xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ย้อนรอย “วีระ สมความคิด” 1,281 วันในคุกกัมพูชา ก่อนกลับคืนสู่อิสรภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีระ สมความคิด
ย้อนเหตุการณ์ 7 คนไทยนำโดย ส.ส.ปชป. บุกพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา “บ้านหนองจาน” สระแก้ว จนถูกทหารเขมรจับกุมเข้าเมืองผิดกฎหมาย สุดท้าย 5 คนไทยเฮ แต่ “วีระ สมความคิด” เคราะห์ซ้ำถูกกล่าวหาโจรกรรมข้อมูล จำคุก 8 ปี “บิ๊กตู่” ร้องขอให้ปล่อยตัวสำเร็จ หลังผ่านไป 3 ปี 6 เดือน

ทีมข่าวการเมือง ASTV ผู้จัดการออนไลน์... รายงาน

ในที่สุด นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) และแกนนำภาคีเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ที่ถูกทหารกัมพูชาจับกุม และถูกศาลกัมพูชาตั้งข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย บุกรุกเขตทหาร และจารกรรมข้อมูล เป็นเวลา 8 ปี วันนี้สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตัดสินใจปล่อยตัวแล้ว ตามคำร้องขอของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยยื่นเงื่อนไขว่าจะดูแลแรงงานและนักโทษชาวกัมพูชาเป็นการตอบแทน กระทั่งกษัตริย์นโรดมสีหมุณีได้ลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ และจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันนี้

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) (ในขณะนั้น) ได้นำนายวีระ พร้อมด้วย ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ประสานงานกองทัพธรรม, นางนฤมล จิตรวะรัตนา สมาชิกเครือข่าย คปต., นายกิจพลธรณ์ ชุสนะเสวี เลขาส่วนตัวนายพนิช และผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอฟเอ็มทีวี คือ นายตายแน่ มุ่งมาจน และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ เดินทางไปพิสูจน์การรุกล้ำอธิปไตยไทยบริเวณรั้วลวดหนามพื้นที่พิพาทบ้านหนองจาน ต.บ้านโนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว

หลังนายพนิชได้ไปพูดคุยกับสมณะโพธิรักษ์แห่งสันติอโศก และทราบว่ามีชาวบ้านมาร้องเรียนว่าถูกทหารกัมพูชาเข้ามายึดที่นามาเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว เมื่อร้องเรียนไปยังหน่วยราชการต่างๆ กลับไม่มีความคืบหน้า โดยในวันนั้นคณะของนายพนิชได้เดินทางไปพร้อมกับรถตู้แวนยี่ห้อโตโยต้า สีเทา ทะเบียน ฎจ 463 กรุงเทพมหานคร 1 คัน และรถโตโยต้าฟอร์จูนเนอร์ สีขาว ทะเบียน ชณ 450 กรุงเทพมหานคร อีก 1 คัน ก่อนจะจอดอยู่ที่ถนนศรีเพ็ญ ถนนเลียบแนวชายแดนท้ายหมู่บ้านหนองจาน ห่างจุดตรวจชายแดนที่ 48 ของกองร้อย ตชด.126 ประมาณ 50 เมตร

เมื่อเข้าไปในพื้นที่นาของชาวบ้าน มาถึงสวนผลไม้ ใกล้กับค่ายทหารของกองกำลังกัมพูชา ทันใดนั้นมีทหารกัมพูชา ชุดกองพันป้องกันชายแดนที่ 503 (พัน.ปชด.503) 8-9 คน ซึ่งมี พ.อ.ซาย สุวรรณเรศ เป็น ผบ.พัน พร้อมอาวุธครบมือ ล้อมกรอบและจับกุม ยึดอุปกรณ์สื่อสาร กล้องถ่ายรูป และบัตรทุกชนิด โดยทางทหารกัมพูชาไม่ยินยอมให้คณะของนายพนิชออกจากพื้นที่ แม้ พ.ต.อ.ณัฐ สิงห์อุดม ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 อรัญประเทศ ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.สวัสดิ์ บุญมาก สบ.ตชด.126 เข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชา แต่ก็ไม่เป็นผล

