xs
xsm
sm
md
lg

ความเห็น 9 ข้อเรื่องการขึ้นค่าเอฟทีรอบใหม่

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

บทสรุปสำหรับผู้มีเวลาน้อย

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังรับฟังความคิดเห็นเพื่อขึ้นค่าเอฟทีไฟฟ้าช่วง 4 เดือนนี้อีกหน่วยละ 10 สตางค์ ผมได้พิจารณาเหตุผลจากเอกสารของ กกพ.แล้วมีความเห็นว่า

1. ยังไม่มีสัญญาณในระยะสั้นใดๆ เลยว่าราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นตามที่ทาง กกพ.อ้าง จากการติดตามเอกเอสารที่ กกพ.อ้างถึง พบว่าราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าถึง 67% ของไฟฟ้าทั้งหมดไม่ได้มีแนวโน้มที่จะมีราคาสูงขึ้นตามการคาดการณ์ของ กกพ.แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังอีกพบว่า ราคาเชื้อเพลิงที่ทาง กกพ.นำมาอ้างเพื่อขอขึ้นราคานั้นสูงกว่าราคาที่ กฟผ.ได้รายงานต่อสาธารณะ และราคาดังกล่าวยังสูงกว่าราคาก๊าซที่ปากหลุมซึ่งเป็นราคาเพื่อการคิดค่าภาคหลวงค่อนข้างมาก นอกจากนี้ยังพบอีกว่า กกพ. คัดลอกข้อมูลของ กฟผ. มา “อย่างผิดๆ ถูกๆ”

2. แทนที่จะติดกับดักของพ่อค้าเชื้อเพลิงที่นับวันจะแพงขึ้น เราน่าจะหาทางออกที่ยั่งยืน จากข้อมูลในวารสารนโยบายพลังงาน (ฉบับที่ 101 ก.ค. ถึง ก.ย. 56) ของกระทรวงพลังงานพบว่า ราคาสำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 40 กิโลวัตต์เท่ากับ 2 ล้านบาท โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 52,000 หน่วย หากอัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.45 บาทต่อหน่วย ตามที่ทาง กกพ. เสนอ และหากทาง กกพ.รับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดในราคา 3.45 บาทต่อหน่วย (โดยไม่มีการชดเชย) ก็จะส่งผลให้ผู้ลงทุนติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านมีผลตอบแทนเป็นตัวเงินคิดเป็นร้อยละ 9.0 ต่อปี หรือสามารถคุ้มทุนภายใน 11 ปีเศษเท่านั้น แต่ถ้ารับซื้อในราคา 5 บาทต่อหน่วยก็จะคุ้มทุนภายใน 8 ปี

ผู้ที่ไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดอาจจะไม่มั่นใจว่าพลังงานจากแสงอาทิตย์จะเป็นไปได้ แต่ข้อมูลจากประเทศเยอรมนีพบว่า ในปี 2556 เยอรมนีผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้มากกว่าที่คนไทยใน 20 จังหวัดภาคอีสานและ 14 จังหวัดภาคใต้ใช้รวมกัน สำหรับราคาในปี 2557 ที่บริษัทรับซื้อจากผู้ผลิตหน่วยละประมาณ 6.50 บาททั้งที่แสงแดดในเยอรมนีมีประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของประเทศไทยเท่านั้น

ทำไม กกพ.จึงไม่รับซื้อ แต่กลับบีบบังคับให้ผู้บริโภคต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงที่ผูกขาดและมีราคาแพงขึ้นตลอดไป

คำนำ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศจะขึ้นราคาค่าไฟฟ้าในส่วนที่เรียกว่า “ค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที” สำหรับการใช้ในช่วงเดือน 4 เดือนข้างหน้าคือพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2557 เพิ่มขึ้นอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย คำประกาศนี้เกิดขึ้นในคราวการประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557 พร้อมกับเชิญชวนให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นภายในวันที่ 9 พฤษภาคม โดยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.erc.or.th

ปัจจุบันคนไทยใช้ไฟฟ้าปีละประมาณ 1.7 แสนล้านหน่วย ดังนั้น หากราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไปจากเดิมอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย การไฟฟ้าทั้ง 3 องค์กรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมกันอีก 1.7 หมื่นล้านบาท จำนวนเงินดังกล่าวไม่ใช่ก้อนเล็กๆ แต่จะมีผลกระทบและขยายตัวเป็นทอดๆ ไปทุกภาคส่วน

