สปส. เผยในรอบ 3 ปี มีผู้ใช้สิทธิว่างงาน เฉลี่ยปีละ 8-9 หมื่นคน ควักเงินกองทุนจ่าย 3-4 พันล้านบาท แนะผู้ประกันตนใช้สิทธิเท่าที่จำเป็น เตือนได้งานทำแล้ว ยังแอบใช้สิทธิเจอเรียกเงินคืน
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการใช้สิทธิประโยชน์ว่างงานของผู้ประกันตนว่า สปส. ได้กำหนดสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานโดยหากผู้ประกันตนลาออกจากงานเอง ทาง สปส. จ่ายเงินให้ร้อยละ 30 ของค่าจ้าง แต่ถ้าถูกเลิกจ้างหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะจ่ายให้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นเวลา 3 เดือน โดยต้องมารายงานตัวที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ทุกเดือน ทั้งนี้ ช่วง 3 ปีตั้งแต่ปี 2554 มีผู้ประกันตนซึ่งมีทั้งผู้ถูกเลิกจ้าง สมัครใจลาออก และสิ้นสุดสัญญาจ้างยื่นใช้สิทธิ 98,142 คน จ่ายเงินกองทุนกว่า 3,499 ล้านบาท ปี 2555 ผู้ประกันตนยื่นใช้สิทธิ 88,063 คน จ่ายเงินกองทุนกว่า 4,338 บาท ปี 2556 ผู้ยื่นใช้สิทธิ 95,090 คน จ่ายเงินกองทุนกว่า 4,301 ล้านบาท ส่วนในปี 2557 เดือนมกราคมมีผู้ยื่นใช้สิทธิ 91,317 คน จ่ายเงินกองทุนกว่า 338 ล้านบาท และเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีผู้ยื่นใช้สิทธิ 88,364 คน จ่ายเงินกว่า 328 ล้านบาท
รองเลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า จากข้อมูลข้างต้นจำนวนผู้ยื่นใช้สิทธิยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเงินสมทบแล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีแรงงานเข้าออกและมารับเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจำนวนน้อยมากแค่หลักสิบถ้าเทียบกับจำนวน 8-9 หมื่นรายในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม สปส. ต้องการให้ผู้ประกันตนซึ่งว่างงานมีงานทำ ดังนั้น ระหว่างที่ผู้ประกันตนมารายงานตัวเพื่อรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ก็จะมีการฝึกอาชีพ เช่น ช่างฝีมือ การทำอาหารให้ด้วยโดยประสานให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มาช่วยฝึกอบรมเพื่อให้ผู้ประกันตนที่ว่างงานมีทักษะอาชีพติดตัว
“เงินสิทธิประโยชน์กรณีวางงานนั้นเป็นเงินของลูกจ้างทุกคน ซึ่งแต่ละคนสามารถใช้สิทธิได้ แต่ก็อยากให้ใช้สิทธิเวลาเดือดร้อนจริงๆ และการทำงานหาเงินด้วยตัวเองจะได้มากกว่าเงินกรณีว่างงาน หาก สปส. พบว่าผู้ประกันตนได้งานใหม่ทำแล้ว และมีรายได้แต่ยังมารับเงินกรณีว่างงาน ถ้าเจอจะเรียกเงินคืน หรือเมื่อมาเบิกสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีอื่นๆ สปส. จะหักเงินคืน เพราะเป็นการใช้สิทธิกรณีว่างงานโดยไม่ถูกต้อง รวมทั้งนายจ้างรายใหม่ที่รับผู้ประกันตนเข้าทำงานแล้ว ไม่ยอมแจ้ง ไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมก็จะมีโทษถูกดำเนินคดี แต่ปัจจุบัน สปส. ยังไม่ได้เอาผิดถึงขั้นดำเนินคดี จะแจ้งและตักเตือน เนื่องจากกรณีที่พบนั้นเกิดจากความไม่รู้ของนายจ้างมากกว่าจงใจ” นพ.สุรเดช กล่าว