ป.ป.ส. กำหนด 6 มาตรการเร่งด่วนรองรับคำสั่ง คสช. เพื่อปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด เฝ้าระวังชุมชนสูงสุด 50 แห่ง ในพื้นที่ กทม. ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดียาเสพติด โดยใช้หลักทรัพย์หรือสถานภาพความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
วันนี้ (1 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้เชิญเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงและกำหนดมาตรการในการปฏิบัติการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 41/2557 เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยได้กำหนดมาตรการในการดำเนินการรองรับคำสั่งดังกล่าวไว้ 6 มาตรการเร่งด่วนสำคัญ ได้แก่ 1. มาตรการการสกัดกั้น ปราบปรามจับกุม และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด 2. มาตรการการจัดระเบียบและเฝ้าระวังสถานบริการและสถานประกอบการ 3. มาตรการการบำบัดรักษาและสร้างภูมิคุ้มกัน 4. มาตรการยึดและอายัดทรัพย์สินผู้เกี่ยวข้องทั้งเครือข่าย 5. มาตรการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และ 6. มาตรการการติดตามและรายงานผลการปฏิบัติต่อ คสช.
พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวว่า มาตรการในแต่ละด้านจะมีโรดแมปให้กับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจน โดยได้เพิ่มความเข้มไปในระดับสูงสุด เพื่อให้การปฏิบัติการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามที่ คสช. ได้สั่งการ และเป็นการสนองตอบต่อความคาดหวังของประชาชนและสังคมโดยรวม โดยเฉพาะการเข้าปฏิบัติการกวาดล้างเอกซเรย์เชิงรุกในชุมชนเพื่อจัดการกับกลุ่มพ่อค้ารายย่อยเพื่อหยุดยั้งการค้า และการแพร่ระบาดของเสพติดในชุมชน ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้กำหนดพื้นที่ชุมชนเฝ้าระวังไว้แล้ว 16,408 ชุมชนที่ต้องเข้าไปดำเนินการในทันที รวมทั้งชุมชนเฝ้าระวังสูงสุดอีก 50 แห่ง ทั้งในพื้นที่ กทม. และในจังหวัดต่างๆ อีก 33 จังหวัด โดย สำนักงาน ป.ป.ส. จะติดตามและประเมินผลการปฏิบัติการของทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องและรายงานผลให้ คสช.ทราบอย่างต่อเนื่อง
“สำหรับการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ถือเป็นคำสั่งของ คสช. ที่ต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด โดยแนวทางการดำเนินการจะเป็นไปตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 ที่กำหนดกรอบคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ให้รวมถึงข้าราชการ รวมทั้งพนักงาน หรือลูกจ้างของราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ตลอดจนเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐด้วย” เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว
พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวด้วยว่า ในส่วนพฤติการณ์การเกี่ยวข้องนั้น ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า นอกจากจะเป็นผู้กระทำผิดเสียเองแล้ว หากเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดเข้าไปเกี่ยวข้องใน 5 เรื่องสำคัญ ให้ถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น สนับสนุนหรือช่วยเหลือ จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่ หรือวัตถุใดๆ เพื่อประโยชน์หรือให้ความสะดวกแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมทั้งการคบหาสมาคมเป็นอาจิณ และเป็นผู้ประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยใช้หลักทรัพย์หรือสถานภาพความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในข้อหาสำคัญ เป็นต้น