xs
xsm
sm
md
lg

พบบ้าน-โรงเรียนพังยับ เฝ้าระวัง68หมู่บ้านรอยเลื่อนปัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สรุปแผ่นดินไหว บ้านเรือนเสียหายเกือบ 2 หมื่นครัวเรือน เสียชีวิต 1 ราย เจ็บ 23 ราย เผยชาวบ้านยังไม่กล้ากลับเข้าบ้าน เหตุยังผวาอาฟเตอร์ช็อก ส่วนโรงเรียนเสียหาย 73 แห่ง มูลค่ากว่า 150 ล้าน บางแห่งต้องทุบทิ้งสร้างใหม่ สั่งเฝ้าระวัง 68 หมู่บ้าน จ.น่าน บนรอยเลื่อนปัว มท.1 ฉุนถูกถามเขื่อนแม่สรายร้าว ซัดพวกกุข่าวโรคจิต ล่าสุดพบโบราณสถาน 17 แห่งยอดหัก แตกร้าว

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ วัดความแรงตามมาตราวัดริกเตอร์ได้ 6.3 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อเย็นวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา และมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นตามมาเกือบ 300 ครั้ง จนถึงเช้าวานนี้ (7 พ.ค.) ได้สร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือน ตลอดจนอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมถึงถนนหลายเส้นทาง

ขณะที่ทางจังหวัดเชียงราย ได้แจ้งสรุปความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวใน 7 อำเภอ 45 ตำบล 519 หมู่บ้านว่า มีบ้านเรือนเสียหายจำนวน 18,488 หลังคาเรือน จำนวนประชาชนที่ประสบเหตุ 54,542 คน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 23 ราย บ้านเสียหายทั้งหลังจำนวน 12 หลัง เสียหายบางส่วนเพิ่มจากเดิมเป็น 8,371 หลัง วัด 63 แห่ง โรงเรียน 8 แห่ง สถานที่ราชการ 31 แห่งซึ่งรวมถึงอาคารศาลากลาง จ.เชียงราย ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมด้วย และยังมีโรงแรม 1 แห่ง สะพาน 4 แห่ง ถนน 5 สาย อาคารชุมชน 1 แห่ง ระบบไฟฟ้า 2 แห่ง และท่อส่งน้ำประปาหมู่บ้าน 1 แห่ง

**"ชาวห้วยส้านยาว"ผวาไม่กล้ากลับบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงวันนี้ชาวบ้านในหลายหมู่บ้านในพื้นที่ จ.เชียงราย ยังคงอาศัยอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งทางอำเภอ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงราย จัดไว้ตามโรงเรียนต่างๆ โดยมีการกางเต็นท์ จัดหาอาหาร น้ำดื่ม และพยาบาลให้การดูแล โดยเฉพาะศูนย์ช่วยเหลือโรงเรียนบ้านห้วยส้านยาว หมู่ 13 ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว มีชาวบ้านมาอาศัยอยู่กว่า 200 คน เนื่องจากไม่กล้ากลับบ้านตัวเอง ขณะที่อาฟเตอร์ช็อกยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทิ้งระยะห่างมากกว่าวันที่ผ่านมา

นางคำมา สุขอินทร์ อายุ 61 ปีชาวบ้านเลขที่ 129 บ้านห้วยส้านยาว กล่าวว่า หลังเกิดเหตุไม่เคยเข้าไปเก็บข้าวของในบ้านเรือนตัวเองเลย ทราบเพียงว่าบ้านเสียหาย แต่ไม่กล้าขึ้นไป เพราะกลัวจะล้ม และเกิดแผ่นดินไหวหนักอีก เนื่องจากยังมีอาฟเตอร์ช็อคตามมาอีกหลายครั้ง ตอนนี้อาศัยอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือเป็นหลักจนกว่าจะมั่นใจว่ากลับเข้าบ้านได้

***โรงเรียนพังเสียหายกว่า150ล้าน

ขณะที่รักษาการรัฐมนตรีหลายกระทรวง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงเดินทางตระเวนตรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ เดินทางเข้ารับฟังการบรรยายสรุป สภาพความเสียหายของโรงเรียนในพื้นที่ จ.เชียงราย และ จ.พะเยา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว โดยเบื้องต้นได้รับรายงานว่า โรงเรียนในพื้นที่ จ.เชียงราย ทั้งระดับประถม มัธยม และอาชีวะ ได้รับความเสียหายรวม 73 แห่ง มูลค่า 152.5 ล้านบาท และโรงเรียน 5 แห่งได้รับความเสียหายหนัก ไม่สามารถเข้าใช้อาคารเรียนได้ เช่น โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม โรงเรียนพานพิทยาคม ที่ต้องมีการพิจารณาทุบอาคารทิ้งรวม 8 อาคาร

ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ได้กำชับผู้บริหารสถานศึกษาว่า หากโรงเรียนใดยังสงสัยว่าอาจไม่ได้รับความปลอดภัย ก็อย่าเพิ่งเข้าไปในสถานที่ รอให้ทางวิศวกรเข้ามาตรวจสอบก่อน และให้ทางวิศวกรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญประเมินก่อนว่าสามารถเปิดใช้การเรียนการสอนได้หรือไม่ จึงเข้าไปใช้อาคาร แต่หากยังไม่ได้รับการตรวจจากทางวิศวกร ก็อย่าเพิ่งเปิดใช้อาคาร เพราะอาจเกิดความสูญเสียซ้ำขึ้นอีก และให้พิจารณาสร้างอาคารเรียนชั่วคราว เพื่อให้ทันเปิดการศึกษาใหม่วันที่ 16 พ.ค.นี้

***"เฉลิมชัย"เปิดวัดร่องขุ่นให้คนเข้าดู

อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า เตรียมเปิดวัดร่องขุ่นให้ประชาชนได้เข้าชมรอบตัววัด วันนี้ (8 พ.ค.) แต่ในส่วนของตัวโบสถ์ที่ได้รับความเสียหาย จะต้องปิดไว้ก่อน เพื่อรอตรวจโครงสร้าง ส่วนการบูรณะคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

***รัฐบาลยันกำลังเร่งแก้ปัญหา

ส่วนที่ศาสากลางจังหวัดเชียงราย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รักษาการ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วยนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รักษาการ รมช.มหาดไทย, นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาแผ่นดินไหวและช่วยเหลือประชาชน

นายจารุพงศ์ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ครม.มีมติเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหวภาคเหนือ โดยให้ดำเนินการภายใน 15 วัน โดยให้แต่ละหน่วยงานนำงบประมาณที่มีอยู่แล้ว แก้ปัญหาและช่วยเหลือชาวบ้านไปก่อน หากไม่เพียงพอก็จะมีการสนับสนุนงบประมาณภายใต้กรอบวงเงินทดลองจ่ายประมาณ 500 ล้านบาท เบื้องต้นให้ใช้งบประมาณของจังหวัด 20 ล้านบาท กรมบรรเทาสาธารณภัยจำนวน 50 ล้านบาทก่อน เมื่อหมดก็จะจัดสรรงบประมาณตามกรอบวงเงินที่อนุมัติต่อไป

นายวิสารกล่าวว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหวภาคเหนือ จะเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาตามกรอบเวลาที่กำหนด สำหรับงบประมาณจะมีการใช้งบประมาณสำรองจ่ายฉุกเฉินที่สำนักงบประมาณได้ตั้งเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ไม่ต้องไม่อนุมัติผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหามีทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่ทางจังหวัดต้องเร่งแก้ไขมีอยู่หลายเรื่องหลักๆ คือ แก้ปัญหาเรื่องขวัญกำลังใจ และความตื่นตระหนกของชาวบ้านที่ไม่กล้ากลับเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านเรือนของตัวเอง เพราะเกรงจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงอีก และบ้านเรือนส่วนใหญ่ก็เสียหายด้วย และมีอาฟเตอร์ช็อก 274 ครั้ง รวมทั้งเกิดกระแสข่าวลือตามโซเชียลมีเดียมากมาย โดยเฉพาะเขื่อนแม่สรวยร้าว และการเสียชีวิต ซึ่งมีความจำเป็นต้องให้ความมั่นใจกับชาวบ้าน เพื่อให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ส่วนเรื่องการแก้ไขความเสียหายสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ขณะนี้ได้ระดมกำลังทุกฝ่ายทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิศวกร เข้าไปตรวจสอบบ้านเรือนร่วมกับแต่ละอำเภอ โดยได้สั่งการไปทุกอำเภอแล้ว เพื่อให้ชาวบ้านมั่นใจในบ้านเรือนของตัวเอง ซึ่งการดำเนินการจะทำภายใน 10 วัน