ในบทความนี้ ผมไม่ได้ต่อต้านการขึ้นราคา แต่กำลังถามหาเหตุผลของการขึ้นราคา โดยจะค่อยๆ ทำความเข้าใจพร้อมกับแสดงความคิดเห็นเป็นข้อๆ ดังนี้

ข้อ 1 การให้ข้อมูลของ กกพ. สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

ตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นจริง” (โดยให้ออกกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่จนป่านนี้ผ่านมาแล้วเกือบ 7 ปีแล้ว กฎหมายก็ยังไม่ออก) และมาตรา 78 ว่าด้วยแนวนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งกำหนดว่า “การบริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน”

โดยสรุปมี 2 คำถาม คือ ข้อมูลเป็นจริงหรือไม่และประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้มากน้อยแค่ไหน

ข้อ 2 ความหมายของค่าเอฟที

ค่าเอฟที
ก็คือค่าไฟฟ้าที่แปรผันไปจากค่าปกติ (ซึ่งได้กำหนดไว้นานแล้วเช่น เมื่อ 2-3 ปีก่อน ค่าปกตินี้เรียกว่า ค่าไฟฟ้าฐาน) การกำหนดค่าเอฟทีจะเกิดขึ้นทุก 4 เดือน การกำหนดค่าเอฟทีก็เพื่อไม่ต้องการให้มีการประกาศค่าไฟฟ้ากันบ่อยๆ อันเนื่องจากการแปรผันของต้นทุนที่ต่างไปจากค่าปกติ

ตามปกติค่าเอฟทีจะประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ (1) ค่าเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนไปจากค่าปกติ (ซึ่ง ทาง กฟผ.ใช้ผลิต) และค่าซื้อไฟฟ้า (ที่ กฟผ.ซื้อจากเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ) และ (2) ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล เช่น คนจนใช้ไฟฟ้าฟรี และค่ากองทุนรอบโรงไฟฟ้า เป็นต้น

อนึ่ง การคิดค่าเอฟทีเคยนำเอาอัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินระหว่างประเทศมาเป็นส่วนประกอบด้วย แต่มติคณะรัฐมนตรี (30 สิงหาคม 2548) ได้ประกาศยกเลิกไปโดยให้ถือว่าค่าดังกล่าวเป็นภาระของการไฟฟ้า แต่น่าแปลกใจที่เอกสารเหตุผลของ กกพ. ในครั้งนี้ยังคงกล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยกล่าวคือ อ้างว่าเพราะค่าเงินอ่อน (แต่ก็ไม่ได้บอกวิธีคิดให้ชัดเจนพอที่คนทั่วไปจะรู้เรื่องได้)

ข้อ 3 ค่าเอฟทีขึ้นปีละ 28% ค่าไฟฟ้าขึ้นปีละ 3.9%

จากสถิติย้อนหลัง 2 งวดๆ ละ 4 เดือนของค่าเอฟทีรวม 8 เดือน จากกันยายน-ธันวาคม 56 และ มกราคม-เมษายน 57 พบว่ามีการเพิ่มขึ้น คือจากเท่ากับ 54.00 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 59.00 สตางค์ต่อหน่วย และในงวดหน้าคือ พฤษภาคม-สิงหาคม 57 จะเป็น 69.00 สตางค์

จากข้อมูลดังกล่าว พบว่าเฉพาะค่าเอฟทีอย่างเดียวเพิ่มขึ้นในเวลา 12 เดือนเท่ากับ 28% (69.00 ลบ 54.00 หารด้วย 54.00) คำถามคือ แล้วค่าเชื้อเพลิงได้เพิ่มขึ้นในอัตรานี้หรือเปล่า?

คราวนี้ลองตั้งคำถามใหม่ว่า ในรอบหนึ่งปีค่าไฟฟ้าได้ขึ้นราคาไปร้อยละเท่าใด จากบิลค่าไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์(บ้านผมเอง) ผมใช้ไฟฟ้า 141 หน่วย ค่าพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยหน่วยละ 2.76 บาท(ไม่รวมค่าเอฟที) ดังนั้นเมื่อรวมค่าไฟฟ้าทั้งหมดพบว่า ในหนึ่งปีค่าไฟฟ้าได้ขึ้นราคาจากหน่วยละ 3.30 เป็น 3.45 บาท คิดเป็นร้อยละ3.9 ต่อปี สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร และสูงกว่าอัตราการขึ้นราคาค่าไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาที่ประมาณปีละ 2%

