ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นักหนังสือพิมพ์ใหญ่ “เปลว สีเงิน” ออกมาเล่นบทองครักษ์พิทักษ์กลุ่มทุนพลังงาน โดดป้องนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด บมจ. ปตท. อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หาว่าพวกที่ต่อต้านคัดค้านนายปิยสวัสดิ์ ขึ้นเป็นประธานบอร์ดปตท. เป็นพวกโกรธแค้น จะเอาเป็นเอาตายและโวยวายยังกะประเทศไทย “เสียกรุง” ครั้งที่ 3
อันที่จริง การไม่เอานายปิยสวัสดิ์ ไม่ใช่การโกรธแค้นส่วนตัว แต่เป็นเพราะผลงานที่ผ่านๆ มาของคนๆ นี้ และกลุ่มคนที่มีแนวความคิดเฉดเดียวกันนี้ ที่กำหนดนโยบาย บริหารจัดการด้านพลังงานมาตลอดกว่า 30 ปี ซึ่ง เปลว สีเงิน ชื่นชมนักหนานั้น มันสร้างความทุกข์ระทมให้กับประชาชนจนเกินพอแล้ว ในทางกลับกัน ปตท.และบรรษัทพลังงานข้ามชาติ ที่สูบกินสมบัติที่บรรพชนปกป้องรักษาไว้ให้ลูกหลานชาวไทย กลับร่ำรวยเอา ร่ำรวยเอา …..หรือจะปฏิเสธว่ามันไม่จริง?
กำไร ปตท. เป็นแสนล้าน ขณะที่ประชาชนจ่ายค่าน้ำมัน 2 ลิตรร้อย ค่าก๊าซฯ ก็ขึ้นไม่หยุด เอาเงินกองทุนน้ำมันที่รีดจากผู้ใช้น้ำมันมาชดเชยให้ปตท.ตามราคาก๊าซตลาดโลก ล้วงเอาจากประชาชนทั้งนั้น แล้วจะให้คนเขาหลับหูหลับตาสรรเสริญเยินยอกันต่อไป คงไม่ไหว
เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาสาเข้ามาหยุดยั้งความแตกแยกและนำพาปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งหัวใจก็คือการปฏิรูปพลังงาน อันเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งผลสะเทือนไปทุกด้าน ประชาชนคนไทยเขาจึงมีความหวังว่า คสช.ควรคิดใหม่จัดการใหม่กับปัญหาเรื่องพลังงานของประเทศเสียที
แต่เมื่อสุดท้ายแล้ว “คุณสมชาย” ก็ยังเชื่อแนวคิด วิธีคิด วิธีการบริหารจัดการพลังงานแบบเดิมๆ จากคนหน้าเดิมๆ ที่เวียนเข้าเวียนออกสลับเก้าอี้ดนตรี สวมหมวกหลายใบ เดี๋ยวเป็นข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานรัฐ เดี๋ยวเป็นกรรมการในคณะกรรมการผู้กำหนดนโยบายพลังงานของชาติ ประเดี๋ยวเป็นบอร์ด ปตท. ที่ได้ประโยชน์จากการกำหนดนโยบายนั้นๆ เสียงจากประชาชนก็ต้องร้องยี้ เป็นธรรมดา ไม่ใช่ยี้แค่บอร์ด ปตท. เขาเริ่มยี้ คสช. กันแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นนายปิยสวัสดิ์, นายพรชัย รุจิประภา หรือว่านายคุรุจิต นาครทรรพ บอร์ดใหม่ซิงๆ ของปตท. หรือผู้เคยอยู่ก่อนเก่าก็ไม่ได้แตกต่างกัน และเมื่อเป็นเช่นนี้ จะปฏิเสธได้อย่างไรว่าพวกเขาเหล่านั้น ไม่ว่าจะสวมหมวกใบไหนต่างก็ทำตัวเป็น “ตัวแทน” กลุ่มทุนพลังงานทั้งสิ้น ไม่เห็นความหวังว่าจะล้าง ปตท. ให้เป็นพลังงานเพื่อชาติ หรือพลังงานเพื่อประชาชน แม้แต่น้อย กี่ปีกี่ชาติมาแล้วที่ประชาชนชอกช้ำซ้ำถูกโจรใส่สูทปล้นกลางแดดจนเหลือ แต่โครงกระดูก
