xs
xsm
sm
md
lg

สปส.เตรียมแผนรับอนาคต “กองทุนชราภาพ”ส่อติดลบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเตรียมการแก้ปัญหาเงินกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมจะติดลบในอนาคต เนื่องจากต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ว่า ปีนี้ สปส.เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็นปีแรก โดยได้ประมาณการ จะมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญ และบำเหน็จชราภาพรวมทั้งสิ้นกว่า 1.3 แสนคน จะต้องจ่ายเงินกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมออกไปกว่า 4.7 พันล้านบาท
ทั้งนี้ สปส.ได้ประมาณการว่า ในปี พ.ศ.2587 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า กองทุนชราภาพจะอยู่ในภาวะติดลบ ซึ่งคณะทำงานศึกษากำหนดรูปแบบจำลองการพัฒนาบำนาญชราภาพในระบบประกันสังคมของ สปส. ได้สรุปทางเลือกการแก้ปัญหาไว้ 6 ทางเลือก ได้แก่
1. การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพในส่วนผู้ประกันตน ร้อยละ 1 และนายจ้างร้อยละ 0.5 ทุกๆ 3 ปี โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบอย่างค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพในส่วนผู้ประกันตน อยู่ที่ร้อยละ 13 และในส่วนนายจ้างอยู่ที่ร้อยละ 8 รวมอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพเท่ากับร้อยละ 21 หลังจากนั้นกำหนดให้อัตราเงินสมทบคงที่ในอัตราดังกล่าวยืดอายุกองทุน 46 ปี
2. การเพิ่มอายุผู้ที่มีสิทธิรับบำนาญ 2 ปีทุกๆ 4 ปี จนอายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี อาจใช้ปีเกิดเป็นเกณฑ์ เช่น ผู้ที่เกิดปี พ.ศ.2510 เป็นต้นไป จะมีสิทธิรับบำนาญเมื่ออายุ 62 ปี หรืออาจกำหนดปีที่จะปรับเพิ่มอายุเกษียณ เช่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป อายุเกษียณจะปรับเพิ่มปีละ 6 เดือน โดยอัตราเงินสมทบคงที่ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอยู่ที่ร้อยละ 3 ยืดอายุกองทุน 37 ปี
3. เพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบก่อนเกิดสิทธิรับบำนาญจาก 15 ปี เป็น 20 ปี โดยอัตราเงินสมทบ เป็นอัตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และอายุเกษียณอยู่ที่ 55 ปี ยืดอายุกองทุน 33 ปี
4. การปรับการคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยจากฐาน 60 เดือนสุดท้ายของเงินเป็นตลอดช่วงการจ่ายเงินสมทบ เพื่อใช้คำนวณเงินบำนาญ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยตลอดชีวิตต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย อยู่ที่ร้อยละ 19 และค่าใช้จ่ายด้านเงินบำนาญของกองทุนประกันสังคม ลดลงร้อยละ 19 เช่นกัน ยืดอายุกองทุน 32 ปี
5. มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือกที่ 1 บวก 3 ยืดอายุกองทุน 58 ปี
6. มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือก 1+2+3+4 พร้อมกัน ทำให้กองทุนประกันสังคม มีเสถียรภาพนานไปถึงปี พ.ศ.2629 หรืออีก 72 ปีข้างหน้า
รองเลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า ทั้ง 6 ทางเลือกข้างต้นนี้ เป็นแต่เพียงผลการศึกษาเบื้องต้น ยังไม่มีข้อสรุป จะต้องนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณา และกำหนดแนวทางการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพพิจารณา เมื่อผ่านการพิจารณาแล้วก็จะเสนอต่อบอร์ดสปส. หลังจากนั้น จะนำมาตรการดังกล่าวไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง รวมทั้งนักวิชาการ เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับกับมาตรการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา
อย่างไรก็ตาม การจะเริ่มใช้แต่ละแนวทางหรือการใช้หลายแนวทางมาผสมกันเมื่อใดนั้น จะต้องพิจารณาถึงสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละปี เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อนายจ้างและลูกจ้างให้น้อยที่สุด
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวว่า แต่ละปี สปส.ได้นำเงินกองทุนไปลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อหารายได้เข้ากองทุน ขณะนี้ได้หันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากให้ผลตอบแทนในการลงทุนสูงถึง ร้อยละ 4.5 ขณะที่การลงทุนในประเทศได้เพียง ร้อยละ 2
กำลังโหลดความคิดเห็น