ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การตัดสินใจนั่งประธานบอร์ดหรือประธานคณะกรรมการหน่วยงานสำคัญด้านเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าหลังจากหยุดชะงักเพราะปัญหาทางการเมืองแล้ว ความมุ่งหวังประการสำคัญของพล.อ.ประยุทธ์ ก็คือ การเข้ามาแก้โครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเงินการคลัง พลังงาน และทบทวนโครงการต่างๆ ที่มีปัญหา รวมถึงการชำระล้างขุมทรัพย์รัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ทุกอย่างมีความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม
ดังที่ ทาง พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถ่ายทอดถ้อยแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ย้ำต่อสาธารณชนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า คสช. มีความตั้งใจจริงที่จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม
“การแก้โครงสร้างระบบเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน เงินชดเชยต่างๆ เรื่องภาษี และรายได้เกษตรกร ในระยะแรกพยายามผ่อนคลายความเดือดร้อนของประชาชนเป็นลำดับแรก ระยะต่อไป เมื่อมีรัฐบาล มีคณะรัฐมนตรี จะได้นำเข้าไปดำเนินการให้ถูกต้องจนทุกฝ่ายพึงพอใจ ขอให้มั่นใจ คสช.จะบริหารแผนโครงการและงบประมาณภายใต้ความถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบได้ จะไม่มีในเรื่องทุจริต หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ระบบการจัดซื้อจัดจ้างในทุกโครงการสามารถเข้าแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม ไม่มีระบบผูกขาดใดๆ
“ขอให้มั่นใจ คสช.มีความตั้งใจจริง มิได้มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างที่หลายกลุ่มหลายฝ่ายได้กล่าวอ้าง และขอยืนยันว่าจะไม่เริ่มแก้ไขสิ่งที่ผิดสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ด้วยการที่จะเริ่มทำความผิดขึ้นใหม่ หรือปล่อยให้มีการทำผิดเสียเอง ความคาดหวังจากการที่คสช.ได้พยายามดำเนินการมา หรือที่พยายามดำเนินการอยู่ ยากที่จะใช้คำว่า WIN-WIN น่าจะใช้คำว่าทุกคนได้รับผลประโยชน์ตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ โดยที่เงินงบประมาณของประเทศไม่รั่วไหล
“คนไทยหลายคนใจร้อน และรักความยุติธรรม หัวหน้า คสช.เข้าใจ ก็กำลังจะดำเนินการให้อยู่อย่างดีที่สุด เราไม่สามารถแก้ปัญหาที่สะสมมาเป็นสิบๆ ปี ได้ด้วยเวลาเพียงไม่กี่วัน เว้นแต่เรื่องที่ติดขัดนั้นไม่ขัดกฎหมาย ซึ่งเดิมถูกละเว้น ถูกบิดเบือน เราต้องทำให้กฎกติกาเหล่านั้นทำงานและทำให้ทันสมัยขึ้น” รองโฆษก คสช. เน้นย้ำให้ประชาชนมั่นใจต่อคสช.”
