xs
xsm
sm
md
lg

กนง.คงดอกเบี้ยจีดีพีเหลือ1.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – บอร์ด กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 2%ต่อปี มองระดับดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้วเพียงพอต่อการขยายตัวเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป พร้อมปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยเหลือ 1.5% หวังแรงส่งเศรษฐกิจปีนี้จะดันให้เศรษฐกิจปีหน้าขยับได้มากกว่า 5%จากเดิม 4.8% ชี้แบงก์ชาติดูแลเงินบาทค่อนข้างดีเอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการทำธุรกิจของภาคเอกชน จับตาแรงกดดันเงินเฟ้อข้างหน้า หลังประเมินความต้องการซื้อในประเทศฟื้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมบอร์ดกนง.มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2%ต่อปี พร้อมทั้งปรับประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ลดลงเหลือ 1.5% จากเดิมประมาณการไว้ในเดือนมี.ค.อยู่ที่ 2.7% และคาดว่าตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น
จึงเป็นแรงส่งที่ดีให้ภาวะเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่า 5% สำหรับในปี 58 จากเดิมประมาณการไว้ที่ระดับ 4.8%
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกตัวเลขเศรษฐกิจไทยติดลบมากกว่าทุกฝ่ายคาดการณ์ ทำให้ภายในธปท.มีการปรับประมาณการต่ำกว่า 1% สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ และการประชุมหลังจากเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาจนถึงครั้งนี้ล่าสุดได้มีการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจใหม่ จึงมองว่าเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งในไตรมาส 2 ของปีนี้จะเริ่มฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ 1.5% ถือว่าค่อนข้างน้อย เพราะเศรษฐกิจโดยรวมกันในไตรมาส 1-2 ติดลบ 0.5% แต่คาดว่าครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.4-3.5% ซึ่งดีกว่าครึ่งหลังของปีก่อน
“ขณะนี้ภาคการคลังกลับทำงานได้ปกติ มีความชัดเจนด้านนโยบาย อีกทั้งกลไกการบริหารนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ สามารถดำเนินการได้ปกติมากขึ้น พร้อมทั้งความเชื่อมั่นภาคเอกชนกลับมาดี จึงคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะสามารถฟื้นตัวได้ดี ด้วยเหตุผลนี้บอร์ดกนง.มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำอยู่แล้วในปัจจุบันน่าจะเพียงพอ ทำให้เรามั่นใจว่าเศรษฐกิจจะขยายต่อเนื่องและมั่นคง”
หลังจาก ธปท.ได้ติดตามภาวะการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและผลของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด ทางบอร์ดกนง.พึ่งพอใจระดับหนึ่ง เพราะธปท.ได้กำกับและดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างดีทั้งในเชิงความผันผวนและระดับเหมาะสม ซึ่งเอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการทำธุรกิจของภาคเอกชน ถือเป็นปัจจัยที่กรรมการพิจารณาอย่างละเอียดทั้งภาวะการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ในประเทศไทยเองทั้งตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรค่อนข้างมีเสถียรภาพเช่นกัน
สำหรับแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในขณะนี้ตามราคาก๊าซหุงต้มที่ได้ปรับมาในอดีตและส่งผ่านไปยังอาหารสำเร็จรูป แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยน่าเป็นห่วง เพราะยังไม่ขยายวงเพิ่มไปยังราคาสินค้าอื่นๆ อีกทั้งขณะนี้ระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ช่วงกึ่งกลางกรอบนโยบายการเงินช่วง 0.5-3% และจากการประเมินว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวในครึ่งของปีนี้ต่อเนื่องไปยังปีหน้า รวมถึงความต้องการซื้อในประเทศตามมา ทำให้แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ในระยะข้างหน้า จึงเป็นประเด็นที่ธปท.จะนิ่งนอนใจไม่ได้ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ ในรายงานนโยบายการเงินจะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยสำคัญอย่างเป็นทางการ ซึ่งรวมถึงตัวเลขการส่งออกไทยและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อัตราเงินฟื้นตัวไปด้วย
ส่วนเศรษฐกิจโลกยังคงแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักโดยเศรษฐกิจสหรัฐ ขยายตัวได้จากตลาดแรงงานและภาคที่อยู่อาศัยที่ปรับดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มยูโรและญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความเสี่ยงจากภาคการเงินและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนปรับลดลงบ้างในระยะสั้น เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มทรงตัว โดยการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อน ขณะที่อุปสงค์ในประเทศชะลอลง
สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 57 หดตัวจากอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ในขณะที่การส่งออกสินค้าฟื้นตัวช้าไม่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้ ในระยะต่อไปคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากการใช้จ่ายภาครัฐและเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจน แต่ยังมีความเสี่ยงจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่อาจฟื้นตัวช้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น