กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีแต่เรื่องเน่าๆ แจง “ธาริต เพ็ญดิษฐ์” ทำงานสนองการเมือง จนกลายเป็นจุดบอดองค์กร ขณะที่สร้างรัฐตำรวจในดีเอสไอ ใช้ยุทธวิธีต่างตอบแทน คนในชี้ต้องเร่งปฏิรูป หวังได้ผู้นำ “เก่ง-ดี-มีคุณธรรม” สร้างภาพลักษณ์ใหม่สนองประชาชน-ประเทศชาติได้ มั่นใจดีเอสไอมีอำนาจ กฎหมายและเครื่องมือพิเศษพร้อม ขณะที่ปลัดยุติธรรม เสนอแผนรื้อดีเอสไอ ให้ คสช. ต้องปลอดการเมือง!
ภายหลังการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้า คสช. ตั้งแต่เวลา 16.30 น. ของวันที่ 22 พ.ค. 57 ได้มีกระแสข่าวปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการออกมาชุมนุมต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการต่อต้านการยึดอำนาจในครั้งนี้ โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านมีการติดตามข่าวสารเป็นชั่วโมง เป็นวัน ว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือไม่
โดยกลุ่มต่อต้านก็ใช้โซเชียลมีเดียปล่อยข่าวไปตามกลุ่มต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าการกระทำของ คสช. ครั้งนี้ไม่ถูกต้องและไม่ได้รับการยอมรับจากสถาบัน ซึ่งทุกอย่างปรากฏให้เห็นชัดเจนแล้วเมื่อเวลา 11.20 น. ในวันนี้ (26 พ.ค.) ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ตรงกันข้ามกับ คสช. ได้ดำเนินการในทุกๆ ด้านที่จะทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งในเรื่องความพร้อมในการปฏิบัติงานท่ามกลางภาวะที่ไม่มีรัฐบาล การจัดการกับองค์กรและบุคลากรที่เป็นปัญหาและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบอบทักษิณเติบโตและกลายเป็นหน่วยงานที่ใช้กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามก็ได้มีการโยกย้าย เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่วนกลุ่มฮาร์ดคอร์ที่สร้างความปั่นป่วน ได้มีการสนธิกำลังระหว่างตำรวจ-ทหาร เข้าจัดการทันที
ขณะเดียวกัน ปัญหาโครงการจำนำข้าวที่เกษตรกรจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่สามารถเบิกเงินจากรัฐได้ จนกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ลุกลามระหว่างพรรคเพื่อไทย นปช. และกลุ่ม กปปส. ทาง คสช. ก็รีบดำเนินการสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาและมีการสั่งจ่ายได้ทันทีเช่นกัน ส่งผลให้ปัญหาโครงการรับจำนำข้าว กลายเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ประชาชนคนรากหญ้าต้องเทใจให้กับ “คสช.”
ที่สำคัญเมื่อ คสช. ได้รับการโปรดเกล้าฯ มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการบ้านเมือง หรือเป็นคณะรัฐบาลซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และให้ปลัดกระทรวงต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี อยู่ภายใต้หัวหน้าส่วนตามโครงสร้างอำนาจที่ คสช. กำหนดไว้ จะพบว่าทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยเวลาอันรวดเร็ว
เพราะทุกองค์กรต่างเร่งนำเสนอ Roadmap ในการบริหารจัดการภายในของตัวเอง เนื่องเพราะในช่วงนี้เป็นช่วงของการใช้กฎหมายพิเศษ อะไรที่เป็นปัญหาหรือติดขัดด้วยเงื่อนไขข้อกฎหมายก็จะสามารถจัดการได้
โดยเฉพาะหน่วยงานอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในยุครัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าเป็นหน่วยงานที่ควรถูกยุบเป็นอันดับต้นๆ เพราะไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนแต่กลายเป็นหน่วยงานที่สร้างขึ้นมาเพื่อสนองคนการเมืองโดยตรง
“ประยุทธ์” สั่งย้าย “ธาริต” มีเฮ
ดังนั้น ทันทีที่มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน และให้พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อีกหน้าที่หนึ่ง โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อนนั้นดูจะเป็นเรื่องถูกอกถูกใจผู้คนในองค์กรดีเอสไอ ที่มองเห็นว่าถึงเวลาแล้วองค์กรดีเอสไอจะต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน
เพราะในความเป็นจริงแล้วเจตนารมณ์ในการก่อตั้งหน่วยงานดีเอสไอ เป็นเรื่องที่ดีมีภารกิจที่เกี่ยวกับการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวนและการสอบสวนคดีความผิดทางอาญาที่ต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนโดยใช้วิธีการพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ
“คือดีเอสไอมีดาบ มีอำนาจและเครื่องมือพิเศษในการป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงได้ดี”
แต่ข้อเสียที่คนในดีเอสไอเชื่อว่าเป็นปัญหาที่ทำให้ภาพลักษณ์องค์กรเสียหายนั้น เกิดจาก พ.ร.บ. สอบสวนคดีพิเศษที่ให้อำนาจอธิบดีดีเอสไอมากเกินไป โดยตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดตัวบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการ เป็นพนักงาน และเป็นเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอ รวมไปถึงการกำหนดประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจการสอบสวนของดีเอสไอ และกำหนดอำนาจพิเศษให้กับเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอที่มีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วไป
โดยเฉพาะในมาตรา 5 ให้มีคณะกรรมการคดีพิเศษ “กคพ.” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 9 คน และในจำนวนนี้ต้องมีบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร เทคโนโลยีสารสนเทศหรือกฎหมาย อย่างน้อยด้านละ 1 คนเป็นกรรมการ
พร้อมให้อธิบดีดีเอสไอเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการในดีเอสไอไม่เกิน 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวอธิบายว่า ถ้าดูตามรายชื่อคณะกรรมการคดีพิเศษ จะเห็นว่ามีความหลากหลายได้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาเข้ามาพิจารณา ซึ่งความจริงแล้วกฎหมายยังมีช่องให้อำนาจการเมืองแทรกแซงได้มาก โดยเฉพาะคดีที่อยู่นอกเหนือแนบท้ายพระราชบัญญัติ จะเป็นอำนาจของอธิบดีดีเอสไอ เป็นผู้พิจารณาเห็นสมควรเพื่อนำเสนอคณะกรรมการคดีพิเศษ
“ถ้าเราได้อธิบดีที่ดี นอกจากจะมีความรู้ความสามารถแล้ว ความสำคัญจะอยู่ที่อธิบดีคนนั้น มีคุณธรรม จริยธรรมหรือไม่ ถ้าได้คนมีคุณสมบัติเก่ง ดี มีจริยธรรม คุณธรรม จะสามารถใช้กลไกอำนาจที่ดีเอสไอมีอยู่ในการปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรงจะช่วยประเทศชาติได้”
ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับบุคคลที่จะเข้ามานั่งเป็นผู้นำสูงสุดของดีเอสไอ ถ้าได้อธิบดีที่ต้องอิงแอบนักการเมือง จะทำให้องค์กรเสียหาย คดีความต่างๆ จะขาดความยุติธรรม ทุกๆ เรื่องจะถูกเบี่ยงเบนไปหมดโดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายภายในองค์กรก็จะเข้าสู่ระบบอุปถัมภ์ รวมไปถึงการสั่งคดีความว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ถูกการเรีมืองสั่งการทั้งสิ้น
“คณะกรรมการพิเศษ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หรือมอบหมายรองนายกฯ มี รมต.ยุติธรรม สรุปเมื่อนักการเมืองเป็นทั้งประธานและเลขาฯ เจออธิบดีเป็นเด็กนักการเมืองอีก เป็นพวกเดียวกันหมด จึงเกิดการกลั่นแกล้งกันได้ง่าย”
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ดีเอสไอยังอธิบายย้ำว่า องค์กรดีเอสไอไม่ได้บกพร่อง แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคนที่เข้ามาทำหน้าที่ วันนี้ต้องยอมรับว่าดีเอสไอแทบจะเป็นองค์กรตำรวจ ระดับรองอธิบดีและผู้อำนวยการสำนักส่วนใหญ่เป็นตำรวจ ซึ่งจะว่าไปแล้วระดับบริหาร 85% เป็นตำรวจทั้งสิ้น คนเหล่านี้จึงนำเอาระบบตำรวจมาใช้
“มีการดึงเอาระบบตำรวจมาใช้ ดีเอสไอ จึงกลายสภาพเป็นรัฐตำรวจ กลายเป็นทุกอย่างทำงานแบบต่างตอบแทน ระหว่างการประสานงานกันของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับดีเอสไอ”
นอกจากนี้ คดีที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ที่ควรจะเร่งดำเนินการกลับพบว่าเงียบหาย ทั้งที่ดีเอสไอทำคดีที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติจำนวนมาก แต่ก็ต้องเงียบหาย เนื่องเพราะผู้บริหารไปมุ่งเน้นคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ตามที่นักการเมืองสั่งการ จึงกลายเป็นจุดบอดของดีเอสไอในปัจจุบันนี้
