คาด 30 ปี สปส. จ่ายเงินชราภาพประกันสังคมเกลี้ยงกองทุน เร่งศึกษา 6 แนวทางแก้ปัญหาทั้งปรับเพิ่มเงินสมทบ-ขยายอายุเกษียณ-เพิ่มระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ-ปรับการคำนวณค่าจ้างเฉลี่ย ช่วยยืดอายุกองทุนได้นานมากสุด 72 ปี เร่งขยายลงทุนต่างประเทศ
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงานกล่าวถึงการเตรียมการแก้ปัญหาเงินกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมจะติดลบในอนาคตเนื่องจากต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ว่า ปีนี้ สปส. เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็นปีแรกโดยได้ประมาณการจะมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญและบำเหน็จชราภาพ รวมทั้งสิ้นกว่า 1.3 แสนคน จะต้องจ่ายเงินกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมออกไปกว่า 4.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ สปส. ได้ประมาณการว่าในปี พ.ศ. 2587 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า กองทุนชราภาพจะอยู่ในภาวะติดลบ ซึ่งคณะทำงานศึกษากำหนดรูปแบบจำลองการพัฒนาบำนาญชราภาพในระบบประกันสังคมของ สปส. ได้สรุปทางเลือกการแก้ปัญหาไว้ 6 ทางเลือก ได้แก่ 1. การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพในส่วนผู้ประกันตนร้อยละ 1 และนายจ้างร้อยละ 0.5 ทุกๆ 3 ปี โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบอย่างค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพในส่วนผู้ประกันตนอยู่ที่ร้อยละ 13 และในส่วนนายจ้างอยู่ที่ร้อยละ 8 รวมอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพเท่ากับร้อยละ 21 หลังจากนั้น กำหนดให้อัตราเงินสมทบคงที่ในอัตราดังกล่าวยืดอายุกองทุน 46 ปี 2. การเพิ่มอายุผู้ที่มีสิทธิรับบำนาญ 2 ปีทุกๆ 4 ปี จนอายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี อาจใช้ปีเกิดเป็นเกณฑ์ เช่น ผู้ที่เกิดปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นไป จะมีสิทธิรับบำนาญเมื่ออายุ 62 ปี หรืออาจกำหนดปีที่จะปรับเพิ่มอายุเกษียณ เช่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 เป็นต้นไป อายุเกษียณจะปรับเพิ่มปีละ 6 เดือน โดยอัตราเงินสมทบคงที่ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอยู่ที่ร้อยละ 3 ยืดอายุกองทุน 37 ปี
3. เพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบก่อนเกิดสิทธิรับบำนาญจาก 15 ปี เป็น 20 ปี โดยอัตราเงินสมทบเป็นอัตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและอายุเกษียณอยู่ที่ 55 ปี ยืดอายุกองทุน 33 ปี 4. การปรับการคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยจากฐาน 60 เดือนสุดท้ายของเงินเป็นตลอดช่วงการจ่ายเงินสมทบเพื่อใช้คำนวณเงินบำนาญ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยตลอดชีวิตต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ร้อยละ 19 และค่าใช้จ่ายด้านเงินบำนาญของกองทุนประกันสังคมลดลงร้อยละ 19 เช่นกัน ยืดอายุกองทุน 32 ปี 5. มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือกที่ 1 บวก 3 ยืดอายุกองทุน 58 ปี และ 6. มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือก 1+2+3+4 พร้อมกัน ทำให้กองทุนประกันสังคมมีเสถียรภาพนานไปถึงปี พ.ศ. 2629 หรืออีก 72 ปีข้างหน้า
รองเลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า ทั้ง 6 ทางเลือกข้างต้นนี้ เป็นแต่เพียงผลการศึกษาเบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุป จะต้องนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาและกำหนดแนวทางการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพพิจารณา เมื่อผ่านการพิจารณาแล้วก็จะเสนอต่อบอร์ด สปส. หลังจากนั้น จะนำมาตรการดังกล่าวไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง รวมทั้งนักวิชาการเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับกับมาตรการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม การจะเริ่มใช้แต่ละแนวทางหรือการใช้หลายแนวทางมาผสมกันเมื่อใดนั้น จะต้องพิจารณาถึงสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละปีเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อนายจ้างและลูกจ้างให้น้อยที่สุด
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวว่า แต่ละปี สปส. ได้นำเงินกองทุนไปลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อหารายได้เข้ากองทุน ขณะนี้ได้หันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากให้ผลตอบแทนในการลงทุนสูงถึงร้อยละ 4.5 ขณะที่การลงทุนในประเทศได้เพียงร้อยละ 2
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่