xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จะ “สลายสีเสื้อ” จะ “ปรองดอง” ต้องไม่ลืมล้าง “ระบอบทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปธรรมของการปรองดองที่ปรากฏให้เห็น ณ จังหวัดนครราชสีมา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นรูปธรรมให้เห็นกันมากขึ้นแล้วสำหรับ “Road Map” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเรื่องของการปรองดองที่เวลานี้เดินหน้ามาถึงการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) โดยมี “บิ๊กโชย-พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ในครั้งนี้

ดังนั้น สังคมจึงกำลังจับตาดูเป็นพิเศษโดยเฉพาะขั้นตอนการดำเนินการในเรื่องปรองดองจะออกมาในรูปแบบไหน จะสามารถแก้ไขปัญหาคืนความสุข ลดความขัดแย้งได้จริงหรือไม่ ดังปรากฏให้เห็นเป็นข่าวจากกรณีการพาแกนนำกปปส.-นปช.โคราชจับไม้จับมือสาบานต่อหน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือการจัดคอนเสิร์ตเชื่อมความสัมพันธ์ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น

เพราะขณะนี้ยังมีคนอีกกลุ่มที่ชู 3 นิ้วต้านรัฐประหารยังคงไม่เข้าใจบริบทปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ รวมถึงแกนนำระดับห้าวเป้งของระบอบทักษิณที่ประกาศกล้าท้ารบอยู่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหาก คสช.ไม่ตีงูให้ตายโดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าการรัฐประหารครั้งนี้คือการขุดรากถอนโคนระบอบทักษิณ ด้วยการนำเสนอให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาให้คนในประเทศชาติได้เกิดความกระจ่าง เนื่องจากกับดักคำว่า “ปรองดอง” ได้เคยทำให้การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ล้มเหลวให้เห็นมาแล้วครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนการในขั้นตอนที่ 1 ของRoad Map ที่พล.อ.ประยุทธ์ได้แถลงเอาไว้สำหรับการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปชัดเจนว่า ภายในกรอบระยะเวลา 2-3 เดือน จะทำให้คนไทยตื่นจากฝันร้ายเสียที หลังจากเจอมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ความคืบหน้าของแผนการปฏิบัติ ก็ออกมาแล้ว โดย คสช.ได้มอบหมายให้ พล.ท. กัมปนาทเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งก็มีอยู่ทั้งหมด 3 ขั้นตอนคือ

ขั้นที่หนึ่ง เตรียมความพร้อมโดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) จะเชิญผู้แทนส่วนที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือถึงกำหนดกรอบแนวทางในการดำเนินการ โดยมีกอ.รมน.ภาค 1-4 รับหน้าที่จัดตั้ง ศปป. จากนั้นก็กำหนดรวบรวมข้อมูลและแผนการปฏิบัติเพื่อดำเนินการในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

ขั้นที่สอง ช่วงเดือนมิถุนายน 2557 จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของศปป. โดยคณะทำงานส่วนกลางจะรวบรวมความเห็นในส่วนกลางและจัดทำเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการ ส่วนศปป.กอ.รมน.ภาค 1-4 จะรวบรวมความเห็นจากระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดเพื่อเสนอให้ ศปป.รับทราบ

และขั้นที่สาม เดือนกรกฎาคม 2557 จะมีการประมวลข้อมูลที่ได้รับนำไปสู่การเสนอแนวทางการปฏิบัติเพื่อประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหาในภาพรวมต่อไป

โดยทั้งสามขั้นตอนนี้จึงเปรียบเสมือนการ “ฟื้นฟู”รากฐานความคิดของคนในประเทศชาติให้กลับมามีบรรยากาศของความสามัคคี ทำให้ปรากฏภาพคนไทยรักกัน แตกต่างแต่ไม่แตกแยก คนไทยจะยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน พลเรือน ตำรวจ ทหารจะช่วยกันสร้างความเข้าใจให้คนไทยยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ช่วยกันจัดกิจกรรมปรองดองสมานฉันท์ อีกทั้งจะจัดให้มีเวทีเสวนาชุมชน และนี่คือทั้งหมดของแผนงานของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปในช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนนี้

“ในช่วงเวลาพิเศษนี้เจตนารมณ์ของหัวหน้า คสช.ต้องการคืนความสุขให้กับคนในชาติ สลายความขัดแย้งในสังคม สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ ยึดถือสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสงบสุขปลอดภัยของประชาชน ให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้ง เข้ามาร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟู เดินหน้าประเทศ เพื่อเตรียมการเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูป และนำไปสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง กอ.รมน.ได้ร่วมหารือกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป เพื่อค้นหาแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกัน ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง พร้อมกับขอให้หน่วยงานได้เร่งรัดในการดำเนินการเชิงคู่ขนานอย่างต่อเนื่องด้วย” พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงถึงความคืบหน้าของศูนย์ ศปป.

