xs
xsm
sm
md
lg

อาฟเตอร์ช็อค200ครั้งจับตา72ชั่วโมงประกาศเขตภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - จังหวัดเชียงรายประกาศ 7 อำเภอเป็นเขตภัยพิบัติแผ่นดินไหว อาฟเตอร์ช็อคถี่ยิบ 200ครั้ง "วสท."ชี้เกิดจากรอยเลื่อนพะเยาเคลื่อนตัว รุนแรงที่สุดในประเทศ "ชัชชาติ"สั่งทล.เร่งซ่อมผิวจราจร สธ.เผยอาคารรพ.แตกร้าวแต่ยังเปิดบริการ พศ.สรุป 12 วัดเสียหายหนัก กรมศิลป์มีโบราณสถาน 11 แห่ง วัดเก่าแก่ 2 แห่ง ครม.ตั้ง"ปลอด"รับผิดชอบวางงบ 500 ล้านช่วย ด้าน"เฉลิมชัยขอเวลาตัดสินใจอนาคตวัดร่องขุน หลังเสียหายทั้งโครงสร้าง นักวิจัยธรณีวิศวกรรมแผ่นดินไหว เตือนเฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่อง 72 ชม. โดยเฉพาะตามแนวรอยเลื่อนพะเยา

กรณีสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริคเตอร์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม เวลา 18.08 น. ศูนย์กลางอยู่ที่ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ที่ความลึก 7 กิโลเมตร รู้สึกสั่นไหวหลายพื้นที่ อาทิ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.น่าน จ.พะเยา จ.หนองคาย จ.เลย และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะตึกสูงที่ถนนสุขุมวิท ซอย 4 , สุขุมวิท ซอย 20 , ถนนวิทยุ , อาคารย่านรัชดาภิเษก , ตึกโนเบล ซอยอารี , เขตพญาไท , เขตลาดพร้าว และสำนักพยากรณ์ ชั้น 11 กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) สรุปความเสียหาย 5 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง

**อาฟเตอร์ช็อค200ครั้ง

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) แจ้งว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่อ.พาน จ.เชียงรายเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57เวลา 18.06 น. ลึก 7 กิโลเมตร ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ถึงวันที่ 6 พ.ค.57 ในเวลา 19.00 น. ได้ เกิดอาฟเตอร์ช็อค ขนาด 5.0-5.9 ริกเตอร์ จำนวน 7 ครั้ง ขนาด 4.0-4.9 ริกเตอร์ จำนวน 16 ครั้ง ขนาด 3.0-3.9 ริกเตอร์ จำนวน 56 ครั้ง ขนาดน้อยกว่า 3 ริกเตอร์ จำนวนมากกว่า 121 ครั้ง รวมแล้วเกิดอาฟเตอร์ช็อค มากกว่า 200 ครั้ง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการรมว.คมนาคม นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เรียกประชุมกองอำนวยการแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหว ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยที่ประชุมสรุปสถานการณ์ว่า หลังเกิดแผ่นดินไหวจังหวัดได้ประกาศให้อ.เมือง อ.พาน อ.แม่ลาว อ.ป่าแดด บางส่วนของอ.แม่สรวย อ.พญาเม็งราย และอ.เวียงชัย เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหว เพื่อจะจัดสรรงบประมาณและกำลังพลเข้าให้การช่วยเหลือ

โดยเหตุดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 23 คน นอกจากนี้ยังเกิดข่าวลือทางโซเชียลมีเดีย ทั้งการแจ้งการเสียชีวิต สถานที่ประสบภัย ดังนั้นกองอำนวยการจะสรุปข้อมูลความเป็นจริง จึงขอให้ทุกฝ่ายรับทราบข้อมูลจากจังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก

นายพีรัตน์ เรืองสุกใส ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยา จ.เชียงราย รายงานว่า ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกเวลา 04.00 น. ขนาด 5.1 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่อ.พาน เวลา 06.04 น. ขนาด 5.2 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่อ.แม่สรวย เวลา 07.50 น. ขนาด 5.6 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่อ.พาน และเวลา 07.58 น. ขนาด 5.6 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่อ.แม่สรวย

***เฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อก 72 ชม.

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ นักวิจัยหน่วยวิจัยธรณีวิศวกรรมแผ่นดินไหว ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลการเตือนภัยเฝ้าระวังหลังจากการเกิดเผ่นดินไหว 6.3 ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 สำหรับประชาชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในระยะเวลาอย่างน้อย 72 ชั่วโมง หลังเกิดแผ่นดินไหว

"โดยความเป็นจริงจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ คือ 1. เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดในพื้นที่กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง 2. เป็นรอยเลื่อนที่มีจุดกำเนิดแผ่นดินไหวตื้น (7 กม.) ทำให้มีความรุนแรงสูง 3. เป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในประเทศไทย ที่มีขนาดที่สูงที่สุด เท่าที่เคยวัดได้ในประเทศไทย แผ่นดินไหวที่มีขนาดสูงที่สุดที่ผ่านมา คือแผ่นดินไหวขนาด 5.9 ที่เกิดที่ปลายอ่างเก็บน้ำ เขื่อนศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2526 4. ความเสียหายที่เกิดขึ้นประกอบด้วย การพิบัติของอาคารที่ไม่ได้ออกแบบตามมาตรฐานการออกแบบเพื่อต้านทานแผ่นดินไหว การเกิดทรายเหลว การพิบัติของลาดดิน และถนน เป็นต้น5. ความเสียหายกับอาคารและสิ่งปลูกสร้างจะเกิดขึ้นได้มาก ในพื้นที่ที่อยู่ในรัศมี 30 กม. จากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว"รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าว

**ชาวบ้านเผยบ่อน้ำตื้นแห้งไม่มีน้ำกิน-ใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันประชาชนต่างออกมาซ่อมแซมบ้านเรือนและเก็บข้าวของ โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหารเข้าช่วยเหลือ โดยเฉพาะบ้านเลขที่ 7 บ้านท่ามะโอ หมู่ 8 ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว ของนายอุดม สันดอนทอง อายุ 56 ปี ซึ่งเป็นบ้านไม้ราคาแพง เสาสูง 2.5 เมตร ถูกรอยแยกผ่านเข้ากลางตัวบ้านจนทรุดติดดินเสียหายทั้งหลัง โชคดีช่วงเกิดเหตุนายอุดมวิ่งไปอุ้มสุนัขนอกบ้าน และคนในครอบครัวออกไปเที่ยวนอกบ้าน

ส่วนที่บ้านเลขที่ 120 บ้านห้วยหวาย หมู่ 2 ต.จอมหมอกแก้ว พบมีรูน้ำพุผ่านชั้นดินตรงจุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยชาวบ้านระบุว่าระหว่างเกิดแผ่นดินไหวมีน้ำร้อนและกลิ่นกำมะถันพวยพุ่งขึ้นมา โดยที่ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าบริเวณนี้มีน้ำพุร้อนอยู่ หลังแผ่นดินไหวน้ำได้หยุดพุ่งขึ้นมา แต่บ่อน้ำตื้นกลับเหือดแห้ง ทำให้ชาวบ้านไม่มีน้ำอุปโภคบริโภคเลย

**ปภ.จ่ายค่าทำศพ2.5หมื่น"เหยื่อดินไหว"

สำหรับนางแสง รินคำ อายุ 83 ปี อยู่บ้านเลขที่ 136 บ้านหนองลึก หมู่ 8 ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว ที่ถูกฝาบ้านล้มทับเสียชีวิต ญาตินำศพไปทำพิธีบำเพ็ญกุศลที่บ้านเลขที่ 36 เพราะจุดเกิดเหตุเสียหายจนไม่สามารถจัดพิธีศพได้ โดยกำหนดจัดพิธีฌาปนกิจศพวันที่ 8 พฤษภาคม