ข้อ 4 สัดส่วนของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า

ในปี 2556 ประเทศไทยมีการผลิตและรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 177,398 ล้านหน่วย แต่มีการบริโภค 1.64 ล้านหน่วย (ที่หายไปส่วนใหญ่เป็นการสูญเสียในระบบประมาณ 7%) คิดเป็นมูลค่า 5.4 แสนล้านบาท (เฉลี่ยหน่วยละ 3.29 บาท) ปริมาณการผลิตร้อยละ 45 เป็นการผลิตโดย กฟผ. โดยการซื้อจากเอกชน 48% และนำเข้า 7%

หากจำแนกเป็นประเภทเชื้อเพลิง พบว่าร้อยละ 67.3 ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล (ซึ่งทาง กกพ. นำมาเป็นข้ออ้างในการขึ้นราคา) มีส่วนร่วมรวมกันแค่ร้อยละ 0.8 เท่านั้น หรือ 1,471 ล้านหน่วยเท่านั้น

ประเภทเชื้อเพลิง
ร้อยละ
ก๊าซธรรมชาติ67.3
ถ่านหินและลิกไนต์19.9
น้ำมันเตา0.7
น้ำมันดีเซล0.1
พลังน้ำ3.1
นำเข้า7.1
อื่นๆ1.9


สำหรับปริมาณก๊าซธรรมชาติซึ่งมีส่วนร่วมในการผลิตประมาณ 2 ใน 3 ของไฟฟ้าทั้งหมดนั้น พบว่าร้อยละ 82 เป็นก๊าซที่ผลิตจากภายในประเทศ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่อาจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเอฟทีจึงน่าจะเป็นราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากทรัพยากรในประเทศไทยเรานี่เอง

ข้อ 5 ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากประเทศไทย

จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตลอด 14 เดือน (มกราคม 56 ถึงกุมภาพันธ์ 57) พบประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นคือ

(1) ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศไทยไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเลย(2) ราคาอยู่ที่ประมาณ 230 ถึง 240 บาทต่อล้านบีทียู โดยที่ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ปากหลุม (เพื่อคิดค่าภาคหลวงทั่ฐบาลเรียกเก็บจากผู้รับสัมปทาน) ยังไม่ผ่านท่อของบริษัท ปตท.

อนึ่ง ปริมาณก๊าซ 1 ล้านบีทียูสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 125 หน่วย ดังนั้น ถ้าราคาก๊าซธรรมชาติเปลี่ยนไป 10 บาทต่อล้านบีทียูก็จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าเอฟทีที่เกิดจากค่าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเปลี่ยนไป 8 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า

6. ข้อสงสัยเรื่องราคาเชื้อเพลิงของ กกพ.

จากเอกสารประกอบการรับฟังความเห็นของ กกพ. ข้อ 3.1 เรื่อง ค่าเชื้อเพลิงฐานซึ่งผมขอตัดมาเพียงบางส่วนในแผ่นภาพนี้ ผมมีข้อสงสัยว่าทาง กกพ.ได้ให้ข้อมูลที่เป็นจริงต่อผู้บริโภคหรือไม่ ดังนี้

ข้อสงสัย 1 กกพ.ระบุว่าราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและพม่า (เดือนพฤษภาคม –สิงหาคม 54) เท่ากับ 250.05 บาทต่อล้านบีทียู แต่จากการใช้ข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพบว่าราคาก๊าซในประเทศไทย (ทั้งอ่าวไทยและบนบก แต่ไม่รวมก๊าซจากพม่าและ JDA) ราคา 181.42 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น

ไม่มีการเปิดเผยว่า ทางบริษัท ปตท. คิดค่าผ่านท่อในอัตราใด ผมลองสมมติดูนะครับ ถ้ารวมค่าผ่านท่อ (ประมาณ 15% ของมูลค่าก๊าซซึ่งถือว่าสูงมาก) และไม่รวมค่าแยกก๊าซ ก็อยู่ที่ 208 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น ยังต่ำกว่าที่ กกพ.นำเสนอถึง 42 บาท จากข้อมูลที่ผมค้นจากเอกสารของ กฟผ. พบว่า ก๊าซ 1 ล้านบีทียูสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 125 หน่วย ดังนั้นส่วนต่างของราคา 42 บาทดังกล่าวมีผลทำให้การคำนวณค่าเอฟทีต่างกันถึง 34 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า

ข้อสงสัย 2 กกพ.รายงานว่า ราคาก๊าซจากน้ำพองและภูฮ่อม 303.78 บาทต่อล้านบีทียู แต่ราคาจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเท่ากับ 261 บาทต่อล้านบีทียู ถ้าคิดค่าผ่านท่อ 12% (เพราะอยู่ใกล้) ก็จะเป็น 292 บาทต่อล้านบีทียู ยังต่ำกว่าที่ กกพ.เสนอตั้งเกือบ 12 บาท

