xs
xsm
sm
md
lg

ออมสินคว้า5หมื่นล.ประมูลเงินกู้จำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ออมสินเข้าวินคว้าประมูลเงินกู้จำนำข้าวรายเดียว 5 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 2.1792% พร้อมนำส่งเงินงวดแรก 6 มิ.ย. นี้ 3 หมื่นล้านบาท งวด 2 วันที่ 12 มิ.ย.อีก 2 หมื่นล้านบาท ด้านสบน.พร้อมเดินหน้ากู้ล็อตสองอีก 4 หมื่นล้าน 12 มิ.ย.นี้

นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารสาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หลังจากเปิดให้สถาบันการเงินยื่นซองประมูลการกู้เงินของกระทรวงการคลัง วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท นับว่าสถาบันการเงินสนใจยื่นซองประมูลเป็นจำนวนมากถึง 12 รายจากทั้งหมด 32 ราย เป็นวงเงินทั้งหมดที่เสนอมา 1.45 แสนล้านบาท ผลการเปิดซองของคณะกรรมการ ธนาคารออมสิน เป็นผู้ชนะการประมูลในการให้กู้เงินเต็มวงเงินรายเดียวทั้งหมด 5 หมื่นล้านบาท เสนออัตราดอกเบี้ย 2.1792% นับว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะได้เสนออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรของรัฐบาลที่ 2.45%

โดยหลังจากนี้ ธนาคารออมสินจะนำส่งเงินงวดแรก ส่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท จากนั้นจะนำส่งงวดที่ 2 ในวันที่ 12 มิ.ย. วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายให้กับชาวนา โดยออมสิน ยอมรับว่าเสนอให้อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด เพราะต้องการช่วยเหลือชาวนา หลังจากให้กู้ในครั้งก่อนแล้วมีปัญหา ดังนั้น สบน. จึงเตรียมทำหนังสือเชิญสถาบันการมายื่นประมูลปล่อยกู้อีก วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้คืน ธ.ก.ส. ซึ่งได้ทดลองจ่ายไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา จึงคาดว่าสถาบันการเงินสนใจเข้าปล่อยกู้ให้กับกระทรวงการคลังอีก เพราะการขอกู้ในลักษณะดังกล่าว สามารถขอชำระเงินคืนได้ก่อนกำหนด เมื่อได้เงินจากการระบายข้าวเข้ามาเพิ่มเติม

นายสุวิชญ โรจนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สบน. กล่าวว่า ได้เปิดให้สถาบันการเงินทั้ง 32 แห่งยื่นซองประมูลเงินกู้แบบมีระยะเวลา ( Term Loan) โดยมีระยะเวลา 3 ปี วงเงินทั้งหมด 5 หมื่นล้านบาท การพิจารณาประมูลจะอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยตลาดกรุงเทพฯ (BIBOR) ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 2% หลังจากประมูลแล้วเสร็จต้องสรุปผลการประมูลรายงานให้ พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) แและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช. รับทราบ

สำหรับยอดจำจำข้าวเปลือกฤดูการผลิตปี 56/57 มีเกษตรกร เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น1,691,720 ราย จำนวนข้าวเปลือก 11.81 ล้านตัน จำนวนเงิน 195,450 ล้านบาท ตัวเลขยอดใบประทวนและเงินจำนำข้าว ณ วันที่ 3 มิ.ย. 57 ธ.ก.ส.ทยอยจ่ายไปแล้วจำนวน 1,140,273 ราย ปริมาณข้าว 8.71 ล้านตัน จำนวนเงิน 139,554 ล้านบาท จากยอดจัดสรรทั้งหมด 150,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินงบประมาณและเงินระบายข้าว 119,500 ล้านบาท เงินกองทุนช่วยเหลือชาวนา 10,500 ล้านบาท งบกลางที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยืม 20,000 ล้านบาท คงเหลือยอดค้างเกษตรกร 551,447 ราย ปริมาณข้าว 3.10 ล้านตัน เป็นเงิน 55,895.57 ล้านบาท

