ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นับว่าสร้างความตื่นตระหนกตกใจแก่ชาวเชียงราย-เชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง กับปรากฏการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ จากความลึก 7 กิโลเมตร ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีจุดศูนย์กลางของรอยเลื่อน (fault) อยู่ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และสร้างแรงสั่นสะเทือนครอบคลุมไปตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา หนองคาย เลย และกรุงเทพฯ ตามด้วยอาฟเตอร์ช็อกเขย่าขวัญสั่นสะเทือนตามมาถึงกว่า 400 ครั้งด้วยกัน
แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ นับเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวน้อยกว่าประเทศอื่นก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้น!
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สังคมต้องมาฉุกคิดกันว่า ธรณีพิบัติภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เรามีความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์แผ่นดินไหวมากแค่ไหนหากเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก เพราะต้นเหตุของปรากฏการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ นั้นเกิดจากรอยเลื่อนที่ยังมีพลังชื่อว่า “รอยเลื่อนพะเยา” และรอยเลื่อนที่มีพลัง (active fault zone) นี้ ยังมีอีก 14 รอยเลื่อนในประเทศไทยของเรา โดยกระจายอยู่ใน 22 จังหวัด
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) อธิบายเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นว่า เกิดจากพลังงานของ “รอยเลื่อนพะเยา” จุดกำเนิดมีความลึกจากผิวดินประมาณ 7 กิโลเมตร ซึ่งค่อนข้างตื้นมาก ทำให้เกิดความรุนแรงสูงและสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก เหตุแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 ริกเตอร์นั้น นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยวัดได้ โดยมีศูนย์กลางเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งแรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว อีกทั้งยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกระลอกใหญ่
สิ่งที่ต้องเตรียมรับสถานการณ์หลังแผ่นดินไหวในระยะนี้คือ การเฝ้าระวังพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวโดยให้ระวังการเกิดเหตุดินถล่มซ้ำเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ประกอบกับสภาพอากาศทางภาคเหนือในระยะนี้มีพายุฝนฟ้าคะนอง ทำให้ดินอ่อนตัวและเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันครั้งนี้ ทำให้ผู้คนที่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนต่างควบคุมสติไม่อยู่ โดยเฉพาะจุดพื้นที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ ผู้คนล้วนแล้วแต่รีบวิ่งอย่างไม่คิดชีวิตในทันทีที่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน
“เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากในรอบ 60 ปี ที่ผ่านมา เชียงรายเกิดแผ่นดินไหวหลายครั้งแต่ไม่ได้รับความเสียหายมากนัก ทำให้ประชาชนในพื้นที่ตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่างโทรศัพท์เพื่อติดต่อญาติมิตรว่าได้รับอันตรายหรือไม่ ในส่วนความเสียหายของที่บ้าน โต๊ะเซรามิก ที่ใช้นั่งเล่นหลังบ้านได้ตกลงมาแตกกระจายเกลื่อน ภายในบ้านบริเวณชั้นวางของตุ๊กตาเซรามิก รวมทั้งกรอบรูปตกลงมาแตกหนังสือที่เก็บไว้ตามชั้นร่วงหล่นลงมากองกับพื้น ผนังบ้านร้าวแต่ยังสามารถคงรูปอาคารไว้ได้ จึงไม่ได้รับความเสียหายมากนัก” นายเกรียงไกร วีระฤทธิ์พันธ์ ชาวบ้านอำเภอพาน เล่าถึงผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้
