xs
xsm
sm
md
lg

เรียกร้องปฏิรูปไม่ใช่ปฏิเสธการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

การต่อสู้ที่ยาวนานของมวลมหาประชาชน หากเริ่มนับจากวันที่คนออกมาถึงล้านครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน เป็นหมุดหมาย นี่ก็นับว่าอีกเพียงหนึ่งวันก็ครบเดือน

ภาพผู้คนที่ออกมาเต็มจนปิดกรุงเทพฯ ได้ครึ่งวัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า มวลหมู่มหาประชาชนนั้น “แรงยังไม่ตก”

ผู้คนออกมาจากบ้านในวันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุด เป็นวันที่ควรจะใช้ชีวิตเพื่อการพักผ่อนหรืออยู่กับครอบครัว แต่ก็ยังเสียสละออกมาชุมนุมแสดงพลัง และเดินไปบนท้องถนนร่วมกัน เพื่อให้โลกและระบอบทักษิณได้เห็นว่า คนไทยจำนวนมหาศาลคิดอย่างไร

นับว่าเป็นการชุมนุมที่ทรงพลัง เป็นการแสดงพลังที่เหนือความคาดหมาย เพราะเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่จัดว่ายืดเยื้อยาวนาน แต่ก็ยังสามารถเลี้ยงกระแสความตื่นตัวของประชาชนผู้เข้าร่วมได้เป็นเดือนโดยไม่ลดไม่พร่องไม่หาย ซ้ำยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันนี้เป็นเรื่องที่อาจเรียกได้ว่าเป็นบันทึกหน้าใหม่ของการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศไทยเลยทีเดียว

แสดงให้เห็นได้ว่า การต่อสู้ครั้งนี้ถือเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปวงชนชาวไทย ยิ่งกว่าการต่อสู้ทางการเมืองครั้งไหนๆ แสดงให้เห็นว่าฝ่ายตรงข้ามประชาชนนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด หรืออาจกล่าวว่านี่คือภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศชาติเลยก็ว่าได้ ที่คุกคาม“ประเทศชาติ” และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างถึงที่สุด ถึงที่สุดจนถึงขนาดทำให้คนไทยสู้ไม่ถอยกันได้เลยทีเดียว

ทั้งการที่ผู้คนออกมามากมายเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาแล้ว ก็เป็นคำตอบให้หลายฝ่ายที่ทำไม่รู้ไม่เห็นได้ว่า “มวลมหาชนต้องการอะไร”

ไม่ใช่เป้าประสงค์ หรือคำตอบที่ง่ายดายเพียงแค่ฮือกันออกมาขับไล่รัฐบาลออกไป ไม่ใช่เพียงการอยากเลือกตั้ง อยากได้รัฐบาลใหม่

แต่เป็นเสียงของประชาชนที่หมายมุ่งให้มีการ “ปฏิรูป” การเมืองครั้งใหญ่ เพื่อทบทวนและแก้ไขกติกา เพื่อมิให้ระบอบทักษิณซึ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อประเทศชาติกลับมาได้อีก ซึ่งเรื่องนี้เฉพาะเพียงยุบสภาเลือกตั้งใหม่นั้นเห็นได้ชัดว่าไม่อาจแก้ไขได้

มีวาทกรรมในหมู่นักวิชาการ หรือปัญญาชนคนเสื้อแดง ว่า มวลมหาประชาชนเป็นพวกไม่เอาการเลือกตั้ง เมื่อไม่เอาการเลือกตั้ง จึงเท่ากับ “ไม่เอา” ประชาธิปไตย

วาทกรรมมักง่ายในลักษณะนี้ทำให้พวกเขาพยายามผลักมวลชนฝ่ายที่หวังการปฏิรูปการเมืองออกไปให้เป็นฝ่ายตรงข้ามการเลือกตั้ง และแปะป้ายใส่สีว่าเป็นพวกนิยมเผด็จการ ศัตรูของระบอบประชาธิปไตย

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ไม่เคยได้ยินใครสักคนเอ่ยหรือกล่าวว่า ไม่เอาการเลือกตั้งเลย

เพราะจะชั่วจะดี การเลือกตั้งถูกพิสูจน์มานานแล้วว่า แม้ไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดในกระบวนการประชาธิปไตยที่จะฟังเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นวิธีเดียวในขณะนี้ที่เรียบง่ายและได้ผลมากที่สุด

ดังประโยคที่มีผู้ได้กล่าวไว้ว่า ไม่มีประชาธิปไตย หากไม่มีการเลือกตั้ง แต่ประโยคเต็มๆ นั้นคือ การเลือกตั้งก็ไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย ดังนั้น จึงอย่าเอาการเลือกตั้งไปผูกขาดและถือว่าเพียงการจัดให้มีการเลือกตั้ง (ที่พวกของตัวชนะ) นั้นจะเป็นประชาธิปไตยแล้วก็หาไม่

และที่สำคัญ อย่าเอา “การเลือกตั้ง” ที่เป็นหลักการในภาพใหญ่ไปผูกอยู่แต่กับ “การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557” ด้วย เพราะนั่นจะเป็นเพียงการเลือกตั้งครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง

ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้จะประกันใดเลยว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกต่อประชาธิปไตย

ที่มวลมหาประชาชนบอกว่า “ไม่เอา” การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภา จึงไม่ใช่การ “ปฏิเสธ” การเลือกตั้งอย่างที่ถูกกล่าวหา ที่นำไปขยายผลไกลไปจนเป็นเรื่องการดูถูกประชาชนเสียงข้างมากหรือดูหมิ่นเสียงของประชาชนคนรากหญ้ากันไป

แต่การเลือกตั้งที่มวลมหาประชาชนจะยินยอมพร้อมใจ คือการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังจากทบทวนและปฏิรูปแล้ว เพื่อจะได้เป็นการเลือกตั้งที่เหมาะสมกับประเทศไทย และเป็นการเลือกตั้งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการหยั่งเสียงซาวความต้องการของปวงชนชาวไทยได้อย่างแท้จริง

บทเรียนจากอดีต ที่ใกล้ที่สุด อย่างเช่นเมื่อสมัยพฤษภาทมิฬ ที่พลังของประชาชนจำนวนมากที่ออกมาต่อสู้และบาดเจ็บล้มตาย นำไปสู่การที่นายกฯ ที่ประชาชนไม่ไว้ใจในขณะนั้น คือพลเอกสุจินดา คราประยูร พ้นตำแหน่ง และยุบสภาเลือกตั้งใหม่ทันทีในปีนั้น

แต่เราก็ได้พบว่า ความล้มเหลวทางการเมืองไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคำตอบง่ายๆ เพียงการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ในที่สุด เราก็มาทบทวนกันเรื่องปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจังในราวปี พ.ศ. 2538 และมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เป็นผลมาจากความพยายามในการปฏิรูปการเมือง กว่าจะสำเร็จก็ไตรมาสสุดท้ายของปี 2540

ที่ต้องยกประวัติศาสตร์คราวนั้นขึ้นมา เพราะอยากให้เห็นว่า เรา “เสียเวลา” กันอย่างไรในการต่อสู้ทางการเมืองครั้งก่อน ที่ต่อสู้ชนะล้มรัฐบาลแล้วเลือกตั้ง แต่เราต้องผ่านการเลือกตั้งถึง 3 ครั้งถึงจะรู้ตัวว่า นั่นไม่ใช่คำตอบ เราต้องการปฏิรูปการเมือง สร้างการเมืองที่ปลอดจากวงจรอุบาทว์ที่ครอบงำการเมืองไทยในช่วงทศวรรษ 2520 - 2530 ที่นักเลือกตั้งซื้อเสียงเข้ามาโกงกินอย่างที่เรียกว่าเป็น “บุฟเฟต์คาบิเนต” (Buffet Cabinet) เพื่อถอนทุน จนถึงจุดที่รังเกียจ ทหารก็ออกมาทำรัฐประหาร แล้วหมกเม็ดครองอำนาจไปจนกระทั่งประชาชนรู้ตัวแล้วออกมาขับไล่

เราค้นพบว่า ที่เราต้องต่อสู้ล้มตาย เมื่อจริงๆ แล้ว คือการตัดทอนวงจรอุบาทว์นี้ต่างหาก มิใช่เพียงการไล่บิ๊กสุ หรือการขับไล่รัฐบาลหรือหวังเพียงการเลือกตั้งเป็นครั้งคราว เราเสียเวลานานถึง 5 ปี เพื่อจะได้รู้ความต้องการอันแท้จริง

ใช่ครับ ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนแล้ว เราจะเดินซ้ำรอยทำไม มวลมหาประชาชนจะออกมาเต็มถนนทำไมถ้าเพียงต้องการการเลือกตั้ง ทั้งที่รออีกเพียงปีกว่า สภาฯ ก็จะหมดอายุขัยลงตามวาระแล้ว

คำตอบคือ เพราะมวลชนต้องการการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยของแท้ที่ยั่งยืนที่พ้นจากอำนาจเครือข่ายระบอบทักษิณ ประชาธิปไตยที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นโดยยุติธรรม ขาวสะอาด ที่แสดงความต้องการของประชาชนได้จริง และได้รัฐบาลและรัฐสภาที่มีความสง่างามไม่ตกอยู่ในความครอบงำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว

ถ้าปฏิรูปการเมืองเพื่อการดังกล่าวได้แล้ว จะเลือกตั้งไปอีกกี่ครั้งก็เชิญเถิด ไม่มีใครขวางหรอกครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น