ในการประชุมคณะคสช. ครั้งที่ 1/2557 ซึ่งเปรียบเสมือนการประชุมคณะรัฐมนตรีของ คสช. นัดแรก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำในที่ประชุมอีกครั้งในการพิจารณาปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ว่า จะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการจัดทำแผนงบประมาณปี 2558 เพื่อให้สอดคล้องมีการบูรณาการร่วมกันในระบบงานใหญ่ๆ โดยเฉพาะโครงการที่มีปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งขอให้ฝ่ายตรวจสอบเข้าดำเนินการตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
ย้ำแล้วย้ำอีกให้เห็นชัดเจนว่าคสช.จะบริหารประเทศเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงินมหาศาล โดยดำเนินการควบคู่ไปพร้อมๆ กับความโปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้ ซึ่งนับจากนี้คงทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มโงหัวเห็นแสงรำไร ฟังได้จากเสียงขานรับของนักธุรกิจ นักลงทุน แม้ว่าคู่ค้าต่างประเทศอย่างบิ๊กเบิ้ม สหรัฐอเมริกา จะยังไม่เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ "บิ๊กตู่" ก็เดินแต้มเข้าหาจีนเพื่อคานอำนาจสหรัฐฯ
สำหรับการประเดิมนั่งประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะอนุมัติโครงการคั่งค้างกว่า 7 แสนล้านบาท คาดว่าบรรยากาศการลงทุนจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง และนับจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถวางนโยบายการพัฒนาประเทศได้ว่าต้องการให้หันหัวเรือไปทางไหนผ่านช่องทางการให้สิทธิพิเศษในการส่งเสริมการลงทุน เช่น พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ซึ่งเดิมถูกกีดกันด้วยกฎระเบียบการขออนุญาตการลงทุน เป็นต้น
แต่สิ่งที่ประชาชนคาดหวังและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมากๆ ก็คือ การที่หัวหน้าคสช.เข้ามานั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีภารกิจปฏิรูปโครงสร้างกิจการพลังงานของประเทศทั้งระบบ ตั้งแต่กิจการต้นน้ำ คือ การขุดเจาะปิโตรเลียม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในมือของ 3 รายใหญ่ คือ เชฟรอน, ปตท.สผ.,เฮสส์ ผ่านการให้สัมปทานที่จ่ายค่าภาคหลวงให้แก่รัฐในอัตรา 5-15% และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในอัตรา 50% จะมีการปรับเปลี่ยนใหม่เป็นระบบแบ่งปันผลผลิตเหมือนกับมาเลเซียหรือไม่ รวมทั้งการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในรูปของเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ปตท.เป็นผู้ผูกขาดนำเข้าแต่เพียงรายเดียว
ส่วนกิจการกลางน้ำ คือ โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซฯ ที่ปตท.ผูกขาด นำไปสู่สิทธิผูกขาดในการเป็นเป็นผู้จัดซื้อ จัดหาพลังงานเชื้อเพลิงของประเทศแต่เพียงรายเดียว รวมถึงได้สิทธิเป็นผู้ผูกขาดการขายน้ำมันสำเร็จรูปให้กับหน่วยงานของรัฐบาล จะต้องถูกยกเลิกไป หรือไม่
คสช. จะกล้าหาญเพียงพอที่จะเอาปตท. ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อเป็นการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม เพราะเห็นแล้วว่าทั้งกิจการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำคือสถานีบริการน้ำมันมีความเกี่ยวโยง สลับซับซ้อนและเป็นขุมทรัพย์ของปตท.และเครือทั้งนั้น
อย่าลืมว่าปตท.นั้นยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลเหนือรัฐมายาวนาน การปรับรื้อโครงสร้างพลังงานของชาติคราวนี้ต้องรอดูว่าระหว่างปตท.กับคสช.ใครใหญ่ ใครอยู่
แต่ที่ คสช. เก็บคะแนนทำแต้มได้ใจประชาชนโดยเฉพาะคนที่อยู่ตามแนวลุ่มน้ำแล้ว ก็คือ การชะลอโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลชุดก่อนดันทุรังเดินหน้าประมูลโดยไม่ฟังเสียงทัดทาน ซึ่งโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบจะมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการระดับคสช.” ขึ้นมาพิจารณาใหม่ และมีความเป็นไปได้ว่า โครงการที่มีเม็ดเงินลงทุนสูง มีปัญหาสารพัด สุ่มเสี่ยงส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมนั้น คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงต้องนั่งหัวโต๊ะเองอีกเช่นกัน
