xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พล.ท.พิชิต บุญญาธิการ สายตรงจาก"บิ๊กตู่"มาคุมหวยตู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อวันที่ 17กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีการสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อคัดเลือกหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล คนใหม่ โดยมี นายจรินทร์ จันกะพาก เป็นประธานสรรหาฯ

มีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกมา 4 คน ที่จะได้แสดงวิสัยทัศน์ คือ

1. พล.ท.พิชิต บุญญาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก
2. พ.อ.โฆษิต พัชครุกานนท์ อดีตที่ปรึกษาบริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศ ไทย) จำกัด และเคยลงสมัครตำแหน่ง ผอ.สำนักงานสลากฯ มาแล้ว 2 ครั้ง
3. ร.ต.กิตตินันท์ ยะตินันท์ อดีต ผอ.โรงพิมพ์ตำรวจ
4. นายทรงวุฒิ อภิรักษ์ขิต ผอ.ศูนย์บริหารจัดการความเสี่ยง มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเงินทุน และหลักทรัพย์

เห็นรายชื่อทั้ง 4 คนแล้ว โดยที่ยังไม่ต้องสัมภาษณ์ หรือฟังวิสัยทัศน์ แนวคิดเชิงกุลยุทธ์ในการบริหารจัดการ ก็พอจะฟันธงได้ว่า นายทหารจากกองทัพบก ที่เป็นลูกน้องคนสนิท ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่ชื่อ พล.ท.พิชิต บุญญาธิการ เข้าวินแน่

สำหรับ "บิ๊กป๊อง" พล.ท.พิชิต บุญญาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก รามอินทรา (สนามกอล์ฟ ทบ.) จบนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 16 จปร. 27 เป็นน้องชายของ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เพื่อนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 ที่เกษียณอายุราชการแล้ว ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.

พล.ท.พิชิต ติดยศร้อยตรี เมื่อปี 2523 ที่กองพันทหารปืนใหญ่ ที่ 1 รักษาพระองค์ เติบโตมาจนกระทั้งเป็นผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 หลังจากนั้นติดยศ พันเอก ในตำแหน่งนายทหารปืนใหญ่ ที่กองทัพภาคที่ 1 ก่อนจะโยกมาเป็นรองผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ จ.ปราจีนบุรี เส้นทางการรับราชการ ถือว่าอยู่ในเหล่าปืนมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก รามอินทรา เป็นส่วนงานสวัสดิการของกองทัพบก ซึ่งเปิดให้เอกชนเข้ามาใช้บริการได้ ที่ผ่านมานายทหารระดับสูงใช้เป็นสถานที่นัดพบกับเพื่อนร่วมรุ่น หรือกลุ่มองค์กรต่างๆ ข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมือง เพื่อออกรอบตีกอล์ฟ รับประทานอาหาร และสนทนาเป็นการส่วนตัว

การมานั่ง ผอ.สำนักงานสลากฯครั้งนี้ เป็นการมาตามใบสั่ง เพื่อสานนโยบายของ คสช. ในเรื่องการปฏิรูประบบการขายสลากฯที่มีความยั่งยืน เพราะปัจจุบันที่พยายามคุมราคาขายสลากที่ 80-90 บาท ต่อฉบับ เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น  

พูดให้ชัดแบบไม่อ้อมค้อม ก็คือ ให้มาบริหารจัดการ "หวยตู้" ที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ในอนาคตอันใกล้นี้ เหมือนเมื่อครั้ง พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ที่มานั่ง ผอ.สำนักงานสลากฯ ดูแลหวยบนดิน ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

มาบริหารจัดการ เอาเงินในระบบหวยใต้ดิน ที่วงเงินหมุนเวียนประมาณแสนล้าน มาเข้าสู่ระบบของสำนักงานสลาก

เหตุผลที่เตรียมไว้อธิบายต่อสังคม กรณีที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการมอมเมาประชาชนหรือเปล่า ก็คือ ทุกวันนี้ก็มีหวยใต้ดินอยู่แล้ว ปราบไม่หมด แล้วเงินหวยใต้ดินก็ไปอยู่ในมือคนไม่กี่คน ที่เป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น คนพวกนี้เมื่อมีเงินก็ไปติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ในการสร้างอิทธิพลมากขึ้นไปอีก มีการทำผิดกฎหมายมากมาย เงินก็ไม่ได้เข้ารัฐแม้แต่บาทเดียว สิทธิคุ้มครองประชาชนก็ไม่มี บางครั้งถูกก็ไม่ได้รางวัล หรือได้รางวัลก็น้อย ถูกหัก เจ้ามือหนี ในเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว สู้ให้รัฐบาลทำหวยตู้ แล้วเงินที่ได้มา ก็ไปทำประโยชน์สาธารณะ ดีกว่า

ในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ ก็มีการโหมโรงสร้างกระแสหวยตู้กันไปก่อน อย่างเช่น เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็มีตัวแทนจากสมาคมผู้ค้าสลากเลขท้าย (กลุ่มผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้เดินโพยหวยตู้ จากรัฐบาลเก่า ที่ทำสัญญาไว้กับล็อกซเลย์ ) ก็ได้มายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อร้องขอความเป็นธรรม

โดยระบุว่า โครงการจำหน่ายสลากฯ ด้วยเครื่องจำหน่าย (หวยตู้) มีการเตรียมความพร้อมมาแล้วถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 49 เป็นต้นมา ซึ่งกลุ่มผู้ค้า ได้ลงทุนตามข้อกำหนดของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว จึงเรียกร้องให้เปิดการจำหน่ายสลากฯด้วยเครื่องจำหน่ายสลากเสียที เพราะผู้ที่ลงทะเบียนรับ และติดตั้งเครื่อง ที่ปัจจุบันมีถึง 6,000 เครื่องทั่วประเทศนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายมาโดยตลอด

เมื่อวันนี้ คสช.ในฐานะที่มีอำนาจเต็มในการจัดการปัญหาต่างๆ จึงอยากให้ช่วยเหลือให้มีหวยตู้เสียที ที่ผ่านมาก็เสียค่าโอกาสทางธุรกิจมาเป็นเวลานานแล้ว

ขณะที่ กรุงเทพโพลล์ ก็ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผลก็ออกมามว่า ประชาชนร้อยละ 51.9 เห็นว่า หากมีการขายลอตเตอรี่ออนไลน์ (หวยตู้) ก็จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการขายลอตเตอรี่เกินราคาได้ ขณะที่ร้อยละ 22.0 คิดว่า แก้ไม่ได้ ที่เหลือร้อยละ 26.1 ยังไม่แน่ใจ

สำหรับความเห็นต่อการปราบปรามหวยใต้ดินในตอนนี้ ว่าจะทำให้คนไทยเลิกเล่นหวยใต้ดินได้หรือไม่นั้น ร้อยละ 51.1 เห็นว่าไม่สามารถทำได้ แต่คงลดจำนวนลง รองลงมา ร้อยละ 36.3 เห็นว่า จะมีการเล่นหวยใต้ดินเหมือนเดิม มีเพียงร้อยละ 7.5 เท่านั้น ที่เห็นว่าสามารถเลิกได้ และหมดไป

เมื่อถามต่อว่า เห็นด้วยหรือไม่ หากมีการทำให้หวยใต้ดินถูกกฎหมาย ร้อยละ 77.3 บอกว่า เห็นด้วย มีเพียง ร้อยละ 15.6 เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย ที่เหลือ ร้อยละ 7.1 บอกไม่แน่ใจ

ผลการสำรวจดังกล่าว สรุปว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมี หวยตู้

สำทับด้วยความเห็นของ กิตติศักดิ์ พรหมรัตน์ ผอ.ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาลอตเตอรี่ราคาแพง ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น สลากฯ 2 ตัว 3 ตัว ด้วยเครื่องอัตโนมัติ หรือ หวยตู้ ว่า หากศึกษาตลาดของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ จะพบว่าปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลักอยู่ 2 ตัว คือสลากกินแบ่งรัฐบาล (ลอตเตอรี่) กับ หวยใต้ดิน ซึ่งแนวคิดในการออกผลิตภัณฑ์อย่างสลาก 2 ตัว 3 ตัว (หวยตู้) จึงไม่ใช่การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่เป็นการนำผลิตภัณฑ์ที่แอบขายใต้ดิน มาอยู่บนดินให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

แล้วหวยตู้ จะช่วยแก้ปัญหาลอตเตอรี่ราคาแพงได้หรือไม่ หากดูในมิติของผู้ซื้อ และผู้ขายแล้ว พบว่า

1. มิติของผู้ซื้อ นโยบายดังกล่าว จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจำนวนกลุ่มผู้ซื้อลอตเตอรี่ ว่าจะหันไปซื้อสลาก 2 ตัว 3 ตัวมากน้อยเพียงใด หากมีมากก็ย่อมจะทำให้ความต้องการลอตเตอรี่ลดลง และอาจจะทำให้ราคาลอตเตอรี่ลดลงตาม