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า จากการพูดคุยกับเกษตรกรทำให้ทราบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่อยากให้ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาดูแลให้ราคาข้าวในตลาดปรับขึ้นมาอยู่ที่ราคาตันละ8พันถึง1.2หมื่นบาทจึงจะสามารถอยู่ได้เนื่องจากปัจจุบันขายข้าวเปียกหรือข้าวสดได้เพียงตันละ 5.7 พันบาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ตันละ7 พันบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมาททำให้ราคาในตลาดตกต่ำลงต่อเนื่องอีกส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพข้าวแย่ลงจากสภาพอากาศร้อน ทำให้ข้าวป่น แตกหักจึงโดนโรงสีกดราคา

ทั้งนี้ในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ยังจะมีข้าวนาปรังออกมาอีกบางส่วนจึงอาจยิ่งทำให้ราคาข้าวในตลาดปรับลดลงไปอีก เพราะปัจจุบันยังมีข้าวในสต็อกของรัฐบาลที่เตรียมรอการขายถึง14-16 ล้านตัน จากจำนวนที่มีกว่า30ล้านตันข้าวสารจากที่สีแปรมาจากข้าวเปลือกที่รับจำนำ5รอบ ปริมาณ 50ล้านตันหรือขายไปได้เงินแล้วกว่า 2แสนล้านบาท ขณะที่ใช้เงินไปจากการรับจำนำข้าวทั้งสิ้นรวม 7.3แสนล้านบาทเป็นการใช้เงินของ ธ.ก.ส.เอง 3แสนล้านบาทและเป็นการใช้เงินกู้จากกระทรวงการคลัง 4.3แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันจ่ายดอกเบี้ยปีละกว่า 2หมื่นล้านบาทจึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่พาณิชย์ชะลอขายข้าวออกมาในตลาดและน่าจะหันไปเน้นขายแบบจีทูจีแทน

"การดำเนินงานระยะต่อไปทางคสช.ย้ำชัดจะใช้นโยบายที่ไม่เป็นภาระทางการคลังจนสังคมยอมรับไม่ได้ และไม่เน้นประชานิยมที่ไม่เกิดความยั่งยืนในอนาคต ดังนั้นการดูแลราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งหาแนวทางแก้ไข ก่อนที่ข้าวนาปีที่เริ่มเดือนตุลาคมจะออกมาอีก 20ล้านตัน ซึ่วหากไม่มีมาตราการพยุงราคาก็จะยิ่งกดดันราคาให้ลดลงไปอีก" นายลักษณ์กล่าวและว่า ชาวนาส่วนใหญ่รับได้ที่ราคาข้าวลดลงเมื่อเทียบกับที่เคยได้รับหรือไม่มีโครงการจำนำแต่อยากให้ราคาในตลาดปรับตัวขึ้นอย่างข้าวเปียกหากอยู่ที่8-8.5 พันบาทต่อตัน ข้าวแห้ง อยู่ที่ 9.5พัน-1หมื่นบาทต่อตันและข้าวหอมปทุมอยู่ที่1-1.2หมื่นบาทก็เป็นราคาที่สามารถอยู่ได้

นายลักษณ์กล่าวอีกว่า งานส่วนที่เกี่ยวข้องกับธ.ก.ส.ที่จะได้รับการสานต่อจากคสช.คือการของบประมาณอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อปี2554 ที่ยังค้างอีกกว่า 6,239 ล้านบาทเนื่องจากยังค้างอยู่ที่ครม.ก่อนหน้านี้ รวมถึงการเพิ่มทุนของธ.ก.ส.ที่กลับไปใช้ 2แนวทางเดิมคือการจัดสรรเงินงบประมาณและการใช้เงินปันผลต่อไปอีก2-3ปี เพื่อให้ครบ6หมื่นล้านบาทก่อนจากปัจจุบันอยู่ที่ 5.3หมื่นล้านบาทเพื่อสร้างความเข้มแข็งรองรับการดำเนินงานในอนาคตก่อนจะดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ขอให้ธ.ก.ส.นำเงินปันผลเข้าเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป ซึ่งต้องมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองรับด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น