“ไม่ใช่การหยุด เพียงแต่ให้ชะลอไว้ก่อนเพื่อให้ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาพูดคุยกันในภาพรวม ว่าโครงการไหนเหมาะสมที่จะเดินหน้าต่อ เช่น สมมติว่ามีอยู่ 100 โครงการ ส่วนราชการอาจจะเสนอ 900 โครงการ ที่เห็นว่ามีความสำคัญ เร่งด่วนในการดำเนินการ หรืออาจจะปรับรูปแบบ หาทางแก้ปัญหา บางโครงการอาจจะไปทับที่ของชาวบ้านอยู่ เราก็มาหารือร่วมกันว่าจะหาทางออกอย่างไร” พ.อ.วีรธัช ศรีใส ผู้ประสานงานเรื่องการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมของประเทศ ชี้แจงถึงคำสั่ง คสช. ที่สั่งระงับการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เอาไว้ก่อน
เหมือนกับคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่แปรรูปแปลงร่างเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน และมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. ฝ่ายเศรษฐกิจเป็นรองประธาน ด้วยว่าที่ผ่านมาปัญหาโครงการจำนำข้าวหนักหนาสาหัส ทั้งการทุจริตทุกขั้นตอน ทั้งผลการขาดทุนกว่า 5 แสนล้านที่ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังและหนี้สาธารณะของประเทศ ทั้งมีปัญหาการจ่ายเงินล่าช้าจนมีชาวนาฆ่าตัวตายนับสิบ และเรื่องข้าวเรื่องชาวนาเป็นประชาชนคนหมู่มากที่หัวหน้าคสช.ต้องการเข้ามาดูแลทุกข์สุขด้วยตัวเอง
เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไฟเขียวให้มีการตรวจสต็อกข้าวทั่วประเทศ และมีรายการเชือดไก่ให้ลิงดู โดยศาลจังหวัดชัยภูมิ ตัดสินคดีโรงสีโกงจำนำข้าว โดยสั่งลงโทษหนักจำคุก 20 ปี ขณะเดียวกัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็เร่งเครื่องสอบบัญชีทรัพย์สินหนี้สินนักการเมืองในรัฐบาลเพื่อไทยที่ถูกข้อหาทุจริตจำนำข้าว คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์, นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ซึ่งจะสอบไปถึงคนใกล้ชิดด้วยหากพบผิดปกติมีหวังถูกยึดทรัพย์และอายัดทรัพย์กันระนาว
นอกเหนือไปจากนี้ หัวหน้าคสช. ยังจะต้องเข้ามาดูเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่กระทรวงการคลัง ชงรอหัวหน้าคสช.พิจารณา โดยสาระสำคัญหลักที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง คือ การปรับเพิ่มภาษีดีเซล และปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% จากปัจจุบันจัดเก็บที่ 7% และเก็บภาษีเพิ่มในสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เรื่องสำคัญเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ ขอดูด้วยตัวเองอีกเช่นกัน
นับรวมไปถึงเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ ที่เริ่มดาบแรกด้วยการตัดสิทธิประโยชน์ที่ไม่ควรได้ เช่น ตั๋วบินฟรีของบอร์ดการบินไทย ซึ่งเป็นการลงมือที่ได้ใจประชาชนอย่างมาก เพราะเห็นๆ กันอยู่ว่าการบินไทยขาดทุนบักโกรกแต่บอร์ดยังเสวยสุขไม่รู้ร้อนรู้หนาว
จากนี้ไปจึงเป็นไปได้ว่า คสช. คงเข้าไปจัดการเรื่องสิทธิพิเศษ เบี้ยประชุม โบนัส ฯลฯ ของบอร์ดรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่อิ่มหมีพลีมันกันมานาน พร้อมกับขันนอตให้การบริหารงานของรัฐวิสาหกิจเกิดประสิทธิภาพ เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อประชาชนเป็นที่ตั้งมากยิ่งขึ้น
ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงที่พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะคสช. อาสาเข้ามาชำระสะสางด้วยตัวเอง ก็เพราะปัญหาแต่ละอย่างหมักหมมมายาวนาน ที่ผ่านมาบางเรื่องมีการแก้ไขก็ทำแบบลูบหน้าปะจมูก ซุกขยะไว้ใต้พรม ที่สำคัญการดำเนินโครงการต่างๆ ล้วนเต็มไปด้วยข้อครหานินทาว่าไม่มีความโปร่งใส เล่นพรรคเล่นพวก กอบโกยเอาผลประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้องส่วนความตั้งใจของพล.อ.ประยุทธ์ จะสำเร็จลุล่วงหรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป