กรุงเทพโพลล์ เผย 60 นักเศรษฐศาสตร์ 65% หนุนนายกฯ ใหม่เด็ดขาด กล้าตัดสินใจ ลุยปฏิรูป 41.7%ให้กรอบเวลาปฏิรูปไม่เกิน 1 ปี 36.7% หนุน-ค้านนักการเมืองแจม 41.5% จี้แก้ทุจริตคอร์รัปชันการเมือง 29.6% แนะปฏิรูปภาษีที่ดิน, มรดกลดเหลื่อมล้ำ 34.5% ขอปฏิรูปการศึกษา 21.2%หวังปฏิรูปเสร็จไม่มีคอร์รัปชัน 66.7% มั่นใจสำเร็จร้อยละ 50 32.1% เป็นกำลังใจให้ “ประยุทธ์” 80% เชื่อเศรษฐกิจดีขึ้น
วันนี้ (8 มิ.ย.) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 31 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง “ประเทศไทยบนโหมดปฏิรูป” โดยสอบถามความเห็นถึงนายกรัฐมนตรีควรเป็นคนที่มีคุณสมบัติอย่างไรเป็นพิเศษภายใต้การดูแลรักษาความสงบโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ร้อยละ 65.0 เป็นคนเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ และให้ความสำคัญกับการปฏิรูป ร้อยละ 10.0 เป็นคนประนีประนอมและเป็นที่ยอมรับทั้งฟาก กปปส.และ นปช. ร้อยละ 10.0 อื่นๆ คือ มีความเป็นกลาง เป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย รวมถึงมีความรู้ความสามารถอย่างรอบด้าน มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ร้อยละ 6.7 มีความรู้ความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.0 เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ และร้อยละ 3.3 ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ
เมื่อถามว่า กรอบเวลาในการปฏิรูปภายใต้การบริหารจัดการโดย คสช. หรือรัฐบาลชุดใหม่ ควรกินเวลานานที่สุดไม่เกินเท่าใด ร้อยละ 41.7 ไม่ควรเกิน 1 ปี ร้อยละ 20.0 ไม่ควรเกิน 6 เดือน ร้อยละ 16.7 ไม่ควรเกิน 1 ปี 6 เดือน ร้อยละ 13.3 ไม่ควรเกิน 2 ปี ร้อยละ 1.7 ไม่ควรเกิน 5 ปี ร้อยละ 3.3 ไม่ควรกำหนดระยะเวลา และร้อยละ 3.3 ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ
เมื่อถามถึงการปฏิรูปควรมีตัวแทนจากภาคการเมือง หรือไม่ ร้อยละ 36.7 ควรมีตัวแทนจากภาคการเมือง เพราะเป็นผู้รู้ปัญหา ผู้สร้างปัญหาในภาคปฏิบัติจึงต้องเลือกคนที่เป็นกลางและมีจำนวนไม่มาก, เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญที่จะต้องปฏิรูป ถ้าไม่มีอาจเกิดการไม่ยอมรับในภายหลัง และควรมีจากทุกภาคส่วนและภาคการเมืองอาจถือเป็นตัวแทนประชาชน ร้อยละ 36.7 ไม่ควรมีตัวแทนจากภาคการเมือง เพราะภาคการเมืองเป็นต้นเหตุของปัญหาสำคัญที่ทำให้ต้องมีการปฏิรูปประเทศ, เพื่อความเป็นกลาง เพื่อความเป็นอิสระปราศจากอิทธิพลทางการเมือง ไม่มีการปกป้องผลประโยชน์ทางการเมือง ,ผลการปฏิรูปอาจไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และร้อยละ 26.6 ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ
เมื่อถามว่า ต้องการปฏิรูปด้านการเมือง ด้านใดมากที่สุด ร้อยละ 41.5 การแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันในทุกระดับ ร้อยละ 30.2 ระบบการเลือกตั้ง การซื้อเสียง นโยบายประชานิยม และคุณภาพนักการเมือง ร้อยละ 17.0 อื่นๆ ได้แก่ ความเป็นอิสระของ ส.ส. การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมทางการเมือง การปรองดอง และร้อยละ 11.3 กลไกการตรวจสอบ ถ่วงดุล
เมื่อถามว่า ต้องการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจด้านใดมากที่สุด ร้อยละ 29.6 ปฏิรูประบบภาษี ไม่ว่าจะเป็น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้ กระจายความเจริญไปยังภูมิภาคให้มากขึ้น ร้อยละ 14.9 อื่นๆ ได้แก่ ใช้นโยบายประชานิยมอย่างสร้างสรรค์ อย่าบิดเบือนกลไกราคา สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางการคลัง เพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการและบริหารอย่างมืออาชีพ ร้อยละ 13.0 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนา Logistic ร้อยละ 13.0 เพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าส่งออก สินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งโดยใช้ประโยชน์จากการค้าเสรีและการเปิด AEC ร้อยละ 11.1 สร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เท่าเทียม และเป็นธรรม ไม่มีส่วยธุรกิจ ร้อยละ 9.2 บริหารเศรษฐกิจโดยยึดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มองความยั่งยืนในระยะยาว มีความสมดุลในภาพรวมของเศรษฐิจ เน้นผลิตภาพ และร้อยละ 9.2 ลดค่าครองชีพของประชาชน/แก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน หนี้นอกระบบ
เมื่อถามว่าต้องการปฏิรูปด้านสังคมด้านใดมากที่สุด ร้อยละ 34.5 ปฏิรูปการศึกษา โอกาสในการศึกษาที่เท่าเทียม พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา พัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษ ร้อยละ 21.8 สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ ร้อยละ 20 ปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับคนไทยให้รู้หน้าที่ ไม่ใช่รู้แต่สิทธิ มีความละอายต่อการทำความผิด สร้างคุณธรรมจริยธรรมให้กับสังคม ร้อยละ 7.3 ปฏิรูปกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง เป็นธรรม เท่าเทียม ร้อยละ 7.3 เร่งสร้างความปรองดอง ความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คนไทย ร้อยละ 5.5 ปราบปรามยาเสพติด อาชญากรรม และ ร้อยละ 3.6 อื่นๆ ได้แก่ ปฏิรูประบบราชการ เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ
เมื่อถามถึงภาพประเทศไทยที่คาดหวังจะได้เห็นเมื่อการปฏิรูปประเทศแล้วเสร็จ ร้อยละ 21.2 ไม่มีคอร์รัปชัน ไม่มีระบบอุปถัมภ์ ร้อยละ 19.7 คนไทยรักใคร่ สามัคคี ปรองดอง ร้อยละ 12.1 ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง ไม่มีนโยบายประชานิยมสุดโต่ง นักการเมืองมีคุณภาพ ร้อยละ 9.1 คนไทยมีค่านิยมที่ส่งเสริมคนเก่งและเป็นคนดี ซื่อสัตย์ เสียสละ ร้อยละ 7.6 การเมืองไทยมีเสถียรภาพ ร้อยละ 7.6 มีระบบถ่วงดุล ตรวจสอบ และบทลงโทษที่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 7.6 มีเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนกินดีอยู่ดี ร้อยละ 6.1 ข้าราชการเป็นอิสระจากนักการเมือง ร้อยละ 4.5 กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ และร้อยละ 4.5 อื่นๆ ได้แก่ คนไทยเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น ฝ่ายบริหารมีอำนาจทางการใช้จ่ายน้อยและอยู่ภายใต้การควบคุมโดยฝ่ายนิติบัญญัติ
เมื่อถามว่า มีความมั่นใจว่าการปฏิรูปประเทศจะสำเร็จตามที่คาดหวังไว้กี่เปอร์เซ็นต์ ร้อยละ 66.7 มั่นใจว่าการปฏิรูปประเทศจะสำเร็จ 50% จากที่คาดหวังไว้ และ ร้อยละ 33.3 ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ
เมื่อถามถึง สิ่งที่อยากบอกกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ในประเด็นการปฏิรูป ร้อยละ 32.1 เป็นกำลังใจให้ ขอให้อดทน มั่นคง แนวแน่ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ ร้อยละ 17.9 ต้องเข้าใจปัญหาที่จะปฏิรูป ต้องปฏิรูปอย่างจริงจัง ปูพื้นฐานเรื่องการปฏิรูปให้มั่นคงเพื่อสานต่อในอนาคต ร้อยละ 17.9 อื่นๆ ได้แก่ ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ให้นักวิชาการช่วยคิดแก้ปัญหา (ไม่ควรใช้ตัวแทนกลุ่มอาชีพเพียงอย่างเดียว) เร่งสร้างความปรองดอง แก้ปัญหาการพนัน สื่อสารกับต่างประเทศให้เข้าใจสังคมและการเมืองไทย ลดกำลังทหาร ร้อยละ 10.7 ต้องแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้ได้ สร้างค่านิยมรังเกียจการคอร์รัปชัน ร้อยละ 8.9 ต้องจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ร้อยละ 5.6 ลดการผูกขาดของภาคธุรกิจ กระจายอำนาจการปกครอง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ร้อยละ 3.6 ต้องเลือกคนเก่งและดีมาช่วยกันบริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่าน และร้อยละ 3.6 ต้องมีความยุติธรรมในการลงโทษผู้กระทำความผิด รวมถึงผู้กระทำความผิดทางการเมือง (หมายเหตุ : มีนักเศรษฐศาสตร์แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้จำนวน 51 คน)
เมื่อถามถึงแนวโน้มเศรษฐกิจต่อจากนี้ไปน่าจะเป็นไปในทิศทางใด ร้อยละ 80.0 เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น ร้อยละ 8.3 ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ ร้อยละ 6.7 เศรษฐกิจน่าจะแย่ลงอีก ร้อยละ 5.0 เหมือนเดิม ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง