xs
xsm
sm
md
lg

Timeline พฤษภาหรรษา?

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

สถานการณ์ทางการเมืองหลังสงกรานต์ก่อนสิ้นเดือนเมษายนทำท่าจะไม่มีความคืบหน้ามากนัก แต่พอขึ้นเดือนพฤษภาไล่เรียงดูตามตารางเวลาหรือเรียกให้เก๋ๆ เข้ายุคสมัยว่า Timeline แล้วน่าจะเป็นการยกระดับความขัดแย้งขึ้นไปสู่จุดสูงสุด

ลองมาดู Timeline เฉพาะเหตุการณ์ที่มีความหมาย

ศุกร์ 2 พฤษภาคม – ครบกำหนดยื่นคำให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญของนายกรัฐมนตรี

อังคาร 6 พฤษภาคม – ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายกรัฐมนตรีคดีจำนำข้าว

พุธ 7 พฤษภาคม – ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี-คณะรัฐมนตรี


ทั้งหมดเป็นการคาดการณ์ของผมเอง

ไม่ใช่คาดเดา แต่เป็นการคาดการณ์อย่างมีเหตุผลรองรับตามสมควร

ผมข้ามวันพุธที่ 23 เมษายนไปเลย เพราะแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีวาระสำคัญในการประชุมประจำสัปดาห์อยู่ด้วย แต่ก็พอคาดการณ์ได้ แม้หลายท่านอาจจะยังมีความหวังอยู่ว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะพิจารณามีคำสั่งไม่ขยายเวลายื่นคำชี้แจงให้นายกรัฐมนตรีออกไป 15 วันนับจากกำหนดเดิมวันศุกร์ที่ 18 เมษายนตามคำขอ แต่ผมเห็นว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะต้องคำนึงถึงการอำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายด้วยมาตรฐานเดียวกัน และการกำหนดพิจารณาในวันพุธที่ 23 เมษายนซึ่งพ้นกำหนดเดิมวันศุกร์ที่ 18 เมษายนไปแล้วหลายวัน ก็เป็นไปไม่ได้เลยว่าจะไม่ขยายเวลาให้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับผู้ถูกร้องไม่มีโอกาสจะยื่นคำให้การให้ครบถ้วนที่สุดได้เลยเพราะพ้นกำหนดไปแล้ว ถ้าจะไม่ขยายให้ก็ต้องประชุมนัดพิเศษและสั่งก่อนครบกำหนดเดิมวันศุกร์ที่ 18 เมษายน

เชื่อว่าขยายเวลาให้แน่นอน คำถามคือจะขยายเวลาให้ถึงเมื่อไร

เชื่อว่าถ้าศาลกรุณาขยายเวลาให้แล้ว ก็ไม่น่าจะตัดระยะเวลาออกมากนัก เพราะเมื่อให้แล้วก็ให้ใกล้เคียงตามที่ขอให้สิ้นสงสัยกันไปเลย มีอะไรจะสู้ก็ว่ามา และมีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดวันเวลาไว้ให้ชัดเจน

ภายในวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม!

นับนิ้วดูแม้จะขาดไป 1 จึงจะครบ 15 แต่เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดสัปดาห์พอดีจะได้ง่ายต่อการทำงาน ประเด็นนี้เป็นการคาดการณ์ส่วนตัว

เมื่อได้กำหนดวันสิ้นสุดการยื่นคำให้การเป็นเด็ดขาดไม่มีต่ออีกแล้ว ก็จะเป็นฐานให้คาดการณ์กำหนดวันวินิจฉัยอย่างเร็วที่สุดได้

กำหนดวันวินิจฉัยอย่างเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ก็คือวันพุธที่ 7 พฤษภาคม !

เพราะศาลมีประชุมตุลาการ 9 ท่านเฉพาะวันพุธ ยกเว้นมีนัดพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดในวันศุกร์ คดีนี้เป็นคดีข้อกฎหมายที่ศาลเห็นได้เอง ส่วนข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่ในสำนวนคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเรียบร้อยแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวนเพิ่มเติม เป็นคดีที่ต่อสู้กันมาในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดกว่า 2 ปี

จึงมีความเป็นไปได้ที่ศาลอาจไม่จำเป็นต้องออกนั่งบัลลังก์ไต่สวน

ย้ำนะครับว่าคดีนี้เป็นคดีที่ขอให้ศาลชี้ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดทางอาญาแต่ประการใด

แต่โอกาสที่จะเคลื่อนไปเป็นวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคมหรือวันพุธที่ 14 พฤษภาคมก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน!

เพราะในคำให้การของนายกรัฐมนตรีจะต้องเสนอพยานหลักฐานจำนวนมาก ทั้งพยานเอกสาร และพยานบุคคล ศาลอาจจะใช้วันพุธที่ 7 พฤษภาคมเป็นวันสั่งคดีและกำหนดกระบวนพิจารณา เป็นไปได้ว่าจะกำหนดวันแถลงส่วนตัวและลงมติในวันนั้น โดยตัดพยานทั้งหมดเพราะไม่มีความจำเป็น

คอยดูคำแถลงของศาลวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคมหรือวันอังคารที่ 6 พฤษภาคมก่อนก็แล้วกัน

แต่ผลที่ตามมาหลังจากนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะจบง่ายๆ นะครับ

ศาลน่าจะวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ประเด็นนี้ค่อนข้างแน่นอน และอาจจะวินิจฉัยให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นตำแหน่งตามไป ประเด็นนี้ก็เป็นไปได้ แต่จะตามไปวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งตามไปแล้วและรัฐธรรมนูญมาตรา 181 กำหนดให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อจะมีผลอย่างไรด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้ผมไม่แน่ใจครับ

รวมทั้งศาลจะวินิจฉัยต่อไปด้วยว่าในเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวแล้ว ทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นตำแหน่งแล้ว จะต้องดำเนินการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 172 โดยอนุโลมหรือไม่อย่างไร

ประเด็นหลังสุดนี้อยู่ในคำขอของผู้ร้องด้วย

คณะผู้ร้อง โดยเฉพาะส.ว.ไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่ได้ติดใจประเด็นที่ว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามนายกรัฐมนตรีไปแล้วจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อตามมาตรา 181 หรือไม่ แม้ว่าจะมีประเด็นให้โต้แย้งได้ แต่เพราะคณะผู้ร้องเห็นว่าเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวแล้วมีบทบัญญัติให้ดำเนินการเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีทันที คณะรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหรือไม่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ อยู่ก็อยู่ไป แต่ต้องมีกระบวนการเสนอชื่อและแต่งตั้งบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ประเด็นนี้มาตรา 180 วรรคสองระบุไว้ชัดเจน

เมื่อกระบวนการเสนอชื่อและแต่งตั้งบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ทำในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ ก็เกิดแนวความคิดว่าอาจจะอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 7 วุฒิสภาทำหน้าที่แทนได้

ก็ขึ้นอยู่กับอีก 2 เงื่อนไข

หนึ่งคือในขณะนั้นวุฒิสภาอยู่ในช่วงเปิดสมัยประชุมหรือไม่?

อีกหนึ่งคือในขณะนั้นมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปใหม่แล้วหรือไม่?


เงื่อนไขแรกขณะนี้แม้ยังไม่ชัดเจน เพราะมีความขัดแย้งในข้อกฎหมายระหว่างวุฒิสภากับคณะรัฐมนตรี แต่มีแนวโน้มว่าจะเปิดประชุมวุฒิสภาได้ เพราะข้อขัดแย้งจำกัดอยู่เฉพาะเปิดประชุมเพื่อลงมติถอนถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น แต่เปิดประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งไม่มีปัญหา เพราะเคยมีตัวอย่างทำได้มาแล้วเมื่อปี 2549

เงื่อนไขหลังแม้ กกต.สมชัย ศรีสุทธิยากรกำหนดไว้ใน Timeline ของท่านว่าจะตกลงกับรัฐบาลวันที่ 29 – 30 เมษายน แต่ผมเผื่อเหลือเผื่อขาดให้อีก 1 สัปดาห์ ให้เป็นหลังศาลมีคำวินิจฉัย เพราะประเด็นนี้สำคัญมากเช่นกัน

เพราะถ้ามีวันเลือกตั้งใหม่ออกมาแล้ว ก็จะทำให้แนวคิดในการให้วุฒิสภาทำหน้าที่สรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นไปได้ยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญปกติมาตรา 172 รออยู่ข้างหน้าหลังวันเลือกตั้งทั่วไปไม่เกิน 60 – 90 วันข้างหน้า

ทั้งหมดนี้เป็นการคาดการณ์สถานการณ์ในระบบ ไม่ได้นำสถานการณ์ด้านมวลชนเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย

แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยวันใด จะเป็นวันปฏิบัติการมวลชนของทั้ง 2 ฝ่าย

ขออย่าให้พฤษภาคม 2557 เป็น “พฤษภาทมิฬ” เหมือนเมื่อ 22 ปีก่อนเลย!
กำลังโหลดความคิดเห็น