xs
xsm
sm
md
lg

สนธิไม่ยอมเชลียร์ผู้มีอำนาจ แลกเปิด ASTVลั่นใครอึดชนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สนธิ” เผยจะไม่ยอมไปเชลียร์ผู้มีอำนาจ เพื่อแลกกับการกลับมาออกอากาศของเอเอสทีวี ลั่นถ้าเปิดต้องพูดความจริงได้ วัดใจระหว่างธรรมะกับอธรรมใครอึดกว่า ขณะที่เวทีนักข่าวแนะเสรีภาพสื่อใต้ รธน.ใหม่ ห้ามนักการเมืองถือหุ้น

เช้าวานนี้ (22 มิ.ย.) ที่บ้านพระอาทิตย์ เขตพระนคร ในงานพระอาทิตย์แฟร์ ครั้งที่ 4 เพื่อช่วยเหลือเอเอสทีวี ที่ถูกระงับการออกอากาศมาครบหนึ่งเดือน นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้ง และที่ปรึกษาสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสั้นๆ ถึงสถานการณ์การระงับออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ว่า ตนก็ไม่ทราบเช่นกันว่าเอเอสทีวีจะได้เปิดเมื่อไหร่ แต่ถ้าต้องแลกการเปิดเอเอสทีวี กับ การเสียศักดิ์ศรี ด้วยการต้องให้ไปเอาอกเอาใจผู้มีอำนาจ ตนไม่เปิดดีกว่า

“ไหนๆ มาแล้วจะบอกพี่น้องหน่อย ขออนุญาต เอเอสทีวีเปิดเมื่อไหร่ ผมไม่รู้ แต่ถ้าเปิดแล้วมีเงื่อนไขทำให้ผมพูดความจริงไม่ได้ กูก็ไม่เปิด เพราะถ้าเปิดแล้วต้องไปเชลียร์มันเนี่ย เสียศักดิ์ศรีพวกเราใช่มั้ย เพราะถ้าเราเปิดแล้ว เราต้องพูดความจริงได้ เพราะฉะนั้นแล้วพวกผมจะไม่ยอมแพ้ ถ้ามึงปิดกู แล้วเปิดแล้วมีเงื่อนไขกูไม่เปิด แต่กูจะอยู่สู้กับมึง วัดใจกันว่า ระหว่างใจของคนสู้เพื่อความเป็นธรรม กับใจของอธรรมใครจะยาวกว่ากัน ใครจะอึดกว่ากัน ใช่ไหมพี่น้อง” นายสนธิ กล่าว

ทั้งนี้ การระงับออกอากาศของเอเอสทีวี มีผลมาตั้งแต่กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) มีคำสั่งขอความร่วมมือระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 10 แห่ง รวมถึง เอเอสทีวี เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ก่อนที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อย (คสช.) จะมีประกาศซ้ำ ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 14 แห่ง รวมถึงเอเอสทีวี

สำหรับการระงับการออกอากาศ นอกจากจะทำให้การทำหน้าที่สื่อมวลชนของเอเอสทีวี ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว นับตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. เป็นต้นมาแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพทางธุรกิจของเอเอสทีวี ที่มีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการโฆษณา และการขายสินค้าอีกด้วย

วันเดียวกันที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดสัมมนาวิชาการ "1 เดือน คสช. เสรีภาพบนความรับผิดชอบ"? หัวข้อ "เสรีภาพสื่อมวลชนภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.255…" โดยมี นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รองศาสตราจารย์มาลี บุญศิริพันธ์ กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส เป็นต้น ร่วมเสวนา

นายมานิจกล่าวถึงการปฏิวัติรัฐประหารว่า ความหลังจะเป็นบทเรียนให้เราในอนาคตว่า จะทำอย่างไรให้ได้เสรีภาพมากที่สุดในรายการข่าว ที่สมบูรณ์ ถูกต้อง และรอบด้าน เนื่องจากเมื่อประชาชนได้ข้อมูลไม่ครบก็ตัดสินหลายเรื่องผิดพลาด ดังนั้น สิทธิเสรีภาพจึงมีความสำคัญ ทั้งนี้ หากย้อนไปตอนที่ตนจำความได้ ปี พ.ศ.2484 ที่มีการออกพระราชบัญญัติการพิมพ์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่แปลมาจากกฎหมายการพิมพ์ของประเทศอียิปต์ ที่อียิปต์แปลมาจากอังกฤษอีกทอดหนึ่ง

"มีการกดขี่ข่มเหงผู้ใช้หรือสื่ออย่างเต็มที่ จากนั้นเมื่อมีการยึดอำนาจก็ออกคำสั่งมากดเสรีภาพของสื่ออย่างมาก ในสมัยก่อนที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเตือน แล้วถ้าไม่เชื่อก็ปิดหนังสือพิมพ์ได้ โดยที่เขาเห็นว่าอาจจะเป็นข่าวไม่ถูกต้อง และปัจจุบันมีการปลดโซ่ตรวนนั้นออกมาแล้ว" นายมานิจกล่าวและว่า การใช้เสรีภาพที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพูดเสมอว่า ไม่ควรใช้เสรีภาพล้นฟ้าโดยอ้างว่า "เป็นสื่อ" เพราะเสรีภาพนี้ได้มา เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ไม่ใช่สู้มาเพื่อให้ได้ประโยชน์ส่วนตนของนายจ้าง ธุรกิจ นักการเมือง ดังนั้น เรื่องเสรีภาพจะต้องเรียกร้องให้มีอยู่จงได้ตามที่เคยระบุในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2549 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพไว้ให้ ส่วนรัฐธรรมนูญจริง เรียกร้องว่าอย่างน้อยให้ได้เท่ารัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2550 ในมาตรา 45 46 47 48 โดยเฉพาะการห้ามนักการเมืองเข้ามาถือหุ้นสื่อ และยังต้องออกกฎหมายลูก คือ พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เคยทำไว้

นายจักร์กฤษกล่าวว่า รัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญชั่วคราว ต้องมีเรื่องสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว เมื่อเราสรุปบทเรียนที่จะปกป้องเสรีภาพ เพราะช่วงที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนให้ความสนใจน้อยมาก ว่าการลิดรอนเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องมาทบทวน จึงเป็นสาเหตุของปัญหา ซึ่งอาจจะเป็นเพราะบริบทสังคมเปลี่ยนแปลงไป มีสื่อมากขึ้น

"ทุกคนเป็นสื่อกันหมดก็ถูกมองว่าสื่อไม่มีความรับผิดชอบ การทำงานโดยมีเป้าหมายเชิงอุดมการณ์โดนมองข้ามไป ดังนั้น ต้องโทษตัวเราเองว่ามีความรู้ความเข้าใจ มีสำนึกต่อสังคมน้อยไปหรือไม่ ดังนั้นเราน่าจะมีการรวมกันทุกสื่อเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นสมาพันธ์หรืออะไรก็ตามในการกำกับดูแลกันเองสำหรับสื่อทั้งระบบ และคนที่ทำงานสุจริตจะไม่กลัวการรวมตัวกัน แต่คนที่กลัวคือคนที่แอบแฝงเข้ามาอาจจะกลัวระบบการจัดการ และระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ คิดว่าน่าจะมีเวทีในการปฏิรูปสื่อครั้งใหญ่อีกสักครั้ง" นายจักร์กฤษกล่าว

ส่วนรองศาสตราจารย์มาลีกล่าวว่า การต่อสู้เสรีภาพของสื่อมวลชนในอดีต ซึ่งเป็นสื่อหนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่นั้น จะกระตือรือร้นในการออกมาปกป้องสิทธิ์ และการควบคุมกันเอง มีการตั้งสภาการหนังสือพิมพ์ที่กำกับดูแลสมาชิกในวงการให้ทำหน้าที่ตามหลักวิชาชีพหลักจริยธรรม เมื่อเกิดอะไรขึ้นต้องลงมาตักเตือน กำกับ ในที่สุดสภาการฯ ที่เป็นความฝันก็เกิดขึ้นจริงในการเป็นเครื่องมือกำกับดูแล แต่น่าเสียดายว่ากลไกกำกับดูแลอาจจะมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนเรื่องระเบียบวิธีการจัดการสมาชิกด้วยกัน ที่ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือได้เลย เพราะมีข้อร้องเรียนเข้ามา สมาชิกที่โดนตรวจสอบก็ลาออกจากการเป็นสมาชิก ดังนั้น จึงต้องมีการปรับแก้ธรรมนูญหรือจะแก้กฎหมาย

"เป็นไปได้ไหม ที่จะมีมาตรา 48 และมีข้อหนึ่งข้อใดในการปกป้องเสรีภาพไม่ว่าจะมีวิกฤติใดก็ตาม หรือการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะสื่อจะเป็นเป้าหมายแรกในการจำกัดและกำหนดในการให้ข้อมูลข่าวสาร หากเราให้ข้อเท็จจริง เป็นประโยชน์ คิดว่ารัฐธรรมนูญปีต่อไป ปีไหนก็ตาม อยากให้มีข้อที่เสนอไปแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น กลุ่มสื่อมวลชนต้องคุยกันรวมใจและดูแลกันเอง ให้สื่อมีคุณภาพที่เราจะต้องจัดการต่อไป"

รองศาสตราจารย์มาลีกล่าวว่า คำว่าเสรีภาพสื่อมวลชนเป็นกลไกตัวหนึ่งของประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ใช่มีการเลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้น แต่เมื่อเสรีภาพของสื่อมีอิสระ มีวิจารณญาณ และถ้ามีเสรีภาพ แต่ไม่มีจริยธรรม ไม่ควรเรียกสื่อกลุ่มนั้นว่าเป็นสื่อมืออาชีพ เพียงเป็นคนที่อาศัยร่องของสื่อเข้ามาทำงาน ทำให้ทำร้ายสังคม และไม่ใช่การใช้เสรีภาพที่ถูกต้อง.
กำลังโหลดความคิดเห็น