xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เด้ง“เลขาสภาฯ”เข้ากรุ อย่าแค่เชือดไก่ให้ลิงดู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ถูกคำสั่ง คสช.ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นับตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา การโยกย้ายข้าราชการระดับสูงยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน คสช.ได้ออกคำสั่งที่ 62/2557 ให้ข้าราชการระดับสูง 3 คนไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ 1.นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 2.นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด และ 3.นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) โดยให้รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้รักษาราชการเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ให้นายตระกูล วินิจัยภาค รองอัยการสูงสุด เป็นผู้รักษาราชการแทนอัยการสูงสุด และให้นางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงไอซีที เป็นผู้รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงไอซีที

เหตุผลในคำสั่ง คสช.ในการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงนั้น ระบุว่า “เพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสม” อย่างไรก็ตาม ในข้อเท็จจริง แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เคยชี้แจงว่า การโยกย้ายข้าราชการเหล่านี้ไม่ได้ทำไปเพื่อให้มีการเสียเกียรติหรือถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีแต่อย่างใด แต่เมื่อดูรายชื่อข้าราชการที่ถูกโยกย้ายเกือบทั้งหมดล้วนแต่ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากข้าราชการเหล่านี้ล้วนมีแต่มีพฤติกรรมรับใช้นักการเมืองมาก่อนทั้งสิ้น

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 ที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นเป็นประธาน ก็ถูกครหามาตลอด เพราะมีอาวุโสลำดับที่ 3 แต่ก็ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ด้วยข้ออ้างว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายกว่าคนอื่นๆ ที่เข้าข่ายได้รับการพิจารณารวม 6 คน

หลังจากนั้น นายสุวิจักขณ์ ก็ถูกครหามาตลอดเรื่องพฤติกรรมความไม่โปร่งใส จนถูกตรวจสอบจาก ส.ส.ฝ่ายค้านอยู่เป็นประจำ อาทิ

กรณีการจ้างเหมาซ่อมแซมปรับปรุงพื้นที่ในรัฐสภา การซื้อนาฬิกาแบบตัวเลขจำนวน 238 เรือน มูลค่า 15 ล้านบาท เฉลี่ยเรือนละกว่า 6 หมื่นบาท ที่ส่อว่ามีการฮั้วประมูล กรณีการจัดซื้อเครื่องทำน้ำร้อน-น้ำเย็น 62 เครื่องจากประเทศเกาหลีใต้ และงบประมาณที่สำนักงานใช้เป็นค่าเช่าสำนักงานรัฐสภาจังหวัดอุบลราชธานี ในราคา 3 ล้านบาท ทั้งที่นายสมศักดิ์เคยบอกว่า ไม่ให้มีการเช่าสถานที่ และให้ใช้พื้นที่ของหน่วยราชการ

นอกจากนี้ ยังมีกรณีการเบิกเบี้ยประชุมของกรรมการที่แต่งตั้งโดยนายสุวิจักขณ์ ที่ได้รับเบี้ยประชุมคนละ 1,600 บาท และอนุกรรมการฯ ได้เบี้ยประชุมต่อคนจำนวน 1,200 บาทโดยไม่จำกัดจำนวนต่อครั้งใน 1 วัน ทั้งที่ ส.ส.ที่เป็นกรรมาธิการฯ ถูกจำกัดให้เข้าประชุมได้เพียงวันละ 2 คณะ และได้รับเบี้ยประชุมคณะละ 800 บาท และรับได้วันละ 1 ครั้งต่อ 1 คณะเท่านั้น

กรณีตั้งสำนักงานรัฐสภาประจำจังหวัด ยังมีการปล่อยให้ข้าราชการที่ประจำสำนักงานรัฐสภา เบิกจ่ายค่าเช่าที่พักผิดระเบียบ ซึ่งตามปกติสามารถเบิกค่าโรงแรมได้ภายใน 7 วัน แต่กลับมีการเบิกจ่ายเป็นค่าโรงแรมทั้งหมด ทั้งที่ข้าราชการเหล่านั้นได้มีคำสั่งโอนย้ายเด็ดขาดไปอยู่ประจำแล้ว โดยบางจังหวัดเบิกค่าเช่าโรงแรมมากกว่า 92 วัน

นอกจากนี้ยีงมีเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งข้าราชการหลายคนถูกแต่งตั้งเข้ามา เพราะมีนักการเมืองเข้ามาช่วยวิ่งเต้นผลักดันข้ามหัวคนอื่นๆ รวมทั้งมีกรณีที่นายธนพัชร์ นาควัชระ บุตรชายของนายสุวิจักขณ์ ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในตำแหน่งวิทยากรปฏิบัติการ ทั้งที่นายธนพัชร์ไม่ได้มีชื่ออยู่ในผู้สอบที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อรอการบรรจุเป็นข้าราชการในตำแหน่งดังกล่าว

ในช่วงการเมืองเข้าสู่วิกฤติ นายสุวิจักขณ์ ก็ได้แสดงพฤติกรรมรับใช้นักการเมืองอย่างชัดเจน กรณีการสั่งห้ามถ่ายทอดสด การประชุมนอกรอบของสมาชิกวุฒิสภา เพื่อแสดงความคิดเห็นในการหาทางออกให้แก่ประเทศ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการบริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์รัฐสภา เนื่องจากไม่อยู่ในสมัยประชุม

หลังจาก คสช.เข้ายึดอำนาจแล้ว เรื่องฉาวของนายสุวิจักขณ์ ก็ยังถูกเปิดโปงเพิ่มเติม โดย น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนว่า หลังจากที่ยุบสภาไปแล้วกรรมาธิการทั้ง 35 คณะ มีงบประมาณเหลือจ่ายจากการศึกษาดูงานจากต่างประเทศประมาณ 600 ล้านบาท นายสุวิจักขณ์ได้ใช้อำนาจโยกงบดังกล่าวและเปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพข้าราชการสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยได้นำข้าราชการสภาฯและลูกจ้างพนักงานทั้งหมด 2,245 คน ไปดูงานในประเทศกลุ่มอาเซียน ในช่วงเดือนเมษายน

จนถึงขณะที่ คสช.เข้ามากุมอำนาจบริหาร นายสุวิจักษณ์ก็ยังได้อนุมัติให้ข้าราชการ 211 คนไปดูงานที่อินโดนีเซีย 6 คณะ คือ คณะที่ 1 ระหว่างวันที่ 3-26 มิ.ย. โดยอนุมัติงบเดินทางรวม 11,681,800 บาท และซอยเป็นงบประมาณคณะละ 1,940,000 บาท รวมระยะเวลาดูงานแต่ละชุด 4 วัน

น.ส.รังสิมา เรียกร้องให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้งบประมาณในสภาฯ ยุคที่นายสุวิจักษณ์เข้ามาเป็นเลขาธิการสภาฯ เพราะมีการใช้งบประมาณที่มากกว่าปกติ บางรายการไม่สมควรใช้จ่าย ก็ยังใช้งบประมาณในลักษณะผลาญ หรือใช้ให้หมด

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีโครงการสร้างอาคารโรงพักของตำรวจรัฐสภา และงบสร้างห้องยุทธศาสตร์หรือวอร์รูมสภาร่วม 100 ล้านบาท หรืองบติดตั้งกล้องซีซีทีวีในห้องประชุมกรรมาธิการอีกกว่า 30 ล้านบาท ทั้งที่มีโครงการจะก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ สร้างมาไม่กี่ปีก็ต้องทุบทำลายทิ้ง

วันที่ 11 มิ.ย.นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ บอกนักข่าวว่า วันรุ่งขึ้น (12 มิ.ย.) จะเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำเนินการปลดนายสุวิจักขณ์ ออกจากตำแหน่ง แต่ยังไม่ทันที่นายวิลาศจะไปยื่นหนังสือ คสช.ก็มีคำสั่งให้ย้ายนายสุวิจักขณ์ตั้งแต่ช่วงกลางคืนวันที่ 11 มิ.ย. อย่างไรก็ตาม นายวิลาศก็ได้ไปยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายสุวิจักขณ์ แม้จะถูกย้ายไปแล้ว เพราะมีข่าวความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นมากมาย อาทิ โครงการปูหินอ่อนลานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่อ้างว่าเป็นหินอ่อนจากอิตาลี 15 ล้านบาท ทั้งที่ปกติไม่มีใครปูหินอ่อนในลานแจ้ง และยังมีโครงการปรับปรุงห้องต่างๆ ในสภามูลค่ามหาศาล ทั้งที่จะใช้สภาอีกเพียง 2 ปี นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลังยุบสภาแล้ว ซึ่งส่อไม่โปร่งใสและอยากให้ยับยั้ง เช่น โครงการทำป้ายเผยแพร่ความรู้การเมืองการปกครองประชาธิปไตย 8 ป้าย 48 ล้านบาท โครงการเปลี่ยนแบบก่อสร้างลานจอดรถใต้ดินอาคารรัฐสภาใหม่จาก 3 ชั้นเหลือ 2 ชั้นแล้วทำโครงการสร้างอาคารจอดรถใหม่เพิ่ม ทำโครงการรัฐสภาจังหวัดเพิ่มอีก 6 จังหวัด

ทั้งนี้ยังมีรายงานว่า มีการประสานขอซื้อโรงแรมร้างที่จังหวัดอุบลราชธานีเนื้อที่ 8 ไร่ ในราคา 60 ล้านบาท ในขณะที่ราคาตลาด 15 ล้านบาท รวมทั้งการเดินทางไปดูงานต่างประเทศที่ไปกันทุกสัปดาห์ และส่อไม่โปร่งใส เช่น ไปญี่ปุ่นแต่เดินทางด้วยสายการบินเวียดนาม และเกาหลี ไม่ใช้การบินไทย เป็นต้น

การย้ายนายสุวิจักษณ์เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู ก่อนที่จะรุกฆาตไปจัดการนักการเมืองตัวเป้งๆ หรือไม่ คงต้องติดตามดูผลงานของ คสช.ต่อไป

จะว่าไปแล้ว มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของนายสุวิจักษณ์เพียงระดับสิบล้านหรือร้อยล้าน ยังถือว่าเป็นจำนวนเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายจากการใช้อำนาจของนักการเมืองระดับรัฐมนตรี หรือผู้บงการอยู่เบื้องหลัง ซึ่งได้สร้างความเสียหายนับแสนล้านบาท

เพียงแค่ย้ายเลขาธิการรัฐสภาคนเดียว ยังไม่พอที่จะถอนรากถอนโคนการทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดและคืนความสุขให้คนไทยอย่างยั่งยืนตลอดไปอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น