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของผู้ที่ซื้อลอตเตอรี่ บางส่วนไม่ได้หวังแค่รางวัลเลขท้ายหาก แต่หวังรางวัลใหญ่ การมีสลาก 2 ตัว 3 ตัวจึงอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อ และอาจไม่ทำให้ความต้องการลอตเตอรี่ลดลง อย่างมีนัยสำคัญ

2. มิติของผู้ขาย พิจารณา จากต้นทุน และกำไรที่คาดหวัง ซึ่งข้อมูลต้นทุนราคาลอตเตอรี่ที่กองสลากฯ ได้รับอยู่ที่ฉบับละ 74.0 บาท หากรวมกำไรของผู้ค้ารายใหญ่ และผู้ค้ารายย่อยแล้ว ราคาย่อมสูงกว่า 74.0 บาท ในส่วนของผู้ค้ารายย่อยคาดว่ากำไรต่อฉบับที่ได้รับไม่น่าจะ แตกต่างกัน ดังนั้นหากต้นทุนที่มาจากผู้ค้ารายใหญ่สูง ราคาขายให้กับผู้ซื้อก็จะสูงขึ้นตาม

ดังนั้น หากนโยบายขายหวยตู้ ประสบความสำเร็จจำนวนผู้ซื้อลอตเตอรี่ลดลง ผู้ขายรายย่อยมีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือ ขายราคาเดิมฉบับละ 100 บาทขึ้นไปในช่วงแรก และลดราคาในช่วงใกล้วันออกรางวัล หากยังขายไม่หมด หรือขายในราคาต้นทุนบวกกำไรคาดหวัง หากขายไม่หมด ก็ลดราคาลงอีก หรือรับผลขาดทุนจากการขายไม่หมด

เมื่อนำทั้ง 2 มิติ มาพิจารณาร่วมกัน ก็มีความเป็นไปได้ว่า ราคาลอตเตอรี่จะยังคงขายในระดับเดิม หรือต่ำกว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น การออกหวยตู้ จึงไม่น่าจะใช่การแก้ปัญหาลอตเตอรี่ราคาแพง อีกทั้งยังทำให้กำไรของผู้ค้ารายย่อยลดลง ขณะที่ผู้ค้ารายใหญ่ ยังคงมีกำไรเท่าเดิม
   
    การออกหวยตู้ จึงน่าจะเป็นแนวนโยบายในการแก้ปัญหาหวยใต้ดิน มากกว่าการแก้ปัญหาลอตเตอรี่ราคาแพง

ในช่วงที่ คสช. สั่งห้ามเล่นการพนันที่ผิดกฎหมายทุกประเภท ทำให้การซื้อขายหวยใต้ดิน ไม่ซื้อง่ายขายคล่อง เหมือนเมื่อก่อน กรุงเทพโพลล์ ได้ทำการประมาณการ มูลค่าการซื้อขายหวยใต้ดินในงวดวันที่ 1 ก.ค. 57 พบว่ามีมูลค่า 8,697 ล้านบาท หรือเท่ากับ 2.08 แสนล้านบาทต่อปี (คาดว่าก่อนที่ คสช. จะเข้ามาบริหารประเทศน่าจะมีมูลค่าสูงกว่านี้)

และเมื่อพิจารณาจากผลการสอบถามที่ว่า “เห็นด้วยหรือไม่หากจะทำหวยใต้ดินให้ถูกกฎหมาย” ประชาชนมากถึงร้อยละ 77.3 บอกว่า เห็นด้วย มีเพียงร้อยละ 15.6 เท่านั้นที่บอกว่าไม่เห็นด้วย
 
ผอ.ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ ทิ้งท้ายว่า หากมองในมิติเม็ดเงิน การทำหวยใต้ดินให้เป็นสิ่งที่ถูกกฏหมาย จึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา

ดังนั้น ขอให้ติดตามต่อไปว่า หลังจากมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีสภาปฏิรูปประเทศ และตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว กระแสเกี่ยวกับการออกหวยตู้ จะถี่ และแรงขึ้นเรื่อยๆ 
 
ขอจงเชื่อใจ และศรัทธา ว่ารัฐบาล คสช. ก็จะมอบความสุขให้กับประชาชนด้วยหวยตู้ แน่นอน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น