แผ่นดินไหวที่ถือว่ามีความรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทยครั้งนี้ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างโดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างอาคาร บ้านเรือน วัด และถนน พังทลาย แตกร้าวเสียหายเป็นจำนวนมาก ทางจังหวัดเชียงราย ต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 7 อำเภอได้แก่ อำเภอพาน อำเภอแม่ลาว อำเภอแม่สรวย อำเภอเมือง อำเภอเวียงชัย อำเภอป่าแดด และอำเภอพญาเม็งราย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยผลจากการตรวจสอบข้อมูลความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ค. เวลา 19.30 น. ว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง และกำแพงเพชร รวม 14 อำเภอ 52 ตำบล 408 หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้บาดเจ็บ 23 ราย บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 12 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 8,372 หลัง โรงเรียน 47 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง โรงแรม 1 แห่ง ห้างสรรพสินค้า 1 แห่ง สะพาน 1 แห่ง ถนน 5 สาย วัด 42 แห่ง
เหตุการณ์ครั้งนี้ ปภ. จังหวัดเชียงราย แจ้งว่า มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธินำเครื่องอุปโภค บริโภคพระราชทาน มอบให้แก่ราษฎรที่ประสบภัยในจังหวัดเชียงราย 5,000 ชุด
ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้ “วัดร่องขุ่น” ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ที่เป็นผู้รังสรรค์ไว้เสมือนเป็นอนุสรณ์ของตัวเอง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังของจังหวัดเชียงรายได้รับผลกระทบเสียหายทั้งยอดเจดีย์และภายในโบสถ์
ส่วนการสำรวจความเสียหายโบราณสถานและพระธาตุสำคัญอื่นๆ ในภาคเหนือนั้น นายสนธยา คุณปลื้ม รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า สั่งการให้อธิบดีกรมศิลปากร เร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะโบราณสถานในพื้นที่จังหวัดเชียงรายซึ่งพบว่าหลายแห่งได้รับความเสียหาย
“ขณะนี้ได้รับรายงานจากสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน และสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ พบโบราณสถานเสียหายเพิ่มขึ้นจาก 11 แห่งเป็น 17 แห่ง ส่วนใหญ่ยอดหักเอียงตามแรงเหวี่ยงของแผ่นดินไหว รวมถึงโครงสร้างแตกร้าว ทั้งนี้ ยังไม่พบว่า มีที่ใดพังทลายลงมาทั้งหมดอาจเป็นเพราะภูมิปัญญาของคนในอดีตที่ก่อสร้างเจดีย์ต่างๆ รองรับแผ่นดินไหว” นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสำรวจโบราณสถานที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้
สำหรับสถิติการเกิดแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในประเทศไทยเท่าที่มีการบันทึกไว้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นทางภาคเหนือ ระดับความรุนแรงประมาณ 5.0 ริกเตอร์ เป็นต้นไป เช่น
วันที่ 21 ธันวาคม 2538 แผ่นดินไหวขนาด 5.2 ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
วันที่ 11 กันยายน 2537 แผ่นดินไหวขนาด 5.1 ที่ อ.พาน จ.เชียงราย
วันที่ 22 เมษายน 2526 แผ่นดินไหวขนาด 5.9 ที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2518 แผ่นดินไหวขนาด 5.6 ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
นอกจากนี้ จากข้อมูลบันทึกในอดีตยังพบแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลายครั้ง เช่น เมื่อปี 2382 แผ่นดินไหวขนาดประมาณ 6 ริกเตอร์ บริเวณชายแดนไทย-พม่า แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงพระนคร (กรุงเทพฯ) หรือ เมื่อปี 2089 แผ่นดินไหวขนาดประมาณ 5 ริกเตอร์ บริเวณภาคเหนือของไทย แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงกรุงศรีอยุธยา (รัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช)
ทั้งนี้ สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้บันทึกสถิติการเกิดแผ่นดินไหว ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.1905 จนถึง พ.ศ.2556 พบว่า ประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วประมาณ 148 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนครั้งที่ประชาชนรู้สึกได้ แต่หากนับในส่วนที่ไม่รู้สึกนั้น มีจำนวนมากมายมหาศาล และแผ่นดินไหวที่มีขนาดเล็กที่สุด ที่ถูกบันทึกไว้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2521 ขนาด 1.6 ริกเตอร์ และขนาดที่ใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นล่าสุดที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ยังไม่ได้ถูกบันทึกในสถิติชุดนี้
จากข้อมูลกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวไว้ว่ามีอยู่ 2 สาเหตุหลักด้วยกัน คือ