“ดีเอสไอมีคนเก่งมาก แต่ต้องถูกลืม 90% จบปริญญาโท และใน 50 เปอร์เซ็นต์จบต่างประเทศ มีความรู้ความสามารถมาก แต่คนพวกนี้ทำอะไรหรือเสนออะไรไม่ได้เลย เพราะต้องทำตามผู้บริหารสั่ง คณะพนักงานสอบสวนทุกคดี ต้องมีอธิบดีเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน เมื่อเสนออะไรไปอธิบดีก็ไม่เอา หลายคดีที่พนักงานสอบสวนนำเสนอเห็นควรสั่งให้ฟ้อง แต่อธิบดีไม่เอา เช่นคดีรถหรู”
เจ้าหน้าที่ดีเอสไอสรุปให้ฟังชัดๆ ว่า ดีเอสไอ กลายเป็นหน่วยงานเลวร้ายในสายตาประชาชน ก็เพราะนายธาริต เพ็ญดิษฐ์ อธิบดีคนเดียวที่นำหน่วยงานที่มีอยู่ไปทำงานเพื่อสนองการเมืองมากจนเกินไป
“ดีเอสไอเริ่มทำงานเบี้ยวๆ สมัย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง แต่ยุคนายธาริตจะมากที่สุด เพราะความเชื่อมั่นในความเป็นนักกฎหมาย เป็นอัยการ มั่นใจว่ารู้ช่องโหว่ของสำนวนจะสามารถแก้ต่างได้ จึงใช้อำนาจอธิบดีสั่งการในทุกๆ คดีด้วยตัวเอง แถมจัดโครงสร้างภายใน ตั้งศูนย์ต่างๆ ขึ้นตรงต่อตัวเองทั้งหมด ตอนนี้จึงถูกฟ้องหลายคดี”
แหล่งข่าวจากดีเอสไอบอกอีกว่า เมื่อดีเอสไอมีความพร้อมทั้งอำนาจ กฎหมาย และเครื่องมือที่สามารถปฏิบัติภารกิจเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรงได้อย่างดี เพียงแต่ว่าจะปฏิรูปองค์กรอย่างไรจึงจะทำให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดจะต้องได้คนดี มีคุณธรรม จริยธรรม ปลอดการเมืองเข้ามาสั่งการ สังคมไทยก็จะได้เห็นภาพลักษณ์ใหม่ของดีเอสไอที่มีความพร้อมปฏิบัติงานตามภารกิจในการจัดตั้งดีเอสไอขึ้นมา
“ต้องเร่งปฏิรูปดีเอสไอ ซึ่งตอนนี้ คสช.สามารถใช้อำนาจพิเศษ ผ่าตัดองค์กรได้ทันที ส่วนเจ้าหน้าที่ในดีเอสไอ รอว่าจะจัดการอย่างไรเท่านั้น”
ธาริต บุญคุณต้องตอบแทน?
ขณะเดียวกัน นายธาริต เพ็ญดิษฐ์ เป็นผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคนที่ทำ “คุณ” ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคนเสื้อแดง ซึ่งปรากฏจากคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงที่เกิดวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา
“คุณธาริตเหมือนเป็นคนที่ถูกคนเสื้อแดงจับเป็นตัวประกัน เพราะภรรยาของคุณธาริตถูกคนเสื้อแดงฟ้องร้องไปที่กองปราบ กรณีรับเช็คจากนักธุรกิจเสื้อแดงคนหนึ่งเพื่อให้ช่วยเรื่องภาษี แต่ปรากฏว่าเสื้อแดงคนนั้นไม่พอใจ เลยไปยื่นฟ้องภรรยาคุณธาริต หลังจากนั้นคุณธาริตได้ไปฟ้องจตุพรฐานหมิ่นประมาทที่ศาลอาญา แต่ท้ายที่สุดแล้ว 2 คดีนี้เหมือนเจ๊ากันไป เพราะมีข่าวว่าคุณจตุพรไปเคลียร์คดีของภรรยาคุณธาริตให้” นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
นายธาริตจึงติดหนี้บุญคุณนายจตุพรมานับตั้งแต่นั้น
บทบาทของนายธาริตที่ช่วยเหลือคนเสื้อแดงเต็มที่ จึงไม่ใช่แค่ทักษิณสั่งมา แต่รวมถึงแผลส่วนตัวของนายธาริตเองด้วย
“ผมคิดว่าคุณธาริตและครอบครัวเป็นหนี้บุญคุณคุณจตุพร”
นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า ที่รับไม่ได้คือบทบาทที่ไม่สมควรของนายธาริต คือใช้ดุลพินิจฝืนกฎหมายมากจนเกินไป โดยเฉพาะกรณีการจับ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยไม่ผ่านกระบวนการทำสำนวนของอัยการสูงสุด แล้วก็ยังมีการเร่งให้อัยการสูงสุดทำสำนวนรีบส่งให้ภายในวันเดียว เห็นได้ชัดยิ่งถึงความเป็นพวกเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ ก็แสดงบทบาทรับลูกพรรคเพื่อไทย ทำตามคำสั่งได้ทุกอย่าง
โดยเฉพาะก่อนหน้าการประกาศกฎอัยการศึกเพียง 1 วันคือวันที่ 19 พฤษภาคม ที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย เดินทางเข้ามอบเอกสารหลักฐานและคลิปวิดีโอเพิ่มเติมต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กล่าวโทษร้องทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา ฐานเข้าข่ายกบฏสนับสนุนกลุ่ม กปปส.
