xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอเรื่องไฟฟ้า : บทเรียนจากโรงไฟฟ้าจะนะและเยอรมนี

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

หลังจากได้ฟังประธาน คสช.แถลงเมื่อหัวค่ำคืนวันศุกร์ที่ (13 มิ.ย.57) ในส่วนที่เกี่ยวพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้าซึ่งสรุปได้เป็น 3 ข้อ คือ (1) จะจัดหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอได้อย่างไร? (2) ควรคำนึงถึงการพึ่งตนเองให้มากขึ้นโดยใช้ “พลังงานทดแทน” และ (3) การอนุรักษ์ทรัพยากรปิโตรเลียมเพราะถ้าขุดเจาะมากก็จะหมดเร็วซึ่งจะต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน ผมจึงขอเสนอความเห็นในประเด็นดังกล่าวผ่านบทความนี้

เพื่อให้สะดวกแก่การทำความเข้าใจผมจึงขอเสนอเป็นข้อๆ รวม 5ข้อดังนี้ครับข้อ 1 บทเรียนจากโรงไฟฟ้าจะนะ ปีต่อไปจะวิกฤตมากกว่านี้!

ในขณะที่คนภาคใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเฝ้าระวังช่วง “28 วันอันตราย” เพราะจากวันที่ 13 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคม2557 แหล่งก๊าซจากโครงการเจดีเอ (ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างไทย-มาเลเซีย) ต้องหยุดซ่อมแท่นผลิตส่งผลให้โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลาซึ่งมีกำลังผลิต 710 เมกะวัตต์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เท่าที่ทราบ การหยุดซ่อมจะมีเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับแหล่งก๊าซไทย-พม่าซึ่งเราคุ้นชินกันค่อนข้างดีอยู่แล้วโดยเฉพาะในช่วงหลัง

ปัจจุบันภาคใต้มีโรงไฟฟ้าจำนวน 2,655 เมกะวัตต์ (ไม่รวมระบบสายส่งจากภาคกลางอีก 950 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก141 เมกะวัตต์) โดยที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของวันที่ 14 มิถุนายนเท่ากับ 2,260.3 เมกะวัตต์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเวลา 19.26น.(ดูกราฟประกอบ)

ดังนั้นการหยุดเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าจะนะจำนวน 710 เมกะวัตต์ (หรือ 31% ของความต้องการสูงสุด) จึงทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดอุบัติเหตุ(จริง?)เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว (หมายเหตุ โครงการระบบสายส่งจากภาคกลางเป็นการลงทุนที่อยู่ในแผนการพัฒนากำลังผลิต เหตุการณ์ไฟฟ้าดับเกิดหลังฟ้าผ่า 88 นาที ซึ่งนานพอที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้หากมีการกระจายอำนาจการตัดสินใจของระบบบริหารไฟฟ้า)

แต่เรื่องสำคัญที่น่าเป็นห่วงกว่าอยู่ที่ว่า นับจากเดือนกรกฎาคมปีนี้เป็นต้นไป โรงไฟฟ้าใหม่ขนาด 800 เมกะวัตต์ซึ่งตั้งอยู่ติดกันกับโรงไฟฟ้าจะนะจะแล้วเสร็จดังนั้น หากมีการหยุดส่งก๊าซเพื่อซ่อมแท่นเจาะของแหล่งเจดีเออีก (ซึ่งคาดว่าน่าจะมีทุกปีเหมือนโครงการไทย-พม่า) กำลังการผลิตของภาคใต้จะหายไปพร้อมกันถึง 1,510 เมกะวัตต์ (หรือประมาณ 69% ของความต้องการสูงสุด)

มันเหมือนกับการเอาไข่เกือบทั้งหมดไปใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน หากตะกร้าตกไข่ก็แตกเกือบหมด

หลักการสำคัญของการบริหารกิจการไฟฟ้าเป็นหลักการเดียวกับระบอบประชาธิปไตย คือการกระจายอำนาจ ดังนั้นกิจการไฟฟ้าจึงต้องกระจายเชื้อเพลิงและกระจายศูนย์การผลิตไปพร้อมกันรวมทั้งกระจายการตัดสินใจด้วย

และหลักการที่สมบูรณ์ที่สุดทั้งของระบอบประชาธิปไตยและกิจการไฟฟ้าคือต้องให้อำนาจกับคนท้องถิ่น ทั้งการบริหารและวัตถุดิบ เข้าทำนองที่ว่า “พลังงานท้องถิ่น ประชาธิปไตยท้องถิ่น” (Local Energy, Local Democracy) และแหล่งพลังงานที่สามารถกระจายตัวให้คนท้องถิ่นได้มากที่สุด ทั่วถึงที่สุดและเป็นธรรมที่สุดคือแสงแดด

หลายท่านอาจจะรู้สึกว่า หลักการดังกล่าวเป็นอุดมคติมากเกินไป และอาจเถียงอยู่ในใจว่าในความเป็นจริงคือเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยาก เพราะเทคโนโลยีพลังงานแสงแดดมีราคาแพงบ้าง เพราะกลางคืนไม่มีแสงแดดแล้วจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้บ้าง ในหัวข้อต่อไปผมจะยกตัวอย่างจากประเทศเยอรมนีให้ดูอย่างชนิดที่เข้าใจได้ไม่ยากครับ

ข้อ 2 บทเรียนจากเยอรมนี

คนไทยเราทราบกันดีแล้วว่าความเข้มของแสงแดดในประเทศเยอรมนีนั้นมีน้อยกว่าในประเทศไทย แต่ถ้าทราบเพียงเท่านี้ยังไม่มีพลังมากพอ ไม่มีแรงบันดาลใจพอ

เชื่อไหมครับว่า หากเราสามารถยกแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งไว้แล้วในเยอรมนีมาติดในประเทศไทย ไฟฟ้าที่ได้จากแผงดังกล่าวจะสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าของคนไทยทั้งประเทศถึง 41%

โปรดอ่านอีกรอบครับ หากยังรู้สึกงงๆ หรือไม่เชื่อ

ประธาน คสช.กล่าวเมื่อคืนวันศุกร์ว่า ข้อเสนอควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ผมก็จะพยายามครับ แต่เพื่อป้องกันข้อกล่าวหาว่าเป็น “ข้อมูลเท็จ” หรือความจริงครึ่งเดียว ผมจึงจำเป็นต้องแสดงหลักฐานทั้งเพื่อประกอบคำอธิบายและให้สามารถตรวจสอบได้ด้วย แต่รับรองว่าจะต้องง่ายที่สุด ไม่มีอะไรที่ง่ายกว่านี้

ในเดือนพฤษภาคม 2557 (15 วันที่ผ่านมาหยกๆ) ซึ่งเป็นฤดูร้อนของประเทศเยอรมนี เขาสามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดได้ถึง 4,110 ล้านหน่วยหรือล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (ข้อมูลจาก http://www.ise.fraunhofer.de/en/renewable-energy-data) ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าของคนไทยในเดือนมีนาคม 2557 (ข้อมูลล่าสุดที่รายงานโดยกระทรวงพลังงานขอโทษที่เดือนไม่ตรงกันเพราะข้อมูลประเทศไทยมาช้า) เท่ากับ 15,471 ล้านหน่วยถ้าคิดเป็นร้อยละพบว่า เยอรมนีผลิตได้เท่ากับร้อยละ 26 ของการใช้ของคนไทย แต่เนื่องจากแดดไทยเข้มกว่า ตัวเลขนี้จึงเพิ่มเป็น 41% ของความต้องการใช้ในประเทศไทย

และเพื่อให้เห็นถึงการกระจายเชื้อเพลิงที่หลากหลายและสัดส่วนของพลังงานแสงแดด ผมขออนุญาตนำเสนอข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของเยอรมนีเป็นรายชั่วโมงตลอดวันตลอดทั้งเดือนพฤษภาคม 2557

จากข้อมูลดังกล่าว พบว่าในวันหยุดการทำงาน เช่นวันอาทิตย์ที่ 11 เยอรมนีผลิตไฟฟ้าลดลงจากวันปกติมาก (เพราะคนออกพักผ่อนตามสถานที่ธรรมชาติและห้างสรรพสินค้าปิด) โดยพลังงานแสงแดดและลมได้มีส่วนถึงกว่า 50% ของความต้องการในวันนั้น

หากคิดตลอดทั้งเดือน พลังงานแสงแดดมีส่วนร่วมถึง 9.9% ของการผลิตทั้งหมดในเยอรมนีและหากคิดถึงเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด (ซึ่งประธาน คสช.เรียกว่าพลังงานทดแทน) คือ แสงแดด ลม น้ำ และชีวมวล มีส่วนร่วมถึง 34% ซึ่งถือว่าสูงมากและสูงที่สุดของโลก

รัฐบาลเยอรมนีได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี พ.ศ. 2563 เยอรมนีจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 35% แต่มาถึงวันนี้ (พฤษภาคม 2557) เป้าหมายดังกล่าวก็เกือบจะบรรลุแล้วแต่เกือบบรรลุเฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้นเพราะแดดเยอะและใช้ไฟฟ้าน้อย

ข้อ 3 ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์แพงจริงหรือ และกลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้?

