้ว
มีการลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดิน ที่ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ 500 ไร่ รวมทั้งได้แจ้งบันทึกการดำเนินคดี ทั้งนี้เพื่อนำพื้นที่อุทยานกลับคืนมาเป็นของแผ่นดิน มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้บุกรุกทั้งในส่วนข้าราชการ ทั้งอดีตผวจ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่กรมที่ดินและกลุ่มนายทุน โดยพื้นที่ถูกบุกรุกเกือบ 500 ไร่ ถูกถือครอง โดยบุคคล 5 คน ทั้งหมดอ้างว่าครอบครองตามเอกสารสิทธิ สค.1 และอยู่ระหว่างดำเนินการออกโฉนดจากสำนักงานที่ดิน จ.ภูเก็ต
ในส่วนกองทัพภาคที่ 3 พลโทปรีชาจันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 3 ระบุไว้ว่า มีการลงพื้นที่อำเภอนครไทย, อำเภอชาติตระการและ อำเภอวัดโบสถ์ ลาดตระเวนใน 4 พื้นที่ คือ ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากระยาง , ป่าสงวนแห่งชาติป่าเนินเพิ่ม, อุทยานเตรียมการแก่งเจ็ดแคว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูขัด
หรือ ที่พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ได้แถลงออกมาในทิศทางเดียวกันว่า สามารถขอคืนพื้นที่ป่า ที่ถูกบุกรุก จำนวนมาก
รวม 4 ภาคสามารถจับผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการตัดไม้หลายพันคน และจับไม้ได้เป็นหมื่นๆท่อน
ขณะมีกระแสข่าวว่า ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 และพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 กำลังจับตากลุ่มนายทุนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาเป็น “กลุ่มนายทุนรุกขยายพื้นที่ปลูกยางพารา” ทั้งใน พื้นที่ป่าทับลาน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา หรือ ป่าต้นน้ำเหนือเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก โดยเฉพาะพื้นที่ อ.วัดโบสถ์
หรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จ.ตราด วันก่อนเจ้าหน้าที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 200 นาย สนธิกำลังกับทหารนาวิกโยธิน ตราด อีก 30 นาย เข้าทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง บริเวณบ้านบางเบ้า อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราดที่สร้างเป็นห้องเช่า หลังศาลมีคำสั่งให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไป
ขณะที่ กรมป่าไม้ ก็เร่งทำงานในพื้นที่ที่เป็นปัญหา เช่น กลุ่มป่าตะวันตก มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคใต้
แว่วว่า ขณะนี้ คสช.กำลังเร่งตรวจสอบปัญหารีสอร์ต'วังน้ำเขียว-ทับลาน' ที่มีปัญหามาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะที่ดินแปลง ที่มีการออกเอกสารสิทธิทับเขตป่าเขาใหญ่ หลังจากศาลปกครอง ได้จำหน่ายคดีที่รีสอร์ท บ้านพักร้องต่อศาลปกครอง ออกจากสารบบแล้ว และทางอุทยานฯ ก็ได้เข้าไปรื้อถอนบางส่วน
จากตัวเลขเดิม “คดีฮุบป่าวังน้ำเขียว”ยังค้างอยู่ในความรับผิดชอบของ ผู้ว่าจ.นครราชสีมาและนายอำเภอวงัน้ำเขียว ประมาณ 300คดีเนื่องจากความ ไม่ชัดเจนเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทั้ง อุทยานฯ-ป่าสงวนฯ-ส.ป.ก.
