xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.แจงทางออกประเทศ 20 พ.ค.ชัดนายกฯเฉพาะกิจ"สุรชัย"ถกรัฐบาลวันนี้ลดแรงกดดัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"สุรชัย"เผย"นิวัฒน์ธำรง"นัดถกวันนี้ เพื่อหาทางออกประเทศ ส.ว.ลั่นรู้ผลนายกฯเฉพาะกิจสัปดาห์นี้ 20พ.ค.ชี้แจงทางออกประเทศ เตรียมใช้ช่องทางเทียบเคียงรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลไม่ยอมลาออก "จาตุรนต์" ขวางนายกฯ ม.7 เย้ยเรื่องให้รัฐมนตรีลาออก ฝันไปเถอะ ด้านปชป.อัดรัฐบาลหารือแบบขอไปที หลีกเลี่ยงการถูกกดดันจากสังคม ไม่มั่นใจจะเกิดประโยชน์หรือไม่ แต่ก็หวังความจริงใจแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา เปิดเผยว่า ได้โทรศัพท์พูดคุยนัดหมายกับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นการส่วนตัวแล้ว โดยนายนิวัฒน์ธำรง ตอบรับการหารือในวันนี้ (19 พ.ค.) ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีการเลื่อนการนัดหมายอีก แต่ไม่ขอเปิดเผยเวลา และสถานที่ ที่จะใช้ในการหารือกัน เนื่องจากทางรัฐบาลได้ขอร้องไว้ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมบุกไปกดดัน หรือปิดล้อม เหมือนครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทางรัฐบาล และวุฒิสภา จะส่งตัวแทนเข้าหารือ จากนั้นจะมีการแถลงผลการหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการ ต่อสื่อมวลชน

อย่างไรก็ตามได้มีการแจ้งนัดประชุมนอกรอบกับส.ว.ในวันนี้ เวลา 13.30 น. ณ ห้อง 306-308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 เพื่อสรุปประเด็นการแก้ไขปัญหาทางการเมือง หลังจากได้ข้อสรุป จากการหารือกับนายนิวัฒน์ธำรง

รู้ผลนายกฯเฉพาะกิจสัปดาห์นี้

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา ในฐานะโฆษกคณะทำงานประสานองค์กร วุฒิสภา กล่าวว่า คาดว่าภายใน 2-3 วัน จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นในเรื่องการตั้งนายกรัฐมนตรีที่อำนาจเต็มมาบริหารประเทศ โดยไม่เกินสัปดาห์นี้ จะมีความชัดเจนที่ตอบสังคมได้ในเรื่องนายกรัฐมนตรีเฉพาะกิจ ว่าจะทำได้หรือไม่ การที่ส.ว.จะไปพบกับ นายนิวัฒน์ธำรง ในวันนี้ ก็เพื่อชี้แจงให้เห็นถึงปัญหาของบ้านเมือง และรัฐบาลไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในเร็วๆ นี้ อยากให้รัฐบาลให้ความร่วมมือเร็วที่สุด หากตกลงกันไม่ได้ ประเทศอาจเกิดเหตุรุนแรงขึ้นได้ ยิ่งการที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ประกาศขีดเส้นตายภายในวันที่ 26 พ.ค. จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกฝ่ายในสังคม ต้องช่วยกันเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด หากรัฐบาลรักษาการยอมลาออก จะทำให้การทำงานของวุฒิสภาทำได้ง่ายขึ้น เพราะวุฒิสภาไม่อยากให้อำนาจในลักษณะที่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ

นายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์ ว่าที่ ประธานวุฒิสภาคนที่ 2 กล่าวว่า ขณะนี้วุฒิสภาทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มมาบริหารประเทศ จะพยายามให้จบได้ ภายในเดือนพ.ค.นี้ ถ้าภายในเดือนพ.ค.ยังทำไม่สำเร็จ วุฒิสภาคงต้องหยุดการดำเนินการเรื่องนี้ หลังจากได้ตัวนายกรัฐมนตรีเฉพาะกิจแล้ว นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 มีอำนาจอย่างถูกต้องในการทำรายชื่อนายกฯคนใหม่ ขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ต้องรอให้ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นประธานวุฒิสภาก่อน จะใช้ช่องทางเทียบเคียงรัฐธรรมนูญ ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ทูลเกล้าฯ นายกฯ แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร

พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะ ประธานคณะทำงานประชาสัมพันธ์ และคณะกรรมการด้านประสานองค์กร กล่าวว่า เวลา 10.00 น.วันนี้ จะเรียกประชุมคณะทำงานประชาสัมพันธ์ ที่รัฐสภา เพื่อสรุปผลการรับฟังความเห็น แนวทางการหาทางออกประเทศจากหน่วยงานต่างๆ อีกครั้ง แล้วส่งให้นายสุรชัย รับทราบ จากนั้นคาดว่าในวันที่ 20 พ.ค. นายสุรชัย จะแถลงถึงการหาทางออกประเทศ เรื่องการตั้งนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มมาบริหารประเทศ ซึ่งจะมีแนวทางความชัดเจนมากขึ้น จากที่แถลงไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้หากรัฐบาลรักษาการยอมลาออก การตั้งนายกรัฐมนตรีเฉพาะกิจ ก็เริ่มต้นนับหนึ่งได้ทันที แต่หากไม่ยอมลาออก วุฒิสภาคงต้องหารือ ถึงการใช้วิธีเทียบเคียงรัฐธรรมนูญ มาบังคับใช้

เมื่อถามว่า กรณี ดร.เสรี วงษ์มณฑา แกนนำ กปปส.ไปพูดบนเวทีที่ประเทศสหรัฐฯ ว่า นายสุรชัย เป็นพวกเดียวกับ กปปส. พล.อ.อ.วีรวิทตอบว่า ต้องไปถามดร.เสรี ให้ชัดเจนว่า สิ่งที่พูดมีวัตถุประสงค์อะไร ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่พูด ขอให้ความเป็นธรรมกับ นายสุรชัย ยังเชื่อว่านายสุรชัย ทำงานเป็นกลาง ไม่ได้รู้เห็นหรือเป็นพวก กปปส. แม้ ส.ว.หลายคนอาจรู้จักกับแกนนำ กปปส. แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นพวกเดียวกัน ทุกคนทำงานด้วยความเป็นกลาง ส่วนคนที่จุดประเด็นนำเรื่องนี้ไปขยายผลนั้น ถือเป็นการดิสเครดิต การทำงาน

นิวัฒน์ธำรง-กกต.ไร้อำนาจจัดเลือกตั้ง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 4ส.ว. กล่าวว่า เรียกร้องให้มีการชะลอ การกำหนดวันเลือกตั้งออกไปก่อน เพราะส่วนตัวมองว่า นายนิวัฒน์ธำรง ไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีได้ทุกประการ โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งร่วมกับประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วว่า การกำหนดวันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ร่วมกันของนายกฯ และประธานกกต. เท่านั้น ซึ่งคิดว่าในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาในลักษณะดังกล่าว ส่วนตัวจึงคิดว่า นายนิวัฒน์ธำรง ไม่อาจทำหน้าที่ตรงนี้ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการพยายามจะกำหนดวันเลือกตั้งโดยที่ยังมีปัญหาในข้อกฎหมาย ส่วนตัวจะดำเนินการฟ้อง เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีต่อไป

"เมื่อครั้งมีการสรรหา กกต.ชุดใหม่ นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเพิ่งได้รับการเลือกให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ก็ยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหา กกต.ได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ จึงคิดว่า นายนิวัฒน์ธำรง ที่มีสถานะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ก็ย่อมไม่อาจทำหน้าที่เป็นนายกฯ ได้เช่นกัน" นายไพบูลย์ กล่าว

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 171 บัญญัติไว้ว่า คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน ดังนั้น ในเมื่อคณะรัฐมนตรีไม่มีนายกรัฐมนตรี ย่อมเท่ากับว่า คณะรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการแผ่นดินได้ เพราะถือว่า คณะรัฐมนตรีไม่มีความสมบูรณ์ทางกฎหมาย

