xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

คำประกาศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช.ที่ว่าการยึดอำนาจครั้งนี้จะไม่ทำให้เสียของเหมือนกับการยึดอำนาจปี 2549 ยังคงมีเสียงรบกวนด้วยการส่งเสียงประสานงานของผู้คนในระบอบทักษิณว่า อีก 14 เดือนเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่

เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศต้องการคำตอบและมีความร้อนอกร้อนใจอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้นในระหว่างรอคำตอบดังกล่าว ก็ย่อมเป็นที่หวังว่าจะมีการปฏิรูปใหญ่ประเทศไทยไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กว่าจะถึงวันที่มีคำตอบนั้น และหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปนั้นก็น่าจะเป็นการปฏิรูปกฎหมาย

เพราะระบบกฎหมายในบ้านเมืองของเราทุกวันนี้ก็เป็นดังเมื่อครั้งการปฏิรูปใหญ่ประเทศไทยในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ในครั้งนั้นทรงมีกระแสพระราชดำรัสว่าความเป็นไปในบ้านเมืองขณะนั้นผุกร่อนไปทั้งหมด เปรียบได้ดั่งเรือที่ผุกร่อนไปทั้งลำ

จากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการให้ดำเนินการปฏิรูปใหญ่ทางกฎหมาย เพราะถือเป็นขื่อแปสำคัญของบ้านเมือง หากขื่อแปของบ้านเมืองไม่แข็งแรงมั่นคงและผุพังดังที่เป็นอยู่แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะบังเกิดประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยามได้เลย

ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปกฎหมายให้ดีว่าเป็นมาอย่างไร แล้ววิปริตผันแปรไปอย่างไร จากนั้นก็จะได้เข้าใจตรงกันว่าหลักการปฏิรูปใหญ่ทางกฎหมายควรจะเป็นอย่างไร

ข้อแรก ระบบกฎหมายของประเทศไทยที่เป็นผลมาจากการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างไร ก็กล่าวได้ว่าเป็นระบบกฎหมายที่ตราขึ้นบนพื้นฐานที่ว่า ต้องสอดคล้องกับความรู้ของประชากรในขณะนั้น

ดังนั้นระบบกฎหมายที่ตราขึ้นทั้งหมดจึงเป็นกฎหมายเป็นเรื่องๆ แต่ละเรื่องก็ไม่ยาวนัก มีผู้รับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมายอย่างแน่นอน มีข้อความชัดแจ้ง ไม่ต้องตีความ ไม่โยงไปมาจนวนเวียนเหมือนทางเดินบนเขาวงกต

จนกระทั่งผลแห่งการปฏิรูปนั้นได้ก้าวรุดหน้าไปจนทำให้ระบบกฎหมายเป็นมาตรฐาน จึงมีการจัดทำประมวลกฎหมายขึ้นเป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง นั่นคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นต้น และยังต่อยอดต่อผลมาจนกระทั่งมีการตราประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เป็นต้น

นั่นเป็นผลสำเร็จของการปฏิรูปใหญ่ทางกฎหมายที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แล้วยังคงเป็นหลักขื่อแปบ้านเมืองเป็นส่วนใหญ่จนถึงทุกวันนี้

ข้อสอง ระบบกฎหมายของประเทศไทยได้ผันแปรวิปริตผิดเพี้ยนจนกระทั่งบ้านเมืองเละเทะเลอะเทอะโกงกินกันทั้งบ้านทั้งเมือง จนบ้านเมืองพังพินาศย่อยยับอย่างไร

ก็ต้องกล่าวกันอย่างไม่เกรงใจว่า หลังจาก ดร.หยุด แสงอุทัย สิ้นบุญลง ระบบการตรากฎหมายของประเทศไทยที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ก็เริ่มวิปริตผันแปรไป และผิดเพี้ยนหนักขึ้นจนกฎหมายจะใช้บังคับกับใครหรือไม่ก็ได้ ทุกเรื่องทุกราวมีการตีความ มีการตั้งกลุ่มเทวดาคอยวินิจฉัยกฎหมายแทนศาลยุติธรรม จนขื่อแปบ้านเมืองพังพินาศย่อยยับ

ระบบกฎหมายที่ผิดเพี้ยนดังกล่าวเรียกกันว่ากฎหมายห้าส่วน คือกฎหมายทั้งหลายจะมี

ส่วนแรก เป็นบทบัญญัติทั่วไปและคำจำกัดความ

ส่วนที่สอง จะเป็นเรื่องยกอำนาจทั้งหลายตามกฎหมายนั้นให้กับเทวดาคณะหนึ่งที่เรียกว่าคณะกรรมการ และห้ามประชาชนทำการทั้งปวงตามกฎหมายนั้น ยกเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเทวดาพวกนี้ และคณะกรรมการดังกล่าวนั้นก็จะมีนักการเมืองและข้าราชการประจำ รวมทั้งลิ่วล้อของนักการเมืองที่ตั้งชื่ออย่างโก้หรูว่า “ผู้ทรงคุณวุฒิ”

ส่วนที่สาม จะเป็นเรื่องการเซ็นเช็คเปล่าให้กับเหล่าเทวดาพวกนี้ในการที่จะไปเขียนกฎกติการะเบียบข้อบังคับทั้งหลายเอาตามใจชอบ รวมความก็คือคณะเทวดาเหล่านี้จะเขียนกฎระเบียบข้อบังคับทั้งหลายเพื่อการแสวงหาประโยชน์ของพวกตน และสร้างความยุ่งยากแก่ราษฎรทั้งปวง เป็นตัวตั้งต้นของการโกงบ้านกินเมืองทั้งหลาย