ล่าสุด กองทัพภาคที่ 2 ก็สามารถขอคืนพื้นที่ป่าทับลาน แล้วกว่า 2 พันไร่ และสามารถจับนายทุนใหญ่ และยึดทรัพย์ได้กว่า 200 ล้านบาท
หากจำกันได้เมื่อปี 2554 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยมีคำสั่งให้เข้ามาควบคุมดูแลและประสบความสำเร็จส่วนหนึ่ง ในพื้นที่สวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ หรือ “สวนป่าสิริกิติ์” ที่เป็นโครงการที่สืบเนื่องจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ สวนป่าสิริกิติ์นั้น ครอบคลุมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงานช้าง เขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกบริพัตร เขตอุทยานฯ ทะเลบัน เขตป่าสงวนวังพาเทือกเขาแก้ว อ.หาดใหญ่ อ.สะเดา จ.สงขลา และเขตป่าสงวนแห่งชาติ จ.สตูล และ เขตป่าสงวนควนเขาวัง มีพื้นที่โครงการประมาณ 305,000 ไร่
หลังจากกองทัพได้รับการร้องเรียนว่ามีนายทุน ผู้มีอิทธิพล เข้าไปบุกรุกพื้นที่สวนป่า เพื่อปลูกยางพารา และสวนปาล์มเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามแม้ คสช.จะเดินหน้าจับกุม บุกยึดที่ดินนายทุน แต่อีกด้านหนึ่งจากคำบอกเล่าของ นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า มีนักวิชาการ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุค ศูนย์วิจัยป่าไม้กรณีที่ ทางคสช.ได้ออกประกาศให้ไม้พะยูง เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.คือ ห้ามครอบครอง จำหน่ายหรือขาย โดยถ้าครอบครองไม้พะยูงที่เป็นไม้ท่อนเกิน 4 ลูกบาศก์เมตร หรือไม้แปรรูปเกิน 2 ลุกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี ปรับ 5 หมื่น ถึง 2 ล้าน บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เห็นว่าการนำไม้พะยูงเข้าเป็นไม้หวงห้ามตามมาตรา 7 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 อาจไม่เป็นผลดีต่องานส่งเสริมการปลูกป่า หรือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศเนื่องจากขั้นตอนการขออนุญาตในการปลูก การตัด ที่ยุ่งยาก ทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจในการปลูก
ยังเห็นว่าหากมีการนำไม้สัก ไม้ยางนา ออกจาก ไม้หวงห้ามประเภท ก. จะเป็นการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ภาคประชาชน เอกชน มีความต้องการปลูกมากขึ้น เช่นเดียวกันกันกับไม้พะยูง หากนำเข้าเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ก็อาจจะประสบปัญหาเช่นเดียวกับ ไม้สัก และไม้ยางนา ที่อดีตที่ผ่านมาพบว่าไม่ประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมการปลูกในภาคเอกชน ดังในในฐานะที่เป็นนักวิชาการด้านการปลูกป่า จึงยืนยันว่า หากรัฐยังต้องการให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ลดการตัดไม้ จากป่าธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ เพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนให้โลก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ผ่อนคลาย ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการปลูกไม้สัก ไม้ยางนา หรือแม้แต่ ไม้พะยูง ชิงชัน ก็เช่นเดียวกัน
หรือไม่นานมานี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นประธานประชุมหาข้อเท็จจริงจากกรณีตัวแทนภาคประชาชน ประกอบด้วย กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ชาวบ้านในพื้นที่เทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง และชาวบ้านอ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ยื่นคำร้องถึงกสม.ขอให้ตรวจสอบหน่วยงานราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64และ66/2557 ที่ระบุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรามปราบและจับกุมผู้บุกรุกและทำลายป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกระทบสิทธิประโยชน์ในที่ดินทำกินและสิทธิชุมชน ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยมีตัวแทนภาคประชาชนจาก 3 พื้นที่ดังกล่าว พร้อมตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ
โดยนายบุญ แซ่จุง ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ระบุว่า การจัดสรรพื้นที่บริเวณเทือกเขาบรรทัดให้ชาวบ้านทำกินนั้น ดำเนินการโดยสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีกทั้ง พื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างจัดทำให้เป็นโฉนดชุมชน และมีปัญหาข้อพิพาท อัยการสูงสุดจึงให้ชะลอเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทลุล่วงไปก่อน แต่เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานมาติดประกาศหนังสือคำสั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ซึ่งขัดกับคำสั่งของอัยการสูงสุด พวกตนจึงตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตีความตามคำสั่งคสช.หรือไม่
ขณะที่ตัวแทนกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังมีประกาศของคสช. หลายพื้นที่ภาคเหนืออย่าง จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและลำปาง เจ้าหน้าที่อุทยานและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสนธิกำลังเข้าไปจัดการที่ดินทำกินของชาวบ้าน อีกทั้ง ยังมีนายทุนที่อ้างว่า รู้จักกับคนในคสช.มาข่มขู่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ หากไม่ทำตามจะให้ทหารเข้ามาจัดการ
หลายคนเห็นด้วยและให้กำลังใจ กับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64 และ 66/2557 ที่ระบุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรามปราบและจับกุมผู้บุกรุกและทำลายป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติ แต่ก็ยังมีหลายคนที่เป็นห่วง และอยากให้ คสช.แก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