ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เพิ่งล้อมคอกไปแหม่บ ๆ หลังเกิดมหกรรมทุจริตสอบ “ครูผู้ช่วย” อย่างโจ่งครึ่ม! ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรง ตำแหน่งข้าราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีพิเศษและเหตุจำเป็น ว 12สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ในปี 2556 ที่ผ่านมา
ล่าสุดปีนี้(พ.ศ.2557) ฤดูกาลจัดสอบเวียนมาอีกหน โดยกำหนดจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ.2557 เพื่อบรรจุทดแทนอัตราเกษียณอายุราชการ ใน 89 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และ 1 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) รวม 1,888 อัตรา ใน 40 กลุ่มสาขาวิชา จัดสอบภาค ก. และ ภาค ข ไปแล้วเมื่อวันที่ 19-20 เม.ย.ที่ผ่านมา และนำมาซึ่งความฉาวโฉ่ขึ้นอีกครั้ง
บทเรียนจากข้อสอบรั่วจนเกิดปรากฎการณ์โกงทั้งแผ่นดิน ที่จนบัดนี้ยังหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังแท้จริงมาลงโทษไม่ได้ทำให้การจัดสอบครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1/2557คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานได้พิจารณาและอนุมัติปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ จากเดิมที่ส่วนกลาง คือ สพฐ.ทำหน้าที่การจัดสอบ ออกข้อสอบ รวมทั้งการจัดส่งข้อสอบที่ใช้วิธีขนส่งทางไปรษณีย์ มาเป็นการที่ สพฐ.มอบอำนาจให้ อนุ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ที่เปิดสอบทำหน้าที่จัดสอบและออกข้อสอบเอง และเปิดทางให้ใช้วิธีรวมกลุ่มออกข้อสอบ หรือจะจ้างสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้ออกข้อสอบซึ่งปรากฏว่ามี38 เขตพื้นที่ฯ ที่ออกข้อสอบเองและอีก 51 เขตพื้นที่ฯ จ้างสถาบันอุดมศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ฯลฯ ออกข้อสอบ ที่สำคัญหากมีการกระทำทุจริตเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ฯ ใดก็ตาม ผอ.เขตพื้นที่ฯ นั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
แน่นอนว่า การจัดสอบคราวนี้ สพฐ.จึงตั้งอยู่บนความไม่ประมาท นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) วางมาตรการคุมเข้ม60 ข้อโดยเฉพาะกระบวนการออกและเฉลยข้อสอบ หากเขตพื้นที่ฯ ใดมีข่าวชื่อกรรมการออกข้อสอบหลุดรอดไปก็ต้องเปลี่ยนตัวกรรมการออกข้อสอบทันที และต้องเก็บตัวกรรมการออกข้อสอบจนกว่าการสอบจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะไม่เฉลยข้อสอบไว้ล่วงหน้า เพราะการทำข้อสอบไปเฉลยไปแบบเดิมนั้นทำให้เกิดทุจริตได้ง่าย ดังนั้น กรรมการออกข้อสอบจะเฉลยคำตอบได้หลังเสร็จสิ้นการสอบแต่ละวิชา เท่ากับว่ากรรมการออกข้อสอบไม่มีทางรู้ว่ากรรมการคัดเลือกข้อสอบได้เลือกข้อสอบใดไปใช้บ้าง ปัญหาข้อสอบรั่วจึงไม่เกิดซ้ำรอย
นี่ยังไม่รวมมาตรการในวันสอบที่ขอความร่วมมือจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสทช.) ส่งเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เพื่อป้องกันทุจริตในสนามสอบที่มีผู้สอบเกินกว่า 2 พันคนขึ้นไป กำหนดจำนวนผู้เข้าสอบห้องละ 25 คน และส่งผู้บริหาร สพฐ.ลงไปติดตามการจัดสอบจับตาพิเศษในพื้นที่ที่มีผู้สมัครสอบจำนวนมากและพื้นที่ภาคอีสานที่มีพบทุจริตมากในการสอบที่ผ่านมา