"นิวัฒน์ธำรง"หารือวางกรอบเจรจา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ หลังเสร็จภารกิจที่จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ด้วยเฮลิคอปเตอร์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงที่สนามบิน กองบังคับการกองบินตำรวจ แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน ในเวลา 14.00 น. โดยกำหนดการเดินทางถูกปิดเป็นความลับ ซึ่งกำหนดการเดิม จะลงสนามบินตำรวจ ดอนเมือง ขณะเดียวกัน ทีมงานยังได้แจ้งสื่อมวลชนไม่ต้องรอมารับ ขณะเดียวกัน ได้มีการปล่อยข่าวจากทีมรักษาความปลอดภัยว่า นายนิวัฒน์ธำรงจะยังไม่เดินทางกลับกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ 2 วัน เพื่อความปลอดภัย หลังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศนำมวลชนไล่ล่า รวมถึงระบุด้วยว่า การหารือกับนายสุรชัยนนั้น คงจะนัดหารือกันที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาสถานที่ เพราะถ้าหารือกันที่กรุงเทพฯ เกรงว่า นายสุเทพ จะนำมวลชนมาปิดล้อมล้มการเจรจา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่นายนิวัฒน์ธำรง เดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็ได้เรียก นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หารือเป็นการด่วน ที่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่ง เพื่อกำหนดท่าที และกรอบในการเจรจากับนายสรุชัย ถึงทางออกประเทศ ขณะที่แหล่งใกล้ชิด นายนิวัฒน์ธำรง เปิดเผยว่า หลังได้กรอบการหารือในการประชุมแล้ว จะมีการเรียกประชุมอีกครั้ง ในช่วงเช้า วันที่ 19 พ.ค. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานี เพื่อกำหนดรายละเอียดเป็นครั้งสุดท้ายร่วมกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด ที่จะเข้าหารือกับ นายสุรชัย
สำหรับสถานที่หารือจากกำหนดการเดิมได้มีการนัดหารือที่ จ.เชียงใหม่ แต่สุดท้ายได้ขอเปลี่ยนมาเป็นที่ กรุงเทพฯ และได้มีการตกลงร่วมกัน ไม่ให้มีการเปิดเผยในเรื่องของสถานที่หารือ และขอไม่ให้เปิดเผยตัวแทนที่จะเข้าเจรจา ทั้งทางด้านส.ว.และรัฐบาลว่ามีใครบ้างเข้าร่วมการประชุม

ยก กม.ขวางวุฒิฯ ตั้งนายกฯ ม.7

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณี นายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์ ในฐานะว่าที่ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ระบุ มีความคืบหน้า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ที่จะให้ส.ว.ทำหน้าที่สรรหาตัวนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจเต็ม โดยใช้ช่องทางเทียบเคียงรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลรักษาการไม่ยอมลาออก ว่า ไม่มีความเป็นไปทางกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขณะนี้ยังมีครม.รักษาการ รัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ส่วนการจัดหารัฐมนตรี ต้องมาจากการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีการเลือกตั้งเพื่อให้ได้สภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี ก็ต้องมาจาก ส.ส. จะไปหานายกรัฐมนตรีโดยวิธีอื่นใดไม่ได้ การที่วุฒิสภา และยังไม่มีประธานวุฒิสภา และที่มาก็ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย การให้รัฐมนตรีลาออก เป็นไปไม่ได้แน่ ทั้ง 12 คน และไม่มีใครลาออก ถ้าใครไปจับจี้ให้ลาออกก็ไม่มีผลตามกฏหมาย เพราะถูกบังคับขู่เข็ญ โดยส่วนตัวก็จะไม่ลาออกเด็ดขาด และต่อให้เกิดนายกรัฐมนตรีคนนอกจริง ครม.ชุดนี้ก็จะต่อต้าน คัดค้านร่วมกับประชาชน

"เวลานี้ไม่มีหลักมีเกณฑ์ เลือกประธานวุฒิสภา มาแบบผิดๆ ถูกๆ โดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดโอกาสให้ เพราะยังไม่มีประธานรัฐสภา ฝ่าฝืนมาตรา 181 (2) ซึ่งจำกัดอำนาจรัฐมนตรีไว้ การจำกัดอำนาจรัฐมนตรี หลังการยุบสภา เพราะต้องการให้การตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เกิดขึ้น โดยที่ ครม.ที่มาจากการเลือกตั้งใหม่ แต่ ส.ว.บางคนเสนอหานายกฯ มาเอง ให้มีอำนาจเต็มเหมือนเป็นครม. ที่มาจากการเลือกตั้งใหม่ เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้อำนาจการปกครองมาโดยวิธการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักประชาธิปไตย พวกนึ้กำลังรวมหัว ปล้นอำนาจจากประชาชน และมีสัญญาณชัดขึ้นเรื่อยว่า การดำเนินการของ ส.ว.และกลุ่ม กปปส. ขณะนี้เพื่อต้องการให้เกิดการปฏิวัติ เพราะข้อเสนอ 3 ข้อ ของส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ การไล่ล่ารัฐมนตรี ล้วนแต่ยั่วยุให้เกิดการปะทะ ทางฝ่ายประชาธิปไตยรัฐบาลก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการปะทะ ให้ดีที่สุด