ทั้งนี้ สำหรับการสร้างความปรองดองของ ศปป.ก็เริ่มปฏิบัติออกมาให้เห็นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557กันบ้างแล้ว โดยพล.ต.ไชยพร รัตแพทย์ รองแม่ทัพน้อยที่ 2 (รอง มทภ.2) กองทัพภาคที่ 2 ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภาค 2 (หน.ศปป.กอ.รมน.ภ.2) ได้พานายอนุวัฒน์ ทินราช รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา อดีตประธาน นปช.ภาคอีสาน, นายสมโภชน์ ปราสาทไทย, นายสัมภาษณ์ อัตถาวงศ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย นครราชสีมา น้องชาย นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ “แรมโบ้อีสาน” มากราบสักการะอนุสาวรีย์ย่าโม จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็จับมือกันเพื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงการปรองดอง สมานฉันท์ ไม่ขัดแย้งหรือแตกแยกกันอีก

“วันนี้ได้เรียนเชิญแกนนำของทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยหารือกันว่าทำอย่างไรให้บ้านเมืองเราก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่ยึดติดเรื่องในอดีต ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะจัดให้มีการละเล่นดนตรี และจัดกิจกรรมร่วมกันทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ทุกกลุ่มได้มาพูดคุยทำความเข้าใจกัน ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดดนตรีขึ้นภายในสัปดาห์นี้ หรืออาจแข่งขันกีฬาร่วมกันด้วย”

“จึงนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ใน จ.นครราชสีมา มีทั้งสองฝ่ายให้ความร่วมมือที่ดี และทุกคนเป็นเพื่อนกัน ยินดีทำงานขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อให้ประเทศชาติสงบสุข ซึ่งกองทัพภาคที่ 2 จะจัดกิจกรรมปรองดองเช่นนี้ขึ้นในทุกจังหวัดเพื่อสลายสีเสื้อนำความสุขกลับมาสู่ประเทศไทยโดยไม่มีการแยกฝักแยกฝ่ายกันอีกต่อไป” พล.ต.ไชยพร รัตแพทย์ ชี้แจงถึงกิจกรรมดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมในทำนองนี้เกิดขึ้นในอีกหลายต่อหลายจังหวัด ทว่า จะเป็นการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนหรือไม่ ยังคงมีคำถาม ดังเช่นที่ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นนี้ไว้ในบางช่วงบางตอนว่า “เมื่อทำรัฐประหารแล้วอย่าให้เสียของ จัดการต้นตอของปัญหาในสิ้นซากในระดับที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า uproot คือถอนรากถอนโคน อย่าให้เป็นตีงูให้หลังหัก”

กล่าวสำหรับตัวบิ๊กโชยผู้เป็น ผอ.ศูนย์ฯ นั้น คงต้องไปตรวจสอบเป็นทางกันสักนิดว่า มีประวัติกันอย่างไรและทำไมถึงได้รับความไว้วางใจจากบิ๊กตู่ เพราะถ้าจะว่าไปแล้วบิ๊กโชยคือจักรกลคนสำคัญไม่แพ้บิ๊กๆ คนอื่นเช่นกัน

บิ๊กโชยเป็นนักเรียนเตรียมทหาร (ตท.) รุ่นที่ 16 นักเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 27 เพื่อนร่วมรุ่นซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ พล.ร.ต.วินัย กล่อมอินทร์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ และ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้ช่วย ผบ.ตร.


บิ๊กโชยเติบโตในสังกัดกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว (RDF) กองพันทหารราบที่ถือเป็นหน่วยพร้อมรบที่สุด ซึ่งมีเกียรติประวัติการรบทั้งในและต่างประเทศ

ในปี 2549 ก่อนการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 บิ๊กโชยก้าวขึ้นเป็นผู้บังคับการ ร.31 รอ. จ.ลพบุรี ซึ่งถือเป็นกำลังหลักหน่วยหนึ่งในการยึดอำนาจครั้งนั้น ต่อมาในปี 2550 ติดยศพลตรีในตำแหน่งผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 15 กลับมาเป็นรองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) และขึ้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. ในปี 2552 และดำรงตำแหน่งมาจนถึงปี 2553

ปลายปี 2554 ก้าวขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 และได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จ.นราธิวาส บุกเบิกงานมวลชนสัมพันธ์จนได้รับการยอมรับอย่างสูงจากหลายฝ่ายในพื้นที่


จากนั้นก้าวขึ้นติดยศพลโทในตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกในปี 2545 และยังทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

เห็นเส้นทางและการทำงานแล้ว ต้องบอกว่า ไม่เป็นธรรมดา

เอาเป็นว่า งานนี้คงต้องติดตามการทำงานของ “บิ๊กโชย” ในฐานะผอ.ศปป.กันต่อไปว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่


พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผอ.ศูนย์ปรองดองฯ
กิจกรรมคืนความสุขให้คนไทยที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
กำลังโหลดความคิดเห็น