xs
xsm
sm
md
lg

คสช.เห็นพ้องโรดแมปหยุดยั้งการแพร่ระบาดยาเสพติด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


คสช.นัดประชุม 15 กระทรวง เห็นพ้องโรดแมป 6 มาตรการปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด ย้ำทุกหน่วยต้องร่วมมือกันไม่ใช่ต่างคนต่างเพื่อให้เกิดรูปธรรม อย่าเน้นปริมาณจับกุม ให้เน้นคุณภาพ

วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่สำนักงาน ป.ป.ส. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยบัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. พร้อมด้วย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 15 หน่วยงาน ได้ร่วมกันประชุมเรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า อยากจะเรียนให้ทราบถึงมาตรการเร่งด่วน 6 มาตรการ พร้อมทั้งแนวทางการดำเนินการในกรอบระยะเวลาช่วงแรก 30 วัน โดยเฉพาะการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด ได้กำหนดพื้นที่ดำเนินการในชุมชนเฝ้าระวัง 3,250 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 804 อำเภอทั่วประเทศ สำหรับมาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การสกัดกั้น ปราบปรามจับกุม และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องร่วมกันเพิ่มความเข้มในการปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดบริเวณชายแดน และด่านตรวจชายแดนทั่วประเทศ เพิ่มด่านตรวจและจุดตรวจในเส้นทางลำเลียงยาเสพติด เพิ่มความเข้มในการตรวจสอบรถโดยสาร รถประจำทาง รถขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ขยายผลปราบปรามเครือข่ายการค้ายาเสพติดทุกระดับ ปิดล้อมเอกซเรย์ เชิงลุกในการเฝ้าระวังที่กำหนดไว้ และนำข้อมูลการ้องเรียนผ่านสายด่วนยาเสพติดจากทุกหน่วยงานทุกแหล่งข่าวมาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

มาตรการที่ 2 การจัดระเบียบและเฝ้าระวังสถานบริการและสถานประกอบการ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย ที่จะต้องจัดระเบียบสถานบริการและสถานประกอบการ ทั้งหอพัก อาคารชุด หรือเกสต์เฮาส์ ที่ให้ผู้อื่นเช่า รวมทั้งสถานที่ที่จัดให้มีการเล่นบิลเลียด สนุกเกอร์ ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต โรงงานและสถานประกอบกิจการอื่นๆ โดยไม่ให้มีการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในทุกลักษณะ และดำเนินการตามกฎหมายต่อเจ้าของและผู้ประกอบกิจการอื่นๆ โดยไม่ให้มี่การเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในทุกลักษณะและดำเนินการตามกฎหมายต่อเจ้าของและผู้ประกอบการที่ปล่อยปละละเลยให้มรการซุกซ่อน จำหน่าย และเสพยาเสพติดในสถานริการและสถานประกอบการต่างๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

มาตรการที่ 3 การบำบัด ฟื้นฟู และสร้างภูมิคุ้มกัน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักคือ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข ที่จะต้องช่วยกันนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดโดยทันที พร้อมทั้งติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติ ทั้งในด้านการศึกษา และการประกอบอาชีพ สร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งในและนอกสถานศึกษา โดยประสานงานกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น

มาตรการที่ 4 การยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักคือ สำนักงาน ป.ป.ส.ซึ่งจะต้องขยายผลยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้อง ผู้สบคบ ผู้สนับสนุนช่วยเหลือ และเครือข่ายหรือองค์กรการค้ายาเสพติดในทุกคดี พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ส. และกรมสรรพากร เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน โอนเงิน หรือนำทรัพย์สินไปไว้ในชื่อของบุคคลอื่น

มาตรการที่ 5 การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักคือ สำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแจ้งข้อมูลและเบาะแสยาเสพติดและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมมาทาง สายด่วน ป.ป.ส.1386 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งการส่งจดหมายหรือไปรษณียบัตรมาที่ ตู้ ปณ.123 สามเสนใน พญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 หรือทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ส.ที่ www.oncb.go.th พร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินการของผู้บังคับบัญชาทุกระดับในหน่วยงาน เกี่ยวกับการสอดส่องดูแลไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับในทุกหน่วยงาน เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งทางตรงและทางอ้อม หากพบพฤติการณ์ดังกล่าวจะต้องดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาโดยเด็ดขาด

มาตรการที่ 6 การติดตามประเมินผลและรายงานผลการปฏิบัติ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักคือ สำนักงาน ป.ป.ส.ที่จะต้องกำหนดแนวทางการรายงานและติดตามผลผ่านทางอินเตอร์เน็ท เพื่อให้ทุกหน่วยงานรายงานรายงานผลการดำเนินงานในแต่ละมาตรการได้ในทุก 7 วัน จากนั้น ป.ป.ส.จะต้องรวบรวมผลและรายงานให้ คสช.ทราบทุก 15 วัน พร้อมทั้วประชาสัมพันธ์ผลการปฏิบัติงานของทุกหน่วยให้สื่อมวลชนและประชาชนได้รับทราบต่อไป

