xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.ไม่รับคดี"มาร์ค"ฟ้องรมว.กลาโหม โอนศาลยยุติธรรมชี้ขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองกลาง อ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ในคดีหมายเลขดำ ที่ 2900/2555 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี กรณีออกคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1163/2555 ลงวันที่ 8 พ.ค. 55 ให้ปลด ร.ต. อภิสิทธิ์ ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 31 เป็นต้นไป โดยคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เนื่องจากเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 1163/2555 ลงวันที่ 8 พ.ย. 55 ที่ปลดร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากราชการ เนื่องจากกระทำผิดวินัยทหารอย่างร้ายแรง โดยปรากฏข้อเท็จจริงตามคำให้การว่า ขณะร.ต.อภิสิทธิ์ ได้รับการแต่งตั้งยศแล้ว ได้นำใบสำคัญ สด. 9 แทนฉบับที่ชำรุดสูญหาย ไปขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการ จนทำให้เจ้าหน้าที่ สัสดีผิดหลง ออกใบสำคัญ สด.3 ขั้นทะเบียนกองประจำการให้แก่ ร.ต.อภิสิทธิ์ รมว.กลาโหมขณะนั้นจึงมีคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร พ.ศ. 2476 และข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการ บรรจุ ปลด ย้าย เลื่อน และ ลดตำแหน่งข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2502 ประกอบข้อบังคับทหาร ที่ 11/16536 พ.ศ. 2482 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2482 ว่าด้วยการแบ่งประเภทนายทหารสัญญาบัตร ซึ่งเป็นข้อบังคับและระเบียบแบบแผนเกี่ยวกับวินัยทหารตาม มาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 กรณีจึงเป็นเรื่องวินัยทหารตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 คดี ที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ทั้งศาลปกครอง และศาลยุติธรรม คือ ศาลแพ่ง ได้แสดงเหตุผลที่เห็นว่า คดีดังกล่าวควรอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลตน โดยศาลแพ่งให้เหตุผลว่า หากข้อความในเอกสารใบสำคัญดังกล่าว ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นเท็จหรือไม่ ข้อสงสัยในเอกสารก็ยังคงมีอยู่ และอาจถูกนำไปอ้างให้เกิดปัญหาเป็นคดีไม่สิ้นสุด ประเด็นของข้อความจึงมีความสำคัญที่ควรได้รับการวินิจฉัยโดยศาลเสียก่อนในลำดับแรก เมื่อได้ความเช่นใดแล้วจึงจะมีการวินิจฉัยว่า คำสั่งให้ปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากราชการ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ในลำดับต่อไป อันเป็นประเด็นรอง
ขณะที่การพิจารณาว่า เอกสารใดเป็นเอกสารเท็จ และมีการใช้เอกสารเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนหรือไม่ เป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม
ส่วนที่โต้แย้งกันว่า ร.ต.อภิสิทธิ์ อยู่ในบังคับ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารหรือไม่ ซึ่งควรได้รับการวินิจฉัยเป็นกรณีหลัก ไม่ควรได้รับวินิจฉัย ในชั้นของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพราะอาจมีผลครอบงำให้คดีต้องมีคำพิพากษาตามทำให้ขาดอิสระในการพิจารณาพิพากษา รวมทั้งการวินิจฉัยว่าประเด็นนี้ จำเป็นต้องนำกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารมาพิจารณาวินิจฉัยว่า ใช้บังคับแก่กรณีนี้หรือไม่ ซึ่งเป็นกรณีที่อยู่ในความหมายของ คำว่า การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารตาม มาตรา 9 วรรคสอง (1) ศาลปกครองจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จึงเห็นว่า อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
สำหรับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด ประกอบด้วย นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ของศาลยุติธรรม นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด นายจรัญ หัตถกรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง พล.ร.ท.กฤษฎา เจริญพานิช หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และพล.ต.พัฒนพงษ์ เกิดอุดม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิศาลทหาร และนายจิระ บุญพจนสุนทร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ นายไพโรจน์ มินเด็น โฆษกศาลปกครองชี้แจงคดีนี้ เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มีคำวินิจฉัยออกมาก็มีผลผูกพันให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมแต่เพียงศาลเดียว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่คู่กรณี สำนักงานศาลปกครองจะทำการโอนสำนวนคดีไปดำเนินการต่อในศาลยุติธรรมได้โดยทันที คู่กรณีไม่ต้องไปยื่นฟ้องใหม่แต่อย่างใดเลย” โฆษกศาลปกครองกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น