ปัญหาของกลุ่มคนที่ต่อต้านนายปิยสวัสดิ์ หรือตั้งคำถามกับนายปิยสวัสดิ์และพวก กับกลุ่มที่หนุนหลังนายปิยสวัสดิ์อยู่นั้น ไม่ใช่ปัญหาเรื่องข้อมูล-ข้อเท็จจริง ที่แตกต่างกันมากอย่างที่ เปลว สีเงิน เข้าใจ เพราะข้อมูลที่ยกมาอ้างอิงนั้นมาจากแหล่งเดียวกันคือ หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบด้านพลังงาน เป็นข้อมูลของกระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ บมจ.ปตท, และบริษัทผู้รับสัมปทาน และข้อมูลเปรียบเทียบกับการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศอื่นๆ ดังนั้น ถ้าเปิดใจให้กว้าง ศึกษาทัศนาข้อมูลที่ไม่ใช่จากตัวแทนกลุ่มทุนพลังงานแปลความบนจุดยืนผลประโยชน์ของกลุ่มทุนแล้วพูดกรอกหู ข่มขู่ให้กลัวและให้เชื่อฟังมาโดยตลอด ประชาชนคนไทยก็จะได้หูตาสว่างกว้างขวางมากขึ้นว่าโลกเขาไปถึงไหนๆ กันแล้ว
แต่ก็อย่างว่า ทุนเงินหนาอย่างกลุ่มพลังงาน มีหรือที่จะยอมให้ข้อมูลและแนวคิดต่างมีพื้นที่ ดังจะเห็นได้จากบรรดาสื่อมวลชนทั้งหลาย ต่างก็ทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มทุนพลังงานเกือบทั้งสิ้นเพราะเงินค่าโฆษณา สปอนเซอร์กิจกรรม มันอุดปากให้พูดไม่ออกหรือพูดอย่างอื่นไม่เป็นนอกจากว่าไปตามสคริปต์ที่พวกทุนพลังงานใส่โปรแกรมเอาไว้ให้ อาจจะไม่ยกเว้นแม้กระทั่งไทยโพสต์เองก็ตาม ไม่ต้องพูดถึงค่ายสื่อใหญ่ทั้งทีวี สิ่งพิมพ์ หรือกระทั่งแกนนำแดงฮาร์ดคอร์อย่าง “ตู่ จตุพร พรหมพันธุ์ - เต้น ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ” ก็ยังเอากะเขาด้วย
ช่วงก่อนหน้า ที่กลุ่มกปปส.ชุมนุม มวลมหาประชาชนก็สังเวชใจไปกับการออกมาป้องทุนพลังงานของค่ายวอชท์ด็อก กระทั่งทำให้ประเด็นเรื่องปฏิรูปพลังงานไม่อยู่ในวาระปฎิรูปประเทศ คุ้ยแคะลงไปก็ได้เห็นว่าค่ายวอชท์ด็อกของอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รับสปอนเซอร์จากปตท.ทุนใหญ่พลังงานมาแล้ว คราวนี้ ประชาชนผู้เสพข่าวสารก็ได้เห็นธาตุแท้วิญญูชนจอมปลอมของนักหนังสือพิมพ์ใหญ่กันบ้างจากกรณีโดดป้องนายปิยสวัสดิ์ เป็นขวัญหูขวัญตา
แล้วยังชูรักแร้เชียร์ว่า ฝ่ายปิยสวัสดิ์ มีแนวทางแก้ปัญหาที่ไม่ได้เน้นราคาถูก-ราคาแพง แต่เน้น “ราคาเป็นจริง” ตามกลไกตลาด เพราะถ้าอุ้มกันอยู่จะไม่เป็นผลดีทำให้ผู้ใช้เคยตัวใช้น้ำมันฟุ่มเฟือยรัฐก็จะแบกภาระหนัก แล้วซัดอีกฝ่ายว่า มั่วข้อมูล “"ไทย-ซาอุฯ" มีน้ำมันพอๆ กัน!? แต่ขุดเอาไปขายต่างประเทศครึ่งต่อครึ่ง บ่อน้ำมันก็เอาไปขายสัมปทานให้ต่างชาติ แทนที่คนไทยจะได้ใช้ของถูก กลับต้องใช้น้ำมันแพง อ้างอิงตลาดสิงคโปร์ ตลาดโลกลวงตา ฉะนั้น ต้องยึด ปตท.กลับมาเป็นของรัฐ ราคาก๊าซ-น้ำมัน จะได้ถูกลง!”
นั่นถือว่า นักหนังสือพิมพ์ใหญ่ ตกม้าตายแท้ๆ ตั้งแต่คำว่า “ราคาเป็นจริง” ตามกลไกตลาดโลกที่กลุ่มทุนพลังงานชอบอ้างว่าเพื่อจะได้ประหยัดเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ถามกลับว่าถ้ามีบางส่วนขุดเจาะและผลิตได้ในประเทศอยู่ด้วยแต่กลับต้องซื้อขายกันในราคาตลาดโลก ถ้าไม่เช่นนั้นสู้นำเข้ามาหมดแล้วเก็บทรัพยากรปิโตรเลียมไว้ให้ลูกหลานไม่ดีกว่าหรือเพราะไหนๆ ก็ต้องซื้อน้ำมันในราคาตลาดโลกอยู่แล้ว ส่วนเม็ดเงินที่ว่ารัฐฯเอามาอุ้มราคาพลังงานนั้น เป็นการล้วงกระเป๋าซ้ายขวาของประชาชนผ่านทางกองทุนน้ำมัน เป็นการช่วยเหลือกันเองระหว่างประชาชนทั้งนั้น หน้าไหนก็อย่ามาตีมึนเอาหน้าหาคะแนนเสียง
ส่วนที่ซัดอีกฝ่ายว่าที่ว่าไทย-ซาอุฯ มีน้ำมันพอๆ กันนั้น ประเด็นนี้ หม่อมหลวงกรณ์ กสิวัฒน์ เกษมศรี ตัวแทนกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน (จปพ.) ยืนยันมาตลอดว่าไม่เคยระบุว่าไทยมีการผลิตน้ำมันมากกว่าซาอุฯ หรือพอๆ กับซาอุฯ แต่เสนอว่าหากการขุดเจาะและการ ผลิต น้ำมันในประเทศไทยแล้วส่งออกอิงราคาตลาดโลกจนทำให้คนไทยใช้เชื้อเพลิงในราคาไม่ต่างจากการนำเข้า ก็เห็นว่าไม่ควรที่จะผลิตในประเทศและเก็บทรัพยากรปิโตรเลียมเหล่านี้ไว้ใช้ในอนาคตจะดีกว่า
“สาเหตุหลักที่ไทยต้องส่งออกน้ำมันไม่ใช่เพราะน้ำมันไม่มีคุณภาพจนใช้ในประเทศไม่ได้ แต่เพราะตามสัญญาขุดเจาะน้ำมันทำให้บริษัทมีสิทธิในการส่งออก ซึ่งในส่วนของปิโตรเลียมในประเทศหากขุดเจาะแล้วส่งออกโดยอ้างอิงตลาดโลกจนทำให้คนในประเทศใช้เชื้อเพลิงในราคาแพง อยากเสนอให้หยุดผลิตในประเทศและนำเข้าทั้งหมด เพราะราคาเชื้อเพลิงใกล้เคียงกันอยู่แล้ว” หม่อมหลวงกรณ์กสิวัฒน์ กล่าวย้ำ
จุดยืนที่ชัดเจนของกลุ่มจปพ.ที่นักหนังสือพิมพ์ใหญ่ควรตระหนัก ก็คือว่าพวกเขาไม่ได้สู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง แต่สู้เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน หลุดพ้นจากการถูกขูดรีดเพื่อความมั่งคั่งของปตท. และกลุ่มทุนพลังงานข้ามชาติ
อย่างที่หม่อมหลวงกรณ์กสิวัฒน์ โฟสต์ไว้หลังเข้าร่วมงานสัมมนาเรื่องปฏิรูปพลังงาน : โอกาสและความท้าทายหลังรัฐประหาร เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2557 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า “ผมชี้ให้เห็นว่า พ่อของแผ่นดินนำสมบัติที่บรรพชนเฝ้ารักษามาพระราชทานให้แก่ลูกทั้งแผ่นดินแล้ว แต่ด้วยจัดการของผู้จัดการมรดก(นักการเมือง+ข้าราชการ) สมบัติจึงไม่ถึงมือประชาชน
“ความแตกต่างของเราภาคประชาชน กับ กลุ่มข้าราชการ นักการเมือง+นักธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องข้อมูล เพราะผมใช้ข้อมูลของรัฐ แต่หลักคิดต่างหากที่แตกต่างกัน ผมคิดว่าประชาชนทุกคนคือเจ้าของทรัพยากร การวางนโยบายของรัฐที่ดีจึงควรเอาประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้ง กลุ่มข้าราชการ นักการเมือง+นักธุรกิจ (บางคน) เขาคิดว่า ทรัพยากรเป็นของเอกชน (ก็เพราะรัฐให้สัมปทานไปแล้ว) ดังนั้น เขาก็ต้องมาขายให้เราในราคาตลาดโลกเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