ส่วนที่สี่ จะเป็นเรื่องของการยกเว้นต่างๆ ที่ให้อำนาจในการยกเว้นและอนุโลมหรือผ่อนผันทั้งหลาย ซึ่งเป็นการเปิดช่องไว้เมื่อมีการติดสินบาทคาดสินบน ซึ่งเป็นผลให้กฎหมายใช้บังคับก็ได้ ไม่ใช้บังคับก็ได้ สุดแท้แต่ใจของนักการเมือง

ส่วนที่ห้า จะเป็นบทบัญญัติในการลงโทษอาณาประชาราษฎรทั้งหลายที่ฝ่าฝืนหรือทำไม่ถูกต้องตามที่พวกเทวดาเหล่านี้กำหนด แล้วก็เปิดช่องให้ฮั้วกันเพื่อเรียกเอาผลประโยชน์ได้ตามอำเภอใจ

กฎหมายห้าส่วนดังกล่าวนี้จะมีลักษณะการตรากฎหมายให้เกิดปัญหาโดยทั่วไปทั้งถ้อยคำภาษาก็จะตีความไปได้หลายนัย ไม่มีความชัดเจน และวกวน วนเวียน จนประชาชนทั่วไปอ่านกฎหมายแล้วไม่รู้ ไม่เข้าใจ จึงเป็นการผูกขาดไว้เฉพาะคณะนักกฎหมายที่เป็นจอมตีความกฎหมายทั้งหลาย และได้ทำมาหากินกับเรื่องนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ผลงานบันลือโลกสุดจะพรรณนา หากจะยกตัวอย่างมาว่าสักเรื่องหนึ่งก็คือการออกกฎหมายยึดทรัพย์นักการเมืองที่โกงบ้านกินเมืองทั้งหลาย ที่ยึดกันมากี่ครั้งกี่สมัยก็ทำอะไรพวกโกงเมืองไม่ได้ เพราะนักตีความเหล่านั้นก็จะใช้กระบวนการหมกเม็ด และในที่สุดก็ยึดทรัพย์สินใครไม่ได้

ยกเว้นการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ซึ่งตอนแรกก็ตั้งท่าว่าจะเปิดช่องทำมาหากินกันเหมือนเดิม แต่ในที่สุดก็มีนักกฎหมายที่เป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยท้วงติงจนมีการแก้ไขปรับปรุงและเป็นผลให้มีการยึดทรัพย์ได้บ้างเล็กน้อยไม่ถึงแสนล้านบาท

เพราะระบบกฎหมายเช่นนี้จึงทำให้การบังคับใช้กฎหมายเหมือนกับสมาคมโต๊ะบิลเลียดที่เลอะเทอะเละเทะจนทำให้บ้านเมืองพังพินาศดังที่เป็นอยู่ อันเห็นประจักษ์แล้ว ไม่ต้องมีใครสงสัยอะไรกันอีกแล้ว

ข้อสาม แล้วจะปฏิรูประบบกฎหมายของประเทศไทยกันอย่างไร? เมื่อได้เห็นความรุ่งเรืองในระบบกฎหมายตามที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มไว้ และเห็นถึงความพินาศฉิบหายที่เกิดความวิปริตผันแปรไป เพราะขบวนการนักร่างกฎหมายหลังการสิ้นบุญของ ดร.หยุด แสงอุทัย จนถึงปัจจุบันแล้ว แนวทางหลักในการปฏิรูปใหญ่ทางกฎหมายจึงควรเป็นดังต่อไปนี้

ประการแรก ต้องหันกลับไปยึดหลักการในการตรากฎหมายในยุคปฏิรูปกฎหมายของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มาจนกระทั่งถึงระยะเวลาการสิ้นบุญของ ดร.หยุด แสงอุทัย เป็นหลัก

ประการที่สอง ทั้งรัฐธรรมนูญที่จะตราขึ้นและทั้งกฎหมายที่จะปฏิรูปกันสืบไป ควรจะได้น้อมนำเอาพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันที่ทรงพระราชทานไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า การตรากฎหมายนั้นต้องไม่ยาว ต้องมีความชัด มีความแจ้ง มีผู้รับผิดชอบแน่นอน

ซึ่งตรงกันข้ามกับระบบการตรากฎหมายที่วิปริตวิปลาสดังที่พรรณนามาแล้ว

ประการที่สาม ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ใจความของการปฏิรูปกฎหมายในครั้งนี้ นั่นคือต้องทำให้การบริหารราชการประจำทั้งปวงและบทกฎหมายทั้งหลายปลอดจากการเมือง ป้องกันและไม่ให้นักการเมืองเข้ามาบงการครอบงำเหมือนกับยุควิปริตวิปลาสอีกต่อไป

ประการที่สี่ บรรดากฎหมายทั้งหลายต้องมีผู้รับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมาย ยกเลิกการตั้งกลุ่มเทวดามานั่งวินิจฉัยกฎหมายแทนศาลยุติธรรม ยกเลิกระบบคณะกรรมการที่เหลวไหลเละเทะอย่างสิ้นเชิง

ทั้งหลายเหล่านี้ได้แต่หวังว่าถ้าทำได้สำเร็จก็จะทำให้ขื่อแปของบ้านเมืองได้กลับแข็งแรงมั่นคงดังเดิม จะเป็นหลักบ้านหลักเมืองที่จะทำให้ประเทศไทยของเราจำเริญสถาพรไปในเบื้องหน้าสืบไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น