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ ผมขอให้ช่วยพิจารณาเอกสารประชาสัมพันธ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ชื่อว่า “ถึงเวลา…หาสมดุลพลังงานไทย” (เอกสารนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับ 12 มิถุนายน 57)

แม้ว่าตัวอักษรในแผ่นที่ผมนำมาแสดงดังกล่าวจะตัวเล็กเกินไป แต่ผมต้องการเพียงแสดงให้เห็นเป็นหลักฐานเท่านั้น

ข้อความที่ผมได้ล้อมวงไว้สรุปว่า ทาง กฟผ.ได้บอกกับประชาชนผู้บริโภคไฟฟ้าว่า (1) ต้นทุนผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์หน่วยละ 10-13 บาทซึ่งถือว่าแพงเกินไป และ (2) มีข้อจำกัดของพลังงานแสงแดดผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะกลางวันเท่านั้น

ทาง กฟผ.ไม่ได้อ้างแหล่งที่มาของต้นทุนว่าหน่วยละ 10-13 บาทนั้นมาจากไหน คิดอย่างไร เรามาดูกันซิว่า ความจริงคืออะไร?

จากข้อมูลของกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการประกาศจะรับซื้อไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาในอัตราหน่วยละ 6.96 บาท (ประมาณครึ่งเดียวของที่ กฟผ.นำมาโฆษณา)

นอกจากนี้ในเว็บไซต์ของกรมฯ ได้มีการคำนวณเบื้องต้น พบว่าด้วยการลงทุน 7 แสนบาทเพื่อติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 10 กิโลวัตต์จะสามารถได้ทุนคืนภายใน 7 ปีเศษเท่านั้น (ดูข้อมูล)

ที่เหลืออีกประมาณ 17 ปี ผู้เป็นเจ้าของสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ปีละประมาณ 95,000 บาทโดยที่แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติมอีก

ดีกว่าการฝากธนาคาร หรือคิดอีกแบบหนึ่งว่า

หลังคาบ้านตนเองนั่นแหละคือธนาคาร นี่แหละครับคือการพึ่งตนเอง นี่คือการใช้ทรัพยากรภายในประเทศที่ประธาน คสช.กล่าว

สิ่งที่ต้องย้ำก็คือ ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้สูงอย่างที่ทาง กฟผ.กำลังโฆษณาชวนเชื่ออย่างบิดเบือน เพื่อต้องการที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายจังหวัดของภาคใต้ เหตุผลที่ทราบกันทางสื่อกระแสหลักการที่ทาง กฟผ.ต้องการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงอาจเพราะว่ากลุ่มทุนถ่านหินในประเทศไทยได้ไปลงทุนทำเหมืองถ่านหินในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียไว้แล้วกลุ่มทุนดังกล่าวมีอำนาจในการจัดทำแผนพีดีพี (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า) ซึ่งเป็นแผนที่ทาง กฟผ.ต้องปฏิบัติตาม

คิดอีกทีหนึ่ง ก็น่าเห็นใจ กฟผ.นะครับผมอยากให้ทาง คสช.ออกคำสั่งให้ทาง กฟผ.มาชี้แจงเรื่องนี้บ้าง เผื่อว่า คสช.สามารถช่วย กฟผ.ได้บ้าง

ข้อ 4 ปัญหา 3 ข้อของโครงการโซลาร์เซลล์บนหลังคา

เท่าที่ผมติดตามการคำแถลงของประธาน คสช. ผมทราบว่า ทาง คสช.กำลังจะแก้ปัญหาที่ทำให้โครงการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาต้องหยุดชะงัก ก็คือ ใบอนุญาตจากกรมโรงงานที่เรียกว่า รง.4

แต่นั่นเป็นเพียงแค่หนึ่งในสามของปัญหาสำคัญเท่านั้น อีกสองปัญหาคือ

(1) การจำกัดโควตาไว้ที่ 200 เมกะวัตต์ ประเทศที่ประสบผลสำเร็จเขาไม่ทำกัน เช่น ประเทศเยอรมนี เขาไม่มีโควตาครับ นอกจากไม่มีโควตาแล้วยังกำหนดว่า “ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อน”

(2) อัตรารับซื้อหน่วยละ 6.96 บาทต่อหน่วยนั้น ในความเห็นจากข้อมูลของผมถือว่าสูงเกินไป อัตราที่เหมาะสมน่าจะอยู่ระหว่าง 5-6 บาทเท่านั้น การตั้งอัตราการรับซื้อไว้สูงถือเป็นภาระของประชาชนในอนาคตที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงโดยไม่จำเป็นครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการโซลาร์ฟาร์มที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่และได้ผลตอบแทนคุ้มทุนภายในเวลา 4-5 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ขอให้ คสช.พิจารณาทบทวน “โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน” จำนวน 800 ชุมชนๆ ละหนึ่งเมกะวัตต์ เพราะนอกจากชุมชนยังไม่เข้าใจและมีส่วนร่วมแล้ว ทราบว่าได้มีบริษัทมาใช้ชุมชนเป็นนอมินีโดยแบ่งผลตอบแทนให้ชุมชนเพียง 5% แต่เริ่มต้นคิดจะรับซื้อค่าไฟฟ้าในช่วง 3 ปีแรกหน่วยละ 9.75 บาท อั๊ยย่ะ!

ยังมีอีกประเด็นหนึ่ง คือคำถามที่ว่า แล้วกลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนมาใช้?ภาพถ่ายข้างล่างเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ความร้อนจากแสงแดด (Solar Thermal Power Plant) มาจาก http://inhabitat.com

ความสำคัญก็คือใช้กระจกแผ่นเรียบสะท้อนแสงให้ไปรวมกันที่หอสูงซึ่งอยู่ตรงกลาง แล้วนำความร้อนที่ได้ไปต้มน้ำซึ่งยังไม่เดือด แต่เมื่อเติมสารบางชนิดลงไปจะทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงถึง 550 องศาเซลเซียส โดยที่สามารถรักษาความร้อนไว้ได้นานกว่า 24 ชั่วโมง แล้วนำความร้อนนี้ไปปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โปรดสังเกตข้อความที่ว่า 24/7 หมายถึงอยู่ได้ 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน

โรงไฟฟ้าชนิดนี้สร้างครั้งแรกในประเทศสเปน ขณะนี้กำลังก่อสร้างในประเทศไทย 2 โรงในจังหวัดกาญจนบุรี สำหรับต้นทุนขณะนี้ผมยังไม่มีข้อมูลครับ

โรงไฟฟ้าชนิดนี้สามารถนำมาแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็น Base load ได้ครับโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเวลากลางคืนหรือฝนตกติดต่อกัน 3-4 วัน

ข้อ 5 การอนุรักษ์ทรัพยากรปิโตรเลียมด้วยแสงแดด ทำได้ครับ

ตามที่ท่านประธาน คสช.แถลงว่า “ถ้าเจาะปิโตรเลียมขึ้นมาใช้มากก็จะหมดเร็ว ต้องแก้ไขและดำเนินการอย่างเร่งด่วน” (ตามที่ผมจดได้นะครับ)

ผมขอเรียนว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ถูกต้องและสามารถปฏิบัติได้จริง ดังข้อมูลในเรื่อง “เสียดายแดด” คือ ในทุกๆ หนึ่งตารางเมตรของประเทศไทยโดยเฉลี่ยแล้ว ได้รับพลังงานจากแสงแดดปีละประมาณ 1,766 หน่วย พลังงานดังกล่าวเท่ากับถ่านหิน 960 กิโลกรัมหรือ เท่ากับน้ำมัน 526 ลิตร เท่ากับก๊าซธรรมชาติ 14,000 ลูกบาศก์ฟุต

แต่ปัจจุบันมนุษย์มีเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยมีประสิทธิภาพประมาณ 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงต้องใช้พื้นที่ให้มากขึ้นเล็กน้อยก็จะเพียงพอต่อความจำเป็นของมนุษย์

ถ้าเราทำการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด การสำรวจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติซึ่งกำลังเกิดขึ้นแทบจะทั่วภาคอีสานก็ไม่ต้องทำ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ก็ไม่ต้อง ซึ่งนอกจากจะไม่กระทบต่อวิถีชีวิตและสุขภาพของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรปิโตรเลียมไว้ให้คนรุ่นหลังใช้ด้วย

การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์นอกจากเป็นการกระจายรายได้แล้วยังเป็นการสร้างงานนับแสนคนด้วยรวมถึงเป็นการอนุรักษ์ปิโตรเลียมไว้เพื่อใช้นานๆ ตามที่ประธาน คสช.แถลงด้วยครับ

วันนี้ขอเสนอแค่นี้ก่อนนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น