xs
xsm
sm
md
lg

จากนี้มีแต่ทางลำบาก วัดใจและฝีมือ "บิ๊กตู่"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ใกล้คลอดเต็มทีแล้ว กติกาฉบับชั่วคราวของประเทศ หรือ รัฐธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราว ปี 2557 หลังได้รับการยืนยันจาก “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า จะมีการประกาศใช้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้แล้ว ตอนนี้ก็ล่วงเลยมาถึงค่อนเดือน อีกไม่กี่อึดใจ คงเห็นหน้าเห็นตากติกา ที่ประเทศไทยว่างเว้นมานานเกือบ 2 เดือนเต็ม
พอจะเห็นเค้าลางสาระสำคัญบางอย่าง ทั้งที่มีรายงานออกมา หรือจากปากหัวหน้าคสช.เอง โดยเฉพาะการคงคสช.เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อดูแลงานด้านความมั่นคง ขณะเดียวกันก็มีสิทธิ์เสนอแนะ หรือปรึกษาหารือกับรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศได้ หรือเข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นมือเป็นไม้ด้านความมั่นคงของรัฐบาลนั่นเอง
ทว่าเรื่องของเรื่อง จริงๆ แล้วน่าจะเป็นเพราะ คสช.เองก็ระแวงหน้าระวังหลังเหมือนกัน ไม่กล้าคายอำนาจออกจากปากจนสุด เพราะไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า ในอนาคตอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะเรื่องม็อบที่อาจเฮโลกันออกมาอีก หลังจากกฎหมายติดดาบดูเบาบาง และเจือจางลงไป นอกเหนือจากนี้ ก็น่าจะเป็นเหตุผลเกี่ยวกับการดูแล ติดตาม งานที่คสช.ได้วางแผนเอาไว้ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์ ครั้นจะส่งไม้ต่อไปแบบไม่เหลือหลอเลยก็เสี่ยง ของแบบนี้ไม่ได้จะไว้ใจใครง่ายๆ เลยอาศัยเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงคอยประกบ ทั้งเรื่องการปฏิรูป การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในมิติการติดตามดูแลงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย มีผลดีคือ เนื้องานจะออกมาอย่างที่ออกแบบ แต่ถ้ามองในแง่เสีย การคงอยู่ของคสช. จะทำให้รัฐบาลที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาทำงานยากลำบากไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจที่จ้องเล่นงานเราอยู่ อย่างสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป (อียู) ขาประจำที่หาเรื่องตอดเล็กตอดน้อยไทยมาตลอด จะมองเพียงว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นเพียงนอมินี ที่มีกองทัพทำหน้าที่ชักใยอยู่ ไม่พ้นคราบเผด็จการอยู่ดี
ในเรื่องของการค้าการลงทุนจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายประเทศอาจมองว่า ถ้าทำพันธะสัญญาอะไรกับรัฐบาลชุดนี้ไปก็อาจเปล่าประโยชน์ เพราะเมื่อมีรัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้ง หลายโครงการอาจถูกพับไปก็เป็นได้ จึงอาจสงวนท่าทีเพื่อรอเวลาก่อน
แน่นอน คสช.อาจมั่นใจว่า ปัจจุบันได้ใช้กลไกทางการทูต อย่างกระทรวงการต่างประเทศ โดยปลัดกระทรวงบัวแก้วทำหน้าที่รัฐมนตรีคอยชี้แจงกับนานาอารยประเทศถึงเหตุผลในการทำรัฐประหารครั้งนี้ได้ แต่ความจริง คสช. ก็รู้อยู่เต็มอกเหมือนกันว่า เป็นแค่บางประเทศเท่านั้นที่เข้าใจ หรือเข้าใจเฉพาะตัวทูตที่มารับฟังคำชี้แจง ไม่ใช่ผู้นำของประเทศนั้นๆ เลย อย่างสหรัฐฯ และอียูนั้น ยากนักตราบใดที่ คสช.ยังอยู่ ฉะนั้น ยุทธวิธีดังกล่าวจึงมีข้อจำกัดอยู่
**การทำงานของรัฐบาลที่ว่ากันว่า“บิ๊กตู่”จะมานั่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 เองนั้น จะยากลำบากพอสมควรเลยทีเดียว ภายหลังมีการใช้รัฐธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราวปี 2557 เพราะการใช้อำนาจจะมีข้อจำกัด ไม่ได้กว้างเป็นทะเลเหมือนเมื่อครั้งยังเป็น คสช. ที่เสมือนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะทำอะไรไม่ต้องรอกระบวนการขั้นตอนซับซ้อนอะไร เพียงแค่ทุบโต๊ะ แล้วออกประกาศและออกคำสั่งเท่านั้น ก็เป็นอันเสร็จสิ้น
แต่ถ้าในนามรัฐบาลหลังจากนี้ จะมีกลไก ขั้นตอน ระเบียบ มากมาย จะแก้อะไรก็ไม่ได้ดังใจเหมือน ต้องรอพิธีการเยอะแยะอะไรไปหมด แถมหากพลาดพลั้ง ทำสะเปะสะปะอาจโดนต่อว่าต่อขานได้เหมือนกัน
