xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอเรื่องไฟฟ้า : บทเรียนจากโรงไฟฟ้าจะนะและเยอรมนี / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
หลังจากได้ฟังประธาน คสช. แถลงเมื่อหัวค่ำคืนวันศุกร์ที่ (13 มิ.ย.57) ในส่วนที่เกี่ยวพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้าซึ่งสรุปได้เป็น 3 ข้อ คือ (1) จะจัดหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอได้อย่างไร? (2) ควรคำนึงถึงการพึ่งตนเองให้มากขึ้นโดยใช้ “พลังงานทดแทน” และ (3) การอนุรักษ์ทรัพยากรปิโตรเลียมเพราะถ้าขุดเจาะมากก็จะหมดเร็ว ซึ่งจะต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน ผมจึงขอเสนอความเห็นในประเด็นดังกล่าวผ่านบทความนี้

เพื่อให้สะดวกต่อการทำความเข้าใจผมจึงขอเสนอเป็นข้อๆ รวม 5 ข้อดังนี้ครับข้อ 1.บทเรียนจากโรงไฟฟ้าจะนะ ปีต่อไปจะวิกฤตมากกว่านี้!

ในขณะที่คนภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเฝ้าระวังช่วง “28 วันอันตราย” เพราะจากวันที่ 13 มิถุนายน ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 แหล่งก๊าซจากโครงการเจดีเอ (ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างไทย-มาเลเซีย) ต้องหยุดซ่อมแท่นผลิต ส่งผลให้โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีกำลังผลิต 710 เมกะวัตต์ ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ เท่าที่ทราบ การหยุดซ่อมจะมีเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับแหล่งก๊าซไทย-พม่า ซึ่งเราคุ้นชินกันค่อนข้างดีอยู่แล้วโดยเฉพาะในช่วงหลัง

ปัจจุบันภาคใต้มีโรงไฟฟ้า จำนวน 2,655 เมกะวัตต์ (ไม่รวมระบบสายส่งจากภาคกลางอีก 950 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก 141 เมกะวัตต์) โดยที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของวันที่ 14 มิถุนายน เท่ากับ 2,260.3 เมกะวัตต์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเวลา 19.26 น. (ดูกราฟประกอบ)
 

 
ดังนั้น การหยุดเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าจะนะ จำนวน 710 เมกะวัตต์ (หรือ 31% ของความต้องการสูงสุด) จึงทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดอุบัติเหตุ (จริง?) เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว (หมายเหตุ โครงการระบบสายส่งจากภาคกลางเป็นการลงทุนที่อยู่ในแผนการพัฒนากำลังผลิต เหตุการณ์ไฟฟ้าดับเกิดหลังฟ้าผ่า 88 นาที ซึ่งนานพอที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้หากมีการกระจายอำนาจการตัดสินใจของระบบบริหารไฟฟ้า)
 
แต่เรื่องสำคัญที่น่าเป็นห่วงกว่าอยู่ที่ว่า นับจากเดือนกรกฎาคมปีนี้เป็นต้นไป โรงไฟฟ้าใหม่ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ติดกันกับโรงไฟฟ้าจะนะจะแล้วเสร็จ ดังนั้น หากมีการหยุดส่งก๊าซเพื่อซ่อมแท่นเจาะของแหล่งเจดีเออีก (ซึ่งคาดว่าน่าจะมีทุกปีเหมือนโครงการไทย-พม่า) กำลังการผลิตของภาคใต้จะหายไปพร้อมกันถึง 1,510 เมกะวัตต์ (หรือประมาณ 69% ของความต้องการสูงสุด)

มันเหมือนกับการเอาไข่เกือบทั้งหมดไปใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน หากตะกร้าตกไข่ก็แตกเกือบหมด
หลักการสำคัญของการบริหารกิจการไฟฟ้าเป็นหลักการเดียวกับระบอบประชาธิปไตย คือ การกระจายอำนาจ ดังนั้น กิจการไฟฟ้าจึงต้องกระจายเชื้อเพลิง และกระจายศูนย์การผลิตไปพร้อมกันรวมทั้งกระจายการตัดสินใจด้วย

และหลักการที่สมบูรณ์ที่สุดทั้งของระบอบประชาธิปไตย และกิจการไฟฟ้า คือต้องให้อำนาจแก่คนท้องถิ่น ทั้งการบริหารและวัตถุดิบ เข้าทำนองที่ว่า “พลังงานท้องถิ่น ประชาธิปไตยท้องถิ่น” (Local Energy, Local Democracy) และแหล่งพลังงานที่สามารถกระจายตัวให้คนท้องถิ่นได้มากที่สุด ทั่วถึงที่สุด และเป็นธรรมที่สุดคือแสงแดด

หลายท่านอาจจะรู้สึกว่า หลักการดังกล่าวเป็นอุดมคติมากเกินไป และอาจเถียงอยู่ในใจว่าในความเป็นจริงคือ เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยาก เพราะเทคโนโลยีพลังงานแสงแดดมีราคาแพงบ้าง เพราะกลางคืนไม่มีแสงแดดแล้วจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้บ้าง ในหัวข้อต่อไปผมจะยกตัวอย่างจากประเทศเยอรมนีให้ดูอย่างชนิดที่เข้าใจได้ไม่ยากครับ

ข้อ 2.บทเรียนจากเยอรมนี

คนไทยเราทราบกันดีแล้วว่า ความเข้มของแสงแดดในประเทศเยอรมนีนั้นมีน้อยกว่าในประเทศไทย แต่ถ้าทราบเพียงเท่านี้ยังไม่มีพลังมากพอ ไม่มีแรงบันดาลใจพอ

เชื่อไหมครับว่า หากเราสามารถยกแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งไว้แล้วในเยอรมนีมาติดในประเทศไทย ไฟฟ้าที่ได้จากแผงดังกล่าวจะสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าของคนไทยทั้งประเทศถึง 41%

โปรดอ่านอีกรอบครับ หากยังรู้สึกงงๆ หรือไม่เชื่อ

ประธาน คสช. กล่าวเมื่อคืนวันศุกร์ว่า ข้อเสนอควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ผมก็จะพยายามครับ แต่เพื่อป้องกันข้อกล่าวหาว่าเป็น “ข้อมูลเท็จ” หรือความจริงครึ่งเดียว ผมจึงจำเป็นต้องแสดงหลักฐานทั้งเพื่อประกอบคำอธิบาย และให้สามารถตรวจสอบได้ด้วย แต่รับรองว่าจะต้องง่ายที่สุด ไม่มีอะไรที่ง่ายกว่านี้

ในเดือนพฤษภาคม 2557 (15 วันที่ผ่านมาหยกๆ) ซึ่งเป็นฤดูร้อนของประเทศเยอรมนี เขาสามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดได้ถึง 4,110 ล้านหน่วย หรือล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (ข้อมูลจาก http://www.ise.fraunhofer.de/en/renewable-energy-data) ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าของคนไทยในเดือนมีนาคม 2557 (ข้อมูลล่าสุดที่รายงานโดยกระทรวงพลังงาน ขอโทษที่เดือนไม่ตรงกันเพราะข้อมูลประเทศไทยมาช้า) เท่ากับ 15,471 ล้านหน่วย ถ้าคิดเป็นร้อยละพบว่า เยอรมนีผลิตได้เท่ากับร้อยละ 26 ของการใช้ของคนไทย แต่เนื่องจากแดดไทยเข้มกว่า ตัวเลขนี้จึงเพิ่มเป็น 41% ของความต้องการใช้ในประเทศไทย

และเพื่อให้เห็นถึงการกระจายเชื้อเพลิงที่หลากหลาย และสัดส่วนของพลังงานแสงแดด ผมขออนุญาตนำเสนอข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของเยอรมนีเป็นรายชั่วโมงตลอดวัน ตลอดทั้งเดือนพฤษภาคม 2557
 

 
จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า ในวันหยุดการทำงาน เช่น วันอาทิตย์ที่ 11 เยอรมนีผลิตไฟฟ้าลดลงจากวันปกติมาก (เพราะคนออกพักผ่อนตามสถานที่ธรรมชาติ และห้างสรรพสินค้าปิด) โดยพลังงานแสงแดด และลมได้มีส่วนถึงกว่า 50% ของความต้องการในวันนั้น
 
หากคิดตลอดทั้งเดือน พลังงานแสงแดดมีส่วนร่วมถึง 9.9% ของการผลิตทั้งหมดในเยอรมนีและหากคิดถึงเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด (ซึ่งประธาน คสช.เรียกว่าพลังงานทดแทน) คือ แสงแดด ลม น้ำ และชีวมวล มีส่วนร่วมถึง 34% ซึ่งถือว่าสูงมากและสูงที่สุดของโลก

รัฐบาลเยอรมนีได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี พ.ศ.2563 เยอรมนี จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 35% แต่มาถึงวันนี้ (พฤษภาคม 2557) เป้าหมายดังกล่าวก็เกือบจะบรรลุแล้วแต่เกือบบรรลุเฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้นเพราะแดดเยอะ และใช้ไฟฟ้าน้อย

ข้อ 3.ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์แพงจริงหรือ และกลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้? 