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตามมาตรการต่างๆ ทั้ง 6 เรื่อง และถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ทุกหน่วยจะต้องช่วยกันดำเนินการให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยความฉับไว และมีประสิทธิภาพสามารถคืนความสุขให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยจะประเมินผลครั้งแรกใน 30 วัน และได้ฝากให้ทุกหน่วยร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นเภาพ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ โดยตนจะติดตามผลการดำเนินการอย่างใกล้ชิดต่อไป และไม่ได้เจาะจงแค่การกวาดล้างยา แต่ต้องแก้ไขทุกหน่วยไม่ว่าจะเป็นการจับกุม หรือการบำบัด

“วันนี้แค่มาประชุมจัดระบบให้ใหม่ มาช่วยเติมเต็ม ดูว่าส่วนใดบ้างที่เป็นปัญหา จัดให้เป็นสัดส่วนแล้วมอบให้เลขาธิการ ป.ป.ส.ดำเนินการ ในส่วนที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เช่น ด้านงบประมาณของทุกหน่วยก็จะเข้าไปดูแลแก้ปัญหา ดูว่าเพราะอะไรถึงแก้ไขไม่สำเร็จ ไม่สนตัวเลขว่าจับกุมได้กี่ล้านเม็ด ขอให้ดูกันที่รูปธรรม เอาคุณภาพมาพูดกัน” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการให้ดีเอสไอแก้ไขระบบใหม่เพื่อไม่ไห้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงใช่หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ไม่ได้เจาะจงให้หน่วยงานใดแก้ไขระบบใหม่ แต่ให้แก้ไขทุกหน่วยงานที่เป็นปัญหา ดูทุกหน่วยงาน ส่วนเรื่องจะแก้อย่างไร และแก้ตรงไหนนั้นต้องรอถามปลัด เพราะเรื่องยังยื่นมาไม่ถึงตน

ด้านพล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวว่า ปัญหาที่พล.อ.ไพบูลย์เร่งให้ทำการแก้ไขเป็นเรื่องแรกคือการสั่งซื้อยาบ้าจากเรือนจำเพราะเป็นเรื่องที่ขัดต่อความรู้สึกของประชาชน ซึ่งในการประชุมอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ร่วมประชุมอยู่ด้วย และได้รับเรื่องไปดูแลจัดการเรียบร้อย อีกทั้งยังเร่งการดำเนินการหยุดยั้งการระบาดของยาเสพติดในชุมชน จะต้องมีการปิดล้อมเอกซเรย์ชุมชน และจัดการกับผู้ค้ารายย่อยชุมชน ส่วนลูกหลานของวประชาชนที่ติดยาเสพติดต้องจัดการพาไปบำบัดให้หายขาด หากออกมาจากการบำบัดแล้วจะต้องทำการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้

พล.อ.ไพบูลย์ยังกำชับให้จัดการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยาเสพติดให้หมด ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากประชาชนด้วยว่าหากพบว่าคนในหน่วยงานรัฐคนใดยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดขอให้แจ้งมายังป.ป.ส. เพื่อที่ทางป.ป.ส.จะส่งรายชื่อไปยังคสช.เพื่อให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาด และอยากจะฝากเตือนว่าหากผู้บังคับบัญชาคนใดปล่อยคนในหน่วยงานมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดเช่นกัน และพร้อมจะโยกย้ายทันทีหากมีผู้ใดเข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องที่พ่วงมาด้วยให้เร่งดำเนินการคือการสกัดกั้นยาเสพติดต้องทำให้เห็นผล

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เวลาเพียง30วันที่จะต้องดำเนินการให้สำเร็จเป็นเวลาที่น้อยเกินไปหรือไม่

พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวว่า อันที่จริงมีการดำเนินงานด้านยาเสพติดกันอยู่อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เพียงแต่ระยะเวลา 30 วันนั้นเป็นกำหนดที่คสช.จะมอบหมายงานให้แต่ละหน่วยงานไปดำเนินการ หากดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็จะถือว่าประสบผลสำเร็จ หน่วยงานไหนทำไม่สำเร็จก็ต้องมาดูกันว่าเพราะอะไร เกิดปัญหาอะไร ไม่ได้เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูเพียงแต่เป็นการกำหนดระยะเวลาเพื่อกระตุ้นการดำเนินงาน

พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวอีกว่านอกจากนี้ในวันอาทิยต์นี้ทางป.ป.ส.จะมีการบุกจับเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่มากในอ.แม่สอด ซึ่งในขณะนี้กำลังเฝ้าติดตามพฤติกรรมของเครือข่ายรายนี้อยู่ เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากในอ.แม่สอด มีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก มีบัญชีจำนวนหลายบัญชีที่ต้องทำการอายัด แต่ละบัญชีมีเงินเป็นร้อยล้านบาท ถือว่าเป็นการทลายเครือข่ายยาเสพติดขนาดใหญ่















กำลังโหลดความคิดเห็น