สำนักงานปภ.เชียงราย แจ้งว่า กรณีผู้เสียชีวิตได้เงินช่วยเหลือ 25,000 บาท กรณีบาดเจ็บพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 4 หลัง ได้รับเงินช่วยเหลือหลังละ 33,000 บาท เสียหายบางส่วน 3,500 หลัง ได้รับค่าซ่อมแซมหรือวัสดุก่อสร้างเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 33,000 บาท

นอกจากนี้สำนักงานปภ.จังหวัดเชียงราย แจ้งให้ประชาชนทราบว่า กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าจะมีอาฟเตอร์ช็อคตามมาอีกไม่เกิน 3 วัน คาดว่าสิ้นสุดวันที่ 8 พฤษภาคม เวลา 18.08 น. แต่ความสั่นสะเทือนจะลดลง ประชาชนอย่าได้ตระหนกตกใจ โดยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ให้หมอบลงกับพื้นหรือหลบอยู่ใต้โต๊ะ หากอยู่ในอาคารที่ไม่มั่นคงให้ออกจากอาคารโดยเร็ว ห้ามใช้ลิฟท์ และหลังเหตุการณ์สงบลงให้ใส่รองเท้าหุ้มส้น ตรวจสอบสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส และอย่าจุดไฟ

**เจ้าของโรงแรมเชียงรุ่งโอดสูญวันละกว่า2หมื่น

นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ความเสียหายมีเพียงรอยร้าวยาว 5 เมตรที่องค์พระธาตุศรีปิงเมือง ต.ลอ อ.จุน และรอยแตกร้าวที่โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม อ.แม่ใจ

นายวิเชียร ทาทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่ใจวิทยาคม กล่าวว่า อาคารเรียนหลังใหม่สูง 4 ชั้น อยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว 25 กิโลเมตร คานชั้น 1 กับชั้น 2 แตกร้าว จนเศษปูนแตกกระจาย และมีรอยร้าวยาวตลอดถึงด้านหลังอาคาร ซึ่งคงจะทราบผลการตรวจสอบว่ากระทบกับโครงสร้างอาคารหรือไม่ ก่อนเปิดภาคเรียนปกติวันที่ 16 พฤษภาคมนี้

นายมนัส จันทร์ประสิทธิ์ เจ้าของโรงแรมเชียงรุ่ง อ.พาน ที่ปูนฉาบผนังตึกแตกหลุดออกมา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตรวจสอบแล้ว ไม่พบปัญหาที่จะก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งต้องใช้เวลาในการซ่อมแซม 1-2 เดือน คาดว่าน่าจะสูญเสียรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท เพราะลูกค้าทยอยยกเลิกแล้ว เนื่องจากไม่มั่นใจความปลอดภัย

นายพจน์ ชมพูแก้ว กำนันตำบลบ้านแลง อ.เมือง จ.ลำปาง กล่าวว่า ห้องน้ำบ้านของนางกัลยา ฝั้นสืบ อายุ 39 ปี เลขที่ 181/1 บ้านศรีปรีดา ต.บ้านแลง พังถล่มลงมาทั้งหลัง ขณะที่บ้านของนางอนงค์ นายหลี่ ชมพูใบ เลขที่ 10 หมู่ 8 บ้านสบอ่างน้ำล้อม ต.บ้านแลง เกิดรอยแยกของดินจากลานบ้านผ่ากลางใต้ถุนบ้านความยาวกว่า 10 เมตร บางจุดลึกกว่า 2.5 เมตร