**เร่งช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหว14จว.

นอกจากนี้ รักษาการ รมว.มหาดไทย ได้ประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกลกับผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดทางภาคเหนือ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหว เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาภัยธรรมชาติอันเกิดจากแผ่นดินไหว ซึ่งอาจมีผลทำให้หินหน้าผาแผ่นดินถล่มเคลื่อนตัวลงมาในระยะนี้ได้ พร้อมได้สั่งให้แต่ละจังหวัดติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังติดตามตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัย เส้นทาง เขื่อน ฝาย รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก ถ้าไม่มีความแข็งแรงพิจารณาแล้วอันตรายให้อพยพประชาชนไปในที่ปลอดภัย และแก้ไขโดยด่วน

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ศอร.ปภ.ช.) ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสั่งการแก้ไข้ปัญหา และประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับจังหวัดภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

**สั่งเฝ้าระวัง 68 หมู่บ้านบนรอยเลื่อนปัว

นายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดน่าน ได้เฝ้าระวังสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เสี่ยงภัย มีรอยเลื่อนปัว ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังงานระดับกลาง พาดผ่าน 6 อำเภอ 17 ตำบล 68 หมู่บ้านใน จ.น่าน อีกทั้งยังเคยมีประวัติเคยเกิดแผ่นไหวขนาด 7 ริกเตอร์ เมื่อปี 2475 โดยได้กับประสานท้องถิ่นให้ใช้ประโยชน์จากมิสเตอร์เตือนภัยที่ประจำอยู่ในหมู่บ้านเสี่ยงภัย พร้อมออกประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันตัว และรับมือกับภัยธรรมชาติ

**ซัดพวกโรคจิตกุงข่าวเขื่อนแม่สรวยร้าว

ต่อมารักษาการ รมว.มหาดไทย พร้อมคณะวิศวกรจากกรมชลประทาน ได้ไปตรวจเขื่อนแม่สรวย ซึ่งกั้นน้ำแม่สรวย ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย หลังเกิดความกังวลและคำถามในสังคมบางส่วนว่า มีรอยแตกร้าวที่เขื่อน หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง โดยคณะวิศวกรพร้อมด้วยผู้บริหารโครงการชลประทานเชียงรายได้ให้ข้อมูลว่า เขื่อนดังกล่าวสร้างเมื่อปี 2541 มีความจุ 73 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำเหลืออยู่ 46 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 60

จากนั้นนายจารุพงศ์ และคณะได้เดินตรวจสอบบนสันเขื่อน เพื่อยืนยันถึงความแข็งแรง และเนื่องจากคอนกรีตทางฝั่งซ้ายเหนือหินสันเขื่อนมีรอยร้าวอยู่ จึงมีสื่อมวลชนพยายามสอบถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจากนายจารุพงศ์ และวิศวกรใหญ่จากกรมชลประทาน ทำให้นายจารุพงศ์ แสดงอาการหงุดหงิดอย่างเห็นได้ชัด และเกือบจะเดินออกจากบริเวณสันเขื่อน

นายจารุพงศ์กล่าวว่า เขื่อนแห่งนี้ถูกออกแบบมาให้สามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้กว่า 7 ริกเตอร์ ขณะที่แผ่นดินไหวที่ผ่านมามีความแรงแค่ 6.3 ริกเตอร์ และวิศวกรของกรมชลประทานได้เข้าไปตรวจสอบก็ยืนยันว่ามีความแข็งแรง การที่มีการกระจายข่าวทางโซเชียลมีเดียว่าให้ระวังเขื่อนจะแตก ให้อพยพออกจากพื้นที่นั้น เป็นการกระทำของพวกอุตริ อยากสร้างความวุ่นวาย และเป็นพวกโรคจิต

**เผยคมนาคมเสียหายร่วม 100 ล้านบาท

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์กับถึงเรื่องแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย ระหว่างโดยสารรถบัส 2 ชั้น จากสถานีขนส่งหมอชิตเดินไปยัง อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุถนนสายอำเภอเมืองตาก-อำเภอแม่สอดว่า ขณะนี้กำลังเร่งให้เจ้าหน้าที่แขวงการทางซ่อมแซมถนนสาย 188 ระหว่างเชียงรายกับเชียงใหม่ โดยให้ขยายไหล่ทางและทำทางเบี่ยงให้รถวิ่งไปมาสะดวก ส่วนที่พังให้รื้อและให้ทำสู่สภาพปกติ ส่วนจุดที่มีดินถล่ม คงใช้ระยะเวลา 4 วัน โดยความเสียหายในส่วนของกระทรวงคมนาคม มีมูลค่าอยู่ที่ 50-100 ล้านบาท