ขณะที่ความศักดิ์สิทธิ์ ความเกรงกลัวในอิทธิฤทธิ์ของ “บิ๊กตู่”อาจจะไม่เข้มขลังเหมือนเดิมเหมือนอีกต่อไป อาจตกเป็นเป้าถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ง่ายกว่าเดิม หากทำอะไรไม่เข้าหูเข้าตาประชาชน ในฐานะบุคคลสาธารณะที่ใครก็ตำหนิติเตียนได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็หลายๆ ฝ่าย บ่นๆ เหมือนกันว่า งานที่คสช.นั้นยักษ์เกินไปกว่าที่จะรีบคายอำนาจออก แต่กระนั้น ครั้นจะไม่รีบคายออกมา ก็ไม่ส่งผลดีเหมือนกัน เพราะคสช.นั้นมาไม่ถูกต้อง ต่างชาติก็จี้กันอยู่ทุกวี่วัน เลยต้องทำอะไรแบบรวดเร็ว เรียกว่า อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้า คายไม่ออก
นอกจากเรื่องการบริหารประเทศที่เชื่อขนมกินได้ว่า เจอทางขรุขระ ไม่ได้ลาดรันเวย์ลงมาเหมือนตอนเป็นคสช.แล้ว ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปประเทศ (สปร.) ก็ไม่ใช่งานหมูๆ แบบเคี้ยวสองสามคำกลืนลงคอได้ เพราะเป็นโจทย์ที่สุดแสนจะไปถึงยาก และอยู่ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนจำนวนไม่น้อย
โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปประเทศ ที่มีการแง้มสัดส่วนกันออกมาแล้วว่า จะมีจำนวน 250 คน ที่มาจากแต่ละจังหวัด และจากการคัดสรรของ คสช. ซึ่งคสช.พยายามจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสื้อเหลือง กลุ่มกปปส. และกลุ่มเสื้อแดง ได้เข้ามาระดมสมองทดลองปัญญากัน เพื่อที่จะให้ได้ข้อสรุปเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย แต่กระนั้น ที่ผ่านมาหลายอย่างพิสูจน์แล้วว่าปริมาณอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ถูกต้องเสมอไป
**การที่คสช.เปิดรับฟังความคิดเห็นมากมายมหาศาล มองในมุมหนึ่งมันก็ดี เพราะทุกคนมีส่วนร่วม แต่หากมองในปลายทางข้างหน้าก็ไม่แน่ใจว่า เมื่อถึงคราวต้องตัดสินใจกลั่นความเห็นเหล่านั้นออกมาเป็นบทสรุป ทุกคน ทุกฝ่ายจะพอใจด้วยหรือไม่ ซึ่งก็เป็นโจทย์สำคัญที่ คสช.ต้องไปคิดหาทางเอาไว้แต่เนิ่นๆ
เรื่องตัวบุคคลที่จะมาเป็นสมาชิก สปร. ก็มีความสำคัญไม่น้อยเหมือนกัน สัดส่วนแต่ละกลุ่ม แต่ละสาขาที่จะเอาเข้ามาต้องได้รับการยอมรับ จัดสรรอย่างเท่าเทียม เพราะหากเอียงกระเท่เร่ไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เน้นพวกพ้องมากเกินไป ความชอบธรรมก็อาจจะลดน้อยถอยลงไปได้
ในส่วนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี 2558 ก็เหมือนกัน การคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ถือเป็นหัวใจสำคัญลำดับแรกเลย โดยเฉพาะตัวประธานคณะกรรมาธิการฯ ที่จะทำให้เห็นทิศทาง และเค้าลางกติกาฉบับถาวรได้เลย ดังนั้น การตัดสินใจเลือกใครเข้ามาทำหน้าที่ ต้องคำนึงถึงเรื่องการยอมรับของสังคมด้วย ทั้งในมิติของฝีไม้ลายมือ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และบทบาททางการเมืองก่อนหน้านี้ เนื่องจากเรามีบทเรียนจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี 2550 มาแล้ว ที่ภายหลังร่างเสร็จยังถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำบ้าง รัฐธรรมนูญฉบับต้นไม้พิษบ้าง รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการบ้าง เหล่านี้ต้องห้ามมองข้าม
เช่นเดียวกับเนื้อหา ต้องทำให้เป็นที่ยอมรับ สามารถขจัดวงจรอุบาทว์ก่อนหน้านี้ได้อย่างถาวร จนไม่มีใครกล้าจะกระทำความผิดหรือโกงกินเมื่อได้เข้ามาสู่ระบบทางการเมือง นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องต่างๆ ด้วย

**แค่นึกก็เหนื่อยแทนรัฐบาลชุดใหม่แล้ว!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น