ข้อสงสัย 3 ข้อมูลในแผ่นภาพดังกล่าวแทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย (ถึงแม้สมมติว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง) เพราะไม่ได้บอกสัดส่วนปริมาณการใช้ ในกรณีนี้ ปริมาณการใช้ของแหล่งน้ำพองและภูฮ่อมมีไม่ถึง 2% ของประมาณก๊าซที่ผลิตในประเทศไทย เป็นต้น

สรุปในหัวข้อนี้ก็คือ ทาง กกพ.ได้ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วนพอที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจได้ จึงถือว่าน่าจะส่อไปในทางขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ข้อ 7 ข้อสงสัยเรื่องการประเมินราคาเชื้อเพลิงในอนาคต

จากตารางที่ 2 ของเอกสารคำชี้แจงที่มีความยาว 6 หน้า พบว่ามีการคาดหมายราคาเชื้อเพลิงในช่วง 4 เดือนข้างหน้าว่าจะสูงขึ้นกว่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ดังตาราง

ประเด็นนี้ผมมีข้อสงสัย 2 ประการ คือ

(1) ในช่วง ม.ค.-เม.ษ. 57 กกพ.ให้ข้อมูลว่าราคาก๊าซเท่ากับ 316.88 บาทต่อล้านบีทียู แต่ข้อมูลของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เท่ากับ 306.6 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น (ข้อมูล กฟผ. จาก http://www3.egat.co.th/ft/Web/Fuel%20may57_aug57.htm)

กกพ. ช่วยตอบหน่อยครับ

ความต่าง 10.28 บาท มีผลทำให้การคำนวณค่าเอฟทีต่างกัน 8 สตางค์ (อย่าลืมว่า 10 สตางค์จะรวมกันเป็น 1.7 หมื่นล้านบาทดังที่ได้กล่าวนำมาตั้งแต่ต้น)

ในขณะที่ กกพ.นำเสนอราคาถ่านหินนำเข้าในราคา 2,415 บาทต่อตัน (ซึ่งคาดว่าจะขึ้นราคา 0.37%) แต่ข้อมูลของ กฟผ. กลับมีแต่ราคาลิกไนต์เท่านั้น คือ ราคา 570 บาทต่อตัน (และโดยไม่มีการขึ้นราคาเลย) โดยไม่มีราคาถ่านหินนำเข้าเลย

และเมื่อผมลองค้นข้อมูลราคาถ่านหินในตลาดโลก ก็พบว่าราคาคงที่มาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมาและจากการคาดหมายของ E.I.A. พบว่าจะคงที่ต่อไปจนถึงปี 2558 นอกจากนี้ยังพบว่าราคาส่งถึงโรงไฟฟ้าตันละประมาณ 1,665 บาทเท่านั้น (ถ้าผมเข้าใจอะไรผิดต้องขออภัย เพราะเรื่องนี้เพิ่งค้นใหม่)

ในขณะที่ กกพ.ให้ข้อมูลว่าราคาน้ำมันเตาจะขึ้นราคาจาก 23.22 เป็น 31.45 แต่ข้อมูลของ กฟผ. (ซึ่งเป็นต้นฉบับ) กลับบอกว่าจะขึ้นจาก 29.05 เป็น 31.45 บาทต่อลิตร

นี่มันอะไรกันครับ กกพ.!

(2) ผมไม่ทราบว่า กกพ. คาดการณ์อย่างไรจึงได้ผลลัพธ์ว่า ราคาก๊าซในช่วง 4 เดือนข้างหน้า (พ.ค. ถึง ส.ค. 57) จึงเพิ่มขึ้นจาก 4 เดือนก่อนที่ 316.88 บาทต่อล้านบีทียู เป็นเท่ากับ 325.99 บาทต่อล้านบีทียู ทั้งๆที่ราคาก๊าซในประเทศไทยแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย

ถ้าเราเปรียบเทียบราคาของ กฟผ. (ซึ่งสูงกว่าของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมาก) กับราคาที่ กกพ.คาดการณ์ พบว่าต่างกันถึง 19.39 บาท (325.99 ลบ 306.6 บาท) ส่งผลต่อการคำนวณค่าเอฟทีให้เพิ่มขึ้นถึง 16 สตางค์ต่อหน่วย