**"วสท."ชี้รอยเลื่อนพะเยา-รุนแรงสุดในปท.

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย(วสท.) แถลงว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง จุดกำเนิดตื้นเพียง 7 กิโลเมตร ทำให้มีความรุนแรงสูง ซึ่งถือว่าเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางในประเทศไทยขนาดสูงที่สุดเท่าที่เคยวัดได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่ออาคารและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรจากศูนย์กลาง ซึ่งวสท.ขอเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างบริเวณไหล่เขา เฝ้าระวังเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในรัศมี 200 กิโลเมตร เฝ้าระวังดินถล่มในรัศมี 50 กิโลเมตร เนื่องจากวันที่ 5-7 พฤษภาคม จะมีฝนฟ้าคะนองในภาคเหนือ และเฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อคตามแนวรอยเลื่อนพะเยา ประกอบด้วย จ.เชียงราย พะเยา และ ลำปาง โดยวันที่ 7 พฤษภาคม จะส่งตัวแทนลงพื้นที่จ.เชียงราย เพื่อตรวจสอบโครงสร้างอาคาร ความเสียหาย และให้คำแนะนำกับประชาชน

**"ชัชชาติ"สั่งเร่งซ่อมผิวถนนให้ใช้ได้ด่วน

นายชัชชาติกล่าวภายหลังสอบความเสียหายที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ว่าเกิดอาฟเตอร์ช็อคหลายครั้งจนเจ้าหน้าที่ต้องหนีออกนอกอาคาร อย่างไรก็ตาม ทางท่าอากาศยานยังเปิดให้บริการตามปกติ แม้กระจกหอบังคับการบินร้าว 4 บาน โดยพนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ ลงมาใช้ระบบสำรองที่ด้านล่าง ติดต่อโดยใช้ระบบวิทยุสื่อสาร พร้อมจัดเส้นทางหนีภัยและจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุด งดใช้สะพานเทียบชั่วคราว โดยให้ใช้ลานจอดระยะไกลหรือ remote parking และบันไดเทียบข้างเพื่อความปลอดภัยในการอพยพ และลดความเสี่ยงของความเสียหายจากสะพายเทียบกับตัวเครื่อง และระวังสิ่งของที่จะร่วงใส่ผู้โดยสาร เช่น ฝ้า ไฟ ผนัง ป้าย

ด้านแขวงการทางเชียงราย 1 รายงานความเสียหายทางหลวง 118 ช่วงกม.141 บ้านโป่งฟูเฟือง แตกร้าวเป็นแนวยาวและแนวขวางประมาณ 200 เมตร ผิวทางต่างระดับประมาณ 1-3 เซนติเมตร ช่วงกม.151-152 ใช้งบประมาณซ่อมเบื้องต้น 3 แสนบาท และคาดว่าจะอีก 5 ล้านบาท เพื่อซ่อมให้คืนสู่สภาพเดิม

ส่วนที่บ้านห้วยส้านยาว ผิวทางทรุดตามแนวยาว 500-600 เมตร ผิวทางต่างระดับประมาณ 1-2 เมตร ซึ่งได้ประสานศูนย์สร้างทางลำปาง ให้เข้าซ่อมแซมช่วงกม.151-152 โดยสร้างผิวจราจรด้านขวาทิศทางจากจ.เชียงใหม่ มาจ.เชียงราย 1 ช่องจราจร ใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท ส่วนการปรับปรุงให้คืนสู่สภาพเดิมใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท

นายชัชชาติ กล่าวว่า แขวงการทางปิดจุดอันตรายทางหลวง 118 กม.147+000 ถึงกม.155+251 บ้านห้วยส้าน โดยหากเดินทางมาจากจ.เชียงใหม่ ให้เลี้ยวซ้ายที่ กม.146+000 ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร จะถึงทางหลวง 1211 เลี้ยวซ้ายเข้าเมืองเชียงราย เลี้ยวขวาเข้าทางหลวง 118 ที่กม.155+251 ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร

**ปลัดสธ.เผยอาคารรพ.ร้าวแต่ยังเปิดบริการ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า อาคารสมเด็จย่า โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เกิดการแตกร้าว ต้องย้ายผู้ป่วยในมายังอาคารผู้ป่วยนอก ส่วนโรงพยาบาลแม่ลาว อาคารแตกร้าวและทรุดจนเห็นโครงสร้างเหล็ก จึงต้องตั้งเต๊นท์เปิดรักษาภายนอก พร้อมส่งผู้ป่วย 17 ราย ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ส่วนผู้ป่วยนอกเปิดรักษาเฉพาะกรณีฉุกเฉินที่บริเวณโรงรถ ส่วนโรงพยาบาลพาน พบเพียงบ้านพักแพทย์แตกร้าว