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แต่ต้องยอมรับว่า พวกนี้พยายามทำให้เกิดความรุนแรง โดยหวังว่า ผู้นำกองทัพจะเข้ามาแทรกแซงโดยการรัฐประหาร แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับพวกเขาได้ แม้ทำรัฐประหาร เรื่องก็ไม่จบ ก็จะมีการต่อต้านคัดค้าน รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก ในทางที่ดี ต้องกลับเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ต้องยอมรับว่า เลือกตั้งแล้ว ปัญหาก็ยังไม่จบ ต้องมาช่วยกันคิดหาทางออกจากวิกฤตกันอีกมาก เพราะว่าประเทศไทยได้สะสมปัญหามากมายเหลือเกิน การเลือกตั้งทำให้เกิดช่องทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นที่ยอมรับในสากล แต่ยังต้องทำกันอีกมาก แต่ถ้าไม่มีเลือกตั้งไปใช้วิธีนอกรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั้งทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้น ความรุนแรงมากกว่าหลายเท่า

วุฒิฯถกรัฐบาลแค่ลดแรงกดดัน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพบกันระหว่างนายนิวัฒน์ธำรง กับนายสุรชัย ในวันนี้ ว่า ไม่มั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์หรือไม่ เพราะนายนิวัฒน์ธำรง พยายามหลีกเลี่ยงที่จนถูกกดดันจากสังคม ทำให้ต้องยอมพบกับนายสุรชัย แต่ก็หวังว่า ท่าทีของทั้งสองฝ่าย และความจริงใจที่จะดำเนินการแก้วิกฤตประเทศร่วมกันจะทำให้การพบกันครั้งนี้ มีประโยชน์

ทั้งนี้ตนขอฝากถึงการหารือครั้งนี้ 3 ข้อ คือ 1. ไม่ควรเป็นการพบกันแบบขอไปที เพียงให้ได้ชื่อว่าพบกันแล้ว แล้วจบกันไปโดยไม่ใช้โอกาสนี้แก้วิกฤตประเทศ 2 .ทั้งสองฝ่ายไม่ควรมีธงในใจ แต่ต้องพยายามลดธงของตัวเอง แสวงหาจุดร่วมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถ้ายังมีธงในใจ จะทำให้การพบกันไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใดทั้งสิ้น และควรยึดถือประโยชน์ส่วนรวม และประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งเท่านั้น

"รัฐบาลไม่ควรรักษาอำนาจ จนทำให้ประเทศเสียหายเพิ่มขึ้น เพราะปัญหาจะยุติได้ ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองยอมที่จะสละอำนาจเพื่อคลี่คลายวิกฤต จึงขอให้เลือกคิดที่จะดันให้มีการเลือกตั้ง สละอำนาจเพื่อหยุดวิกฤตบ้านเมือง แต่ถ้ายังเดินหน้ารักษาอำนาจ วิกฤตประเทศมีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าในปัจจุบัน ซึ่งสังคมไทยไม่อยากเห็น ผู้ที่มีอำนาจจึงมีส่วนสำคัญที่จะต้องแก้วิกฤตประเทศ" นายองอาจ กล่าว

นายองอาจ ยังกล่าวถึงการประกาศของ กปปส. เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวจากนี้ไป ถึงวันทื่ 26 พ.ค. ว่า จะส่งผลให้มีความพยายามที่จะขัดขวาง หรือยุติการเคลื่อนไหวของประชาชน โดยกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้เพื่อทำลายการเคลื่อนไหวของประชาชน คือ การใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพราะนับตั้งแต่มีการชุมนุม พบว่ามีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล คือ ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.56 ถึงปัจจุบันมีผู้บาดเจ็บ 782 คน เสียชีวิต 25 คน และมีผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลอีก 13 คน ในขณะที่ผู้มีอำนาจรัฐ ไม่ใส่ใจ ที่จะระงับยับยั้งหรือแก้ปัญหา ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มี 3 สาเหตุที่ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ 1. เป็นความพยายามสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนเพื่อไม่ให้เข้าร่วมชุมนุมของกลุ่ม กปปส.และกลุ่มอื่น ๆ 2 . เพื่อข่มขวัญแกนนำ การ์ด กปปส. ทำให้มีการเพิ่มดีกรีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ 3. เป็นการส่งสัญญาณกดดันการทำหน้าที่ของส.ว. ที่จะให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สิ่งทีสังคมไทยควรจะตระหนักคือ ต้องมีส่วนในการคัดค้าน ประนามผู้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม
กำลังโหลดความคิดเห็น