ขณะนี้ การสอบผ่านพ้นไม่มีรายงานกระทำทุจริต แต่ก็มีเหตุที่ทำให้ สพฐ.ถึงกับ..เงิบ..เพราะปรากฏว่ามีข้าราชการวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา และข้าราชการครู 2 ราย นามสกุลเดียวกันแต่ไม่ปรากฏชัดมีศักดิ์เป็น“พี่น้อง” หรือ “เครือญาติ” มาเข้าสอบในวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ นายพิทักษ์ ศุภเลิศ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไทร ต.ลุมปุ๊ก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ สังกัด สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 นายชุมพล ศุภเลิศ ครูโรงเรียนเมืองแฝกพิทยาคม สังกัดสพม.32 เข้าสอบที่ สพป.สมุทรสาคร และนายธนกฤต ศุภเลิศ ครูโรงเรียนบ้านหนองกระทุ่ม สังกัดสพป.บุรีรัมย์ เขต 4 มีชื่อเข้าสอบที่ สพป.สมุทรสาครแต่ไปสอบที่ สพป.นนทบุรี เขต 1 มิหนำซ้ำอาจจะมีความ เชื่อมโยงกับมีผู้เข้าสอบอีก 9 รายคนบ้านเดียวกันซึ่งมีชื่อสมัครสอบซ้ำหลายเขต พื้นที่ฯ แต่มาเข้าสอบที่ สพป.สมุทรสาคร และหลายคนสอบห้องเดียวกับ นายพิทักษ์ ซึ่งเขตพื้นที่ฯ แก้ปัญหาให้กรรมการคุมสอบ1 คนประกบระหว่างสอบ
ทั้ง3 รายถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นข้าราชการแล้วไม่น่ามีเหตุผลที่จะมาเข้าสอบครูผู้ช่วย โดยเฉพาะนายพิทักษ์ ซึ่งเป็นถึง ผอ.โรงเรียนและมีข้อมูลว่าเป็นติวเตอร์สอบครูผู้ช่วย ใช้ชื่อว่า “ติวเตอร์แอ๊ด ลำปลายมาศ” ดังนั้นพฤติกรรมของทั้ง 3 รายจึงถูกตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะส่อทุจริต อีกทั้งในเอกสารที่ยื่นสมัครสอบของทุกคนไม่มีระบุว่าเป็นข้าราชการ โดยเวลานี้ เขตพื้นที่ฯ ต้นสังกัดทั้ง 3 รายได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วแต่เพราะไม่สามารถสอบข้ามเขตได้ นายอภิชาติจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้ง 3 รายขึ้น 1 ชุดลงพื้นที่ควานหาความจริง โดยถ้าพบว่าเดินทางไปสอบครูผู้ช่วยโดยไม่ขออนุญาตเขตพื้นที่ฯ ต้นสังกัดถือมีความวินัยอาจจะต้องตั้งคณะกรรมการสอบวินัย แต่หากพบว่ามีเจตนากระทำทุจริตจริงก็ถือว่ามีโทษทางความผิดอาญาด้วย
อย่างไรก็ตาม กรณีเป็นข้าราชการมาสอบไม่สามารถห้ามได้ เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ แต่จะต้องดำเนินการอย่างระเบียบถูกต้อง โดยหากมีข้าราชการครูที่ต้องการย้ายและตัดสินใจมาสอบครูผู้ช่วยโดยขออนุญาตต้นสังกัดอย่างถูกต้องก็ไม่ถือว่ากระทำผิด และแม้ครั้งนี้ สพฐ.จะโชคดีสกัดปัญหาได้แต่ต้นทางทำให้ไม่เกิดความเสียหายกับผู้เข้าสอบคนอื่น ๆ อีกทั้งการที่ผู้บริหาร ครู ตั้งตัวเป็นติวเตอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการศึกษา แต่ถึงขั้นมาร่วมสอบในคราวนี้คงเป็นกรณีที่มองข้ามไม่ได้ อาจเป็นสัญญาณของพฤติกรรมในรูปแบบขบวนการที่ส่อทุจริต โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะรู้ความคืบหน้าที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชุดติวเตอร์ในภาคอีสานที่เปิดติวสอบครูแล้วแอบมาสอบโดยไม่ได้มีการขออนุญาตทาง สพฐ. กำลังถูกจับตาพิเศษ รวมทั้งอีกไม่นานคงจะได้รู้ว่าผู้สอบทั้งหมดกว่า 9 หมื่นราย มีกี่รายที่เป็นครูและผู้บริหารที่มาเข้าสอบ ซึ่ง สพฐ.กำลังตรวจสอบข้อมูลเลข13 หลัก
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ สพฐ.ควรหันมาทบทวนทั้งแนวทางการสอบคัดเลือกทั้งระบบ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะสามารถคัดเลือกผู้ที่มีจิตวิญญาณที่อยากจะเป็นครูอย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็สะท้อนได้ชัดว่าสาเหตุหลักที่วงการศึกษาไทยเน่าเฟะ ก็เพราะฝีมือคนในวิชาชีพเอง !!