สำหรับจ.เชียงใหม่ มีโรงพยาบาลที่ผนังอาคารร้าว แต่ยังเปิดให้บริการ คือ โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลฝาง ส่วนโรงพยาบาลนอกสังกัดสธ. อาทิ โรงพยาบาลพญาเม็งราย และโรงพยาบาลมหาราช มีรอยร้าวแต่ไม่มีผลกระทบ

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดสธ. กล่าวว่า อาฟเตอร์ช็อกบ่อยครั้งอาจทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ซึ่งทีมสุขภาพจิตจากโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ ได้ไปฟื้นฟูจิตใจแล้ว อย่างไรก็ตามประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก รับข้อมูลที่เชื่อถือได้จากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ปภ. หรือกรมอุตุนิยมวิทยา เตรียมพร้อมอพยพเมื่อมีประกาศจากทางการ ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขขออย่าตื่นตระหนก ให้ฟังหัวหน้าทีมเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่

**"จาตุรนต์"สั่งประเมินร.ร.5แห่งก่อนใช้งาน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่ามีโรงเรียนในจ.เชียงใหม่ และจ.เชียงราย เสียหายอย่างหนัก 5 โรง อยู่ในอ.พาน อ.แม่ลาว และอ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดยเป็นโรงเรียนมัธยม 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม อ.แม่ลาว โรงเรียนพานพิทยาคม อ.พาน โรงเรียนแม่สรวยวิทยาคม อ.แม่สรวย และโรงเรียนประถมศึกษา 2 โรง ได้แก่ โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา และโรงเรียนบ้านป่าก่อดำ อ.แม่ลาว โดย 5 โรงเรียนโครงสร้างอาคารเรียนและผนังเสียหาย อาคารบางส่วนยุบตัวหรือพังทลาย และยังมีโรงเรียนอีก 30 โรงได้รับความเสียหายเล็กน้อยถึงปานกลาง

นอกจากนี้มีโรงเรียนในจ.เชียงใหม่ เกิดรอยร้าวที่อาคารเรียน 8 โรง รวมทั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา ที่ตัวอาคารได้รับความเสียหาย เบื้องต้นได้ให้มทร.ล้านนา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) จัดทีมวิศวกรเข้าไปสำรวจความเสียหาย

"เราไม่เคยมีประสบการณ์แผ่นดินไหว จึงไม่แน่ใจว่าการเกิดอาฟเตอร์ช็อกซ้ำๆจะมีอันตรายหรือไม่ ขณะเดียวกันได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยขอผู้เชี่ยวชาญจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าไปสำรวจอาคารเรียนว่าจะใช้ให้เด็กได้เรียนต่อได้หรือไม่ ถ้าไม่มีการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญ จะสั่งเป็นนโยบายไม่ให้เข้าไปใช้อาคารเรียนเด็ดขาด โดยเฉพาะทั้ง 5 โรงต้องผ่านการประเมินก่อน ไม่เช่นนั้นหากอาคารพังทลาย ครูนักเรียนเป็นร้อยคนจะได้รับอันตราย ซึ่งหากประเมินไม่ทันก่อนเปิดภาคเรียน ก็ให้โรงเรียนหาที่เรียนสำรอง"

นายนำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมทร.ล้านนา กล่าวว่า จะส่งทีมสำรวจลงพื้นที่วันที่ 7 พฤษภาคม เพื่อสำรวจความเสียหายในต.เมืองพาน ต.ทรายขาว ต.สันกลาง และต.เจริญเมือง อ.พาน และได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ประชาชนติดต่อได้ที่ โทร. 053-921-444 ต่อ 1030-3 หรือ 093-256-3667

**เผยโบราณสถาน-วัดเก่าแก่เสียหายเพียบ

นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้ให้สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน และสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบโบราณสถานเสียหาย 11 แห่ง วัดเก่าแก่และศาสนสถาน 2 แห่ง แยกเป็นจ.เชียงใหม่ วัดกิตติ ส่วนปลายยอดฉัตรพระธาตุที่มีลูกแก้วตกลงมา วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ฉัตรองค์เจดีย์รายเอียง วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร และวัดสวนดอก ยอดฉัตรองค์เจดีย์เอียงเล็กน้อย ในจ.เชียงราย ส่วนใหญ่โบราณสถานในอ.เชียงแสน ได้รับความเสียหายในส่วนยอดฉัตรเอียงเล็กน้อย ได้แก่ วัดเจดีย์หลวง วัดพระธาตุจอมกิตติ ส่วนวัดเก่าแก่ ได้แก่ เจดีย์วัดชุมแสง และคริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย อ.เมือง ผนังบนชั้นลอย อาคารพระวิหารทางทิศตะวันออกแตกร้าว

ขณะที่จ.ลำพูน วัดพระยืน ยอดฉัตรของเจดีย์ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้หัก วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร แผ่นระบายยอดฉัตรพระธาตุหลุด 1 อัน วัดจามเทวี เจดีย์กู่กุดฐานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเอียง มีรอยแตกร้าวทั้ง 3 ชั้น เสี่ยงต่อการยุบตัวหากเกิดแผ่นดินไหวอีก

ส่วนจ.น่าน วัดพระธาตุเขาน้อย อ.เมือง บานหน้าต่างด้านทิศใต้ และทิศตะวันตกแตกร้าวทุกบาน และจ.พะเยา วัดศรีพิงเมือง อ.จุน เจดีย์มีรอยแตกร้าว และหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ อาคารมีรอยร้าว ซึ่งหลายแห่งต้องเฝ้าระวังเพราะอาจจะเกิดทรุดตัวลงได้ จึงจะต้องให้วิศวกรไปตรวจสอบอีกครั้ง

**พศ.สรุป12วัดผนังวิหารร้าว-เพดานถล่ม

นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า มีวัดเสียหาย 12 แห่งในอ.เมือง อ.พาน อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ได้แก่ อ.พาน วัดอุดมวารี พระพุทธรูปใหญ่เศียรหัก วัดทรายขาว ผนังวิหารร้าว เพดานถล่ม วัดทุ่งพร้าว เพดานถล่มทับเศียรพระพุทธรูปหัก วัดแม่คาววัง ผนังวิหารร้าว วัดป่ารวก เพดานถล่ม

ส่วนที่อ.แม่ลาว วัดบุญเรือง เพดานถล่มและผนังวิหารร้าว วัดห้วยส้านพลับพลา วิหารและกุฏิร้าว วัดเวฬุวัน กระเบื้องเพดานวิหารและกุฏิสงฆ์ยุบ วัดเหมืองลึก เพดานวิหารกุฏิพระสงฆ์ยุบและพัง วัดดอยหม้อ กระเบื้องเพดานวิหาร กุฏิสงฆ์พัง อ.เมือง วัดร่องขุ่น ศาลาได้รับความเสียหายและยอดฉัตรเอียง ตัววิหารร้าว และพุทธมณฑลเชียงราย พระประทานสิงห์หนึ่งพระศอร้าว ซึ่งวันที่ 7 พฤษภาคม จะรวบรวมข้อมูลเสนอรัฐบาลกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อไป

**"ปลอด"รับหน้าเสื่อฟื้นฟู-มีทุน500ล.ช่วย

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวภาคเหนือ กล่าวว่า ได้ตั้งคณะทำงาน 4 คณะ โดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำรวจความเสียหายของอาคาร สถานที่ราชการให้เสร็จภายใน 15 วัน กระทรวงคมนาคม สำรวจเส้นทางคมนาคมที่เสียหาย กระทรวงมหาดไทย สำรวจที่อยู่อาศัยที่เสียหาย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย

"ภาครัฐมีงบประมาณ 500 ล้านบาท เป็นเงินสำรองจ่ายจากเงินคงคลัง โดยผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดีปภ. สำนักนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเบิกจ่าย หากไม่พอจะมีเงินสำรองจากงบกลาง ซึ่งต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือใช้เงินสำรองจ่ายต่อเนื่อง ส่วนการเยียวยารัฐบาลมีเงินช่วยเหลือ ประชาชนทีได้รับผลกระทบไม่ต้องตกใจ ส่วนที่มีข่าวลือว่าเขื่อนกักเก็บน้ำเสียหายนั้น ยืนยันสำรวจแล้วไม่พบความเสียหาย ทุกเขื่อนออกมาแบบมาให้รองรับแรงสั่นสะเทือนรุนแรงได้ถึง 7 ริกเตอร์"

**"เฉลิมชัย"ขอเวลาคิดซ่อม-ไม่ซ่อมวัดร่องขุ่น

ที่วัดร่องขุน ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ที่ได้รับความเสียหายยอดฉัตรหัก หลังคาบางส่วนพังทลาย นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ผู้สร้างวัด ได้ให้เจ้าหน้าที่นำแผงกั้นปิดล้อมตัวอาคาร ไม่ให้ผู้ใดเข้าใกล้ สำหรับอนาคตของวัดร่องขุ่น ที่ใช้เวลารังสรรค์มานานถึง 18 ปี ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ท่ามกลางการลุ้นระทึกของประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่รักและเคารพในผลงานของนายเฉลิมชัย ที่ต้องการให้วัดร่องขุ่นอยู่คู่จังหวัดต่อไป โดยตลอดทั้งวัน ยังคงมีประชาชนและนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชม ขณะที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็เดินทางไปด้วยเช่นกัน

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ความเสียหายอาจจะมองเห็นเฉพาะภายนอก แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นความเสียหายของโครงสร้างภายใน ไม่ใช่เฉพาะหลังคา ยอดฉัตร ปูนปั้น ภาพเขียนที่เห็นภายนอก แต่เกิดขึ้นกับทั้งโบสถ์ หอพระธรรม สะพานสุขาวดี ซึ่งต้องมีพิจารณาอีกครั้งว่าจะซ่อมแซมได้เหมือนเดิมหรือไม่ เพราะถ้าจะซ่อมแซมลวดลายภายนอกคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเรื่องของโครงสร้างคงจะซ่อมไม่ได้ ซึ่งความเสียหายเพราะแรงของอาฟเตอร์ช็อควันนี้ มีมากกว่าเย็นวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องรอให้อาฟเตอร์ช็อคหมดไปก่อนภายใน 3 วันนี้ จากนั้นคณะวิศวกรจะได้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่า มีสิ่งใดสามารถแก้ไขได้บ้าง หากไม่สามารถซ่อมแซมให้ดีขึ้นได้ คงต้องปล่อยทิ้งเอาไว้ให้เป็นอนุสรณ์ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่อไป โดยจะให้คนดูเฉพาะด้านหน้าของวัด ไม่ให้เข้าไปใกล้อาคารเพื่อความปลอดภัย

"ผมก็จะไปสร้างอาคารทางด้านหลังแทน แต่อายุกว่า 60 ปีแล้ว ครั้งแรกที่สร้างวัดร่องขุ่นอายุแค่ 42 ปี ดังนั้นจะสร้างให้เหมือนเดิมคงไม่ได้แล้ว ที่ผ่านมาหมดงบประมาณไปกับวัดร่องขุ่นกว่า 1,100 ล้านบาท เสียหายในครั้งนี้ถ้าคิดเป็นเงินก็ 1,100 ล้าน แต่ถ้ามองในแง่ของคุณค่าทางศิลปะถือว่า มีค่ามหาศาลอย่างมาก แต่ทุกอย่างก็เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แน่นอน"
กำลังโหลดความคิดเห็น