ข้อ 8 ตรวจสอบการประมาณการของค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า

ผมพยายามศึกษา “สูตร” การคำนวณค่าเอฟทีของกระทรวงพลังงานหลายรอบ (มากกว่า 10 รอบ) แต่ขอสารภาพว่าผมอ่านไม่รู้เรื่องครับ (ทั้งๆ ที่ผมเป็นนักคณิตศาสตร์ประยุกต์) ผมรู้สึกว่าภาษาที่เขียนมีปัญหาหรือว่าผมโง่เองก็ไม่ทราบ อย่างไรก็ตามผมก็พยายามแกะวิธีการคำนวณออกมาได้ดังตาราง

หากผมเข้าใจอะไรผิดไป ผมต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าและพร้อมที่จะแก้ไขครับ แต่ที่ต้องนำเสนอออกไปก่อนก็เพราะทาง กกพ.กำหนดว่าต้องเสนอความเห็นภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้

ผลการ “แกะรอย” ของผมพบว่า การประมาณการของ กฟผ. สูงกว่าความเป็นจริงเกือบตลอดเวลารวม 4 งวด (ม.ค. 56-เม.ษ. 57) สูงทั้งจำนวนหน่วยไฟฟ้า(เกือบ 1 หมื่นล้านหน่วย แต่ไม่ได้แสดงในภาพ) และสูงทั้งค่าใช้จ่าย “ค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงจากแผน” (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของค่าเอฟที) โดยช่วงที่มีการคาดการณ์สูงเกินจริงมากที่สุดเกิดขึ้นในช่วง ม.ค.-เม.ษ. 56 ถึงกว่า 4,500 ล้านบาท

ถ้าคิดเป็นต่อหน่วยไฟฟ้าก็เท่ากับ 8.60 สตางค์ โดยเกินทุกช่วง 4 เดือนที่มีการประมาณการ

ข้อ 9 ทางออกจากกับดักราคาเชื้อเพลิง

จากที่กล่าวมาแล้วพบว่า ราคาค่าไฟฟ้าในประเทศไทยขยับตัวสูงขึ้นประมาณ 4% ต่อปี (ในขณะที่สหรัฐอเมริกา 2%) นอกจากนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและชีวมวลสร้างผลกระทบต่อชุมชน ในขณะที่ราคาต้นทุนระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว

จากวารสารนโยบายพลังงาน (ฉบับที่ 101 ก.ค.- ก.ย. 56) สามารถคำนวณได้ว่า หากผู้ผลิตสามารถขายไฟฟ้าได้ทั้งหมดในราคาหน่วยละ 3.45 บาทโดยไม่มีการชดเชยจะทำให้ได้ผลตอบแทนในการลงทุนร้อยละ 9 ต่อปี หรือได้ทุนคืนภายใน 12 ปี (ข้อมูลในวารสาร - แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 40 กิโลวัตต์ ลงทุน 2 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 52,000 หน่วย) ในขณะที่คนในวงการสภาอุตสาหกรรมเคยเปิดเผยต่อที่ประชุมแห่งหนึ่ง (เมื่อกลางปี 2555) ว่า “หากได้ Adder ในอัตราปัจจุบันจะได้ทุนคืนภายใน 4 ปีเท่านั้น”

เยอรมนีเป็นประเทศที่ประสบผลสำเร็จในด้านพลังงานหมุนเวียนสูงสุดในโลก ในปี 2556 เยอรมนีผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ 29,300 ล้านหน่วย ไฟฟ้าจำนวนนี้มากพอสำหรับคนไทยใน 20 จังหวัดภาคอีสานและ 14 จังหวัดภาคใต้ใช้รวมกัน ทั้งๆ ที่ความเข้มของแสงแดดในเยอรมันมีแค่ 2 ใน 3 ของประเทศไทยเท่านั้น สำหรับราคาหรือต้นทุนการผลิตกลับลดลงอย่างรวดเร็ว กล่าวคือในปี 2557 อยู่ที่หน่วยละ 6.50 บาท ดังแผ่นภาพข้างล่างนี้

ผมขอจบบทความที่ค่อนข้างยาวนี้ด้วยคำถามสุดท้ายว่า ทำไม กกพ. จึงไม่รับซื้อไฟฟ้าที่นับวันจะมีราคาถูกลงและไม่ก่อมลพิษกับชุมชน แต่กลับบีบบังคับให้ผู้บริโภคต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงที่ผูกขาด ก่อมลพิษต่อชุมชน และมีราคาแพงขึ้นตลอดไป

ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ


ประสาท มีแต้ม
กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น