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ ผมขอให้ช่วยพิจารณาเอกสารประชาสัมพันธ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ชื่อว่า “ถึงเวลา…หาสมดุลพลังงานไทย” (เอกสารนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับ 12 มิถุนายน 57)
 

 
แม้ว่าตัวอักษรในแผ่นที่ผมนำมาแสดงดังกล่าวจะตัวเล็กเกินไป แต่ผมต้องการเพียงแสดงให้เห็นเป็นหลักฐานเท่านั้น

ข้อความที่ผมได้ล้อมวงไว้สรุปว่า ทาง กฟผ. ได้บอกแก่ประชาชนผู้บริโภคไฟฟ้าว่า (1) ต้นทุนผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์หน่วยละ 10-13 บาท ซึ่งถือว่าแพงเกินไป และ (2) มีข้อจำกัดของพลังงานแสงแดดผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะกลางวันเท่านั้น

ทาง กฟผ. ไม่ได้อ้างแหล่งที่มาของต้นทุนว่าหน่วยละ 10-13 บาทนั้นมาจากไหน คิดอย่างไร เรามาดูกันสิว่า ความจริงคืออะไร?

จากข้อมูลของกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการประกาศจะรับซื้อไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาในอัตราหน่วยละ 6.96 บาท (ประมาณครึ่งเดียวของที่ กฟผ. นำมาโฆษณา)

นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ของกรมฯ ได้มีการคำนวณเบื้องต้น พบว่า ด้วยการลงทุน 7 แสนบาท เพื่อติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 10 กิโลวัตต์ จะสามารถได้ทุนคืนภายใน 7 ปีเศษเท่านั้น (ดูข้อมูล)
 

 
ที่เหลืออีกประมาณ 17 ปี ผู้เป็นเจ้าของสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ปีละประมาณ 95,000 บาท โดยที่แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติมอีก
 
ดีกว่าการฝากธนาคาร หรือคิดอีกแบบหนึ่งว่า

หลังคาบ้านตนเองนั่นแหละคือ ธนาคาร นี่แหละครับคือการพึ่งตนเอง นี่คือการใช้ทรัพยากรภายในประเทศที่ประธาน คสช. กล่าว

สิ่งที่ต้องย้ำก็คือ ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้สูงอย่างที่ทาง กฟผ. กำลังโฆษณาชวนเชื่ออย่างบิดเบือน เพื่อต้องการที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายจังหวัดของภาคใต้ เหตุผลที่ทราบกันทางสื่อกระแสหลักการที่ทาง กฟผ. ต้องการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงอาจเพราะว่ากลุ่มทุนถ่านหินในประเทศไทยได้ไปลงทุนทำเหมืองถ่านหินในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ไว้แล้ว กลุ่มทุนดังกล่าวมีอำนาจในการจัดทำแผนพีดีพี (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า) ซึ่งเป็นแผนที่ทาง กฟผ.ต้องปฏิบัติตาม

คิดอีกทีหนึ่ง ก็น่าเห็นใจ กฟผ. นะครับผมอยากให้ทาง คสช. ออกคำสั่งให้ทาง กฟผ. มาชี้แจงเรื่องนี้บ้าง เผื่อว่า คสช.สามารถช่วย กฟผ. ได้บ้าง

ข้อ 4.ปัญหา 3 ข้อของโครงการโซลาร์เซลล์บนหลังคา

เท่าที่ผมติดตามการคำแถลงของประธาน คสช. ผมทราบว่า ทาง คสช. กำลังจะแก้ปัญหาที่ทำให้โครงการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาต้องหยุดชะงัก ก็คือ ใบอนุญาตจากกรมโรงงานที่เรียกว่า รง.4

แต่นั่นเป็นเพียงแค่หนึ่งในสามของปัญหาสำคัญเท่านั้น อีกสองปัญหาคือ (1) การจำกัดโควตาไว้ที่ 200 เมกะวัตต์ ประเทศที่ประสบผลสำเร็จเขาไม่ทำกัน เช่น ประเทศเยอรมนี เขาไม่มีโควตาครับ นอกจากไม่มีโควตาแล้วยังกำหนดว่า “ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อน” 

(2) อัตรารับซื้อหน่วยละ 6.96 บาทต่อหน่วยนั้น ในความเห็นจากข้อมูลของผมถือว่าสูงเกินไป อัตราที่เหมาะสมน่าจะอยู่ระหว่าง 5-6 บาทเท่านั้น การตั้งอัตราการรับซื้อไว้สูงถือเป็นภาระของประชาชนในอนาคตที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงโดยไม่จำเป็นครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการโซลาร์ฟาร์ม ที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ และได้ผลตอบแทนคุ้มทุนภายในเวลา 4-5 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ ขอให้ คสช. พิจารณาทบทวน “โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน” จำนวน 800 ชุมชนๆ ละหนึ่งเมกะวัตต์ เพราะนอกจากชุมชนยังไม่เข้าใจ และมีส่วนร่วมแล้ว ทราบว่าได้มีบริษัทมาใช้ชุมชนเป็นนอมินีโดยแบ่งผลตอบแทนให้ชุมชนเพียง 5% แต่เริ่มต้นคิดจะรับซื้อค่าไฟฟ้าในช่วง 3 ปีแรกหน่วยละ 9.75 บาท อั๊ยย่ะ!

ยังมีอีกประเด็นหนึ่ง คือ คำถามที่ว่า แล้วกลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนมาใช้? ภาพถ่ายข้างล่างเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ความร้อนจากแสงแดด (Solar Thermal Power Plant) มาจาก http://inhabitat.com
 

 
ความสำคัญก็คือ ใช้กระจกแผ่นเรียบสะท้อนแสงให้ไปรวมกันที่หอสูงซึ่งอยู่ตรงกลาง แล้วนำความร้อนที่ได้ไปต้มน้ำซึ่งยังไม่เดือด แต่เมื่อเติมสารบางชนิดลงไปจะทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงถึง 550 องศาเซลเซียส โดยที่สามารถรักษาความร้อนไว้ได้นานกว่า 24 ชั่วโมง แล้วนำความร้อนนี้ไปปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โปรดสังเกตข้อความที่ว่า 24/7 หมายถึงอยู่ได้ 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน
 
โรงไฟฟ้าชนิดนี้สร้างครั้งแรกในประเทศสเปน ขณะนี้กำลังก่อสร้างในประเทศไทย 2 โรงในจังหวัดกาญจนบุรี สำหรับต้นทุนขณะนี้ผมยังไม่มีข้อมูลครับ

โรงไฟฟ้าชนิดนี้สามารถนำมาแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็น Base load ได้ครับโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเวลากลางคืน หรือฝนตกติดต่อกัน 3-4 วัน

ข้อ 5.การอนุรักษ์ทรัพยากรปิโตรเลียมด้วยแสงแดด ทำได้ครับ

ตามที่ท่านประธาน คสช. แถลงว่า “ถ้าเจาะปิโตรเลียมขึ้นมาใช้มากก็จะหมดเร็ว ต้องแก้ไขและดำเนินการอย่างเร่งด่วน” (ตามที่ผมจดได้นะครับ)

ผมขอเรียนว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง และสามารถปฏิบัติได้จริง ดังข้อมูลในเรื่อง “เสียดายแดด” คือ ในทุกๆ หนึ่งตารางเมตรของประเทศไทยโดยเฉลี่ยแล้ว ได้รับพลังงานจากแสงแดดปีละประมาณ 1,766 หน่วย พลังงานดังกล่าวเท่ากับถ่านหิน 960 กิโลกรัม หรือเท่ากับน้ำมัน 526 ลิตร เท่ากับก๊าซธรรมชาติ 14,000 ลูกบาศก์ฟุต
 

 
แต่ปัจจุบันมนุษย์มีเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยมีประสิทธิภาพประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น จึงต้องใช้พื้นที่ให้มากขึ้นเล็กน้อยก็จะเพียงพอต่อความจำเป็นของมนุษย์
 
ถ้าเราทำการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด การสำรวจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติซึ่งกำลังเกิดขึ้นแทบจะทั่วภาคอีสานก็ไม่ต้องทำ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ก็ไม่ต้อง ซึ่งนอกจากจะไม่กระทบต่อวิถีชีวิต และสุขภาพของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรปิโตรเลียมไว้ให้คนรุ่นหลังใช้ด้วย

การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์นอกจากเป็นการกระจายรายได้แล้ว ยังเป็นการสร้างงานนับแสนคนด้วยรวมถึงเป็นการอนุรักษ์ปิโตรเลียมไว้เพื่อใช้นานๆ ตามที่ประธาน คสช.แถลงด้วยครับ

วันนี้ขอเสนอแค่นี้ก่อนนะครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น