ในช่วงเที่ยง พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ในฐานะ ผบ.กองกำลังบูรพา และ พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 ได้ประสานพุดคุยกับ พล.ท.บุน เซ็ง ผบ.ภูมิภาคที่ 5 เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่เข้าไปพูดคุย โดยทาง พล.ต.วลิต และพ.ต.อ.ณัฐ สิงห์อุดม ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 ได้เดินทางไปเจรจากับ พ.อ.ซาย สุวรรณเรศ ผู้บังคับทหารป้องกันชายแดนที่ 503 เพื่อขอตัวคนไทยกลับ แต่การเจรจากลับไม่สัมฤทธิผล ทำให้คนไทยทั้ง 7 คนถูกส่งตัวไปที่ อ.ศรีโสภณ จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา

นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ (ในขณะนั้น) ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เพื่อหารือถึงเรื่องนี้ กระทั่งตกเย็น นายอภิสิทธิ์พร้อมด้วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (ในขณะนั้น) ร่วมในงานเลี้ยงปิดการแข่งขันกีฬา “ทำเนียบเกมส์” ซึ่งจัดภายในทำเนียบรัฐบาล มีการแสดงรื่นเริงบนเวทีมากมาย แต่ปรากฏว่าทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพกลับไม่สนุกด้วย และยังมีการหารือกันเป็นระยะ ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด รวมทั้งนายอภิสิทธิ์รับโทรศัพท์เป็นช่วงๆ ด้วยสีหน้าไม่สู้ดี โดยภายหลังร่วมงานนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ทางการกัมพูชายังไม่ยอมปล่อยตัว 7 คนไทย

ในเย็นวันเดียวกัน สำนักข่าวต้นมะขาม (เดิมอัมปรึล) ของกัมพูชารายงานคำแถลงของสมเด็จฯ ฮุน เซน ว่าตนได้สั่งให้เจ้าหน้าที่กัมพูชาส่งตัวคนไทยซึ่งถูกจับกุมไปยังเรือนจำของกัมพูชา ขณะกำลังพยายามตรวจสอบการจัดทำหลักเขตแดน กัมพูชา-ไทย ที่จังหวัดอุดรมีชัยของกัมพูชา เมื่อคนไทยกลุ่มดังกล่าวถูกส่งมายังกรุงพนมเปญจะเผชิญกับการดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ของกัมพูชาได้จับกุมในแผ่นดินกัมพูชา เข้ามายังแผ่นดินกัมพูชาแบบผิดกฎหมายโดยไม่มีพาสปอร์ต และได้ทำการต่อต้านทหารในกัมพูชา

“การจับกุมทั้ง 7 คน ไม่ส่งผลกระทบปัญหาเขตแดน และความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ นายอภิสิทธิ์ได้ขอกับผมให้เข้าแทรกแซงกรณีดังกล่าว และปล่อยตัวนักการเมืองไทยคนหนึ่งจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ผมตอบ ไม่ ผมไม่สามารถช่วยได้ สมาชิกสภาผู้แทนของไทยมีเอกสิทธิ์ในประเทศไทย แต่ที่นี่คือในกัมพูชา และพวกเขาทำผิดกฎหมายในแผ่นดิน (กัมพูชา) และต่อต้านเรา นายกฯ อภิสิทธิ์ รักประเทศของตนเอง และผมก็รักประเทศของผม” สมเด็จฯ ฮุน เซนกล่าว

วันต่อมา นายอภิสิทธิ์แถลงจุดยืนของรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือ 7 คนไทยที่ถูกจับกุมระบุว่า ไม่ว่ากรณีจับกุมจะเกิดขึ้นที่ฝั่งใดก็ตาม เห็นว่าบุคคลทั้งเจ็ดควรจะได้รับการปล่อยตัวทันที ด้วยเหตุผลที่ว่า ทางฝ่ายนโยบายทั้งสองฝ่ายได้เคยคุยกันว่ากรณีที่เกิดปัญหาในชายแดนลักษณะนี้โดยเฉพาะไม่มีอะไรบ่งบอกว่าคนทั้งเจ็ดมีอาวุธ ไม่ควรที่จะมีการจับกุมและเข้าสู่กระบวนการของศาล เพราะว่าจะทำให้ปัญหามีความยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ด้านนายสุเทพกล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เจ้าหน้าที่พยายามขับรถตามไปบอกให้กลับ แต่ว่าคณะดังกล่าวหลุดเข้าไปในเขตพื้นที่ของกัมพูชาไปก่อนแล้ว โดยล้ำเขตไป 300-400 เมตร เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เขาพยายามห้ามแล้วแต่ขับรถตามไม่ทัน บริเวณตรงนั้นมัมีถนนเลียบชายแดนซึ่งบางส่วนก็อยู่ในเขตไทย บางส่วนอยู่ในเขตกัมพูชา ไม่ทราบว่านายพนิชเดินทางไปในฐานะอะไร และมองว่าการที่มีชื่อนายวีระเป็นผู้ที่ถูกจับกุม ทำให้การเจรจายากขึ้น

“ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าเขามีเจตนารมณ์และกลไกอย่างไร ไม่ทราบว่านายพนิชเดินทางไปในฐานะอะไร ไปเพื่ออะไร ส่วนผู้ช่วยของนายพนิชที่หนีมาได้ก็ยังไม่ได้ติดต่อกับผม เขาคงรายงานนายกฯ แล้ว แต่ว่าการที่นายวีระเคยถูกจับในพื้นที่ใกล้เคียงและคราวนี้มาถูกจับอีกเป็นเหตุ สำคัญที่ทำให้การเจรจาที่จะขอตัวกรณีนี้ยากขึ้น ตอนแรกผมดีใจว่าเขาจะปล่อยอยู่แล้ว แต่พอตรวจรายชื่อกันมีชื่อคนที่ถูกจับมาก่อนก็เลยมีปัญหา” นายสุเทพกล่าว

นายสุเทพยังระบุอีกว่า ที่ปัญหาไม่คลี่คลายเป็นเพราะปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาไม่ได้ดีจริงอย่างที่พูด ลุ่มๆ ดอนๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวไม่ดี และมีเหตุการเมืองเข้ามาแทรก พอ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้าไปอยู่ในกัมพูชาก็เกิดแข็งกร้าวมีปัญหากับรัฐบาล ก็หยุดกันไปพักหนึ่ง ตอนนี้พอจะผ่อนคลายลงทำท่าจะดี ก็เกิดเหตุมีคนเข้าไปอีก ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการเมืองภายในของเราที่ไปดำเนินการแล้วเกิดเหตุ แต่อีกส่วนเป็นเรื่องของกัมพูชามีประเด็นที่อยากจะต่อรองกับเราเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วไม่เรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม แม้นายอภิสิทธิ์มอบหมายให้นายกษิตเดินทางไปกัมพูชาในช่วงบ่าย เพื่อเข้าพบกับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศกัมพูชาที่กรุงพนมเปญ แต่การเจรจาไม่เป็นผล โดยอ้างว่าอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ปล่อยตัวไม่ได้ ขณะที่ศาลแขวงกัมพูชาได้ไต่สวนเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จากนั้นศาลได้ตั้งข้อกล่าวหาคนไทยทั้ง 7 คน 2 ข้อกล่าวหา คือ เข้าเมืองผิดกฎหมาย และบุกรุกพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากมีความผิดจริงข้อกล่าวหาแรกจะมีบทลงโทษจำคุก 3-6 เดือน และข้อกล่าวหาที่ 2 มีบทลงโทษจำคุก 6 เดือนถึง 1 ปี ทั้งหมดต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลาเดือนกว่า

11 มกราคม 2554 อัยการของกัมพูชาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมต่อนายวีระ และ น.ส.ราตรี ฐานพยายามประมวลข่าวสารซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการป้องกันประเทศ ตามมาตรา 27 และมาตรา 446 เนื่องจากฝ่ายกัมพูชาตรวจพบเครื่องบันทึกเสียง และกล้องสปายแคม

21 มกราคม 2554 ศาลชั้นต้นแห่งกรุงพนมเปญเปิดการพิจารณาและพิพากษาคดีดังกล่าว โดยแยกพิจารณาคดีเป็น 2 กลุ่ม ศาลเบิกความนายพนิชเป็นคนแรก โดยให้นายซก เรือน รองอัยการศาลชั้นต้นแห่งกรุงพนมเปญ เป็นโจทก์ซักถาม ประเด็นการซักถามนายพนิชถึงสาเหตุที่ข้ามมายังดินแดนของกัมพูชาโดยไม่มีใบอนุญาต นายพนิชยืนยันไม่มีเจตนาล่วงล้ำดินแดน ส่วนสาเหตุที่มาพื้นที่ดังกล่าวเพราะมีประชาชนร้องเรียนปัญหาที่ดิน และแม้แต่เห็นป้ายโฆษณาของพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ก็ยังไม่ทราบว่าเข้าสู่เขตกัมพูชาแล้ว

เมื่อถามว่า ในคลิปวิดีโอได้ยินเสียงโทรศัพท์ไปหาผู้บัญชาการบอกว่ากำลังเข้าไปในเขตเขมรเพื่อให้ทหารจับกุมใช่หรือไม่ นายพนิชกล่าวว่า ไม่ได้พูดเช่นนั้น ไม่มีเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น ในระหว่างทหารกัมพูชาจับกุมพวกตนนั้น ตนยังรู้สึกตกใจ ไม่รู้จริงๆ ว่าได้ข้ามเขตแดน แม้ว่าจะเห็นป้ายภาษากัมพูชาแต่ไม่รู้ว่าเป็นเขตกัมพูชา อีกทั้งคนกัมพูชากับคนไทยหน้าคล้ายๆ กัน เมื่อถามว่ารู้จักนายวีระ สมความคิด มาก่อนหรือไม่ นายพนิชกล่าวว่า ไม่รู้จักกันมาก่อน เพิ่งจะรู้จักเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. เป็นวันที่ทางการกัมพูชาจับกุม

ศาลอนุญาตให้อัยการซักถามนายพนิชเป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นเบิกตัว ร.ต.แซมดิน นายตายแน่ นายกิชพลธรณ์ และนางนฤมล ให้ปากคำตามลำดับ โดยประเด็นที่ถามมีความคล้ายกับนายพนิช และยังมีการซักถึงสาเหตุที่แท้จริงโดยได้โยงชื่อนายวีระ สมความคิด เข้ามาเกี่ยวข้องในประเด็นหลังด้วย หลังจากใช้เวลาไต่สวนคดี 5 คนไทยนานกว่า 5 ชั่วโมง โดยให้การคล้ายกันว่าไม่ทราบว่าจุดที่เข้าไปและถูกจับเป็นดินแดนกัมพูชา แต่ที่เข้าในบริเวณดังกล่าว เพราะชาวบ้านของไทยร้องเรียนเรื่องที่ดินทำกิน จึงไม่มีเจตนารุกล้ำเข้าไปในดินแดนกัมพูชา ด้านอัยการกัมพูชาได้นำคลิปวิดีโอที่คณะของนายพนิชและวีระถ่ายเอาไว้ขณะเดินผ่านหลักเขตแดนเขมรมาแสดงต่อศาลด้วย

ศาลกัมพูชาอ่านคำพิพากษาให้นายพนิช นายตายแน่ มุ่งมาจน นายกิจพลธรณ์ ชุสนะเสวี ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ และนางนฤมล จิตรวะรัตนา มีความผิดฐานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพราะเจตนาเดินทางรุกล้ำเข้าเขตแดนกัมพูชาจริง พิพากษาจำคุกคนละ 9 เดือน ปรับคนละ 1 ล้านเรียล หรือประมาณ 10,000 บาท แต่เนื่องจากระหว่างรอการตัดสิน บุคคลทั้งห้าได้ติดคุกไปแล้ว 1 เดือน จึงเหลือโทษจำคุก 8 เดือน และให้รอลงอาญาไว้ก่อน โดยในช่วง 8 เดือนนับจากนี้ห้ามบุคคลทั้งห้ากระทำความผิดซ้ำอีก ทำให้คนไทยทั้ง 5 คนได้รับอิสรภาพ สามารถเดินทางกลับประเทศไทย

1 กุมภาพันธ์ 2554 ศาลชั้นต้นกัมพูชาได้ตัดสินจำคุกนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ 2 ใน 7 คนไทยที่ถูกกัมพูชาจับกุม โดยถูกตั้งข้อหา 3 ข้อหา คือ เข้าเมืองผิดกฎหมาย เข้าพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และประมวลข้อมูลอันเป็นภัยต่อการป้องกันประเทศ หรือจารกรรมข้อมูล โดยศาลสั่งจำคุกนายวีระเป็นเวลา 8 ปี ปรับ 1,800,000 เรียล ส่วน น.ส.ราตรี จำคุก 6 ปี ปรับ 1,200,000 เรียล โดยไม่รอลงอาญา แต่ให้เวลา 1 เดือนในการยื่นอุทธรณ์ ทั้งนี้ภายหลังศาลมีคำตัดสินแล้ว เจ้าหน้าที่ได้คุมตัวทั้ง 2 คนกลับเข้าเรือนจำเปรยซอร์ทันที

ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ได้ร้องขอสมเด็จฯ ฮุน เซน ให้ช่วยเหลือ นายวีระ กับ น.ส.ราตรี ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 21 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่กรุงพนมเปญ จากนั้นกระทรวงยุติธรรมของกัมพูชาได้ศึกษาแนวทางดำเนินการตามคำร้องขอ จากนั้นนายออง วงศ์วัฒนา รัฐมนตรียุติธรรมกัมพูชา เปิดเผยว่า เนื่องในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนโรดมสีหนุ ทางการกัมพูชาจะปล่อยตัวและลดหย่อนโทษให้นักโทษ 500 คน โดยในจำนวนนี้รวมถึง 2 นักโทษชาวไทย คือ นายวีระ และ น.ส.ราตรี ในวันที่ 1 ก.พ. ทางการได้เตรียมปล่อยตัว น.ส.ราตรีไว้แล้ว สำหรับนายวีระตัดสินใจที่ลดโทษจำคุกให้ 6 เดือน โดยให้มีผลทันที

1 กุมภาพันธ์ 2556 ในวาระการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอดีตกษัตริย์สมเด็จพระนโรดมสีหนุ รัฐบาลกัมพูชาได้ขอพระราชทานอภัยโทษและปล่อยตัว น.ส.ราตรี จากนั้น น.ส.ราตรีได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อเวลา 21.45 น. เปิดเผยความรู้สึกภายหลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษและได้รับอิสรภาพว่า ตอนนี้ยังไม่รู้สึกดีใจ เพราะนายวีระ สมความคิด ยังอยู่ที่เรือนจำเปรยซอร์ ส่วนตัวยังไม่อยากออกมาพูดอะไร อย่างแรกที่อยากทำคือกราบเท้าพ่อแม่ แต่ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติที่ให้ตนเองมีกำลังใจและเข้มแข็งมากขึ้น ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ถูกจำคุกในเรือนจำเปรยซอร์ตนได้ทำทุกอย่างที่ถูกต้อง

น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ได้ถาม น.ส.ราตรีว่า เมื่อถามว่าครั้งก่อนมีโอกาสได้รับการปล่อยตัวพร้อมกับ 5 คนไทย แค่ทำไมเลือกที่จะไม่ออกมา น.ส.ราตรีจึงตอบกลับว่ารู้ได้อย่างไรว่าจะถูกปล่อยตัวเหมือนอีก 5 คน สิ่งที่ตนยืนยันต่อสู้มาตลอด คือ ไม่ได้ทำผิดหรือรุกล้ำแผ่นดินกัมพูชา อีกด้านหนึ่งระหว่างที่นายพนิชที่มาต้อนรับ รอ น.ส.ราตรีออกมา ได้มีหญิงสาวสูงวัยได้เดินเข้าไปถามนายพนิชว่าทำไมนายวีระไม่ถูกปล่อยตัวออกมาพร้อมกัน นายพนิชได้กล่าวด้วยสีหน้าและน้ำเสียงที่ขึงขังว่าตนก็เสียใจเหมือนกัน ครั้งที่ถูกควบคุมตัวนายวีระก็นอนอยู่ห้องเดียวกัน ได้พูดคุยถึงความรู้สึกเรื่องนี้ ตนรู้สึกเสียใจไม่แพ้ทุกคน และจะหาทางพานายวีระกลับมาประเทศไทยอย่างปลอดภัย

ด้านนายวีระ ที่ถูกคุมขังในเรือนจำเปรยซอร์เรือนจำจะเปิดให้เข้าเยี่ยมทุกวันศุกร์ โดยมีครอบครัวนายวีระเดินทางไปเยี่ยมนายวีระที่กัมพูชาบ่อยครั้ง โดยสุขภาพของนายวีระมีอาการป่วยโรคเกาต์ที่ต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งหลัง พล.อ.ประยุทธ์เข้าควบคุมอำนาจการปกครองในนาม คสช. ได้ร้องขอให้สมเด็จฯ ฮุน เซน ปล่อยตัว จึงทำให้นายวีระได้รับอิสรภาพ และจะเดินทางกลับประเทศไทยในเช้าวันนี้ รวมระยะเวลาที่นายวีระต้องถูกคุมขัง 3 ปี 6 เดือน 2 วัน หรือหากนับเป็นจำนวนวันก็จะได้ 1,281 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น