xs
xsm
sm
md
lg

26 มิถุนายน วันต่อต้านยาเสพติดโลก

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

ในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบใช้ยาเสพติด (International Conference on Drug Abuse and licit Trafficking: ICDAIT) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่างวันที่ 17-26 มิถุนายน พ.ศ. 2530 ที่ประชุมได้มีมติให้เสนอสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ขอให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันต่อต้านยาเสพติดโลก” และในปี 2013 มีคำขวัญรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดว่า: Make health your "new high" in life, not drugs

ยาเสพติดถือเป็นภัยความมั่นคงอย่างหนึ่งของประเทศและชีวิตมนุษย์ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกัน ประเทศไทยมีนโยบายจากภาครัฐในการจัดการยาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่ายังไม่มีทีท่าว่า ยาเสพติดจะหมดสิ้นไปจากแผ่นดินเราได้ แต่กระนั้น ความหวังยังไม่สิ้นสุดลงไปเสียที เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้ดำเนินการสั่งการและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ใน การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดด้วยความประสงค์ให้เห็นผลการปราบปรามได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม แม้จะอยู่ในช่วงระยะเวลาอันสั้นก็ตามที ซึ่งมีการประกาศชัด ว่าจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพื่อตัดวงจรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรม การฟอกเงิน และอื่นๆ ที่พัวพันและได้รับอิทธิพลจากภัยยาเสพติดซึ่งเป็นบ่อนทำลายชาติ ซึ่งสอดคล้องกับความห่วงใยจากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีใจความว่า

“....ยาเสพติดนี่ มันก่อให้เกิดความเดือดร้อนหลายอย่างโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ทั้งราชการ ตำรวจ โดยโรงพยาบาล โดยคน เอกชนต่างๆ เดือดร้อนหมดและสิ้นเปลือง คนทั่วประเทศก็สิ้นเปลือง แทนที่จะมีเงินทอง มีทุนมาสร้างบ้านเมืองให้สบาย ให้เจริญ มัวแต่ต้องมาปราบปรามยาเสพติด มัวแต่ต้องเสียเงินค่าดูแลรักษาทั้งผู้เสพยา ผู้เป็นคนเดือดร้อนอย่างนี้ก็เสียทั้งเงินและเสียทั้งชื่อเสียง.....” จากพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเดือดร้อนจากผลพวงของยาเสพติดที่มีผลกระทบมากต่อทุกภาคส่วน จึงถือเป็นวาระที่คนไทยในประเทศควรร่วมกันสอดส่อง ช่วยเหลือ ป้องกัน ปราบปราม และเฝ้าระวังเพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัวให้ห่างไกลจากยาเสพติด

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า หลายครั้งที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับคดียาเสพติดที่มีนักโทษในเรือนจำ เป็นตัวการหรือมีส่วนร่วมในคดียาเสพติด จนเกิดเป็นข้อสงสัยว่า เพราะสาเหตุใดที่นักโทษในเรือนจำ สามารถมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ ทั้งที่ตัวเองอยู่ในเรือนจำ ทั้งในรูปของเป็นผู้สั่งให้มีการขนส่ง จำหน่ายหรือเป็นผู้บงการค้าขายยาเสพติดได้ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ น่าจะได้รับมาตรการทบทวนอย่างจริงจัง แม้ว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้มีนโยบายและมาตรการให้มีการตรวจค้นเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งทำให้พบอุปกรณ์อำนวยการช่วยเหลือนักโทษในเรือนจำคดียาเสพติดอยู่เป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่า สาเหตุเหล่านี้ ควรได้รับการทบทวนและหนึ่งด้วยประกอบกับสาเหตุอื่นๆ และถึงแม้ข้อมูลนี้ไม่ใช่ข้อมูลใหม่เหมือนจะเป็นการพูดซ้ำ แต่ผู้ดำเนินการจัดการยาเสพติดควรทบทวนถึงมาตรการและวิธีปฏิบัติในการเพิ่มความเข้มแข็งและดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้กฎหมายได้ถูกบังคับใช้อย่างศักดิ์สิทธิ์ต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

เป็นที่ทราบกันดีว่า ยาเสพติดถูกจำกัดไว้ในคำนิยามว่า เป็นสารออกฤทธิ์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทแล้วก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินและส่วนรวม แต่ผลกระทบจากพิษภัยของยาเสพติดนั้นกลับส่งผลในวงกว้างและเป็นบ่อนทำลายชาติในระยะยาว ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่า ยาเสพติดได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการมอมเมาผู้คนโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่มีความเข้มแข็งในการป้องกันภัยยาเสพติด จะเห็นได้จากภาพยนตร์จีนในยุคหนึ่งที่ถูกครอบงำโดยฝิ่นและยาเสพติด จนทำให้เกิดความเสียหายต่อการปกครองและพัฒนาประเทศ

การสร้างมาตรการป้องกันภัยยาเสพติดสู่พลเมือง ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการให้ความรู้หรือปลูกปัญญาที่ถูกต้องในเรื่องยาเสพติด ซึ่งวิธีการนำหลักการที่ดี โดยเฉพาะการนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนามาใช้ในการปลูกปัญญานับได้ว่า เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายังไม่เป็นสิ่งล้าสมัยไป เพราะหลักธรรมคำสอนเหล่านั้น เป็นหลักการแห่งความจริงอยู่เสมอไม่ขึ้นอยู่กับยุคสมัย และถือปฏิบัติได้ไม่จำกัดกาลเวลา โดยเฉพาะหลักศีลธรรมพื้นฐานเรื่องศีล 5 จากการศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนา เพื่อสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโทษภัยของสิ่งเสพติด พบว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสโทษของยาเสพติดว่า “การดื่มน้ำเมา คือสุรา และเมรัย อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ยังสัตว์ให้เป็นไป ในนรกในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปรตวิสัย” และผลแห่งการดื่มน้ำเมา คือสุรา และเมรัยอย่างเบาที่สุดย่อมยังความเป็นบ้าใบ้ให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์ กล่าวสรุปได้ว่า การยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดมีผลร้ายต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม โดยผลเสียหายจากการเสพสิ่งเสพติด จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย 6 ประการ ได้แก่ 1. ทรัพย์ถูกทำลาย 2. เกิดวิวาทบาดหมาง 3. เป็นบ่อเกิดแห่งโรค 4. เสื่อมเกียรติ 5. หมดยางอาย และ 6. ปัญญาเสื่อมถอยหรือพิการทางปัญญา

ข้อเสนอแนะหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า สามารถสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดได้ในระยะยาว คือการนำหลักศีลธรรมพื้นฐานอย่างศีล 5 มาใช้ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคขาดสติสัมปชัญญะ โดยเฉพาะส่งเสริมให้บุคคลรักษาศีล 5 โดยเฉพาะศีลข้อ 5 ที่ชี้นำให้บุคคล ควรละเว้นจากการมัวเมาในสิ่งเสพติดให้โทษซึ่งลดทอนสติปัญญา โดยให้ทุกภาคส่วน หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรสื่อสารมวลชน สถานศึกษาและสถาบันครอบครัว ควรร่วมกันช่วยสร้างสื่อที่ดี ทำตัวเองเป็นสื่อสีขาวและให้ข้อมูลโทษภัยของสิ่งเสพติด โดยการอบรม สั่งสอน ปลูกฝัง และใช้สื่อที่เหมาะกับวัย เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีแก่บุคคล ตามหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะหากว่า ประชาชนได้ดำรงตนอยู่ในหลักศีลธรรมพื้นฐาน บ้านเมืองก็จะยังดำรงอยู่ได้มั่นคง เพราะศีลธรรมพื้นฐานจะเป็นสิ่งค้ำจุนกฎหมาย กติกาสังคม และข้อตกลงต่างๆ รวมทั้งช่วยรักษาคนดีให้มีชีวิตปกติอยู่ได้ โดยความมีสวัสดิภาพในชีวิต และเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ผู้เขียนใคร่ขอเชิญชวนให้ผู้ใหญ่ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นสื่อสีขาว ให้เด็กและเยาวชนในบ้านเมืองเรา ได้จะดำเนินตามรอยโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดตามความมุ่งหมายแท้จริงของวันที่ 26 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น