“เอกชนคิดแบบนี้ เราคงว่าเขาไม่ได้เพราะเขาต้องทำกำไรสูงสุด แต่ถ้ารัฐคิดแบบนี้นี่สิน่าตกใจ ว่าท่านไม่คำนึงถึงบรรพชนของไทยบ้างหรือไร? ที่สละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อคนรุ่นหลัง แต่วันนี้สมบัติถูกโอนให้เอกชนโดยเฉพาะต่างชาติ เงินกำไรจากการขุดก๊าซและน้ำมันเกินครึ่งไหลไปสหรัฐฯ
“การให้สัมปทานไปวันนี้ ทรัพยากรต่างชาติเอาไปหมด แล้วเอาก๊าซกลับมาขายคนไทยแพงกว่าราคาตลาดนิวยอร์ก แล้วคนไทยต้องเสียภาษีบนทรัพยากรตัวเองอีกรอบ ผมว่านี่คือกับดักความยากจนที่แท้จริง ซึ่งผู้มีอำนาจควรต้องตระหนัก หากอยากแก้ปัญหาความยากจน ต้องแก้ปัญหาทรัพยากรก๊าซและน้ำมันใต้แผ่นดินไทยครับ
“วันนี้ คนไทยไม่ได้หวังราคาพลังงานถูกแบบประชาชนนิยม แต่สิ่งที่คนไทยต้องการเห็นคือราคาพลังงานที่เป็นธรรมกับเจ้าของทรัพยากร อีกทั้งรายได้เข้าประเทศที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อกลับมาเป็นโรงเรียน โรงพยาบาลที่เพียงพอให้กับประชาชน...ลูกของแผ่นดินไทยครับ”
หวังว่าคงชัดเจนในจุดยืนและหลักคิดที่แตกต่างสำหรับการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของแผ่นดิน และการกำหนดราคาพลังงานของประเทศ ระหว่างกลุ่มของนายปิยสวัสดิ์ กับกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน
ในงานสัมมนาข้างต้น นางสาวรสนา โตสิตระกูล ตัวแทนกลุ่มจปพ. ยังเน้นย้ำว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ผ่านมา ต้องการให้รัฐคงสัดส่วนการถือหุ้นในปตท.ในระดับสูงเพื่อให้การบริหารระดับราคาพลังงานเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน แต่จากการติดตามแนวทางปฏิบัติงานของ คสช. เกี่ยวกับการปฏิรูปพลังงาน เริ่มไม่แน่ใจ และกังวลว่าที่สุดการทำรัฐประหารครั้งนี้จะนำมาซึ่งการแปรรูปปตท. ด้วยการขายหุ้นรัฐทิ้งไปกลายเป็นบริษัทเอกชน 100%
ส่วนกรณีประธานบอร์ด ปตท. เสนอให้รัฐลดการถือหุ้นใน ปตท. เพื่อลดการล้วงลูก มองว่าแม้กระทรวงการคลังจะขายหุ้น ปตท. ก็คงไม่มีประโยชน์ ตราบใดที่ยังไม่มีการแยกธุรกิจท่อก๊าซจาก ปตท. ซึ่งหลังการแปรรูปทรัพยากรท่อก๊าซฯ ควรเป็นของภาครัฐ 100% แต่ตอนนี้ผลประโยชน์ยังตกเป็นของ ปตท.อยู่เช่นเดิม
นอกจากนั้น ทางกลุ่มยังจับตาบทบาทของ คสช. ในการปฏิรูปพลังงาน โดยยอมรับว่าเริ่มกังวลใจที่ตัวแทนจากคสช. 2 ท่าน คือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. ดูแลฝ่ายเศรษฐกิจ และ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ได้เข้าไปเป็นกรรมการ หรือบอร์ดปตท. เพราะการทำงานที่โปร่งใส ควรจะบริหารและสั่งการจากภายนอกจะเหมาะสมกว่า
คสช. อย่าลืมว่าปัญหาเรื่องพลังงานที่ผ่านมามีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นเรื่องใหญ่ และในเมื่อยึดอำนาจเข้ามาโดยอ้างว่าเพื่อลดความแตกแยก สร้างความปรองดอง เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ก็ควรตระหนักอย่างสำคัญด้วยว่าการปฏิรูปประเทศไทย หัวใจคือปฏิรูปพลังงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่เพื่อปตท. หรือเพื่อทุนพลังงานข้ามชาติ !