ทั้งๆ ที่นายสุรชัยเองก็ยืนยันมาตลอดว่าไม่เกี่ยวข้องกับ กปปส.แต่นายธาริตก็รับลูก เร่งดำเนินคดีนี้เต็มที่
ในฐานะเลขานุการ ศอ.รส. นายธาริตจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการต่อสู้กับคนที่ต่อต้านรัฐบาลทั้ง ส.ว. และ กปปส. เต็มที่ โดยนอกจากคดีกบฏแล้ว นายธาริต ยังทำหนังสือแจ้ง พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในคดีพนักงานอัยการได้สั่งฟ้องนายสุเทพอีกหนึ่งข้อหาคือก่อการร้าย ซึ่งข้อหาก่อการร้ายเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินอีกด้วย
ดังนั้น แม้วันนี้ ผบ.ทบ. จะเรียกคดีทุกอย่างเกี่ยวกับกบฏที่ธาริตปั้นขึ้นมาไปไว้ในมือกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) แล้ว แต่ธาริตก็ยังมีฤทธิ์มีเดช โดยยืนยันว่าคดีของนายสุรชัยจะมีการรวบรวมหลักฐานต่อไปไม่หยุด ขณะที่หลังการประกาศกฎอัยการศึก นายธาริตก็สั่งลูกน้องไปจับ ดร.เสรี วงษ์มณฑา แกนนำ กปปส. ถึงสนามบิน โดยอ้างเป็นการดำเนินการตามหมายจับ
แสดงให้เห็นฤทธิ์เดชของธาริตที่ไม่ฝ่อลงง่ายๆ แม้เขาจะทำตัวสงบลง และไปเข้าร่วมประชุมกับ กอ.รส. ในฐานะข้าราชการ
“ศึกการเมืองครั้งนี้ ในทางคดี คุณธาริตทำสิ่งที่เป็นคุณให้กับฝ่ายคุณทักษิณมากในเรื่องของคดีอาญา”
ดังนั้น เมื่อกองทัพประกาศกฎอัยการศึก จึงได้ยินเสียงปรามจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในคำพูดที่ว่า “พอนะ ไม่ได้แล้ว หยุดทำงานได้แล้ว มันเละไปหมดต้องหยุด และถ้าจะฟ้องใครก็ให้มาฟ้องผม” และสุดท้าย คสช.ก็มีประกาศให้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว
รื้อแนวทางดีเอสไอปลอดการเมือง
ด้าน นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประชุมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เพื่อประสานงานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการเสนอแนวทางปฏิบัติราชการให้การทำงานสอดคล้องกับ คสช. โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง โดยเฉพาะตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ต้องสร้างหลักประกันในการทำงาน เริ่มตั้งแต่การได้มาของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการสรรหาให้มีมาตรฐานคล้ายกับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแต่งตั้ง ไม่ใช่มีแต่นักการเมือง
ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจของ คสช.ในครั้งนี้จึงนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง โดยเฉพาะวันนี้ อะไรที่เป็นปัญหาและอุปสรรค จะดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายพิเศษที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ และอีกไม่นานเราจะเห็นแผนปฏิรูปประเทศทั้งหมดอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะถูกปฏิรูปให้เป็นหน่วยงานที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง และไม่ใช่ทำเพื่อนักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป!