xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

20 ก.ค.เปิดศึกเลือกตั้ง ระวังล่มซ้ำรอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การนัดหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับพรรคการเมืองที่ตอบรับการเข้าร่วมหารือกับ กกต. 58 พรรคจาก 72 พรรคการเมือง เพื่อกำหนดแนวทางจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันอังคารที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ในที่สุดก็ได้กำหนดการคร่าวๆ แล้วว่า วันที่ 20 ก.ค. 2557 น่าจะมีความเป็นไปได้ในการจัดเลือกตั้งมากที่สุด

แต่ปัญหาคือ ไม่มีใครมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่เกิดปัญหาซ้ำรอยขึ้นมาอีกรอบเหมือนกับการเลือกตั้งคราวก่อน เพราะมวลชน กปปส. โดยเฉพาะกลุ่มแจ้งวัฒนะ ภายใต้การนำของหลวงปู่พุทธอิสระ ประกาศชัดเจนว่าต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นที่ชุมนุมกันมายาวนานก็เสียเปล่า ขณะที่หัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่อย่างเช่นประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่ได้เข้าร่วมหารือด้วย งานนี้จึงอ่านสัญญาณได้ว่า สนามเลือกตั้งในบางพื้นที่เช่นเขตจังหวัดภาคใต้หลายจังหวัดอาจมีปัญหา

การนัดหารือพรรคการเมืองของกกต.ครั้งนี้ ไม่ได้มีลุ้นกันแค่ว่าจะเคาะให้มีการเลือกตั้งโดยที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้อย่างไรเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องน่าตื่นเต้นชวนหวาดเสียว กระทั่งนายอภิสิทธิ์ ยังปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมเพราะเกรงความไม่ปลอดภัย เนื่องจากมีกระแสข่าวออกมาอย่างหนาหูว่า อาจจะเกิดรุนแรงถึงขั้นเลือดตกยางออก โดยก่อนการประชุมนายอภิสิทธิ์ ได้ทำหนังสือด่วนถึงประธาน กกต.แจ้งถึงเหตุผลที่ไม่เข้าร่วมหารือกับกกต.ว่า พรรคได้รับข้อมูลเชิงลึกว่าจะมีการก่อเหตุในการประชุมโดยพุ่งเป้ามาที่นายอภิสิทธิ์ และมีการประกาศจากการกลุ่มที่ใช้อาวุธว่าอาจมีการพลีชีพเพื่อกำจัดนายอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวจากเฟซบุ๊กของผู้ที่ใช้ชื่อว่า “ลุงยิ้ม ตาสว่าง” ที่มีเนื้อหาว่าการประชุมพรรคการเมืองวันนี้จะมีการก่อเหตุในที่ประชุม

แม้แต่สื่อมวลชนที่เดินทางไปทำข่าวในวันดังกล่าวยังได้รับการเตือนจากนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. ว่าให้ระมัดระวังตัวด้วยเพราะไม่ทราบว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง

“มีข่าวที่ไม่อยากจะเล่าให้ฟังตอนนี้ ซึ่งถูกปล่อยออกมา ก็ไม่ดีเท่าไหร่สำหรับเรื่องที่มีการประชุมวันนี้ แต่เราไม่พูดหรอกครับในทางลึกๆ แต่เราก็ไม่ประมาท ได้แจ้งหน่วยงานความมั่นคงแล้ว ก็ขออนุญาตว่าผู้ที่จะเข้าประชุมในวันนี้อย่านำอาวุธเข้ามา ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ที่ได้รับเชิญหรือไม่อย่างไร ขอร้องเพราะว่ามีข่าวว่าจะมีการพกพาอาวุธมาด้วย” เลขาฯ กกต.บอกกล่าวต่อสื่อในวันนั้น และอาจด้วยการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์อย่างเข้มงวดจึงทำให้การประชุมผ่านมาได้ด้วยดี

ไม่ใช่แค่ข่าวคราวเรื่องความไม่ปลอดภัย ฟากพรรคเพื่อไทยซึ่งเล่นเกมป่วนและข่มขู่หากเลือกตั้งล่าช้าระวังนองเลือดมาเป็นระยะๆ ก็ถือโอกาสบีบกกต. โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. กดดันให้กกต.เปิดให้ถ่ายทอดสดการนัดหารือครั้งนี้โดยอ้างเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งที่ประชาชนเฝ้ารอกันอยู่ แต่งานนี้กกต.รู้ทันปัดนิ่มๆ อ้างไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติและเกรงว่าจะคุมอารมณ์กันไม่อยู่แล้วจะไปกันใหญ่

“กกต.ไม่ให้ถ่ายทอดสด เพราะเป็นห่วงกลัวนักการเมืองจะหาเสียงเลือกตั้ง ทำผิดกฎหมาย หากทำผิดก็จับกุมดำเนินคดีไป อย่ามากังวล ผมเปิดโอกาสใช้อำนาจ ผอ.ศอ.รส. ให้มีการถ่ายทอดให้ประชาชนมีส่วนรับรู้ อย่ารับรู้เฉพาะพวกคุณ" ร.ต.อ.เฉลิม ตามจิกอย่างไม่ลดราวาศอก

เมื่อทุกอย่างผ่านไปด้วยดี ทั้งการเฝ้าระวังเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น ทั้งการถ่ายทอดสดที่เคลียร์กันจบ และการที่นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. ออกมารับป้ายจากหลวงปู่พุทธะอิสระ กปปส. แจ้งวัฒนะ ที่ระบุข้อความ “คนไทยจะไม่ไปเลือกตั้ง จนกว่าจะมีการปฏิรูป” โดยยืนยันจะนำไปติดไว้ภายในห้องประชุม ทำให้หลวงปู่พุทธะอิสระพอใจและนำมวลชนกลับ การหารือระหว่างกกต.และตัวแทนพรรคการเมืองก็เริ่มขึ้นและจบลงอย่างราบรื่น

นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต. นำเสนอต่อที่ประชุมว่า กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้งโดยวางไว้ 3 แนวทาง คือ 1.กรอบระยะเวลาจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 20 ก.ค. ซึ่งมีระยะเวลา 59 วันนับแต่ร่าง พ.ร.ฎ. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังจากมีการดำเนินการทั้งในส่วนของการหารือกับรัฐบาล กกต.เห็นชอบในร่าง พ.ร.ฎ.และการประกาศร่าง พ.ร.ฎ.ในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 22 พ.ค.57 แนวทางที่ 2 การเลือกตั้งในวันที่ 17 ส.ค. แต่กรอบนี้จะกินเวลา 87 วัน นับแต่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 22 พ.ค. ส่วนแนวทางที่ 3 การจัดเลือกตั้ง 14 ก.ย. ซึ่งจะกินเวลาถึง 115 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 22 พ.ค.

ต่อมา กกต.ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนพรรคการเมืองร่วมหารือ ซึ่งพรรคการเมืองส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 20 ก.ค. 2557 ซึ่งเป็นกำหนดการเลือกตั้งที่เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้แม้ว่ากกต.จะวางกลไกทุกอย่างให้มีผู้สมัครครบทุกเขตและจะไม่ให้เป็นสาเหตุของการโมฆะ เพราะหากหน่วยใดที่เลือกตั้งไม่ได้จะจัดเลือกตั้งใหม่ไปจนกว่าจะเลือกตั้งครบถ้วนและประกาศรับรองผล แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น

"สิ่งที่น่ากังวลที่สุดไม่ใช่ ส.ส.เขต แต่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน จะกระทำไม่ได้หากเลือกตั้งไม่ครบทุกหน่วย กกต.ไม่รับปากว่าจะรับประกันได้ว่าจะมี ส.ส.ครบ 95 เปอร์เซ็นต์เพื่อเปิดสภาฯ ได้หรือไม่ หากมีการเลือกตั้งแต่ไม่สามารถเปิดประชุมสภาฯ ได้ภายใน 180 วัน จะมีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะอีก" นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แสดงความห่วงกังวล และเสนอแนะว่า ฝ่ายการเมืองต้องไปคุยกันและเคลียร์กับมวลชนว่าอย่าขัดขวางการเลือกตั้งเพราะหากพรรคเพื่อไทยไปหาเสียงภาคใต้ไม่ได้ ประชาธิปัตย์ไปเหนือ-อีสานไม่ได้ กกต.ไปบางจังหวัดไม่ได้ ก็จะมีคนไปร้องเรียนว่าการเลือกตั้งไม่เป็นธรรมก็จะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีก

เมื่อกำหนดนัดหมายเลือกตั้งชัดเจนหลังการหารือร่วมกับพรรคการเมืองแล้ว กกต.ได้นัดหมายกับรัฐบาล โดยเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีฯ ร่วมหารือกับกกต.ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ที่สำนักงานกกต. เพื่อกำหนดออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งต่อไป

สำหรับท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ชัดเจนว่าลงสนามแน่ แต่ยังแทงกั๊กเล็กน้อยเพื่อเอาใจมวลมหาประชาชน กปปส. โดยนายอภิสิทธิ์ ย้ำว่า รัฐบาลจะต้องให้หลักประกันว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง และถ้าหากเกิดขึ้นจะทำอย่างไร ไม่ใช่เพียงบอกว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาล สำหรับมวลชนที่เห็นว่าต้องปฏิรูปก่อน การปฏิรูปเป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องมีคำตอบ เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากยังไม่พร้อมจะไปเลือกตั้ง ก็ต้องคุยกันว่าแนวทางการปฏิรูปจะมีคำตอบให้กับเขาอย่างไรหากจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง

ปี่กลองเตรียมพร้อมรัวรับศึกเลือกตั้งครั้งใหม่แล้ว คราวนี้ ต้องวัดใจกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส.ว่าจะยังย้ำจุดยืน ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือจะโอนอ่อนเลือกตั้งก่อนก็ได้แล้วค่อยปฏิรูป ถ้าเป็นประการหลัง ก็ถึงคราวเอวังด้วยประการละฉะนี้ และไม่ต้องนัดชุมนุมใหญ่สู้ศึกครั้งสุดท้ายที่มีแต่ความพ่ายแพ้รออยู่เบื้องหน้าให้เสียเวลาเปล่า



กำลังโหลดความคิดเห็น