หนึ่ง เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การทดลองระเบิดปรมาณู การระเบิดเหมืองแร่
สอง เกิดจากการขยายตัวของเปลือกโลกและการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน (fault) ซึ่งกรณีนี้จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ
ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวตามธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 2 ทฤษฎี คือ หนึ่ง ทฤษฎีการขยายตัวของเปลือกโลก ซึ่งเมื่อเกิดการโก่งตัวของแผ่นเปลือกโลกอย่างฉับพลันและขาดออกจากกันแล้วก็จะมีการปล่อยพลังงานในรูปแผ่นดินไหว
ทฤษฎีที่สองก็คือ การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน ซึ่งทฤษฏีที่ว่านี้เองในทางธรณีวิทยา “รอยเลื่อน (fault)” หรือ “แนวรอยเลื่อน (fault line)” เป็น “รอยแตกระนาบ (planar fracture)” ในหิน ที่หินด้านหนึ่งของรอยแตกเคลื่อนที่ไปบนหินอีกด้านหนึ่ง รอยเลื่อนขนาดใหญ่ในชั้นเปลือกโลกเป็นผลมาจากการเคลื่อนที่ที่แตกต่างกันหรือเฉือนกันในเขตรอยเลื่อนมีพลัง เมื่อถึงจุดหนึ่งจะปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแผ่นดินไหว
ข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี ที่ได้ทำการสำรวจข้อมูลรอยเลื่อนมีพลัง ยังพบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังที่สำคัญจำนวน 3 แนว ตามทิศทางการวางตัวและการเลื่อนตัว คือ
1. กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้
2. กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้
3. กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวอยู่ในทิศเหนือ-ใต้ ประกอบด้วยรอยเลื่อน 14 กลุ่ม
ทั้งนี้ ข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 พบว่า รอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 14 กลุ่ม วางตัวพาดผ่านพื้นที่ จํานวน 1,406 หมู่บ้าน 308 ตําบล 107 อําเภอ 22 จังหวัด โดยในเขตภาคเหนือเป็นเขตที่มีการพบรอยเลื่อนมีพลังอยู่มากที่สุดของประเทศไทย มีจำนวน 9 รอยเลื่อน คือ รอยเลื่อนแม่จัน, รอยเลื่อนแม่อิง, รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน, รอยเลื่อนแม่ทา, รอยเลื่อนพะเยา, รอยเลื่อนปัว, รอยเลื่อนเมย, รอยเลื่อนเถิน และรอยเลื่อนอุตรดิตถ์
ส่วนทางภาคตะวันตกของประเทศ พบรอยเลื่อนมีพลัง 2 รอยเลื่อน คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และทางภาคใต้ พบรอยเลื่อนมีพลัง 2 รอยเลื่อน เช่นกัน คือ รอยเลื่อนระนองและรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย โดยในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน โดยรอยเลื่อนที่กล่าวไว้ทั้งหมดนี้ครอบคลุม 22 จังหวัดของประเทศไทย
ประเด็นสำคัญหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดนับจากนี้ก็คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับ 14 รอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่ คงต้องเก็บรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นบทเรียนเพื่อศึกษาสร้างบ้านให้มั่นคง รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐก็ควรจะยกเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังภัย จัดซื้ออุปกรณ์ตรวจจับแผ่นดินไหวจากเดิมที่มีอายุการใช้งาน 10 กว่าปีแล้วและมีการใช้งานอยู่ตลอด 24ชั่วโมง สมควรอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนเป็นเครื่องใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เพราะไม่รู้ว่า อีก14 รอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่นั้น จะเกิดการเคลื่อนตัวโดยฉับพลันอีกเมื่อไหร่
นอกจากนั้น หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันภัย กู้ภัย และช่วยเหลือจากเหตุแผ่นดินไหว จำเป็นต้องมีการกระจายข้อมูลให้แก่ประชาชนได้รู้วิธีการรับมือ มีการแจ้งเตือนที่รวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เคียงกับรอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่ ทั้ง 14 รอยเลื่อน
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ได้เขย่าสะเทือนไปทั่วทั้งประเทศ จึงเป็นสิ่งย้ำเตือนว่า มาตรการการรับมือควรจะมีความพร้อมมากกว่านี้ การให้ความรู้กับประชาชนเรื่อง “รอยเลื่อนทั้ง14จุด” อันเป็นต้นกำเนิดของแผ่นดินไหว จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป.