xs
xsm
sm
md
lg

จากนี้มีแต่ทางลำบาก วัดใจและฝีมือ “บิ๊กตู่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รายงานการเมือง

ใกล้คลอดเต็มทีแล้ว กติกาฉบับชั่วคราวของประเทศ หรือรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราวปี 2557 หลังได้รับการยืนยันจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า จะมีการประกาศใช้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้แล้ว ตอนนี้ก็ล่วงเลยมาถึงค่อนเดือน อีกไม่กี่อึดใจคงเห็นหน้าเห็นตากติกาที่ประเทศไทยว่างเว้นมานานเกือบ 2 เดือนเต็ม

พอจะเห็นเค้าลางสาระสำคัญบางอย่าง ทั้งที่มีรายงานออกมา หรือจากปากหัวหน้า คสช.เอง โดยเฉพาะการคง คสช. เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อดูแลงานด้านความมั่นคง ขณะเดียวกัน ก็มีสิทธิ์เสนอแนะหรือปรึกษาหารือกับรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศได้ หรือเข้าใจง่ายๆ ก็คือ มือไม้ด้านความมั่นคงของรัฐบาลนั่นเอง

ทว่า เรื่องของเรื่องจริงๆ แล้วน่าจะเป็นเพราะ คสช.เองก็ระแวงหน้าระวังหลังเหมือนกัน ไม่กล้าคายอำนาจออกจากปากจนสุด เพราะไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าในอนาคตอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะเรื่องม็อบที่อาจเฮโลกันออกมาอีก หลังจากกฎหมายติดดาบดูเบาบางและเจือจางลงไป นอกเหนือจากนี้ ก็น่าจะเป็นเหตุผลเกี่ยวกับการดูแล ติดตามงานที่ คสช.ได้วางแผนเอาไว้ ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์ ครั้นจะส่งไม้ต่อไปแบบไม่เหลือหลอเลยก็เสี่ยง ของแบบนี้ไม่ได้จะไว้ใจใครง่ายๆ เลยอาศัยเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงคอยประกบ ทั้งเรื่องการปฏิรูป การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในมิติการติดตามดูแลงานให้เป็นไปตามเป้าหมายมีผลดีคือ เนื้องานจะออกมาอย่างที่ออกแบบ แต่ถ้ามองในแง่เสีย การคงอยู่ของ คสช.จะทำให้รัฐบาลที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาทำงานยากลำบากไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจที่จ้องเล่นงานเราอยู่ อย่างสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป (อียู) ขาประจำที่หาเรื่องตอดเล็กตอดน้อยไทยมาตลอด จะมองเพียงว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นเพียงนอมินีที่มีกองทัพทำหน้าที่ชักใยอยู่ ไม่พ้นคราบเผด็จการอยู่ดี

ในเรื่องของการค้าการลงทุนจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายประเทศอาจมองว่า ถ้าทำพันธะสัญญาอะไรกับรัฐบาลชุดนี้ไปก็อาจเปล่าประโยชน์ เพราะเมื่อมีรัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้งหลายโครงการอาจถูกพับไปก็เป็นได้ จึงอาจสงวนท่าทีเพื่อรอเวลาก่อน

แน่นอน คสช.อาจมั่นใจว่าปัจจุบันได้ใช้กลไกทางการทูต อย่างกระทรวงการต่างประเทศ โดยปลัดกระทรวงบัวแก้วทำหน้าที่รัฐมนตรีคอยชี้แจงกับนานาอารยประเทศถึงเหตุผลในการทำรัฐประหารครั้งนี้ได้ แต่ความจริงคสช.ก็รู้อยู่เต็มอกเหมือนกันว่า เป็นแค่บางประเทศเท่านั้นที่เข้าใจ หรือเข้าใจเฉพาะตัวทูตที่มารับฟังคำชี้แจง ไม่ใช่ผู้นำของประเทศนั้นๆ เลย อย่างสหรัฐฯ และอียูนั้นยากนักตราบใดที่คสช.ยังอยู่ ฉะนั้น ยุทธวิธีดังกล่าวจึงมีข้อจำกัดอยู่

การทำงานของรัฐบาลที่ว่ากันว่า “บิ๊กตู่” จะมานั่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 เองนั้น จะยากลำบากพอสมควรเลยทีเดียวภายหลังมีการใช้รัฐธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราวปี 2557 เพราะการใช้อำนาจะมีข้อจำกัด ไม่ได้กว้างเป็นทะเลเหมือนเมื่อครั้งยังเป็น คสช. ที่เสมือนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะทำอะไรไม่ต้องรอกระบวนการขั้นตอนซับซ้อนอะไร เพียงแค่ทุบโต๊ะแล้วออกประกาศและออกคำสั่งเท่านั้นก็เป็นอันเสร็จสิ้น

แต่ถ้าในนามรัฐบาลหลังจากนี้จะมีกลไก ขั้นตอน ระเบียบ มากมาย จะแก้อะไรก็ไม่ได้ดังใจเหมือน ต้องรอพิธีการเยอะแยะอะไรไปหมด แถมหากพลาดพลั้งทำสะเปะสะปะอาจโดนต่อว่าต่อขานได้เหมือนกัน

ขณะที่ความศักดิ์สิทธิ์ ความเกรงกลัวในอิทธิฤทธิ์ของ “บิ๊กตู่” อาจจะไม่เข้มขลังเหมือนเดิมเหมือนอีกต่อไป อาจตกเป็นเป้าถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ง่ายกว่าเดิม หากทำอะไรไม่เข้าหูเข้าตาประชาชน ในฐานะบุคคลสาธารณะที่ใครก็ตำหนิติเตียนได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็หลายฝ่ายบ่นๆ เหมือนกันว่างานที่ คสช.นั้นยักษ์เกินไปกว่าที่จะรีบคายอำนาจออก แต่กระนั้นครั้นจะไม่รีบคายออกมาก็ไม่ส่งผลดีเหมือนกัน เพราะคสช.นั้นมาไม่ถูกต้อง ต่างชาติก็จี้กันอยู่ทุกวี่วัน เลยต้องทำอะไรแบบรวดเร็ว เรียกว่าอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

นอกจากเรื่องการบริหารประเทศที่เชื่อขนมกินได้ว่าเจอทางขรุขระ ไม่ได้ลาดรันเวย์ลงมาเหมือนตอนเป็นคสช.แล้ว ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปประเทศ (สปร.) ก็ไม่ใช่งานหมูๆ แบบเคี้ยวสองสามคำกลืนลงคอได้ เพราะเป็นโจทย์ที่สุดแสนจะไปถึงยาก และอยู่ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนจำนวนไม่น้อย

โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปประเทศ ที่มีมีการแง้มสัดส่วนกันออกมาแล้วว่า จะมีจำนวน 250 คน ที่มาจากแต่ละจังหวัด และจากการคัดสรรของ คสช. ซึ่ง คสช.พยายามจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสื้อเหลือง กลุ่ม กปปส. และกลุ่มเสื้อแดง ได้เข้ามาระดมสมองทดลองปัญญากันเพื่อที่จะให้ได้ข้อสรุปเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย แต่กระนั้นที่ผ่านมาหลายอย่างพิสูจน์แล้วว่าปริมาณอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ถูกต้องเสมอไป

การที่ คสช.เปิดรับฟังความคิดเห็นมากมายมหาศาล มองในมุมหนึ่งมันก็ดี เพราะทุกคนมีส่วนร่วม แต่หากมองในปลายทางข้างหน้าก็ไม่แน่ใจว่า เมื่อถึงคราวต้องตัดสินใจกลั่นความเห็นเหล่านั้นออกมาเป็นบทสรุป ทุกคน ทุกฝ่ายจะพอใจด้วยหรือไม่ ซึ่งก็เป็นโจทย์สำคัญที่ คสช.ต้องไปคิดหาทางเอาไว้แต่เนิ่นๆ

เรื่องตัวบุคคลที่จะมาเป็นสมาชิก สปร. ก็มีความสำคัญไม่น้อยเหมือนกัน สัดส่วนแต่ละกลุ่ม แต่ละสาขาที่จะเอาเข้ามาต้องได้รับการยอมรับ จัดสรรอย่างเท่าเทียม เพราะหากเอียงกระเท่เร่ไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เน้นพวกพ้องมากเกินไป ความชอบธรรมก็อาจจะลดน้อยถอยลงไปได้

ในส่วนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี 2558 ก็เหมือนกัน การคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ถือเป็นหัวใจสำคัญลำดับแรกเลย โดยเฉพาะตัวประธานคณะกรรมาธิการฯ ที่จะทำให้เห็นทิศทาง และเค้าลางกติกาฉบับถาวรได้เลย ดังนั้น การตัดสินใจเลือกใครเข้ามาทำหน้าที่ต้องคำนึงถึงเรื่องการยอมรับของสังคมด้วย ทั้งในมิติของฝีไม้ลายมือ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และบทบาททางการเมืองก่อนหน้านี้ เนื่องจากเรามีบทเรียนจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี 2550 มาแล้ว ที่ภายหลังร่างเสร็จยังถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำบ้าง รัฐธรรมนูญฉบับต้นไม้พิษบ้าง รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการบ้าง เหล่านี้ต้องห้ามมองข้าม

เช่นเดียวกับเนื้อหา ต้องทำให้เป็นที่ยอมรับ สามารถขจัดวงจรอุบาทว์ก่อนหน้านี้ได้อย่างถาวร จนไม่มีใครกล้าจะกระทำความผิดหรือโกงกินเมื่อได้เข้ามาสู่ระบบทางการเมือง นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องต่างๆ ด้วย

แค่นึกก็เหนื่อยแทนรัฐบาลชุดใหม่แล้ว!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น