**พศ.เผย 12 วัดในเชียงรายเสียหายหนัก

นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ในส่วนของ พศ.ได้รับรายงานว่ามีวัดได้รับความเสียหายทั้งหมด 3 อำเภอ รวม 12 แห่งใน อ.เมือง อ.พาน อ.แม่ลาว ได้แก่ อ.พาน มีวัดอุดมวารี พระพุทธรูปใหญ่เศียรหัก วัดทรายขาว ผนังวิหารร้าวเพดานถล่ม วัดทุ่งพร้าว เพดานถล่มทับเศียรพระพุทธรูปหัก วัดแม่คาววัง ผนังวิหารร้าว วัดป่ารวก เพดานถล่ม

ส่วนที่ อ.แม่ลาว วัดบุญเรือง เพดานถล่มและผนังวิหารร้าว วัดห้วยส้านพลับพลา วิหารและกุฏิร้าว วัดเวฬุวัน กระเบื้องเพดานวิหารและกุฏิสงฆ์ยุบ วัดเหมืองลึก เพดานวิหารกุฏิพระสงฆ์ยุบและพัง วัดดอยหม้อ กระเบื้องเพดานวิหาร กุฏิสงฆ์พัง และอ.เมือง ได้แก่ วัดร่องขุ่น ศาลาได้รับความเสียหายและยอดฉัตรเอียง ตัววิหารร้าวและพุทธมณฑล จ.เชียงราย พระประทานสิงห์หนึ่งพระศอร้าว อย่างไรก็ตาม พศ.จะรวบรวมข้อมูลของความเสียหายทั้งหมดเพื่อเสนอต่อรัฐบาลในการกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ

**พบโบราณสถานยอดหัก-แตกร้าว 17 แห่ง

นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน และสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ว่า มีโบราณสถานได้รับความเสียหายจาก 11 แห่งเป็น 17 แห่ง ส่วนใหญ่ยอดหัก เอียงตามแรงหวี่ยงของแผ่นดินไหว รวมไปถึงโครงสร้างแตกร้าวเท่านั้น แต่ยังไม่พบว่ามีแห่งใดพังทลายทั้งหมดอาจเนื่องมาจากภูมิปัญญาของคนในอดีตก่อสร้างเจดีย์ต่างๆ รองรับแผ่นดินไหวได้

แหล่งโบราณสถานที่เสียหายเพิ่มเติมที่สำคัญ ได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุนครชุม จ.กำแพงเพชร ในเบื้องต้นมีรอยแตกร้าวซุ้มพระพุทธรูป พื้นดีดตัวขึ้น ทั้งนี้ ตนจะเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจสภาพความเสียหายของโบราณสถานทั้งหมด 16 แห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา เชียงราย โดยนำวิศวกรไปตรวจสอบสภาพที่หัก แตกร้าว รอยแยกเพื่อ ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ภายหลังตรวจสอบเสร็จจะนำมาวางแผนทำเป็นแผนผังรายละเอียดทั้งหมด ประเมินงบประมาณในการบูรณะเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรมต่อไป

***รพ.เชียงรายเปิดรักษาตามปกติ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย ได้เปิดให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยตามปกติแล้ว ส่วนอาคาร 68 ปีอนุสรณ์ ตรวจสอบแล้วโครงสร้างทั้งหมดไม่ได้รับความเสียหาย มีความปลอดภัย ยังใช้งานได้ปกติ สำหรับ รพ.แม่ลาว จ.เชียงราย กำลังตรวจสอบสภาพอาคารผู้ป่วยใน รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ดงเทพนิมิต เปิดให้บริการตามปกติ รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ ก็เปิดตามปกติ ขณะที่ รพ.ฝาง ผู้ป่วยบางส่วนกลับขึ้นไปพักที่อาคาร บางส่วนขอย้ายอาคาร และเปิดให้บริการตรวจรักษาเหมือนเดิม

***บอร์ด สปสช.ไฟเขียวงบซ่อม

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า บอร์ด สปสช.เห็นชอบให้รีบดำเนินการช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งมีทั้งหมด 7 แห่งใน จ.เชียงรายและเชียงใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น