xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ลุ้นศก.ฟื้นช่วยพยุงหนี้ครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติแจงหนี้ครัวเรือนเริ่มชะลอลงและมีความระมัดระวังจากฝั่งผู้กู้และผู้ให้ รวมถึงการบริโภคสินค้าเริ่มแผ่วลง จึงไม่ใช่บรรยากาศที่น่ากังวลและสถานการณ์ต่างกับปี 56 ย้ำไม่ใช่ช่วงวิกฤต ยอมรับต่างชาติเป็นห่วง ถามย้ำเศรษฐกิจดีขึ้น หนี้ครัวเรือนจะดีตามมาหรือไม่ แต่ได้ตอบไปแล้วเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นคุณภาพสินเชื่อจะยิ่งดีขึ้น

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ตลท.) ร่วมเดินทางไปโรดโชว์ต่อนักลงทุนสถาบันของประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง พบว่า คำถามเกือบครึ่งหนึ่งแสดงความเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนของไทยว่าจะมีผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจหรือไม่ รวมไปถึงแปลกใจคุณภาพสินเชื่อกลับออกมาค่อยข้างดี
และถ้าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น พัฒนาการของปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ทั้งนี้ ธปท.ได้ชี้แจงว่าสถานการณ์เมื่อต้นปี 56 ธปท.เป็นหน่วยงานแรกๆเริ่มออกมาพูดถึงความกังวลประเด็นนี้ ซึ่งสถานการณ์ความกังวล คือ หนี้ขยายตัวรวดเร็วและคนรู้สึกว่ายังไม่กระทบ แม้หนี้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ แต่ขณะนี้ระดับหนี้เริ่มชะลอลง ประกอบกับมีความระมัดระวังทั้งจากตัวผู้ให้กู้อย่างสถาบันการเงินและตัวผู้กู้ อีกทั้งเห็นครัวเรือนส่วนใหญ่ลดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยลง ขณะที่การบริโภคสินค้าจำเป็นก็ไม่มาก จึงไม่ใช่บรรยากาศน่ากังวล เพราะสถานการณ์แตกต่างกัน

"การฟื้นตัวการบริโภคภาคเอกชนฟื้นแน่ แต่คงไม่เด้งกลับมาเร็วเหมือนในอดีต ซึ่งปกติหลังวิกฤติหรือการชุมนุมต่างๆ ความเชื่อมั่นฟื้นตัวได้ 1 ไตรมาส แต่การบริโภคจะฟื้นไม่เร็ว เพราะเขายังระมัดระวังอยู่ และธปท.ชี้แจงให้นักลงทุนฟังว่าขณะนี้ไม่ใช่เกิดวิกฤติถึงขั้นผู้ประกอบการเจ๊ง เพราะจำนวนปิดกิจการไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและคนไม่ถูกเลิกจ้างมาก แต่เป็นช่วงกำไรน้อย หารายได้ไม่คล่องตัวมากกว่า จึงไม่เห็นคุณภาพสินเชื่อด้อยลงมากนัก และเมื่อเศรษฐกิจดี ตัวแรกที่ส่งผลดี คือ ตลาดการเงินจะมีความเชื่อมั่น ทำให้คุณภาพสินเชื่อที่ดีตามมา"

ก่อนหน้านี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าสังเกต โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000บาทต่อเดือน แต่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอาจจะกระทบสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ในระบบบ้าง แต่ไม่น่ากังวล อีกทั้งยังพบว่า หนี้ครัวเรือนเกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์)ได้ปล่อยกู้ให้ผู้มีรายได้ต่ำมากกว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ภาคครัวเรือนและสถาบันการเงินต่างระมัดระวัง และธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ได้รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสแรกปี 2557 พบว่า ภาคครัวเรือนไทยส่วนใหญ่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น แม้การก่อหนี้ของครัวเรือนจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรก แต่ยอดคงค้างของเอ็นพีแอลทั้งสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลกลับเพิ่มขึ้นถึง 31.3% เช่นเดียวกับสินเชื่อภายใต้การกำกับเพิ่มขึ้นกว่า 42 %รวมทั้งยอดคงค้างชำระบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นถึง 36.4 %

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าในปี 2556 ที่ผ่านมา ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 25,194 บาท เพิ่มขึ้น 4.1 % แต่ก็มีรายจ่ายเฉลี่ยถึงเดือนละ 19,061 บาท เพิ่มขึ้น 4.7 % ขณะที่หนี้สินเฉลี่ยมีมากถึงครัวเรือนละ 163,087 บาท เพิ่มขึ้น 9.95% และหากพิจารณาการใช้จ่ายและหนี้สินครัวเรือนบางกลุ่ม พบว่า ยังมีความเสี่ยงต่อการดำรงชีพ โดยครัวเรือนกว่า 8 ล้านครัวเรือน หรือ 42.25% จากครัวเรือนทั้งหมดมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายและการชำระหนี้ อีก 4.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของครัวเรือนที่เป็นหนี้ได้ก่อหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคมูลค่ามากกว่า 70% ของมูลค่าหนี้รวมของครัวเรือน.
กำลังโหลดความคิดเห็น