xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ในความเหมือนและแตกต่าง การเมืองที่เลวร้ายปี35กับ57

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ความตึงเครียดที่เขม็งเกลียวมากขึ้นเรื่อยๆ จากภาวการณ์เผชิญหน้าระหว่างมวลมหาประชาชนกับรัฐบาลทรราช ที่ใช้ประชาธิปไตยบังหน้า ทำให้คนไทยจำนวนมากมีความวิตกกังวลถึงอนาคตของประเทศว่า

จะผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ไปอย่างราบรื่น หรือจะต้องแลกมาด้วยความสูญเสียครั้งใหญ่ ที่อาจรุนแรงถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมือง

การโต้เถียงเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่รัฐบาลทรราชไม่เคยเคารพ แต่กลับอ้างรัฐธรรมนูญเฉพาะที่เป็นประโยชน์กับตัวเองมาบังคับให้คนไทยต้องปฏิบัติตาม พร้อมกับการท่องคาถาเดียวว่า

ประชาธิปไตยต้องไปเลือกตั้ง นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง เท่านั้น

ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลชุดนี้ถูกตัดหัวไปเรียบร้อยแล้ว จากการกระทำผิดซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ทั้งการละเมิดรัฐธรรมนูญ ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ระบบคุณธรรม ฯลฯ

จนกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งจากการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาฯสมช. โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้เครือญาติตัวเอง

และยังโดน ป.ป.ช. ชึ้มูลความผิดให้ถอดถอนจากตำแหน่ง จากการปล่อยปละละเลยให้มีการโกงจำนำข้าว 

ที่สำคัญคือ ดันถูกประหารในห้วงเวลาที่พ้นตำแหน่งไปแล้วจากการยุบสภา แต่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายตามมามากมายว่าจะดำเนินการอย่างไร จะต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือไม่ ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรก็ยังไม่มี ใครจะทำหน้าที่ได้

หากผู้มีอำนาจในขณะนี้มีจิตสำนึกในความเป็นมนุษย์มากกว่านี้ ปัญหาก็คงไม่เกิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงตัดสินใจลาออกก่อนถูกไล่ให้ออกไปแล้ว และขี้ข้าในครม. คงไม่ออกอาการหน้าด้าน อ้างว่าตัวเองยังอยู่ในตำแหน่งทั้งที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพไปแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น คนเหล่านี้ยังใช้อำนาจที่ตัวเองไม่มีอย่างไม่ละอายด้วย

นี่คือสภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อันเป็นต้นเหตุทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาปฏิเสธกระบวนการเลือกตั้งและการเมืองที่ล้มเหลว จนกลายเป็นทางตันของประเทศอยู่ในปัจจุบัน 

สถานการณ์บ้านเมืองในวันนี้ มีความเหมือนในความแตกต่างกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 อย่างไม่น่าเชื่อ

เหมือนตรงที่ประชาชนจำนวนมากออกมาต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ ต่างกันตรงที่ปี 35 เป็นเผด็จการทหาร ส่วนปี 57 เป็นเผด็จการทุนสามานย์

เหมือนตรงที่ประชาชนจำนวนมาก ออกมาต่อต้านผู้ปกครองเลว ต่างกันตรงที่ปี 35 เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เพื่อปิดทางทหารสืบทอดอำนาจ ส่วนปี 57 ต้องการนายกฯคนกลาง เพื่อปฏิรูปประเทศ ปิดทางนักเลือกตั้งเลว เข้ามาล้างผลาญชาติบ้านเมือง

เหมือนตรงที่ประชาชนจำนวนมากต้องการการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ต่างกันตรงที่ปี 35 มุ่งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย โดยยึดสัญลักษณ์ว่า นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะรังเกียจเผด็จการทหาร ส่วนปี 57 คนไทยขยะแขยงนักเลือกตั้งที่ใช้ประชาธิปไตยเป็นเกราะกำบัง ทำลายประเทศ ทำร้ายระบบการปกครอง ทุจริตมโหฬาร จนชาติแทบล่มจม จึงเรียกร้องให้นักเลือกตั้งถอยไป เปิดทางให้มีการปฏิรูปประเทศโดยรัฐบาลที่มาจากคนกลาง

ที่น่าสนใจคือ เผด็จการทหารอย่าง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่เสียสัตย์เพื่อชาติ จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของประเทศ ในเหตุการณ์ปราบประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และทำให้ พล.อ.สุจินดา อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 48 วันเท่านั้น โดยพล.อ.สุจินดา ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมคำแถลงรับผิดชอบต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น ไปจนถึงการเปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเรียกร้องของประชาชน
 
เป็นการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองของเผด็จการทหาร ที่เผด็จการทุนสามานย์อย่างยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เคยมี และไม่คิดที่จะทำ

แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ พรรคร่วมรัฐบาลที่สนับสนุนเผด็จการทหาร กับเผด็จการทุนสามานย์ ยังคงประกอบไปด้วยนักเลือกตั้งหน้าเดิม และผนึกเสียงกันเหนียวแน่น ด้วยการยึดตัวเลขคณิตศาสตร์เสียงข้างมากยึดกุมอำนาจไว้ไม่ยอมปล่อย แตกต่างกันตรงที่ ในปี 35 ไม่มีการยุบสภา แต่ต้องการสืบสานอำนาจทั้งที่ถูกเรียกขานว่าเป็น “พรรคมาร”

ส่วนในปี 57 ยุบสภาแล้วเร่งให้ไปเลือกตั้ง เพราะมั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะ หวังใช้การเลือกตั้งซักฟอกความผิดให้ตัวเอง โดยไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมเลวทรามที่ทำ แม้กระทั่งวันแถลงอำลาตำแหน่ง ยิ่งลักษณ์ ซึ่งพ้นสภาพนายกฯไปแล้ว ยังใช้ทีวีพูลเสมือนกับตัวเองยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่อย่างไม่ละอายแก่ใจ

ข้อคิดที่ควรจะนำมาพิจารณา เพื่อเป็นประโยชน์ในการคลี่คลายวิกฤตชาติปัจจุบันคือ การตัดสินใจเสนอชื่อ อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง แทน พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่มาจากการเลือกตั้ง จนต้องแต่งชุดขาวรอเก้อ กระทั่ง อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นผู้ผ่าทางตันการเมืองในเวลานั้นได้รับการสดุดีว่าเป็น “วีรบุรุษประชาธิปไตย”จากการเสนอชื่อ “นายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” สวนกระแสข้อเรียกร้อง “นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง” แต่กลับได้รับการยอมรับจากประชาชน

“เป็นเรื่องแปลกในแง่ที่ว่า ทั้งๆ ที่พฤษภาคม 2535 เราเรียกร้องให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่เรากลับดีใจเมื่อ คุณอานันท์ ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาเป็นนายกฯ ผมคิดว่าตอนนั้นมีโอกาสเกิดวิกฤตรอบสอง ถึงแม้พฤษภา 35 จะจบไป แต่ถ้าหากว่าพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ตอนนั้น ยังคงดื้อดึง ไม่รับผิดชอบอะไรเลย ตอนนั้นมันเกิดปัญหาแน่ การที่ ด๊อกเตอร์อาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนชื่อจาก พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ กลายเป็น คุณอานันท์ ปันยารชุน

ผลของมันในทางการเมือง คือ เมื่อคุณอานันท์ เข้ามาทำหน้าที่ในการโยกย้ายแม่ทัพนายกองในการเกี่ยวข้องกับการปราบปรามแล้วยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ คือทำให้วิกฤตการณ์ที่เกิดจากพฤษภาคม 35 มันยังกรุ่น ๆ ยังมีเหตุปัจจัยที่จะรุนแรงอีก ก็เลยคลายตัวเอง ก็เลยจบ เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งที่ 2 วันที่ 13 กันยายน 2535 ก็เลยจบ เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งนั้น ผมคิดว่า ผลของมันคืออย่างที่ผมว่า คือทำให้วิกฤตการณ์คลายตัวไปหมดเลย”

คำสัมภาษณ์ของ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ประชาธิปไตยเปื้อนเลือด เหมือนมาไกล แต่ไปไม่ถึง” ของ รุ่งมณี เมฆโสภณ เป็นเรื่องที่ผู้ที่จะต้องมีส่วนสำคัญในการคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองควรจะได้นำไปใคร่ครวญดู เพราะมีความเหมือนในความต่างที่มีนัยยะสำคัญยิ่ง

ปี 35 ผู้ที่เรียกร้องว่า นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง ยอมรับได้ที่จะมีนายกฯไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น โยกย้ายทหารที่ใช้กำลังกับประชาชน และคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อให้กลับสู่ความสงบไม่ต้องสูญเสียอีก

แต่ในปี 57 รัฐบาลอ้างยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว โดยที่รู้กันทั้งสังคมว่า รัฐบาลใช้การเลือกตั้งเป็นเพียงแค่พิธีกรรมเพื่อฟอกตัวเท่านั้น และการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็เป็นโมฆะ มีการสูญเสียเกิดขึ้น และยังดำรงอยู่จนถึงวันนี้ เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่ยังไม่มีการปฏิรูป

คนที่จะตัดสินใจ และมีผลต่อการเปลี่ยนผ่านบ้านเมืองครั้งนี้คือ ก.ก.ต. 5 คน สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา ว่าจะมีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความถูกต้องให้กับบ้านเมืองมากน้อยแค่ไหน

โดยต้องชั่งน้ำหนักให้ได้ว่า ระหว่างการตัดสินใจเพื่อรักษาความถูกต้องไปกระทบกับคนชั่ว จนมีการสร้างสถานการณ์รุนแรงขึ้น กับการเกรงใจคนชั่ว แล้วปล่อยให้อมนุษย์เหล่านั้นมาทำเวรทำกรรมกับชาติต่อไป จะเลือกอะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น