ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ม้วนเสื่อกลับบ้านแทบไม่ทันสำหรับการออกมาโชว์กึ๋นเสนอโรดแมปทางออกประเทศไทยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เหตุไม่มีใครเอาด้วยไม่ว่ามวลมิตรอย่าง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หรือศัตรูทางการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยที่ดาหน้าค้านหัวชนฝา
เรียกว่าการเดินสายของนายอภิสิทธิ์ เป็นเพียงกิจกรรมยามว่างจิกหมอนคั่นเวลารอศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ที่มีคำวินิจฉัยให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และบรรดารัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่ลงมติโยกย้ายนายถวิล พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา เท่านั้นเอง
ไล่เรียงเรื่องราวโรดแมปเป็นหมันสำหรับผู้ที่ไม่ได้เกาะติดให้เห็นภาพรวมอีกครั้ง หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ ประกาศลุกขึ้นมาเป็นพระเอกขี่ม้าขาวทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจากับฝ่ายต่างๆ เพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศ โดยเข้าพบปะพูดคุยนายทหารระดับสูงของกองทัพและบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ แต่สำหรับกปปส.กับพรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธิ์กลับไม่กล้าเข้าถ้ำเสือ แล้วรีบชิงออกมาเสนอข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ ประกอบด้วย
1.ชะลอการตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 2.กกต.ปฏิรูปการเลือกตั้ง 3.เครือข่ายปฏิรูป-กปปส. กำหนดกรอบปฏิรูปใน 30 วัน 4.ทำประชามติข้อเสนอปฏิรูปภายใน 90 วัน 5. สร้างบรรยากาศการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
6.มีรัฐบาลคนกลาง โดยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออก วุฒิสภาดำเนินการให้มีรัฐบาลคนกลาง 7.รัฐบาลคนกลางทำเฉพาะเรื่องปฏิรูปและแก้ปัญหาเร่งด่วน8.ปฏิรูปเสร็จ เลือกตั้งภายใน 45-60 วัน รัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องทำเรื่องปฏิรูป หากไม่ทำมีโทษถึงยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้ง 9.รัฐบาลใหม่ทำปฏิรูปการเมืองให้เสร็จใน 1 ปี แล้วยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาใหม่ และ 10.หลังเลือกตั้งปฏิรูปประเด็นอื่นๆ
กล่าวโดยสรุป จากข้อเสนอข้างต้น มีประเด็นหลักอยู่ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.เลื่อนการเลือกตั้ง 2. นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออก 3.ตั้งรัฐบาลคนกลางมาทำหน้าที่ปฏิรูป
ข้อเสนอดังกล่าวฟากมิตรอย่างกปปส.มองว่า เป็นการต่ออายุให้ระบอบทักษิณที่จะอาศัยการเลือกตั้งครองอำนาจต่อไป ไม่มีความชัดเจนสักนิดว่าข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ จะโค่นล้มหรือถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณให้สิ้นซากดังคำเรียกร้องของมวลมหาประชาชนที่ออกมาชุมนุมแต่อย่างใด
ขณะที่ฟากพรรคเพื่อไทย ก็มองว่า ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ อวยกปปส.ชัดเจนโดยเฉพาะประเด็นให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เปิดทางตั้งรัฐบาลคนกลางมาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ
กลายเป็นข้อเสนอที่ไม่มีใครเขาเอาด้วย เว้นแต่แม่ยกและพลพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ช่วยเชียร์ ยิ่งเห็นการแสดงเดิมพันยอมเว้นวรรคทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ ก็พากันเชื่อว่านี่เป็นทางออกของประเทศที่ไม่น่าปฏิเสธความเสียสละและความหวังดีของนายอภิสิทธิ์
หากไม่ต้องการหน้าแตกหรือถูกสวนกลับอย่าสะเออะรอบสอง นายอภิสิทธิ์ ควรหาเวลาศึกษาให้ลึกซึ้งอย่างถ่องแท้ในเนื้อหาคำตั้งสัตยาธิษฐานที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลชนกปปส.ที่ถือฤกษ์วันที่ 5 พ.ค. 2557 เปล่งวาจากึกก้อง ณ ท้องสนามหลวง หลังวางพานพุ่มหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคล แล้วนำกล่าวราชสดุดีและถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล ที่ว่า
“พวกข้าพเจ้ามวลมหาประชาชนจะร่วมกันต่อสู้กับโจรแผ่นดิน จะร่วมกันขจัดระบอบทักษิณและทรราช เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยตั้งใจมั่นแน่วแน่ไม่ท้อถอย ไม่ลดละ จนกว่าขจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไป และปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง ด้วยสัตยาธิษฐานนี้แม้การต่อสู้กับโจรแผ่นดิน จะใช้เวลาเพียงใด พวกข้าพเจ้าจะไม่ยกเลิกไม่ย่อท้อ จนการลุล่วงเป็นที่เรียบร้อย รวมทั้งมวลมหาประชาชนได้ปรารภโดยชอบด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความตั้งมั่นและด้วยจิตใจที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จงสำเร็จ และขอเป็นผลต่อความสงบสุขแห่งแผ่นดินนี้ด้วย”
ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ โปรดอย่าลืมว่าการจะหาทางลงให้กับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่อยู่ในสภาพเป็ดง่อย ซึ่งก็คือการเลือกตั้งเพียงแต่อาจจะช้าไปบ้างนั้น พรรคเพื่อไทยไม่มีทางเอาด้วยเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้น พี่ชายคงสั่งน้องสาวให้ถอนสมอไปก่อนหน้านี้แล้ว เป้าหมายของพรรคเพื่อไทยจึงมีแต่จะกระชับอำนาจหรือยึดครองอำนาจไม่ให้หลุดจากมือแม้แต่วินาทีเดียวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ และเป็นการเลือกตั้งใหม่ที่เชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทย จะชนะลอยลำเหมือนที่ผ่านมาเท่านั้น อย่าได้มีใครมาเรียกร้องให้ลาออกหรือสละอำนาจให้เสียเวลา
“การเสนอของนายอภิสิทธิ์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากตำแหน่ง ก็ไม่แตกต่างจากที่เคยเสนอในปี 2549 เป็นการสืบทอดแนวคิด ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะปัจจุบันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งต้องผ่านการเลือกตั้งเสียก่อน” นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการกิจการพรรคและฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ออกมาแถลงตอบโต้นายอภิสิทธิ์
เช่นเดียวกับศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (คอ.รส.) ที่ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 ยืนยันว่าข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ที่ให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออก ไม่มีกฎหมายรองรับ และรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 181 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
การออกแถลงการณ์ของคอ.รส.ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ และกระแสหนุนการจัดตั้งรัฐบาลคนกลาง ก่อนหน้าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี ไม่เป็นธรรม นั้น เป็นการตีปลาหน้าไซป้องปรามไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญฯ วินิจฉัยไปในทิศทางดังกล่าว โดยแถลงการณ์ของคอ.รส.ระบุว่า
“ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ แท้จริงแล้วเป็นข้อเสนอเพื่อปูทางหรือสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิพากษางดใช้มาตรา 181 หรือพิพากษาให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี พ้นไปโดยถือว่าเป็นกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา181 นายอภิสิทธิ์ ย่อมรู้ดีว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และยังขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ด้วย
"ดังนั้น ความมุ่งหมายอันแท้จริงของนายอภิสิทธิ์ จึงมีอย่างเดียวคือโน้มน้าวชักจูงให้ประชาชนหลงเชื่อโดยเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะพิจารณาพิพากษาให้เกิดสุญญากาศนั้น เป็นความเหมาะสมที่พึงกระทำได้ ดังนั้นข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ที่เรียกว่าทางออกของประเทศไทย แท้จริงแล้วก็คือหนึ่งในกระบวนการที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองแล้วแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีคนนอก ที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และประการสำคัญเป็นการกระทำฝ่าฝืนหรือกระทำการนอกรัฐธรรมนูญนั่นเอง” นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเลขานุการศอ.รส. อ่านเนื้อความในแถลงการณ์
อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง อีกทั้งยังปิดทางการจัดตั้งรัฐบาลคนกลางไปพร้อมๆ กัน ก็ได้แต่ต้องรอต่อไปว่าทางออกของประเทศจะเป็นไปในทิศทางไหน หากไม่เลือกตั้ง หรือรัฐประหารอีกครั้ง