xs
xsm
sm
md
lg

ถือศีลอด : โอกาสพิชิต...โรคอ้วน เบาหวาน และ ความดันเลือดสูง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นายแพทย์ ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ
คลินิคศูนย์แพทย์พัฒนา เขตวังทองหลาง กทม. 10310

ศีลอด หรือ ศิยาม ในภาษาอาหรับ หมายถึง การอดอาหารและเครื่องดื่ม และการเสพกาม ตั้งแต่ยามรุ่งอรุณ จนกระทั่งถึงเวลาหลังตะวันตกดิน การถือศีลอดในเดือนรอมะฎอน เป็นประเพณีสำคัญสำหรับชาวมุสลิม และเป็นกฎหมายของศาสนาอิสลาม หรือ ชารีอะห์ สำหรับชาวมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะและมีความสามารถที่พึงปฎิบัติ

ฤดูกาลถือศีลอดสำหรับปีนี้ก็ใกล้จะมาถึง การถือศีลอด น่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องลดอาหารและลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพ เช่นคนที่มีอาการอ้วนพุงพลุ้ย เบาหวาน ความดันเลือดสูง รวมทั้งคนมีไขมันเลือดสูง และโรคไขมันจุกตับ ฯ ซึ่งรวมเรียกอาการโรคกลุ่มนี้ว่า Metabolic syndromes หรืออาการ“โรคกินเกิน” แม้มีรายงานบางคนสามารถลดน้ำหนักได้จากการถือศีลอด แต่ผลต่อเบาหวานและไขมันเลือดที่ปรากฏก็ยังไม่ประทับใจมากนัก

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าคนส่วนใหญ่ หลังฤดูกาลถือศีลอด มักพบมีน้ำหนักตัวเพิ่ม ขี้นจากเดิม ผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลเลือดสูงขึ้น หรือไขมันในเลือดสูงด้วย คล้ายกับว่าอาการ“โรคกินเกิน” กลับเพิ่มขึ้น สันนิฐานว่า ในช่วงถือศีลอด แม้จะมีการอดอาหารช่วงกลางวัน แต่กลับมีการกินอาหารชดเชยตอนกลางคืนเพิ่มขี้น

บางคนมีการกินอาหารหนักในมื้อเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ก็อาจเพระเชื่อว่าหากกินน้อยแล้วจะเกิดหิวตอนกลางวัน แต่ความเชื่อนี้ไม่น่าเป็นจริง คือคนที่กินอาหารมื้อเช้า โดยเฉพาะหนักอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล กลับจะหิวบ่อยขึ้น เพราะแป้งและน้ำตาลที่กิน จะกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน การมีระดับอินซูลินสูงก็เร่งให้น้ำตาลในเลือดหายเข้าไปในเซลล์เร็วขึ้น และอาจนำมาสู่ภาวะน้ำตาลเลือดต่ำ (hypoglycemia) คือมีอาการหิว ใจสั่น สมองตื้อ คนที่กินอาหารหนักข้าวตอนเช้า ก็มักจะเกิดความหิวตอนสาย ๆ

เมื่อปี ค.ศ. 2011 มีการสำรวจจาก 173 ครอบครัวในเมือง Jeddah ประเทศซาอุดิอาระเบีย รายงานพบว่าช่วงเดือนรอมะฎอน ทุกครอบครัวมีการจับจ่ายอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งมีเหตุผลทางสังคมมากกว่าเหตุผลทางศาสนา ราว 15% ยอมรับว่ามีกการกินอาหารปริมาญเพิ่มขึ้น หลังเดือนรอมะฎอน พบว่าคนที่ถือศิลอด เกือบ 60% มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และ 40% เชื่อว่าอ้วนเพราะลักษณะอาหารที่บริโภค มีข้อมูลเว่ามีการบริโภคแป้งและน้ำตาลเพิ่มขึ้น เช่น ผลอินทผาลัมในช่วงเย็น หรือกินข้าวมากในมื้อเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น (Nutrition Journal 2011; 10:84)

ชุมชนหรือสังคมใดที่พอมีจะกิน และอาหารมักจะเน้นไปทางแป้งและน้ำตาล ก็มักมีอัตราประชากรเป็นเบาหวานสูง เช่นจากการสำรวจของสหพันธ์เบาหวานนา ๆชาติ (IDF) พบว่า ประเทศทางตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย รวมกับประเทศข้างเคียง เช่น คูเวต เลบานอน กาตาร์ บาห์เรน และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีประชากรเป็นโรคเบาหวานเฉลี่ยสูงถึงราว 20 % นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีอัตราคนเป็นเบาหวานสูงที่สุดในโลก เทียบกับประเทศไทย มีคนเป็นเบาหวานราว 10 % ซึ่งก็นับว่ามีอัตราสูงเช่นกัน โดยเฉพาะชาวมุสลิมในบ้านเรา นอกจากกินข้าวมาก ยังมีธรรมเนียมกินหวานด้วย ไม่ว่าจะเป็นชาหวาน หรือน้ำหวานสำหรับต้อนรับแขกมาเยือน ขนมของหวานมากมายในงานบุญ แม้แต่กับข้าว หรือสลัด(แขก) ก็เต็มไปด้วยน้ำตาล จึงพบว่าชาวมุสลิมมีอัตราเป็นโรคอ้วนและเบาหวานสูงกวาคนในสังคมอื่นที่อยูบริเวณใกล้เคียง

หลังการกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมาก ร่างกายจะมีระดับอินซูลินในเลือดสูง อินซูลินเป็นฮอร์โมนเร่งให้ตับแปลงน้ำตาลไปสร้างเป็นไขมัน (de novo lipogenesis) และอินซูลินยังเป็นกุญแจไขเปิดให้ไขมันที่ตับสร้างไปเก็บสะสมในเซลล์ไขมัน ดังนั้น กินแป้งกินหวานมากจะทำให้อ้วนง่าย ร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซุลิน และเป็นโรคเบาหวานตามมา

คนอ้วนมักมีระบบฮอร์โมน renin-angiotensin-aldosterone (RAAS) ในเลือดค่อนข้างสูง ระบบ RAAS ที่สูงมีผลทำให้หลอดเลือดหดตัว ทั้งมีผลให้ไตมีสมรรถภาพลดลง นี่คงเป็นสาเหตุหลักทำให้คนอ้วนมักมีความดันเลือดสูง และอาจมีอาการไตเสื่อมด้วย หากสามารถลดน้ำหนักได้ ระบบ RAAS ในเลือดจะลดลง และความดันเลือดก็จะลดลง(N Engl J Med 1981; 304:930) ทั้งสมรรถภาพไตก็มักดีขึ้นด้วย (Curr Hypertens Rep. 2012; 14:170)

ความจริง สูตรอาหารจำกัดแป้งและน้ำตาล (Restricted carbohydrate diet) หรือที่เรียกทั่วไปว่า Lo/No Carb Diets ปกติก็ใช้สำหรับรักษาอาการ”โรคกินเกิน” ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนัก คุมเบาหวาน ลดระดับไขมันเลือด(http://mdcenter.org/md/knowledge/31) ก็ปรากฎได้ผลดีน่าพอใจ ในช่วงแรก เราอาจอนุโลมให้มีอาหารเนื้อมากหน่อย หรือให้กินจนอิ่ม ธรรมชาติของอาหารโปรตีนจะทำให้อิ่มเร็วและนาน กินอาหารอย่างอื่นได้น้อยลง(Am J Clin Nutr 2005; 82:41) นานวันเข้าจะรู้สืกว่ากินเนื้อได้น้อยลง เนื้อควรติดมันบ้างเพื่อให้เนื้อนิ่มและมีรสชาดดีกว่า ไขมันในอาหารจะช่วยกระตุ้นผนังลำไส้เล็กมีการหลั่งสาร cholecystokinin (CCK) ซึ่งออกฤทธิ์ที่สมองทำให้รู้สึกอิ่ม (Physiol Behav. 2004,83:617)ช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็วและอิ่มนานด้วย

ในต่างประเทศ ก็มีการแนะนำสูตรอาหารลดแป้งลดน้ำตาลแต่เพิ่มอาหารเนื้อมาใช้ในช่วงถือศิลอด (http://www.turntoislam.com/forum/showthread.php?t=41903) ซึ่งจะช่วยให้อิ่มนาน ไม่หิวบ่อยและไม่อ้วนง่าย ที่สำคัญคือคนที่กินยาเบาหวาน อาจต้องปรับลดหรืองดยา เบาหวานไปก่อน มิฉนั้นอาจเกิดภาวะน้ำตาลเลือดต่ำ หรือ อาการช็อกน้ำตาล เพราะสูตรอาหารนี้จะช่วยปรํบลดระดับน้ำตาลเลือดได้เร็ว

เมนูอาหารสูตรจำกัดแป้งและน้ำตาลก็เป็นเรื่องไม่ยาก เช่น อาหารมื้อเช้า ควรเป็นอาหารเบาและหาง่าย เช่นไข่ต้ม ไข่ดาว ไส้กรอก เนยแข็ง (cheese) ชา กาแฟ(ปลอดน้ำตาล) ส่วนอาหารเย็น หากต้องมีผลอินทผาลัม ก็ควรกินแค่เม็ดเดียวพอเป็นพิธี สำหรับคนเป็นเบาหวารก็ใช้ดื่มน้ำแทน ส่วนอาหารหลักอาจเป็น เนื้อทอด เนื่อสะเต็ก หรือไก่ทอดหาดใหญ่ ซุปไก่ ซุปเนื่อ หรือซุปหางวัว ผักต้ม(ใส่เนย)ผักสะลัด หลีกเหลี่ยงน้ำจิ่มน้ำสะลัดที่มีน้ำตาลปน

หากคุณเป็นคนที่จะต้องถือศีลอดในไม่กี่วันข้างหน้านี้ จะไม่ลองสูตรอาหารนี้บ้างหรือ ท่านจะรู้สึกไม่หิวไปทั้งวัน และหากท่านมีอาการอ้วนพุงพลุ้ย เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันเลือดสูง และโรคไขมันจุกตับ ฯ หรือที่รวมเรียกว่า“โรคกินเกิน” ท่านก็ควรอาศัยช่วงถือศีลอดในเดือนรอมะฎอนอันศักดิ์สิทธินี้ ช่วยรักษาสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง ลดภาระให้แก่สังคม และเป็นประโยชน์สำหรับตัวเองด้วย

ปล. ตามปฏิทินมุสลิม วันที่ 1 รอมฏอน ฮ.ศ.1435 (วันแรกเริ่มของการถือศีลอด) จะตรงกับวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557


กำลังโหลดความคิดเห็น