xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์เร่งแจงUS เอกชนถกรับค้ามนุษย์กระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองโฆษก คสช.แจงสหรัฐฯ ลดชั้นปัญหาค้ามนุษย์เพราะใช้เกณฑ์ใหม่ "พาณิชย์" เร่งทำความเข้าใจภาครัฐและเอกชนในสหรัฐฯ ยันสิทธิ์ GSPไม่กระทบ เหตุสหรัฐฯจะไม่ตัดสิทธิด้านการค้า ภาคเอกชนเตรียมประชุมรับมือ ด้าน ก.แรงงานจ่อลดค่าใช้จ่ายแรงงานต่างด้าว มาทำงานในไทย ขู่เอาผิด ขรก.เรียกสินบน-บ.จัดหาแรงงานต่างด้าวทำผิด

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกา รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ ทีไอพี ประจำปี 2014 พบว่า อันดับของไทยโดนปรับลดมาอยู่ในอยู่อันดับ Tier 3 ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำที่สุด เนื่องจากสหรัฐฯ มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ เมื่อปี 2008 ที่ต้องการให้ปรับลดอันดับ Tier เป็นไปโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ ในกรณีที่ไทยอยู่ในระดับ Tier 2 ติดต่อกันต่อเนื่อง 2 ปี ตั้งแต่ปี 2554 มาแล้ว ล่าสุดในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เมษายน 2555 ถึงเมษายน 2557 ไทยไม่สามารถปรับขึ้นมาอยู่ใน Tier 1 ได้ จะตกไปอยู่ใน Tier 3 โดยอัตโนมัติทันที ตามกฎใหม่

อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับนี้ไม่ได้คงอยู่ถาวร และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับความพยายามของรัฐบาลประเทศนั้นๆ ในการดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานการต่อต้านการค้ามนุษย์

ทั้งนี้ คสช.ให้ความสำคัญอย่างมากต่อปัญหาแรงงาน มีการจัดทำนโยบายที่ชัดเจน พร้อมทั้งได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายขึ้นมาดูแลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังแล้ว อีกทั้งมีงานเร่งด่วนใน 2 เรื่องหลักที่เริ่มมีการขับเคลื่อนไปแล้ว คือ เรื่องการเร่งรัดจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ตามสมควร และต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และเรื่องเร่งรัดให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน เพื่อขจัดขบวนการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานทาส ทั้งบนบกและทางน้ำ ในทะเล โดยจะใช้แนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เนื่องจากมีผลเสียต่อความเชื่อมั่นในต่างประเทศ และอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เชื่อว่าด้วยความตั้งใจจริง และความจริงจังต่อการแก้ปัญหา น่าจะส่งผลไปในทิศทางที่เป็นบวกขึ้น ในเรื่องมุมมองของต่างประเทศที่มีต่อไทยในโอกาสต่อไป

** พาณิชย์เร่งชี้แจงสหรัฐฯ-เอกชนนัดถก

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report)ที่ได้ปรับระดับไทยให้อยู่ใน Tier 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด แต่มีความรุนแรงสูงสุด ว่า ได้สั่งการให้สำนักพาณิชย์ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อทำความเข้าใจต่อรัฐบาลสหรัฐฯ สภาคองเกรส บริษัทค้าปลีก และผู้นำเข้า เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาในเรื่องแรงงานที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการค้า เพราะที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจังและจริงใจมาโดยตลอด

ทั้งนี้ ในระยะเร่งด่วน กระทรวงฯ มีแผนที่จะดำเนินกิจกรรม รวมทั้งการเดินสายไปพบปะผู้นำเข้ารายสำคัญในเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯ ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งได้ขอให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าไทย รวมทั้งผู้บริโภคในสหรัฐฯ

นางศรีรัตน์กล่าวว่า ไทยยังได้รับการยืนยันจากสมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ของสหรัฐฯ (NFI)ที่ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะทำการค้ากับไทยในฐานะคู่ค้าที่ตั้งใจและปฏิบัติตามมาตรฐานในด้านแรงงานต่อไป และยังระบุด้วยว่าผู้บริโภคไม่ควรเหมารวมว่าเกิดปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งอุตสาหกรรมกุ้งของไทย แต่ควรมองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งและเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทยที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา

"ทาง NFI ได้ตระหนักถึงความจริงใจของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล และระบุชัดเจนว่าจะทำธุรกิจกับคู่ค้าที่มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างจริงจัง ที่สำคัญ ได้ยืนยันว่า การยกเลิกทำธุรกิจกับคู่ค้าไทยที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานแรงงานและความปลอดภัยด้านแรงงาน จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี"นางศรีรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลเรื่องการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะภายใต้กฎหมาย Trafficking Victims Protection Act 2000 ไม่อนุญาตให้ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ เพิกถอนสิทธิประโยชน์และความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับด้านการค้า

สำหรับการดำเนินการในขั้นต่อไป กระทรวงฯ จะนัดหารือร่วมกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันประเมินผลกระทบและกำหนดท่าทีในการดำเนินการ ก่อนที่จะส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนเร่งด่วน และนำเสนอให้สหรัฐฯ พิจารณาต่อไป เพราะภายใต้กฎหมายดังกล่าว สหรัฐฯ มีอำนาจที่จะเพิกถอนความช่วยเหลือที่ไม่ใช่ด้านมนุษยธรรม และที่ไม่ใช่ด้านการค้า แต่กระทรวงฯ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงกับสหรัฐฯ และโน้มน้าวไม่ให้มีการเพิกถอนความช่วยเหลือที่ให้กับไทย

ก.แรงงาน ชี้แจงหลังสหรัฐฯประกาศลดระดับแก้ค้ามนุษย์ให้ไทยอยู่ในกลุ่มแย่สุด กระทบเศรษฐกิจและสินค้าส่งออก ยันป้องกันแก้ปัญหาเต็มที่แล้ว จ่อลดค่าใช้จ่ายแรงงานต่างด้าวมาทำงานในไทย ขู่เอาผิดขรก.เรียกสินบน-บ.จัดหาแรงงานต่างด้าวทำผิดกม. ด้านผู้ประกอบการแนะคสช.เจรจาประเทศต้นทางลดค่าบริการจัดหางานของแต่ละประเทศ เร่งดำเนินการด้านเอกสาร

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในวันนี้สภาหอการค้าไทยจะหารือ ร่วมกับ8สมาคมที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อเตรียมรับมือกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่ได้ปรับระดับไทยอยู่ใน teir 3 ซึ่งเป็นระดับจับตาสูงสุด

ซึ่งในส่วนตัว นายพรศิลป์คิดว่า สหรัฐจะคงระดับแรงงานของไทยไป1ปี ถึงมีนาคมปีหน้า เพราะจะไม่มีการทบทวนอีกครั้ง สิ่งที่ภาคเอกชนสามารถทำได้ คือเตรียมรับมือ เพราะเป็นห่วงคำประกาศของสหรัฐ อาจจะกระทบกับสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรไทย ซึ่งภาคเอกชนต้องเร่งชี้แจงให้กับประเทศคู่ค้าเข้าใจ เพราะในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจะกระทบกับสินค้าประเภทใดบ้าง
โดยส่วนตัวเห็นว่า หลักเกณฑ์การประเมินของไทยและสหรัฐอาจไม่ตรงกัน เพราะในช่วงปีที่ผ่านมาไทยได้ให้ความสำคัญแก้ปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์มาโดยตลอด เมื่อไม่สามารถแก้คำประกาศได้ ไทยก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหาแรง งาน เพื่อให้ปีหน้าระดับแรงงานของไทย จะปรับดีขึ้น อย่างน้อยในระดับteir2เท่าเดิม

ด้านนายสุพันธุ์ มงคงสุธี ประธานสภาอุตสหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีความเป็นห่วง 3 อุตสาหกรรม ที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง และอุตสาหกรรมกุ้ง ซึ่งภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และเชื่อว่าคณะรัฐรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.จะมีแนวทาง แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้

** ชี้ผลจัดอันดับกระทบ ศก.-การส่งออก

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงาน (รง.) กล่าวในการประชุมผู้รับอนุญาตจัดหางานในประเทศภาคเอกชน กรณีการจัดหา /นำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย ที่กระทรวงแรงงานโดยมีตัวแทนผู้รับใบอนุญาตร่วมกว่า 100 คนว่า ปัจจุบันไทยถูกกล่าวหาในเวทีโลก 3 เรื่องใหญ่ได้แก่

1. กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวหาว่าไทยเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังการค้าค้ามนุษย์ซึ่งที่ผ่านมาถูกจัดอันดับอยู่ระดับ 2.5 มา 4 ปีติดต่อปีกัน และเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา อเมริกาประกาศปรับลดเป็นระดับ 3 ซึ่งถือว่าแย่ที่สุด

2. กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าไทยมีสินค้า 5 ชนิดที่มีการใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็กได้แก่ อ้อย กุ้ง ปลาและสิ่งทอ และสื่อลามก

3.อเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางการศุลกากรของไทย เพราะไม่ประกาศรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87และฉบับที่ 98 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงาน

นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า หน่วยงานรัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา เพราะไทยจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งสินค้าการเกษตร สิ่งทอ และอาหารทะเล เนื่องจากจะทำให้ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษต่างๆ ทำให้ต้องขายสินค้าราคาแพงขึ้น และยังต้องต่อสู้ทางการค้ากับประเทศต่างๆ ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าลดลง จะก่อให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานได้ซึ่งกระทบต่อบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลกระทบจากการที่อเมริกาประกาศลดอันดับไทยไปอยู่ระดับ 3 นั้น ขณะนี้อเมริกายังไม่ได้ประกาศตัดสิทธิใดๆ ของ 23 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องป้องกันและแก้ปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายบริหารแรงงานต่างด้าว (กนร.) ประชุมและกำหนดนโยบายชัดเจนแล้ว กระทรวงแรงงานจะขอความร่วมมือบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาร่วมกันกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยให้เหมาะสมเป็นธรรมและถูกลง เพราะขณะนี้มีค่าใช้จ่ายเพียงค่าธรรมเนียมและค่าบริการเท่านั้น ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ หลังจากนี้กระทรวงแรงงานจะปรับระบบบริการแก่บริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้มีความสะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม โปร่งใส หากมีเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่กระทรวงกำหนดไว้ ก็ขอให้แจ้งมายังตนซึ่งวันนี้ตนได้ประชุมข้าราชการสังกัด กกจ. และกำชับไปแล้วโดยคาดโทษหากมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไม่เหมาะสมหรือเกี่ยวข้องกับเงินทองที่ไม่ถูกต้องจะลงโทษสถานหนัก และบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวก็ขอให้เก็บค่าบริการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นธรรม โปร่งใสและไม่ให้มีจ่ายสินบนกับเจ้าหน้าที่เพื่อความสะดวก รวดเร็ว หากเจ้าหน้าที่รัฐเรียกเก็บก็ร้องเรียนมายังตนโดยตรง และถ้าบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะลงโทษโดยการเพิกถอนใบอนุญาตและสั่งปิดบริษัท

นายจีรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีแรงงานเขมรที่หนีกลับประเทศกว่า 1 แสนคนนั้น ขณะนี้แรงงานเขมรที่มีพาสสปอร์ตได้เริ่มทยอยกลับเข้ามาในไทยแล้ว แต่ยังไม่ทราบตัวเลขชัดเจนต้องรอสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สรุปตัวเลขก่อน

** เร่งจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว

นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) รักษาการอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ขอความร่วมมือบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวใน 3 เรื่องได้แก่

1. ขอความร่วมมือในการกำหนดค่าบริการทีเป็นธรรม ไม่มีส่วนต่างที่เกินความเหมาะสม เช่น ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ หากพบเห็นเจ้าหน้าที่กระทำผิดสามารถแจ้งต่อกระทรวงแรงงานได้ทันที ถ้ามีหลักฐานชัดเจนจะมีบทลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา 2. การจัดหางานแรงงานต่างด้าวจะไม่มีการเรียกเก็บหรือขออะไรก็ตามที่เหนือจากไประเบียบกฎหมายที่กำหนดโดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ จะไม่มีเด็ดขาด เพื่อให้มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ และ 3. ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภายใต้พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ.2528 จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามก็จะลงโทษหลังจากนี้กระทรวงจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวปฏิบัติว่าผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง

นายธนาคม นาคเฉลียว ผู้แทนสำนักงานจัดหางานสุเทพบริการ เขตบางบอน กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทนำเข้า พม่า ลาว กัมพูชา ผ่านระบบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ (MOU) 100-200 คนต่อปี ส่วนพม่าเสียค่าใช้จ่าย 10,000 บาท ต่อคน เช่น ค่าพาสสปอร์ต ค่าวีซ่า ค่าใบอนุญาตทำงาน ค่าตรวจสุขภาพ ค่าบริการจัดหางานในประเทศ กัมพูชา 18,000 บาทต่อคน โดยในจำนวนนี้แรงงานต้องจ่ายค่าบริการจัดหางานของเขมร 12,000 บาท และลาว มีค่าใช้จ่าย 22,000 บาทต่อคน ต้องจ่ายค่าบริการให้บริษัทจัดหางานของลาว 18,000 บาท

นายธนาคม กล่าวอีกว่า หากจะปรับลดค่าใช้จ่ายในการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวทาง คสช จะต้องเจรจาต้นทางของแต่ละประเทศให้ปรับลดค่าบริการจัดหางานภายในของตัวเองลง รวมทั้งขอความร่วมมือประเทศต้นทางเร่งดำเนินการเอกสารเพราะกว่าประเทศต้นทางจะดำเนินการเอกสารเสร็จก็ใช้เวลา 1-2 เดือน ซึ่งแรงงานต่างด้าวบางคนอยากเข้ามาทำงานในไทยโดยเร็วก็หลบหนีและกลายเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ทำให้บริษัทต้องรับผิดชอบโดยจ่ายค่าชดเชยหรือจัดหาแรงงานใหม่มาทดแทน เพราะมีสัญญากับผู้ประกอบการภายใน 3 เดือน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวจำนวน 224 แห่ง และตั้งอยู่ในส่วนกลางจำนวน 111 แห่ง ภูมิภาคจำนวน 113 แห่ง และอยู่ระหว่างยื่นคำขอจำนวน 7 แห่ง และมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยผ่านเอ็มโอยู 373,880 คน แยกเป็นพม่า 91,797 คน ลาว 53,431 คน และกัมพูชา 228,652 คน

**ยันไทยไม่ได้ปล่อยปละละเลย

ด้านนายอิสสระ สมชัย อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกรณีที่ทางการสหรัฐอเมริกา ประกาศลดระดับความน่าเชื่อถือการตอบสนองในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ของประเทศไทย อยู่ในระดับเทียร์ 3 หรือล้มเหลว ว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องนี้ยังมีอยู่จริงและมีอยู่ในเกือบทุกประเทศ ซึ่งในไทยก็มี แต่อยู่ในสถานะที่น้อยลงกว่าอดีต ส่วนตัวจึงคิดว่าการที่ประเทศสหรัฐฯ ประกาศให้ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 คือ ล้มเหลว หรือหากเปรียบก็คือ การปล่อยปล่ะละเลยโดยไม่แก้ไขปัญหาใดๆในเรื่องนี้ ซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาในเกือบทุกรัฐบาล ก็มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ อีกทั้งคำว่า การค้ามนุษย์ มีความหมายที่กว้างขวางมาก เพราะรวมปัญหาสังคม และสัมพันธ์ถึงเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากปัญหาการค้ามนุษย์ รวมปัญหาสังคมต่างๆ ตั้งแต่ ปัญหาขอทาน คนจร ปัญหาเด็กหรือคนจร การใช้แรงงานเด็ก และสตรี ปัญหาการบังคับเด็กและสตรีค้าประเวณี ปัญหาแรงงานในเรือประมง ซึ่งโยงถึงปัญหาแรงงานต่างด้าว ทั้งที่เข้ามาทำงานโดยถูกกฎหมายและหลบหนี้เข้าเมืองคือ ผิดกฎหมาย ที่จะเชื่อมโยงต่อไปถึงปัญหาใหญ่ที่ถูกระบุในทริป รีพอร์ต หรือรายงานประจำปีของทางสหรัฐฯ

นายอิสสระ กล่าวว่า ในเกือบทุกปัญหาที่เอ่ยถึง มีความเกี่ยวเนื่องในหลายกระทรวง หลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกระทรวงพัฒนาสังคมฯในสมัยที่ตนเป็นรมต.อยู่ ก็ได้เน้นย้ำเรื่องใช้แรงงานเด็ก และเรื่องเหล่านี้ แต่ก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ปัญหาการบังคับใช้แรงงานในภาคประมง ตรวจสอบได้ยาก เพราะออกไปทำกันในทะเล จะติดตามตรวจสอบใกล้ชิดทำได้ยาก และผู้ใช้แรงงานต่างด้าวเองส่วนใหญ่หลบหนีเข้าเมือง ก็จะลงเรือออกทะเลกัน นานๆ เข้าฝั่งที จึงเป็นปัญหาแต่ไม่ใช่ว่ารัฐบาลหรือประเทศไทยจะละเลย ไม่แก้ไข เรายังมีข่าวการตรวจตรา จับกุมตลอด และบางครั้งก็ไม่เป็นข่าวในหน้าสื่อ แต่ในพื้นที่ต่างๆจะรู้กัน ดังนั้นการจัดลำดับให้ไทยอยู่ในระดับ 3 จึงมองได้ว่า เป็นการประกาศที่รุนแรงเกินไป ทั้งที่ตามเนื้องานควรจะอยู่ในระดับเดิมที่ เทียร์ 2 หรือเฝ้าจับตาดู เพราะเราก็ยังคงปราบปราม และป้องกัน ไม่ได้นิ่งดูดาย จนมีบางฝ่ายออกมาระบุว่า เป็นการดิสเครดิสในช่วงที่ คสช. เข้ามาบริหารปกครองประเทศหรือไม่ ทั้งที่ข้อเท็จจริงไทยเองมีการเน้นย้ำให้แก้ไขปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอด แต่สื่อยังให้ความสนใจน้อย จึงไม่ค่อยเป็นข่าว

**แนะโอนหน่วยงานสังกัดพม.

นายอิสสระ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญที่ผ่านมา ตนเคยเสนอให้ย้ายกองบังคับการตำรวจป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ขึ้นอยู่กับกระทรวง พม. เพราะลักษณะงาน และเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่แก้ไข ปราบปรามปัญหาในเรื่องเหล่านี้ให้เป็นระบบ เช่นเดียวกับ ตำรวจป่าไม้ ขึ้นกับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตำรวจท่องเที่ยว ขึ้นกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นต้น ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ รรท.ผบ.ตร. ปัจจุบัน ที่ในอดีตท่านเคยร่วมงานของกระทรวงพม. ก็เคยมีความเห็นพ้องกับข้อเสนอแนะในประเด็นนี้ เพราะเพื่อความชัดเจน เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานและแก้ไขปราบปราม

ทั้งนี้ การทำรายงานนี้ทางการสหรัฐฯจะดูข้อมูลในทุกปีและประกาศเป็นประจำรายปี ดังนั้นการประกาศว่าไทยเราบกพร่องในเรื่องนี้จนถูกลดระดับลงมาที่ เทียร์ 3 จึงถือว่าต้องเป็นผลงานของรัฐบาลที่แล้ว ที่ไม่เร่งดำเนินการแก้ไขให้เห็นเป็นรูปธรรม และไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับ คสช.

อดีต รมว.พม. กล่าวต่อว่า ขอแนะนำให้ คสช. เร่งปรับปรุงแก้ไขต่างๆเหล่านี้ โดยเฉพาะตามข้อสังเกตของรายงานสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในไทยที่ทางสหรัฐฯได้ตั้งข้อสังเกตไว้ เช่น ปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าว ที่สหรัฐฯระบุ พร้อมที่ต้องเร่งทำความเข้าใจ โดยการชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อทำความเข้าใจต่อสังคมโลกและประเทศเพื่อนบ้านของไทยให้ทั่วถึงและจริงจัง จะสามารถทำความเข้าใจข้อเท็จจริงให้เข้าใจสถานการณ์ที่ถูกต้อง โดยไม่มีอคติใดๆ.

**สภาหอการค้านัดถกวันนี้

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า วันนี้ (23 มิ.ย.) สภาหอการค้าไทยจะหารือร่วมกับ 8 สมาคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมรับมือกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ลดอันดับการค้ามนุษย์ของไทย ลงมาอยู่ในระดับต้องจับตาสูงสุด ซึ่่งเชื่อว่าสหรัฐฯ จะคงระดับแรงงานของไทยไป 1 ปี ถึงมีนาคมปี 58 ดังนั้น อาจจะกระทบกับสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรไทย ซึ่งภาคเอกชนต้องเร่งชี้แจงให้กับประเทศคู่ค้าเข้าใจ เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะกระทบกับสินค้าประเภทใดบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น