xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นพุ่งในรอบ14เดือนนัดทูต-นักลงทุนแจงฟื้นเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคพุ่งขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน เหตุคนมั่นใจเศรษฐกิจและการเมืองมีเสถียรภาพ หลัง คสช. เข้ามาบริหารงาน คาดมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่หอการค้าไทยเตรียมเชิญทูต กงสุล นักลงทุนต่างชาติ ชี้แจงสถานการณ์ในไทย หวังสร้างความเชื่อมั่นวันที่ 10 มิ.ย.นี้ พร้อมเสนอ คสช. ปฏิรูปภาคการเกษตร แก้ปัญหาอุปสรรคในการลงทุน “เสาวนีย์”เสนอ คสช. ทำโรดแมปเศรษฐกิจ ต้องปฎิรูปโครงสร้างการผลิตระยะยาว

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.2557 เท่ากับ 70.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย.ที่อยู่ระดับ 67.8 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน และเป็นค่าดัชนีที่สูงสุดในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.พ.2557 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน เท่ากับ 54.7 เพิ่มจาก 53.9 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต เท่ากับ 75.8 เพิ่มจากระดับ 73.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เท่ากับ 60.7 เพิ่มจาก 58.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ เท่ากับ 64.2 เพิ่มจาก 62.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เท่ากับ 87.1 เพิ่มจาก 84.9

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความมั่นใจในเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารงาน รวมทั้งมีการอนุมัติจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวให้แก่ชาวนา ส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่มีการปรับตัวลดลง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ทั้งนี้ ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง เท่ากับ 59.6 ปรับขึ้นจากเดือนเม.ย.ที่ระดับ 37.3 สูงสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนต.ค.2556

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองคณบดีฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในขณะนี้ มีสัญญาณอยู่ในช่วงขาขึ้น และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลบอลโลกที่จะถึงนี้ จะเป็นตัวเช็คความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพราะหากมีการจับจ่ายใช้สอยคึกคัก ก็จะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังให้ขยายตัวดีขึ้น

สำหรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ หลังจากมีความชัดเจนในเรื่องการเมือง เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หลังจาก คสช. ได้มีการจัดทำโรดแมปทางเศรษฐกิจออกมา เริ่มจากการเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา การช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ การมีแนวทางในการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งล้วนแต่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย โดยมั่นใจว่ามีโอกาสที่จะโตได้ 2-3% โดยจะมีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจอีกครั้งวันที่ 19 มิ.ย.นี้

ส่วนการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซแอลพีจี และโครงการธงฟ้าต่อ มองว่า เป็นเรื่องที่ควรทำในระยะสั้น 3-6 เดือน เพื่อดูแลภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค เนื่องจากทำให้มีความรู้สึกว่ามีเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูงขึ้น แต่หลังจากนี้ ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และคสช.จะต้องรักษาสมดุลของความเชื่อมั่นให้ดีขึ้น ซึ่งตามแผนโรดแมปด้านเศรษฐกิจทั้ง 10 ข้อ ของ คสช .สามารถเคลื่อนได้เร็วก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

 หอการค้าไทยนัดทูต-นักลงทุนแจงสถานการณ์

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันที่ 10 มิ.ย.2557 หอการค้าไทยจะจัดงาน Get Together with International Friends 2014 โดยจะเชิญคณะทูตานุทูต กงสุล และหอการค้าต่างประเทศในไทย เข้าร่วมงาน เพื่อพูดคุย ทำความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ เพราะยังมีหลายประเทศ และนักลงทุนหน้าใหม่
ที่ยังไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือบางรายเข้าใจ แต่ไม่สามารถชี้แจงหรือสร้างความเข้าใจให้กับประเทศตนเองได้ จึงต้องเร่งชี้แจงและสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว

“ตอนนี้ นักลงทุนที่ทำธุรกิจอยู่ในไทยนานๆ จะคุ้นเคย และเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่นักลงทุนหน้าใหม่ ที่เพิ่งเข้ามา แม้อาจจะเข้าใจ แต่ไม่สามารถอธิบายได้ ก็ต้องไปชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และยังจะยืนยันให้เข้าใจด้วยว่าไทยยังสามารถทำธุรกิจการค้าได้เหมือนเดิม แม้การเมืองจะเปลี่ยนไป”

ทั้งนี้ ภาคเอกชนจะเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดตั้งศูนย์ประสานงาน เพื่อรับข้อร้องเรียน หรือชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ให้กับนักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้าใจ และกลับมาเชื่อมั่นด้วย

นายอิสระกล่าวว่า หอการค้าไทยเตรียมเสนอแผนงานสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อ คสช. โดยเน้นการปฏิรูปการเกษตร ซึ่งจะเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมอาหารและพลังงานทดแทน การลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาการค้าชายแดน รวมถึงขอให้.พิจารณาแก้ปัญหาต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน เช่น ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้านศุลกากรให้มีความรวดเร็วและโปร่งใสมากขึ้น การแก้ไขการออกใบอนุญาตการทำงานให้กับนักลงทุนต่างชาติให้รวดเร็วมากขึ้น เป็นต้น

สำหรับแผนการปฏิรูปการเกษตร ต้องจัดโซนนิ่งเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ในพื้นที่ดอน ปลูกข้าวไม่ได้ผลดีนัก ควรสนับสนุนให้ปลูกอ้อยหรือมันสำปะหลังทดแทน ซึ่งจะขายได้ราคาดีกว่า รวมถึงส่งเสริมให้ปลูกพืช 5 ชนิดหลัก เพื่อความยั่งยืนด้านอาหารและพลังงานทดแทน ทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย และข้าวโพด ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้
และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หลังจากที่ คสช. ได้จัดทำโรดแมปเศรษฐกิจไทย โดยเริ่มจากการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ผ่านการจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว จนทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ 2-3 รอบแล้ว คสช. ควรต้องหันมาวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจระยะยาวต่อ ทั้งการกำหนดอุตสาหกรรมที่ควรจะทำไม่ทำ เช่น เกษตร อุตสาหกรรม พลังงานทดแทน อาหาร หรือการจัดโซนนิ่งการเพาะปลูกให้เหมาะสม

“คสช. ควรกำหนดสิ่งเหล่านี้เข้าไปในโรดแมพด้านเศรษฐกิจ และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ หรือออกเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ในระยะเวลานาน เพื่อให้รัฐบาลต่อๆ ไปสานต่อได้ ไม่ใช่หมดยุค คสช. รัฐบาลใหม่เข้ามา ก็ไม่เอา อยากให้คสช.พิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบก่อนที่จะดำเนินการ เพราะขณะนี้ ทุกหน่วยงานเร่งเสนอสิ่งที่จะทำเป็นโรดแมป ถ้าพิจารณาไม่ดี อาจไม่เกิดประโยชน์กับประเทศในระยะยาว และการยึดอำนาจอาจไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร”นางเสาวนีย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น